FiNESSE โปรเจกต์ธีสิสวงไอดอลระยะสั้น - Urban Creature

“เฟทอยากให้สังคมรับรู้ว่า ‘ความต่าง’ ที่โดนปฏิเสธมาตลอด จริงๆ แล้วมันโดนปฏิเสธเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เก่ง แต่เป็นเพราะวงการไอดอลยังห่างไกลกับการยอมรับ Self-determination (สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง)”

ในวันที่อุตสาหกรรม T-POP กำลังเติบโตและถูกจับตามองจากทั่วโลก ใครหลายคนอาจกำลังเดินตามความฝันของตัวเองอย่างสุดกำลัง แต่สำหรับใครบางคน ความฝันของพวกเขาอาจดับลงไปแล้ว เพียงเพราะพวกเขา ‘แตกต่าง’ จากสิ่งที่สังคมต้องการ

‘FiNESSE’ คือธีสิสวงไอดอลระยะสั้นจากฝีมือการโปรดิวซ์ของ ‘เฟท-ฐิตา เกษรสมบัติ’ อดีตสมาชิกไอดอลวง Siamese Kittenz ที่ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีสุดท้ายจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน สาขาการออกแบบและผลิตสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโปรเจกต์นี้ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมไอดอลที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่ที่เพศสภาพ อายุ หรือบิวตี้สแตนดาร์ด

คอลัมน์ Debut ขอพาไปรู้จักธีสิสวงไอดอล FiNESSE ให้มากขึ้นผ่านบทสนทนาของหญิงสาว ถึงแนวคิดจุดเริ่มต้นตั้งแต่เดย์วันของการตัดสินใจทำธีสิสว่า อะไรคือสิ่งที่อยากนำเสนอ จนถึงวันนี้ที่เธอพยายามผลักดันให้วงนี้เข้าสู่อุตสาหกรรมเพลงได้จริงในอนาคต

ได้เวลาทำวงไอดอลระยะสั้น

หลายคนคงเคยเห็นธีสิสที่ทำขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากไอดอลที่ชอบ แต่สำหรับธีสิสของเฟทแตกต่างออกไป เพราะ ‘FiNESSE’ คือธีสิสที่เกิดจากเศษเสี้ยวความฝันการเป็นไอดอลของเธอเอง

“อดีตเฟทเคยเป็นไอดอลมาก่อน แต่ในตอนนี้ ต่อให้อยากกลับไปเป็นอีกมันก็ไม่ง่ายแล้ว ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นจนเกินเพดานการสมัคร และเรารู้สึกว่ามันคงมีคนที่เป็นแบบเราเยอะ เลยตัดสินใจทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้น

ธีสิสในรูปแบบวงไอดอลระยะสั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในคณะ ทำให้เฟทไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงไหม จนกระทั่งเข้าไปปรึกษาครูที่ปรึกษาถึงไอเดียนี้ และได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ว่าธีสิสจะออกมาในรูปแบบไหนก็ทำได้ ขอแค่มี Requirement ที่ภาคต้องการ นั่นคือ ต้องออกมาในรูปแบบของ Transmedia และประกอบด้วยสื่อหลักและสื่อรอง

“แม้ FiNESSE จะเป็นธีสิส แต่ส่วนที่ใช้ส่งงานจริงมีแค่ตัว MV เพลงแรก คือเพลง ‘ยินดีที่ได้… (Cherish)’ และการแสดงสดเท่านั้น นอกนั้นเป็นแพสชันของเราล้วนๆ” เธอเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย

หลังจากที่ครูที่ปรึกษาเซย์เยส ไอเดียของ FiNESSE ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างจนออกมาเป็นโปรเจกต์วงไอดอลระยะสั้นในรูปแบบของ Feminine Group ที่กินระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่ช่วงมกราคมจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567

