อัลบั้ม The Greng Jai Piece ของ Phum Viphurit - Urban Creature

Darling, I got my trust issues. เสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์จากชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่ง ขณะเดินจีบสาวริมชายหาด พร้อมด้วยรอยยิ้มนักรักของ ‘Lover Boy’

เมื่อหลายคนได้ยินเพลงนี้คงเผลอโยกตัวเบาๆ ด้วยดนตรีจังหวะ Medium พลางสงสัยว่าศิลปินคนนี้คือใคร แต่เมื่อเลื่อนลงไปอ่านชื่อกลับยิ่งน่าสนใจกว่าเดิม เมื่อเพลงสากลที่มีทำนองและเนื้อร้องอย่างตะวันตก กลับเป็นฝีมือของศิลปินชาวไทยชื่อ ‘Phum Viphurit’

ทันทีที่เพลง Lover Boy ถูกปล่อยสู่โลกดนตรี การออกทัวร์ต่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วนของภูมิก็เริ่มต้นขึ้น เขากลายเป็นศิลปินอินดี้ที่น่าจับตามองในระดับสากลอย่างที่คนไทยไม่เคยมีมา ทั้งการได้เล่นในเทศกาลดนตรีระดับโลก หรือการคอลแลบกับศิลปินต่างประเทศชื่อดังมากมาย

แต่นี่ก็ผ่านมาแล้ว 6 ปี หลังจากความสำเร็จของ Lover Boy มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตผ่านประสบการณ์มากมายจากเส้นทางดนตรีที่ชายหนุ่มเก็บเกี่ยวเรียนรู้

สบโอกาสพอดีกับที่เขายังไม่ได้ข้ามประเทศไปไหน เราจึงชวนภูมิมาพูดคุยถึงมุมมองความแตกต่างของวงการดนตรีในไทยกับต่างประเทศ ชีวิตของศิลปินในยุคโซเชียล และการตั้งคำถามถึงความเป็นไทยที่เขาตีความออกมาเป็นความเกรงใจจากอัลบั้มล่าสุด The Greng Jai Piece

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

เด็กชายภูมิที่เติบโตในต่างวัฒนธรรม

อย่างที่หลายคนทราบว่า ภูมิเกิดและเติบโตในไทย จนเมื่ออายุ 9 ขวบ เขาย้ายไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปี 2005 – 2013 เพราะคุณแม่ได้งานที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Hamilton

แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกละหุก แต่เด็กชายภูมิก็เข้ากับเพื่อนใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น “เรารู้สึกว่า เราไปอยู่เมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองจริงๆ เหมือนเราไปอยู่ต่างจังหวัด และค่านิยมของเพื่อนๆ กับวัยรุ่นในตอนนั้นไม่ได้เป็นแนว Materialistic (วัตถุนิยม) แต่เน้นไปที่กิจกรรมมากกว่า” เขาย้อนความทรงจำพลางยิ้ม

การอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่เล่นกีฬา ไม่เคยมีการต้องเรียนพิเศษเพิ่มหรือนัดกันอ่านหนังสือ ทำให้การเรียนที่นั่นค่อนข้างสบายๆ และเขาเองก็มีเวลาได้ทำงานอดิเรกที่ชอบอย่างการฟังดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งส่งอิทธิพลต่อตัวภูมิมาจนถึงปัจจุบัน

“พอไปอยู่ที่นู่น เราต้องปรับตัวเรียนรู้ภาษาอังกฤษทันที ก็รู้สึกว่าเราฟังดนตรีลึกมากขึ้น โดยเป็นการตั้งใจฟังเนื้อเพลงจริงๆ และมันน่าจะเป็นที่ที่เราได้เจอดนตรีนอกกระแส พอมันมี YouTube มีดนตรีทางเลือกหลากหลายแนวให้เลือกฟัง

“การมีอิสระในการทำงานอดิเรก ทั้งเล่นกีฬาและลองเล่นดนตรี ทำให้เราเจอตัวเองว่าเราชอบทำงานสร้างสรรค์ตั้งแต่อายุสิบหก” เขาบอก

