เมื่อพูดถึง ‘ระยอง’ หลายคนอาจนึกถึงอีเวนต์สนุกๆ อย่างฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะเสม็ด ราชินีผลไม้อย่างมังคุด น้ำปลาแท้รสเด็ดที่ต้องซื้อทุกครั้งที่ไปเยือน หรือแม้กระทั่งอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กของจังหวัดนี้
แต่นอกจากจุดเด่นต่างๆ ที่เรายกตัวอย่างมา ระยองยังมีอีกหนึ่งมนตร์เสน่ห์อย่าง ‘ยมจินดา’ ย่านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังวางตัวขนานไปกับแม่น้ำระยอง แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนมากว่า 100 ปี
หากพูดง่ายๆ ‘ยมจินดา’ เปรียบได้กับย่าน ‘เจริญกรุง’ ของกรุงเทพฯ เนื่องจากยมจินดาเป็นถนนสายแรกของระยอง ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แหล่งที่ดินทำกินของชาวจีนโพ้นทะเล รวมไปถึงที่ตั้งของบ้านขุนนางและคหบดีในอดีต ทำให้ตลอดระยะทางกว่า 600 เมตรของถนนสายนี้เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม อาหาร และศิลปะพื้นถิ่นที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ แต่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างกลมกลืน
วันนี้ คอลัมน์ Neighboroot จึงขอพาทุกคนออกนอกกรุงเทพฯ ไปอีกนิด เลยชลบุรีไปอีกหน่อย มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองระยองเพื่อร่วมกันสำรวจย่านยมจินดา ผ่านกิจกรรม ‘Co-Create YOMJINDA’ ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งเป็นกิจกรรมทดลองพัฒนาพื้นที่ ต่อยอดให้ย่านเมืองเก่าแห่งนี้ ก้าวเข้าสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะทำให้การเดินทางมาระยองของใครหลายๆ คน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้นกว่าแค่การมาทะเล
ศาลเจ้าแม่ทับทิมระยอง | พื้นที่แห่งศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีน
สำหรับวันนี้ เราจะพาทุกคนไปสำรวจ 4 จุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของย่านยมจินดา แต่เนื่องจากสถานที่แต่ละแห่งไม่ได้อยู่ไกลกันมาก เป็นระยะการเดินทางที่เดินได้สบายๆ เราจึงอยากชวนทุกคนลงจากรถและเดินเท้าไปบนถนนสายเล็กๆ นี้ เพื่อซึมซับบรรยากาศชุมชนเก่าแก่ของเมืองระยองไปพร้อมๆ กัน
เพื่อให้การเริ่มต้นวันเต็มไปด้วยความเป็นสิริมงคล เราขอเริ่มสตาร์ทกันที่ ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิมระยอง’ หนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญใจกลางถนนยมจินดาของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ตกแต่งด้วยภาพฝาผนังและรูปปั้นสีสันสดใส ดึงดูดสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี
‘ยรรยง วรโศภิษฐ์’ และ ‘สุทธิพร ภู่ธนะพิบูล’ ประธานและรองประธานมูลนิธิกุศลร่วมใจเล่าว่า ปกติแล้วชาวบ้านจะรู้จักศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้ในชื่อ ‘ศาลตุ้ยบ้วยเนี่ย’ แต่เหตุที่มีอีกชื่อว่าศาลเจ้าแม่ทับทิม เหมือนกับอีกหลายๆ ศาลทั่วประเทศ นั่นเป็นเพราะเจ้าแม่ทับทิมเป็นเพียงชื่อเรียกของเทพธิดามหาสมุทร หากศาลเจ้าที่ใดตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ และชุมชนนั้นๆ มีการประกอบอาชีพทางน้ำ ก็มักมีการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมไว้กราบไหว้เป็นเรื่องปกติ
“ศาลนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2421 โดยหันหน้าออกไปทางแม่น้ำระยอง เพื่อให้ชาวเรือที่ผ่านไปมาในอดีตได้แวะกราบไหว้ขอพรให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ก่อนที่จะมีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2510 โดยการซื้อที่ดินฝั่งทิศตะวันออก เพื่อสร้างเป็นซุ้มประตูทางเข้าออกศาล”