คำจำกัดความของคำว่า Feminine Group คือการที่เฟทเปิดรับสมัครคนออดิชันเข้าวงแบบไม่จำกัดเพศ โดยเปิดรับตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปแบบไม่มีเพดานอายุ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมีฝันได้ก้าวเดินตามความฝันอย่างไม่ถูกจำกัดเพศสภาพและอายุ

“เหตุผลที่เฟทเปิดรับสมัครแบบไม่จำกัดเพศ เพราะมองว่าอาจจะมีคนที่เขามีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นผู้ชาย แต่มี Gender Expression เป็นแบบ Feminine ซึ่งเรารู้สึกว่าคนแบบนี้ก็ Valid กับโปรเจกต์เรา อยากให้เขาได้มีโอกาสในการเป็นไอดอลเหมือนกัน

“ส่วนเรื่องอายุที่รับสมัครตั้งแต่สิบหกปีขึ้นไปแบบไม่มีเพดานอายุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราคิดว่าคงมีคนที่อยากเป็นไอดอล แต่กว่าจะพร้อม อายุก็เกินเกณฑ์ที่จะสมัครไปแล้วอยู่ไม่น้อย” เจ้าของธีสิสอธิบาย

ได้เวลาออดิชันหาความแตกต่างที่ลงตัว

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การออดิชันของ FiNESSE แตกต่างไปจากการออดิชันไอดอลวงอื่นๆ คือการที่เฟทเปิดรับออดิชันใน 2 รูปแบบ คือ ‘Idol-to-be’ คนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอล และ ‘Former Idol’ อดีตไอดอลที่เคยยอมแพ้กับความฝัน

เฟทเล่าว่า ในช่วงที่เดบิวต์เป็นสมาชิกวง Siamese Kittenz ตอนนั้นเธออายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ด้วยความที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้เธอรับมือทุกอย่างผิดพลาดไปหมด เพราะไม่รู้ว่าอะไรหลายๆ อย่างในตอนนั้นคือปัญหา แต่พอจะให้มาตั้งต้นใหม่ในตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว การเปิดรับสมัครในส่วน Former Idol จึงเกิดขึ้น

โดยในการออดิชันรอบออนไซต์ นอกจากตัวเฟทเอง ยังมีกรรมการออดิชันกิตติมศักดิ์อีก 2 ท่าน คือ ‘สุกิจ เจริญมุขยนันท์’ Co-founder จาก IdolMaster และ ‘มาร์ค คัตสึตะ’ อดีต Producer ของ BNK48 รุ่นที่ 1 ที่ปัจจุบันเป็น CEO ของ Goen Thailand ที่มาร่วมคัดเลือกสมาชิกด้วย

“ในการคัดเลือก เฟทมีธงในใจประมาณหนึ่งเหมือนกัน เพราะอยากได้ภาพเมมเบอร์ที่เหมือนมาจากคนละที่ แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้วรวมกันได้ ซึ่งเราอยากได้คนที่ไม่ตรงตามกรอบของสังคม ทั้งในเรื่องของการถูก Stereotype และ Gender” หญิงสาวเล่าถึงเกณฑ์ของสมาชิกไอดอลที่เธอตั้งไว้

หลังจากออดิชันและคัดเลือกกันอย่างเข้มข้น ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็น 6 เมมเบอร์ที่เป็นความแตกต่างอย่างลงตัว ประกอบด้วย ‘กังหัน-ชนณฐ เรืองช่วย’ อดีตสมาชิกไอดอลวง Sora! Sora! รุ่นที่ 1 รุ่นน้องในคณะที่เฟทไว้ใจให้เป็นลีดเดอร์ด้วยชั่วโมงบินที่สูง ‘พลอย-ธนัญญา แพมณี’ น้องเล็กอายุ 18 ปีที่ศักยภาพไม่เล็กตามอายุ ‘แพร-แพรทอง ไทยเกษม’ เมนโวคอลตัวจี๊ดของวง ‘เดียร์-ณัฐภัทร ชูเมือง’ เซ็นเตอร์สาวผมหยักศก ‘เคิร์ก-อรวัตร เอี่ยมมงคล’ วิชวลของวงที่คาริสมาพุ่งเตะตาตั้งแต่รอบออดิชัน และสุดท้าย ‘ทิชา-กฤติยากร ลิ่วเฉลิมวงศ์’ พี่ใหญ่อายุ 29 ปี ที่ควบตำแหน่งที่พึ่งทางใจของเหล่าเมมเบอร์ในวง