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

การกลับมาอยู่ประเทศไทยในวัยที่โตขึ้น

หลังจากเรียนจบมัธยมฯ ที่นิวซีแลนด์ ภูมิตัดสินใจกลับมาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทย แม้จะเคยกลับบ้านที่ไทยตลอดทุกคริสต์มาส ทำให้พอที่จะรู้ความเป็นไปของกรุงเทพฯ อยู่บ้าง แต่เมื่อต้องกลับมาเรียนต่อและเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเกิดจริงๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวในความเป็นไทยหลายอย่าง

“เราใช้ชีวิตเร็วขึ้น รู้สึกทำอะไรเร็วขึ้น จะเฉื่อยเหมือนตอนอยู่ที่นู่นไม่ได้” ชายหนุ่มเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางอย่างที่ภูมิกลับไม่ค่อยเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ต่างไปจากวัยเด็กเท่าไหร่

“เรารู้สึกว่าเพสซิงของการพัฒนาเมืองมันก็ยังเป็นเพสซิงเดิม ไม่ได้เร็วขนาดนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าโครงสร้างหรือวงการศิลปะมันเปลี่ยนไปขนาดนั้น มันก็ค่อยๆ โตเป็นคลื่นของมัน”

ไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม เพราะสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ที่หยิบจับแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวันมาก่อร่างสร้างผลงาน การย้ายถิ่นฐานและสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อผลงานดนตรีของภูมิด้วยเช่นกัน

“ในทุกอัลบั้ม เราสะท้อนตัวเองกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเสมอ อย่างอัลบั้ม Manchild เป็นช่วงที่อยู่หอที่ศาลายา เพลงทุกเพลงแต่งขึ้นมาจากชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยที่โตในนครปฐม ส่วน Bangkok Balter Club คือช่วงใกล้เรียนจบ และเริ่มออกไปทำงานนอกประเทศ เราว่าทุกอย่างรอบตัวมันส่งผลต่อเรา”

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

จากความเป็นไทยสู่ความเกรงใจ

หลังจากประสบความสำเร็จกับเพลง Lover Boy การออกทัวร์ต่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วนของภูมิก็เริ่มต้นขึ้น เขากลายเป็นศิลปินอินดี้ที่น่าจับตามองในระดับสากลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในซีนดนตรีของไทย ทั้งการได้เล่นในเทศกาลดนตรีระดับโลก หรือการคอลแลบกับศิลปินต่างประเทศชื่อดังมากมาย แต่การเดินทางแสนไกลก็ทำให้ภูมิกลับมาตั้งคำถามถึงสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น

“ถ้าให้นิยามตอนนี้ ความเป็นไทยสำหรับภูมิคืออะไร” เราตั้งคำถามต่อนักร้องนักแต่งเพลงชาวไทยที่มีความไปๆ มาๆ ระหว่างดินแดนบ้านเกิดและต่างประเทศ

“ภูมิว่าคนไทย ‘เกรงใจ’ อาจจะเป็นแค่กับผู้คนรอบตัวของเรา จากที่เราสะท้อนกับตัวเองหลังจากที่กลับมาสิบปีว่าเราได้อะไรมากที่สุด เรารู้สึกว่าเราได้สิ่งนี้”

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

ภูมิอธิบายเพิ่มเติมว่า การตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมของเราที่มีความ ‘ไม่ได้พูดตรงๆ’ อาจเป็นข้อดีบ้างในบางเหตุการณ์และข้อไม่ดีบ้าง ซึ่งมันก็ไม่ได้ถูกไม่ได้ผิด เพียงแต่ตัวเขาสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะการที่เราเป็นประเทศที่นำเสนอความเฟรนด์ลี่มากๆ แต่ในความเป็นจริงเรากลับมีกำแพงบางอย่างที่เรียกว่าความเกรงใจกั้นคนสองคนอยู่

จากการตั้งคำถามถึงสิ่งรอบตัวและประเด็นความเกรงใจของคนไทยที่อยากสำรวจ ทำให้ภูมิตั้งแก่นในการสร้างอัลบั้มล่าสุดขึ้นมาเป็น The Greng Jai Piece

