‘ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ยุคพลาสติก’
หลังจากที่โลกของเราผ่านยุคหิน ยุคสำริด และยุคเหล็กกันมา ปัจจุบันคงพูดได้อย่างเต็มปากว่าโลกของเราได้เข้าสู่ยุคพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน หยิบจับอะไร สิ่งเหล่านั้นก็มักมีส่วนผสมของพลาสติกไม่มากก็น้อย
การใช้งานพลาสติกแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ล้วนแต่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพมหาศาล เพราะพลาสติกหนึ่งชิ้นใช้เวลาย่อยสลายอย่างน้อย 450 ปี และในระหว่างการย่อยสลายก็สร้างปัญหามากมาย เกิดเป็นมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อสัตว์และพืช รวมถึงตัวเราเอง
และอีกหนึ่งภัยร้ายของพลาสติกที่หลายคนเริ่มพูดถึงในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น ‘ไมโครพลาสติก’ (Microplastic) เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่สร้างปัญหาไม่น้อยในปัจจุบัน วันนี้ Urban Creature เลยขอรับอาสามาแจกแจงถึงประเด็นไมโครพลาสติก ตั้งแต่คำอธิบาย ผลกระทบ ไปจนถึงวิธีการที่ช่วยลดการเกิดไมโครพลาสติก ทั้งเริ่มด้วยตัวเองและกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในหลากหลายประเทศ
Intro Microplastic 101
เมื่อพูดถึงการแบ่งประเภทพลาสติก หลายคนอาจนึกถึงพลาสติก PET PVC PP หรือ PLA ที่แบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต แต่ในความเป็นจริงเรายังจำแนกพลาสติกได้จากขนาดของมันด้วย โดยเรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็กตามขนาดของหน่วยเอสไอ (SI Unit) ที่ใช้สำหรับการวัดทางวิทยาศาสตร์
เริ่มตั้งแต่พลาสติกทั่วไป ไปที่ไมโครพลาสติก (Microplastic) ที่มีอนุภาคขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และเล็กลงไปถึงขนาดนาโนพลาสติก (Nanoplastic) ที่มีอนุภาคขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งอาจเรียกรวมได้ว่า ‘ไมโครนาโนพลาสติก’ (Micro-Nano Plastics : MNP)
นอกจากนั้นยังแบ่งตามการกำเนิดได้อีก 2 ประเภท คือ ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastic) หรือพลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรตั้งแต่แรก เพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Nurdle) กลิตเตอร์ (Glitter) เม็ดบีดส์ (Beads) หรือไมโครบีดส์ (Microbeads)
อีกประเภทคือ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastic) หรือพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ จนมีขนาดเล็กลงกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film)
Microplastics are Everywhere
ถ้าถามว่า แล้วเราจะพบไมโครพลาสติกได้ที่ไหนบ้าง ก็ต้องตอบว่า ‘ทุกที่’ แบบชนิดที่ว่าจิ้มตรงไหนก็เจอไมโครพลาสติกตรงนั้น
เพราะไมโครพลาสติกปฐมภูมิส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่มักถูกชะล้างปนเปื้อนไปกับน้ำเสียครัวเรือนออกสู่แหล่งน้ำผิวดิน โดยจากรายงานพบว่า การใช้สครับที่มีเม็ดบีดส์เป็นส่วนผสมจะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงสู่น้ำเสียครัวเรือนและแหล่งน้ำผิวดินถึง 4,594 – 94,500 ชิ้น
อีกทั้งไมโครพลาสติกทุติยภูมิยังเกิดได้โดยกระบวนการย่อยสลายทางกล ทางเคมี ทางชีวภาพ และแสง ที่มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดจากการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำจืดโดยตรง และกิจกรรมของมนุษย์ที่ต้องใช้น้ำทำความสะอาดเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีพลาสติกเป็นองค์ประกอบ รวมถึงปนเปื้อนในดินจากการฝังกลบขยะแบบไม่ถูกต้อง
ทำให้ไม่ว่าจะหยิบดินใกล้ตัว น้ำจากแหล่งน้ำ น้ำแข็งจากขั้วโลก น้ำฝนที่ตกลงมา หรือแม้แต่อากาศที่อยู่รอบตัวเรามาตรวจสอบ ก็มักเจอไมโครพลาสติกไม่มากก็น้อยอยู่เสมอ และยังถือเป็นตัวกลางที่ส่งต่อไมโครพลาสติกไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ด้วย
ถ้ายังน่าตกใจไม่พอ งานวิจัยยังพบว่า มีพลาสติกอยู่ในร่างกายของปลาทะเลมากถึง 386 ชนิด จากชนิดพันธุ์ที่ทำการศึกษาทั้งหมด 555 ชนิด โดยมีหอยและหมึกปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด ตามด้วยกุ้ง ปู และปลา นอกจากนี้ นักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง พบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูเฉลี่ยถึง 78.04 ชิ้นเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านี้ งานวิจัยชิ้นใหม่นำโดย Free University of Amsterdam ก็พบร่องรอยของไมโครพลาสติกในเลือดของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มอย่างวัวและหมู โดยมีสมมติฐานว่าอาจเกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกในดินที่ถูกส่งต่อไปสะสมในผักผลไม้ที่สัตว์กินเข้าไปอีกต่อหนึ่งด้วย
Microplastics are EVERYWHERE!