ได้เวลามีซิงเกิลเป็นของตัวเอง

แม้ว่าตัวธีสิสจะมีแค่เพลงยินดีที่ได้… (Cherish) เพลงเดียวที่ถูกวางไว้เป็นเพลงเดบิวต์ในตอนแรก แต่เมื่อได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงในงาน ‘JAPAN EXPO THAILAND 2024’ เฟทก็ตัดสินใจแต่งเพลง ‘แอ๊บแบ๊วมั้ยคะ (Illegal Cutie)’ ขึ้นอีกเพลง

และเมื่อมีการพูดคุยกับ ‘เค kmb_boyz’ นักออกแบบท่าเต้นจาก PassionfruitDNA ที่อาสาเข้ามาช่วยคิด Choreography ให้กับวง ทำให้เฟทตัดสินใจเปลี่ยนเพลงเดบิวต์ใหม่เป็นเพลงแอ๊บแบ๊วมั้ยคะแทน ส่วนเพลงยินดีที่ได้… (Cherish) กลายเป็นเพลง Pre-release แทน

“เราคุยกันว่า เพลงที่สองดูมี Potential ที่จะ Viral คนน่าจะคาดไม่ถึงว่าเราจะทำเพลงแบบนี้ออกมา ทุกอย่างเลยเดือดมาก เพราะต้องทำทั้งสองเพลงพร้อมกันในเวลากระชั้น” เฟทเล่าถึงเหตุผลที่ FiNESSE ปล่อยออกมาทั้งหมดสองเพลง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงธีสิสเธอใช้แค่เพลงเดียว

อดีตไอดอลยังบอกกับเราอีกว่า ความโชคดีในการทำธีสิสครั้งนี้คือ เธอได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเป็นอย่างดี เพราะนอกจากกรรมการทั้ง 2 ท่านในรอบออดิชัน และนักออกแบบท่าเต้นจาก KNIVERSE แล้ว วงของเธอยังได้ Gravity Motion มาช่วยทำเอ็มวี มีน้องนักเรียนที่ต้องการเก็บพอร์ตฯ ทักมาช่วยทำกราฟิก รวมไปถึงมีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ในคณะซัพพอร์ตเป็นอย่างดี

ได้เวลาบอกลาตัวตนที่ไม่ใช่ และกล้าเป็นตัวเอง

แต่ถึงอย่างนั้น เฟทยังเลือกใช้เพลงยินดีที่ได้… (Cherish) เป็นธีสิสส่งครู เพราะแม้เพลงนี้จะมีทำนองที่สดใส แต่มันคือเพลงของการจากลา เป็นสัญญะของการเป็นไอดอลที่เธอต้องการสื่อ

FiNESSE Project

“เพลงมันพูดจากมุมมองของคนที่เป็นไอดอล ที่แม้ช่วงเวลาที่เป็นไอดอลจะมีความสุข แต่บางครั้งเรากลับรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้ว่าที่แฟนคลับบอกว่าชอบเรา มันคือตัวเราจริงๆ ไหม จนสุดท้ายเลยตัดสินใจที่จะปล่อยมันไป เพราะว่าอยากเป็นตัวของตัวเอง”

