คุณคิดว่าเงิน 1,000 บาท ซื้อหนังสือได้กี่เล่ม
มีความสุขตอนหยิบหนังสือลงตะกร้า มีน้ำตาตอนเห็นราคารวมที่ต้องจ่าย ชาวหนังสือใครเคยมีโมเมนต์นี้บ้าง ขอให้ยกมือขึ้น! เพราะทุกวันนี้หากกำเงินหนึ่งพันบาทเดินซื้อหนังสือที่ชื่นชอบสักสองสามเล่ม พอเห็นป้ายราคาอาจจะรู้สึกอยากปาดเหงื่อสักสี่ห้ารอบ ด้วยราคาหนังสือที่แพงมากขึ้นจากสมัยก่อนที่เคยมีราคาเฉลี่ยเล่มละ 100 – 200 บาท หนังสือการ์ตูนประมาณ 30 – 50 บาท
แต่ปัจจุบันจากการสำรวจราคาหนังสือตามท้องตลาดส่วนใหญ่อยู่ในช่วงค่าเฉลี่ย 200 – 400 บาท ยิ่งหนังสือการ์ตูนอยู่ในช่วงค่าเฉลี่ย 80 – 100 บาท ส่วนหนังสือรูปแบบ E-Book ก็มีราคาไม่ได้ห่างจากหนังสือเล่มมากเท่าไหร่นัก ซึ่งสมัยนี้เงินหนึ่งพันบาทอาจจะได้หนังสือประมาณ 2 – 3 เล่ม หากถามว่าเราคิดไปเองหรือไม่ที่หนังสือแพงขึ้น ขอบอกว่าคุณไม่ได้คิดไปคนเดียวหรอก เพราะมันสูงกว่าเดิมจริงๆ
ต้นทุนหนังสือสูงขึ้น รายได้คนอ่านก็สูงขึ้น (นิดหนึ่ง)
สำหรับหนังสือนับว่าเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่งที่มีการปรับราคาขึ้นลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในยุคที่เกิดโรคระบาดและวิกฤตการเมืองในต่างประเทศ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายอุตสาหกรรมจึงต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์เองก็ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมกระดาษจนต้องขึ้นราคาไปตามๆ กัน
ในมุมของผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างสำนักพิมพ์ ‘พ.ศ.พัฒนา’ ที่ให้สัมภาษณ์ในสื่อไทยรัฐ เผยว่า กระดาษแพงขึ้นเพราะส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศและขนส่งทางเรือ ซึ่งราคากระดาษมีการปรับขึ้นอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว จึงทำให้หนังสือหนึ่งเล่มมีต้นทุนมากกว่าเดิมประมาณ 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้สำนักพิมพ์อาจต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ตามกลไกตลาด
ตัดภาพมาฝั่งผู้อ่านชาวไทยส่วนใหญ่มีกำลังซื้อหนังสืออยู่ในช่วง 500 – 1,000 บาท/เดือน จากข้อมูลสถิติงานหนังสือปี 2565 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมทั้งยังรายงานอีกว่า ฐานลูกค้าส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 23 – 28 ปี และมีรายได้อยู่ในช่วง 15,000 – 25,000 บาท
จากข้อมูลจะเห็นว่าคนอ่านหนังสือส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานตอนต้นและมีเงินเดือนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละวันที่แพงหูฉี่ เพราะข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเผยว่า ค่าใช้จ่ายของคนไทยในปี 2565 เช่น ค่าโดยสาร ค่าเช่าบ้าน และค่าอาหาร มีค่าเฉลี่ยประมาณเดือนละ 18,000 บาทเลยทีเดียว
หากนำมาเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 300 บาท/วัน (300 คูณ 30 วัน เท่ากับ 9,000 บาท/เดือน) นับว่ารายจ่ายสูงกว่ารายรับมากเป็น 2 เท่า แถมการเติบโตของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตลอดสิบปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 13 – 36 บาท/วัน คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่า สินค้าต่างๆ มีราคาสูงขึ้น ส่วนเงินเดือนก็สูงขึ้น (เล็กน้อย) ซึ่งไม่สมดุลกับค่าครองชีพ จึงไม่แปลกใจที่คนจะรู้สึกว่าหนังสือแพง และคิดหนักมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่ม
ห้องสมุดสาธารณะ ทางเลือกที่ทำให้คนเข้าถึงง่าย
เมื่อหนังสือราคาแรงกว่าแต่ก่อน ส่วนหนังสือแบบ E-Book ก็ราคาไม่ได้ถูกมากนัก อาจทำให้หลายคนคิดแล้วคิดอีกเวลาจะควักเงินซื้อหนังสือแต่ละที เพราะมันมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่มีอยู่แทบจะเท่าเดิม รวมไปถึงน้องๆ วัยรุ่นที่มีรายได้ไม่มากนักก็อาจจะเข้าไม่ถึงหนังสือเรียนและหนังสือเด็กพัฒนาความรู้ต่างๆ เท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้นก็คือการเพิ่มจำนวน ‘ห้องสมุดสาธารณะ’
ยกตัวอย่าง ประเทศฟินแลนด์มีห้องสมุดสาธารณะทั้งหมด 738 แห่ง และมีรถห้องสมุดเคลื่อนที่อีก 140 คันที่วิ่งให้บริการประชาชนกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ และมีคนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดเกือบ 50 ล้านครั้ง/ปี และยืมหนังสือไปอ่านเกือบ 70 ล้านครั้ง/ปี
โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้และมีบริการยืมฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียม และส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาที่ควรจะได้รับ มากไปกว่านั้น ห้องสมุดยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถทำกิจกรรมและพบปะกันได้อีกด้วย
ในมุมประเทศไทยเองมีห้องสมุดประชาชนทั้งหมด 925 แห่งทั่วประเทศ ถ้าดูจากตัวเลข แม้ว่าไทยมีจำนวนห้องสมุดมากกว่าประเทศฟินแลนด์ แต่น่าคิดต่อไม่ใช่น้อยที่ทุกคนยังเข้าไม่ถึงห้องสมุดสาธารณะ อาจเนื่องด้วยการเดินทางที่ค่าใช้จ่ายหรือข้อจำกัดความหลากหลายทางหนังสือ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงห้องสมุดใกล้บ้านอย่างสะดวกสบาย รวมถึงมีเงินเหลือกินเหลือใช้สามารถซื้อหนังสือที่ตนเองสนใจ
เพราะหนังสือก็เปรียบเสมือนประตูบานหนึ่งที่เปิดโลกทางความคิด ความรู้ และความสุขให้กับคนอ่านมากมาย เหมือนตอนเด็กๆ เวลาเราตื่นเต้นกับหนังสือการ์ตูนออกใหม่ และสนุกกับการลองหยิบอ่านเล่มนู้นเล่มนี้ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกลายเป็นงานอดิเรกชอบอ่านหนังสือ หรือค้นพบความชอบของตนเองไม่รู้ตัว
Sources :
BLT Bangkok I shorturl.asia/yzR6G
Ministry of Education and Culture, Finland I shorturl.asia/QIDZ2
PUBAT | pubat.or.th/statistics2565/
The KOMMON | shorturl.asia/cLSr5
WorkpointTODAY | workpointtoday.com/wage-5/
กรุงเทพธุรกิจ | shorturl.asia/au39k
คมชัดลึก | www.komchadluek.net/news/521471
ไทยรัฐ | shorturl.asia/5hGBI