มากไปกว่านั้น ช่วงเวลาที่จุดประกายอัลบั้มนี้มาจากเพื่อนคนหนึ่งของภูมิที่เรียนฟิล์มมาด้วยกัน เพื่อนคนนั้นเล่าถึงตอนตอนหนึ่งในซีรีส์ซิตคอมสุดฮา ‘The Big Bang Theory’ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของสองหนุ่มสุดเนิร์ดที่อาศัยอยู่อะพาร์ตเมนต์ที่ต้องพบเจอกับปัญหาสุดเนิร์ดและความปั่นชวนฮา ซึ่งตัวละครชื่อ Sheldon หนุ่มสุดเนิร์ดตัวเอกของเรื่อง ได้อธิบายคำว่า ‘เกรงใจ’ ให้เพื่อนรอบตัวฟัง ซึ่งสำหรับภูมิมันดันกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเขาไม่เคยเห็นสื่อไทยหรือคนในชีวิตจริงมาอธิบายว่าความเกรงใจคืออะไร

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

ตัวตนและความเป็นไทยจากอัลบั้ม The Greng Jai Piece

เมื่อได้คำจำกัดความเกรงใจที่ภูมิรู้สึกเป็นตัวเองมากๆ จากสื่อฟากอเมริกัน เขาจึงอยากลองแต่งเพลงทำอัลบั้มจากคอนเซปต์ความเกรงใจ ผ่านมุมมองของตัวเองโดยผสมผสานการตีความให้มากกว่านั้น

“อีกอย่างน่าจะมาจากความที่เราเบื่อกับการทำงานแบบเดิมๆ ที่ดึงซาวนด์มาจากโลกตะวันตก เพราะเราเองก็เป็นคนไทยไฮบริด (หัวเราะ) ได้รับอิทธิพลตอนวัยรุ่นมาจากฝั่งตะวันตก แต่ว่ายังไม่เคยลองใช้สิ่งที่ใกล้ตัวจริงๆ จากความเป็นไทย” ภูมิอธิบายถึงสาเหตุที่ผสมผสานส่วนประกอบความเป็นไทยลงไปในตัวอัลบั้มด้วย

ยกตัวอย่างเพลง Lady Papaya ที่มีที่มาจากเพลงแม่ค้าส้มตำ ของ อรอุมา สิงห์ศิริ ศิลปินหมอลำลูกทุ่งที่โด่งดังในยุค 80 ภูมิเล่าว่า เขาได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกจากเพลงเปิดตัวนักมวยปล้ำ และเคยฟังอีกครั้งตอน Action Bronson แรปเปอร์อเมริกันนำมาใช้ในเพลง The Chairman’s Intent

ที่ผ่านมาเขายังไม่ค่อยได้ยินคนไทยนำมาต่อยอดเท่าไหร่ จึงตัดสินใจลองติดต่อขอทำนองท่อนหนึ่งในเพลงแม่ค้าส้มตำ มาทำเป็น Sample ในไลน์ดนตรีของเพลง Lady Papaya และอีกหนึ่งเพลงที่ภูมิคิดว่านำเสนอความเป็นไทยได้ดีที่สุดทั้งในด้านดนตรีและเนื้อหาคือ Temple Fair

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

“เพลงนี้แต่งจากซีนเปิดหนัง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ รู้สึกว่าซีนนั้นโชว์ความเป็น Underdog ของคนคนหนึ่งที่ต้องสู้ชีวิตเพื่อหาความสุข ก็เลยชอบวิชวลในซีนนี้และการเซตอัปตัวละครมาก”

The Greng Jai Piece ไม่ได้มีเพียงความเป็นไทย ในอัลบั้มนี้ภูมิยังนำเสนอเรื่องราวของชีวิตตัวเองในแง่มุมต่างๆ ที่เก็บเล็กผสมน้อยมาจากสมุดจดบันทึก อย่างเพลง Welcome Change ที่แต่งขึ้นมาจากรูปของพ่อกับแม่ในสมัยที่คบกัน ซึ่งเขาได้มาตอนที่แม่กำลังจะทิ้งรูปที่มีพ่อทั้งหมด เพราะทั้งคู่เลิกกันตั้งแต่ภูมิอายุสามขวบ

“เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าเคยมีคนคนนี้ (พ่อ) ในชีวิตเรา ตั้งแต่เด็กเราก็เลยจินตนาการถึงสมัยที่พวกเขาจีบกัน แต่พอแต่งเพลงไปแต่งเพลงมามันกลับสะท้อนถึงตัวเราที่รู้สึกเชื่อมโยงกันมากๆ ในเรื่องของความรัก

“ดนตรีจะเริ่มแบบช้าๆ พอช่วงจบจะเป็นเพลง House Dance ซึ่งต้องการนำเสนอแนวทางดนตรีของเราที่กำลังเปลี่ยนไปด้วย เวลาเล่นสดมันตรงกับตัวเราที่สุด” ชายหนุ่มเล่าด้วยรอยยิ้ม

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

ศิลปินที่อยู่คั่นกลางระหว่างวงการดนตรีไทยและเทศ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภูมิมีโปรเจกต์คอลแลบกับศิลปินต่างประเทศมากมาย ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และยอดเยี่ยมมาก “จริงๆ เราเป็นคนชอบทำคอลแลบ เพราะเราไม่ต้องเหนื่อยมาก แต่ความสร้างสรรค์ผลงานมันกลับออกมาคูณสอง”

ส่วนในอัลบั้ม The Greng Jai Piece ชายหนุ่มได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ Hugo ศิลปินไทยรุ่นใหญ่ที่เขาติดตามมานาน “มันน่าจะเป็นไม่กี่ครั้งที่เราเข้าไปนั่งแต่งเพลงตั้งแต่ต้นจนจบด้วยกัน เรามาเริ่มรู้จักกับพี่เล็ก (Hugo) มากขึ้นช่วงโควิด แล้ววันหนึ่งเราก็ทักไปชวนพี่เขามาแจม หลังจากนั้นก็ได้ไปนั่งแจมที่บ้านแก ภายในวันนั้นก็ดราฟต์เสร็จทั้งเพลงออกมาเป็นเพลง Tail End

การร่วมทำงานกับหลากศิลปินหลากสายสัญชาติ ย่อมพบเจอกับความแตกต่างของวัฒนธรรม ซึ่งภูมิได้อธิบายถึงมุมมองของวงการดนตรีในไทยกับต่างประเทศที่มีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง ทั้งในแง่ของการทำงานฝั่งค่ายเพลง และสถานที่แสดงดนตรีสดที่เริ่มเกิดมากขึ้นในไทย

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

แต่ความแตกต่างที่เห็นชัดที่สุดสำหรับเขาคือวัฒนธรรมของผู้ชม ภูมิเล่าว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ชอบดูดนตรีสดมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ย้อนกลับมาสู่ความเกรงใจของคนไทย ที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกมากนักหรือกลัวรบกวนผู้อื่น ทำให้บรรยากาศเวลาเล่นสดจะมีความนิ่งมากกว่า ไม่เหมือนกับฝั่งตะวันตกที่คนเขาจะมีความกล้าแสดงออกเวลาดูโชว์มากกว่า

“บางครั้งเวลาเล่นในไทยมันอาจมีความไม่กล้าบ้าง แบบเราดูดีดไปไหมถ้าคนเขานิ่งกัน” ภูมิหัวเราะร่วนให้กับความเป็นไทยในตัวของเขา

นายภูมิที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคโซเชียล

จากซิงเกิลแรกจนมาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบสิบปีที่ภูมิเดินทางในสายดนตรี แน่นอนว่าจากการเป็นศิลปินหน้าใหม่ในตอนนั้น ฝีมือและประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านพ้นทำให้เขากลายเป็นศิลปินมืออาชีพที่ยืนระยะในอุตสาหกรรมดนตรีระดับสากลมาได้อย่างมั่นคง

ทว่านอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงด้านดนตรีที่แปรผันไปตามยุคสมัย เป็นเรื่องธรรมดาของวงการดนตรีในสมัยนี้ ที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งการเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับแฟนเพลง เผยแพร่ผลงาน หรือแม้แต่การสร้างแบรนด์ดิ้งให้แข็งแรง