และหากใครที่ได้มีโอกาสดูตัวเอ็มวี จะเห็นว่าตอนท้ายเอ็มวีเพลงยินดีที่ได้… (Cherish) จะเชื่อมไปยังเพลงเดบิวต์นั่นก็คือเพลงแอ๊บแบ๊วมั้ยคะ (Illegal Cutie) ที่พูดถึงการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจใคร

“เพลงแรกเฟทพยายามแต่งให้มีความ J-POP น้อยที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะเฟทโดนอคติเรื่องลุคที่ดูญี่ปุ่น แต่พอมาเพลงสอง เราเลยทำแบบประชดไปเลย อยากให้มันออกมาญี่ปุ่นแบบตะโกน เนื้อเพลงออกมาในแนวประชดด้วย”

ส่วนที่มาของการเลือกใช้คีย์เวิร์ด ‘แอ๊บแบ๊ว’ ก็เพราะเธอมองว่าคนไทยติดภาพคำว่าแอ๊บแบ๊วเป็นคำด่า ซึ่งเธอไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะเธอเองรู้สึกว่ามันน่ารัก และมองว่าคนที่สร้างคาแรกเตอร์แบ๊วๆ น่ารักๆ ขึ้นมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างหลายคนคิด

FiNESSE Project

“การที่เราจะแอ๊บแบ๊วได้ มันต้องผ่านการคิดมาเยอะมากว่าต้องทำยังไง ต้องทำแค่ไหนถึงจะโอเค เพราะอย่างเพลงนี้ที่หลายคนอาจจะมองว่าง่าย แต่จริงๆ คือร้องและเต้นยากมาก เราเลยอยากให้คนเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่เราทำตัวน่ารักเพราะเราชอบ หรือกระทั่งเป็นตัวของตัวเองด้วยซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องผิด

“อย่างเมื่อก่อนเฟทเองเป็นคนหนึ่งที่เคยเกลียดสีชมพูมากๆ เพราะสังคมไม่ชอบ แต่พอมาตอนนี้เฟทรู้สึกว่าการแสดงออกแบบ Feminine ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะความอ่อนหวานไม่เคยเป็นความอ่อนแอ” หญิงสาวพูดถึงสิ่งที่อยากให้คนในสังคมเข้าใจ เพราะตัวเธอเองเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน

ได้เวลายกระดับธีสิสเข้าสู่โลกธุรกิจ

FiNESSE Project

“ถ้าทำโปรเจกต์จบแล้ว จะทำยังไงกับเมมเบอร์ต่อ เราควรระวัง อย่าให้เขารู้สึกว่าเขามาเพื่อแค่ให้เราเรียนจบ” คือประโยคที่ครูพูดกับเฟทในระหว่างการทำธีสิส ที่กลายเป็นตัวจุดประกายให้เธอต่อยอด FiNESSE ต่อไปในอนาคต

“เฟทไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกว่ามาแค่ให้เฟทเรียนจบแล้วแยกย้าย เฟทอยากทำต่อ อยากผลักดันมันให้เป็นธุรกิจให้ได้มากที่สุด เพื่อที่อย่างน้อยถ้าทุกคนไม่อยากทำตรงนี้ต่อ ทุกคนจะได้ไปต่อทางอื่นได้” เจ้าของธีสิสบอกเล่าถึงความตั้งใจ

ขณะเดียวกัน เฟทยังบอกกับเราว่า ใน FiNESSE นอกจากเมมเบอร์จะได้ทำตามความฝันของตัวเองแล้ว ตัวเธอเองก็มีความฝันใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน

“จริงๆ เฟทไม่อยากเป็นเบื้องหลังเลย เพราะกลัวตัวเองรับไม่ได้ที่จะต้องเห็นคนอื่นอยู่ในตำแหน่งที่เราควรจะได้อยู่ จนกระทั่งมาทำโปรเจกต์นี้ กลายเป็นว่าตำแหน่งโปรดิวเซอร์ทำให้เราได้ใช้ความสามารถเราสนับสนุนคนที่เขามีความฝัน เราเลยแฮปปี้กับการเป็นโปรดิวเซอร์ และยินดีที่สิ่งนี้เป็นความฝันใหม่ของเรา” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