ทุกวันนี้ศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ได้เป็นสถานที่กราบไหว้ของชาวเรือเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ทั้งจากยมจินดาและตัวเมืองระยอง ที่มักรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมสำคัญประจำปีต่างๆ ด้วย
ส่วนช่วงเย็นของวันธรรมดา บริเวณ ‘ศาลางิ้ว’ ภายในตัวศาล ก็ยังกลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าอากงอาม่าในพื้นที่ ที่มักมานั่งพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตอย่างออกรสชาติ เป็นจุดนัดพบขนาดย่อมของคนในชุมชนไปในตัว
Converstation | สถานีสำหรับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
หลังจากไหว้ศาลเจ้า ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเสี่ยงเซียมซีกันจนหนำใจแล้ว ก็ได้เวลาเดินเท้าต่อไปยังจุดหมายที่สอง ที่อยู่ห่างไปเพียง 120 เมตรเท่านั้น เพียงไม่นานเราก็มาหยุดลงที่หน้าบ้านไม้โบราณแห่งหนึ่ง ที่ยังคงความงดงาม โดยที่กาลเวลาไม่สามารถทำอะไรได้
ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็น ‘ร้านศรีประดิษฐ์’ ที่ขายเครื่องมือเย็บปักถักร้อยและเป็นที่เรียนพิเศษของเด็กๆ ในพื้นที่ แต่ปัจจุบันภายในร้านถูกเปลี่ยนเป็น Co-learning Space ชื่อว่า ‘Converstation’ ซึ่งยังคงเจตนารมณ์เดิมนั่นก็คือ การเป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็กทุกคน
ขณะที่เรากำลังดื่มด่ำกับความสวยงามในอดีต และเสียงเพราะๆ จากนักดนตรีอิสระที่กำลังร้องเพลงและเล่นกีตาร์อยู่บริเวณหน้าร้าน เราก็ได้พบกับเจ้าของ Converstation นั่นก็คือ ‘ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์’ อดีตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ที่ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพครู หวนกลับคืนสู่จังหวัดบ้านเกิด โดยมี ‘พลอยรุ้ง สิบพลาง’ อดีตกองบรรณาธิการ The MATTER ผู้เป็นทั้งหุ้นส่วนกิจการและหุ้นส่วนหัวใจร่วมเดินทางครั้งใหม่นี้ด้วย
เมื่อก้าวเข้ามาในร้าน สิ่งที่สะดุดตาเราเป็นอย่างมากก็คือบรรดาหนังสือทั้งไทยและเทศภายใต้การครอบครองของพลอยรุ้งที่วางอัดแน่นอยู่บนชั้นวางหนังสือขนาดใหญ่ จนแทบจะมองไม่เห็นผนังด้านหลัง บอร์ดเกมหลากหลายแบบที่วางซ้อนกันอยู่ทั่วทุกมุมร้านของชนสรณ์ รวมไปถึงการ์ดโปเกมอนหลายกล่องในตู้กระจก รอคอยเหล่าโปเกมอนเทรนเนอร์มาเห็น และหยิบมันมาเล่นด้วยสายตาที่เป็นประกาย
ชนสรณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ชั้นบนของ Converstation ยังถูกดัดแปลงให้เป็นโรงหนังเล็กๆ เพราะเขาเชื่อว่า “ทุกๆ เครื่องมือภายในร้านสามารถเป็นตัวจุดประเด็นการเรียนรู้ได้ในทุกๆ เรื่อง”
นอกจากนี้ ทางร้านยังมีกิมมิกเล็กๆ อย่าง ‘12 เดือน 12 ธีมประเด็นทางสังคม’ ที่กำลังต่อยอดให้เป็นกิจกรรมใหญ่ของย่านยมจินดาในอนาคตอย่าง ‘ปฏิทินเมืองเก่า 12 เดือน’ โดยเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตว่า พวกเขาอยากจัดกิจกรรมอะไรบ้าง และแต่ละกิจกรรมควรจัดขึ้นในเดือนไหน
สำหรับวันปกติที่ไม่มีการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างการฉายหนัง ล้อมวงพูดคุยเรื่องหนังสือ การสกรีนเสื้อ หรือแข่งการ์ดเกมโปเกมอน ที่ร้านก็ยังเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนแวะเข้ามานั่งเล่นหรือพักผ่อนตามปกติ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.