เป็นที่น่าตกใจว่าไมโครพลาสติกนั้นอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เพราะปัจจุบันไมโครพลาสติกอยู่ ‘ภายใน’ ตัวมนุษย์เราเรียบร้อยแล้ว!!
นอกจากไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนในผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่เรากินเข้าไป เรายังรับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มแบบขวดที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ลิตรละ 2.4 แสนชิ้น การใช้เขียงพลาสติกในการทำอาหาร หรือการกินอาหารที่มาในกล่องโฟมหรือกล่องพลาสติก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในชีวิตประจำวัน
และแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่าไมโครพลาสติกสามารถขับออกผ่านการขับถ่ายได้ แต่จากการวิจัยก็ยังพบว่า ปัจจุบันไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด และไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเลือด ผนังหลอดเลือด สมอง หัวใจ ตับ ปอด องคชาต อสุจิ อัณฑะ ไปจนถึงรกเด็กและน้ำนมแม่
และหากถามว่าเรารับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายกันมากแค่ไหน จากการศึกษาของ WWF International และการนำเสนอผ่าน Reuters ในปี 2019 พบว่า เฉลี่ยแล้วใน 1 สัปดาห์ เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 5 กรัม ซึ่งเทียบเท่าฝาขวดพลาสติก 1 ฝา, ใน 1 เดือน เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 21 กรัม เทียบเท่ากับลูกเต๋าพลาสติก 5 ลูก, ใน 1 ปี เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 250 กรัม เทียบเท่ากับแก้วพลาสติก 18 แก้ว และถ้าเทียบกับทั้งชีวิต เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 20 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับเก้าอี้พลาสติกงานวัด 10 ตัวเลยทีเดียว
How do Microplastics Affect?
อย่างที่บอกว่าไมโครพลาสติกแทบจะอยู่กับเราในทุกพาร์ตของการใช้ชีวิต จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบไม่ว่าจะทั้งกับสิ่งแวดล้อมหรือร่างกายของเรา
การแพร่กระจายของไมโครพลาสติกไปในดิน น้ำ และอากาศ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยในระบบนิเวศเหล่านั้น โดยเฉพาะไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาระบบนิเวศในระยะยาว เนื่องจากการสลายตัวของไมโครพลาสติกจะปล่อยสารที่เป็นพิษต่อสัตว์และพืชออกมา ไม่ว่าจะเป็นพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) พอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน
และเมื่อสัตว์กินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตได้ เนื่องจากมีรายงานว่าไมโครพลาสติกจะทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือดและมีผลกระทบต่อระบบหัวใจของสัตว์ที่กินเข้าไป รวมไปถึงเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศสามารถกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของน้ำแข็ง ทะลุผ่านหิมะบนธารน้ำแข็ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซับแสงและเป็นการเร่งให้แผ่นน้ำแข็งละลาย รวมไปถึงไมโครพลาสติกในชั้นบรรยากาศยังดักจับรังสีอินฟราเรดจากพื้นผิวโลก และกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของเมฆและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
และถึงแม้จะยังไม่มีรายงานว่าไมโครพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากถูกขับออกผ่านการขับถ่าย จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาด ชนิด และปริมาณ แต่จากการคาดการณ์ในกรณีที่ไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมดและมีระดับที่เล็กลง จะส่งผลต่อมนุษย์ในระยะยาวได้หลายเรื่อง ดังนี้
– เป็นตัวกลางนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายและสร้างความเสียหายต่อเซลล์
– รบกวนฮอร์โมนในร่างกายและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย
– ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพัฒนาการลดลง
– ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด ด้วยการเข้าสู่กระแสเลือดและปิดกั้นทางเดินเลือด
– ก่อให้เกิดโรคมะเร็งจากการปล่อยพิษหรือโลหะหนักเข้าสู่เนื้อเยื่อ
– ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ
– ก่อให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ เนื่องจากความผิดปกติของจุลินทรีย์ในลำไส้
– ทำให้เหนื่อยล้า เวียนศีรษะ และโรคทางระบบประสาท
Start with Yourself!