หลังจากจบโปรเจกต์ในวันที่ 31 พฤษภาคม เฟทเล่าว่าจะมีการนัดคุยกับเหล่าสมาชิกในวงอีกรอบว่าอยากทำวงนี้ต่อไหม เพราะหลังจากนี้จะมีการโอนวง FiNESSE เข้าสู่บริษัทในอุตสาหกรรมเพลงจริงๆ โดยมีเฟทดูแลเหมือนเดิม

“ถึงตอนนั้นค่อยมานั่งคุยกันว่าจะเอายังไง อยากทำต่อไหม ถ้าไม่อยากทำ มีความฝันใหม่เป็นอะไร เฟทก็จะหาทางให้เขาไปทำตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าอยากทำไอดอลต่อก็ยินดีมากๆ เพราะเฟทอยากทำต่อจริงๆ นะ” เธอกล่าว

ได้เวลายอมรับความแตกต่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ก่อนจากกัน เราได้ถามถึงภาพจำของวงไอดอลที่เฟทปลุกปั้นมาหลายเดือนว่า อยากให้คนจดจำในรูปแบบไหน

‘ทักษะ’ คือคำนิยามที่เฟทใช้ครอบความเป็น FiNESSE

“ส่วนหนึ่งเพราะคำว่า Finesse แปลว่า ทักษะ แต่สำหรับ FiNESSE ทักษะที่ว่าคือทักษะการเป็น ‘ตัวของตัวเอง’ ของ ‘ไอดอล’ ทักษะนี้สำคัญมากในการทำให้พวกเขาเป็นที่ชื่นชอบและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นจริงๆ”

จากจุดที่เธอเล่านี้เอง ทำให้ถ้าสังเกตสมาชิกทั้ง 6 คนของ FiNESSE จะพบว่าทุกคนต่างมี Personality หรือคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันมาก และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งเฟทมองว่าสิ่งนี้แหละที่จะส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคน และทำให้พวกเขาเหล่านั้นรับรู้ถึงความต่างในสังคม

เฟทเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงแห่งความคับแค้นใจว่า หลายครั้งที่พวกเขาเหล่านี้โดนปฏิเสธ มันไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เก่ง แต่เป็นเพียงเพราะเขาไม่ตรงมาตรฐานที่สังคมต้องการ

“มันไม่เห็นจำเป็นเลยว่าเกิร์ลกรุ๊ปต้องเป็นเพศหญิงโดยกำเนิด บอยแบนด์ต้องแสดงออกแบบ Masculine มันมีเหตุผลอะไรนอกจากการที่คุณเป็น Transphobia ไม่ชอบคนที่เป็น Trans”

เพราะต่อให้มีข้อแย้งกลับมาว่า แต่ในปัจจุบันเราเห็นคนในวงการที่ไม่ใช่ Cishet ตั้งเยอะแล้ว เฟทก็ยังมองว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นตัวเองหรือ Come out ได้อย่างเต็มที่ หรือต่อให้ Come out ได้ ก็ต้องเป็นคนที่ได้รับความรักจากแฟนคลับมาประมาณหนึ่งก่อนอยู่ดี

“เฟทอยากให้สังคมยอมรับเขาโดยที่เขาเป็นเขามาตั้งแต่ต้นมากกว่า ระยะเวลาของ FiNESSE ห้าเดือนนี้มันอาจทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยเฟทก็อยากให้สังคมเห็นความแตกต่าง เห็นว่าอะไรคือปัญหา และแน่นอนว่าคนที่พูดมันควรเป็นไอดอลที่ออกมาพูด Represent ตัวเขาเอง ถึงจะมีน้ำหนักมากกว่า” เธอกล่าวทิ้งท้าย

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.