สิ่งหนึ่งที่ภูมิหยิบยกมาพูดในบทสนทนาเมื่อถามถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในการเป็นศิลปินคือ การหันกลับมามองถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่บางทีอาจส่งผลเสียต่อตัวศิลปินมากกว่าที่คิด

“เราคิดว่ามันเอฟเฟกต์ต่อคนทำงานศิลปะมากๆ เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่ทำงานศิลปะในช่วงนี้กำลังเสพติดกับสิ่งนี้โดยไม่รู้ตัว ถ้าสร้างผลงานออกไปแล้วไม่มีรีแอ็กชัน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนตัวเราเองก็รู้สึกนะว่าทำไมงานนั้นงานนี้เงียบจัง เราใส่อะไรไปตั้งเยอะแต่ทำไมคนไม่เห็นในจุดที่เราตั้งใจ”

Phum Viphurit อัลบั้ม The Greng Jai Piece นักร้อง ศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์

ชายหนุ่มเล่าว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาจะอ่านทุกคอมเมนต์และพยายามตอบให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น ความคิดบางอย่างเริ่มเปลี่ยน การหันกลับมาสนใจการตอบโต้ในชีวิตจริงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และรู้สึกดีมากกว่า

“มันดีใจนะที่มีคนสนใจ แต่เราไม่อยากรับรู้ไปซะทุกความคิด ถ้าอยากโต้ตอบกัน อยากให้ไปรอเจอตอนเล่นสดมากกว่า เราไปนั่งเซ็นของที่ระลึกเกือบทุกโชว์เลยเพราะอยากไปเจอคนจริงๆ

“เรารู้สึกว่าการได้เจอผู้คน ไม่ว่าจะเห็นสายตาหรือพูดคุยหนึ่งถึงสองนาที มันคือสิ่งที่เป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว มันคือสิ่งที่ทำให้เราเลือกเล่นดนตรี เราอยากให้ค่ากับสิ่งที่สำคัญจริงๆ อย่างการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ นี่คือสิ่งที่ต้องทำและรู้สึกสนุกกับการใช้ชีวิตแบบนี้ตอนนี้”

ก่อนจากกัน เราถามถึงความตั้งใจในสายดนตรีและความสนใจทั่วๆ ไปของชายหนุ่มวัย 29 ปีคนนี้ เขานิ่งคิดครู่หนึ่งก่อนตอบด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะและยิ้มกว้างๆ ในแบบฉบับของเขา

“ปีนี้เราอยากทำสักหนึ่งอีพีที่สนุกๆ และอยากทำเพลงให้วิดีโอเกม เพราะตอนนี้ชอบสะสมเกมเก่าๆ ที่เราในวัยเด็กไม่มีตังค์ซื้อ เราอยากทำอะไรที่มันเกี่ยวกับโลกวิดีโอเกมมากๆ อยากมีเพลงในเกมฟุตบอลสักเพลงหนึ่ง แค่นั้นเราก็พร้อมจะรีไทร์แล้ว เพราะเป้าหมายด้านดนตรีของเราไม่ได้สูงมาก

“ถ้านอกจากงานดนตรี เราอยากทำธุรกิจสักอย่าง เคยคิดไว้ตอนแรกว่าอยากทำร้านไอศกรีม เพราะชอบกินไอศกรีมมาก และรู้สึกว่าปัญหาของร้านไอศกรีมทั่วโลกคือมีรสชาติให้เลือกเยอะเกินไป ก็เลยคิดคอนเซปต์ว่าเป็นร้านไอศกรีมที่พอมาถึงร้านปุ๊บ คุณไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย คนเสิร์ฟเท่านั้นที่เลือกให้คุณ ซึ่งมันอาจเป็นไอศกรีมรสเดียวที่พิเศษแบบอยากกินอันนี้ ต้องมากินไอติมของเราเท่านั้น แต่ไม่รู้จะเจ๊งหรือเปล่านะ”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.