ฟังจากผลกระทบแล้ว ไมโครพลาสติกอาจถูกจัดอยู่ในหมวดผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ที่แม้เราจะหลีกเลี่ยงได้ไม่ทั้งหมดแต่ก็ยังไม่สิ้นหนทางมากเกินไป เพราะยังพอมีวิธีง่ายๆ ที่ทำได้อยู่เหมือนกัน
โดยเราอาจจะเริ่มตั้งแต่การพยายามลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวัน ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เกินความจำเป็นและพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่เมื่ออุ่นร้อนในไมโครเวฟแล้วจะทำให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงในอาหารได้
และหากเป็นไปได้ การดื่มน้ำประปาแทนการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เนื่องจากการประปานครหลวงยืนยันว่า มีโอกาสน้อยมากที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนลงในน้ำประปา ในขณะที่น้ำดื่มที่จำหน่ายในไทยบางชนิดมีการพบไมโครพลาสติกปนเปื้อน
พ้นไปจากเรื่องอาหารการกิน การดูดฝุ่นเป็นประจำก็ช่วยเรื่องไมโครพลาสติกได้ เพราะจะช่วยกำจัดฝุ่นที่มักมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่บนพื้นผิว รวมไปถึงการดูแลเครื่องฟอกอากาศให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องสำอางที่มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ เลือกใช้เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติแทนเส้นใยวัสดุสังเคราะห์ เพื่อลดการปล่อยไมโครพลาสติกระหว่างการใส่และการซัก ซึ่งทำให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและภาคการเกษตร
How did the WORLD React?
เมื่อพลาสติกล้นโลกจนยากจะควบคุมปริมาณไมโครพลาสติกที่กระจายตัวอยู่ในธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์จากรัฐเพื่อกำกับดูแลตั้งแต่การผลิตพลาสติก การขนส่ง การใช้ในเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการจัดการขยะและรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด
มูฟเมนต์นี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนหรือองค์กรสิ่งแวดล้อมออกมาเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้รัฐเข้ามาแทรกแซงผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ร่วมกันรับผิดชอบผ่านมาตรการต่างๆ อย่างการเพิ่มราคาพลาสติก ลดปริมาณการใช้พลาสติก เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมพลาสติก เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลภาคบังคับ (Recycled Content) ไปจนถึงแบนพลาสติกที่เป็นอันตรายบางประเภท
ยกตัวอย่าง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน ที่มีการออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย หรือใช้ Rinse-off Product ที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ มีการออกกฎหมายงดแจกถุงพลาสติกฟรีในห้างสรรพสินค้า และมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในสิงคโปร์ การประกาศใช้ Plastic Resource Recycling Promotion Laws 2021 ในญี่ปุ่น เพื่อควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศเข้มข้นขึ้น ไปถึงมาตรการลดและห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ในไต้หวัน
ในขณะที่ที่ผ่านมาไทยมีการออกกฎหมายยุติการผลิตพลาสติกเพียง 1 ใน 7 ประเภทที่กำหนดมาเท่านั้น ส่วนการจัดการพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นเพียงการออก Road map และแผนปฏิบัติการ เพื่อ ‘ขอความร่วมมือ’ จากเอกชนและประชาชนเท่านั้น ไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
นับเป็นก้าวที่ดีและน่าพูดคุยกันต่อไปว่า ในอนาคตไทยจะมีมาตรการอะไรที่ออกมาควบคุมปริมาณการใช้พลาสติกเพื่อลดไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอีกไหม หลังจากรัฐทั่วโลกตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของปัญหาพลาสติกอย่างพร้อมเพรียงกัน จากปี 2565 เนื่องจากในที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly : UNEA) ได้มีมติที่ 5/14 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ประกอบไปด้วยตัวแทนประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทำ ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก (INC-5)’ โดยกำหนดว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะต้องครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และมีเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและบริโภคพลาสติกในระดับที่ยั่งยืน
Sources :
BBC | bbc.in/4iO4NkE
Cogistics | t.ly/y06PY
EJF | shorturl.at/hzSIP
Greenpeace | t.ly/jDtW4
hhc Thailand | t.ly/q_-XU
Marumothai | bit.ly/4gnPGgb
MGR Online | bit.ly/3P6zHHt
National Ocean Service | bit.ly/49LPTHy
Petromat | t.ly/apPOV
PMC | bit.ly/404d6lh
Reuters | reut.rs/3BuGtUm
UNEP | bit.ly/3Bt5xLt
WWF | bit.ly/4fuuVOT, bit.ly/41IDHoU
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/c8NBK, shorturl.at/2eE9Z
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | t.ly/-nVtU
งานสัมมนาวิชาการ ‘โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก : การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?’
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร | bit.ly/3P7DJzs
“ไมโครพลาสติก” ภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ | shorturl.at/duEhB
ไมโครพลาสติก (Microplastic) ภัยเงียบต่อสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น | t.ly/9zjem
วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าการเกษตรและอาหาร | t.ly/knwuF