“ส่วนใหญ่ก็จะมีคนมานั่งอ่านหนังสือ มานั่งเล่นบอร์ดเกม หรือบางคนที่มานั่งหลบอะไรบางอย่าง พยายามที่จะ Isolate ตัวเอง สั่งน้ำแก้วเดียวแล้วนั่งยาวๆ” ชนสรณ์เล่า
ทั้งชนสรณ์และพลอยรุ้งบอกกับเราว่า พวกเขาอยากทำให้ Converstation เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่น เพื่อให้พวกเขาเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ยังโอบรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ที่ต้องการที่พักพิงด้วยเช่นกัน
ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC)
| ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิด
เมื่อนั่งพักกันที่ Co-learning Space จนเต็มอิ่ม ก็ได้เวลาเดินทางต่อ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของจังหวัดระยองกันมากขึ้น ผ่านการสำรวจรูปภาพภายใน ‘ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC)’ ที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับถนนยมจินดาไว้อย่างดี
แต่เดิมสถานที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘ตึกเถ้าแก่เทียน’ เนื่องจากเป็นตึกของนายเทียน สินธุวณิชย์ หรือขุนพานิชชลาสินธุ์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2460 ด้วยลักษณะการสร้างสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่ได้อิทธิพลการสร้างมาจากจังหวัดภูเก็ต ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก และกลายมาเป็น ‘วิกเถ้าแก่เทียน’ ตามลำดับ
จนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่นี่ก็ถูกเปลี่ยนมือและพัฒนากลายเป็น RCDC ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอเรื่องราวของชุมชนผ่านภาพถ่ายที่น่าสนใจ
ระหว่างที่เราเยี่ยมเยียน RCDC ครั้งนี้ ภายในก็มีนิทรรศการภาพถ่าย ‘Portrait of YOMJINDA Exhibition’ ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่าง โรงเรียนสังเคราะห์แสง:School of Photographic Arts และ CEA เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนมุมมองที่มีต่อย่านยมจินดา ผ่านรูปถ่ายในอดีตจากชาวยมจินดาหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่รุ่นคุณลุงคุณป้า ไปจนถึงคุณตาคุณยาย ที่ทำให้เราเห็นภาพสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ส่งผลให้การมาเยือนยมจินดาของเราครั้งนี้มีเรื่องราวและมีเสน่ห์มากกว่าที่คิดไว้เยอะเลย
หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ | คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชน
หลังจากที่ดื่มด่ำกับรูปภาพในอดีตกันแบบเพลินๆ ก็ได้เวลาเดินต่อไปยังจุดหมายสุดท้ายของวันนี้ นั่นก็คือร้าน ‘หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์’ อดีต ‘ตึกกี่พ้ง’ อาคารพาณิชย์หลังแรกในระยอง
นอกจากจะเป็นคาเฟ่สไตล์วินเทจประจำย่านแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกหนึ่งที่ตั้งของนิทรรศการ Portrait of YOMJINDA Exhibition ที่จัดแสดงภาพยมจินดาในสายตาของผู้คนยุคปัจจุบัน เพื่อให้การเดินทางระยะสั้นในย่านยมจินดา ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำไม่ต่างกับการเที่ยวทะเลหรือสถานที่อื่นๆ
แม้หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ จะตั้งอยู่บนถนนชุมพล ไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนยมจินดาเหมือนสถานที่อื่นๆ ที่เราไปมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยความที่ชุมพลเป็นถนนที่คู่ขนานไปกับยมจินดา ทำให้ หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ควรค่าแก่การมาเยือนสักครั้ง
นั่นเป็นเพราะ ‘กษิดิ์เดช พะเนียงทอง’ เจ้าของร้านหลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ ยังคงพยายามรักษารูปแบบโครงสร้างและสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ของตึกเดิมเอาไว้เท่าที่จะสามารถทำได้
อีกทั้งเมนูเครื่องดื่มของร้าน กษิดิ์เดชยังออกแบบให้มีส่วนผสมของเครื่องเทศแทรกอยู่ในทุกเมนูให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับกลิ่นอายของร้านขายเครื่องเทศในตึกกี่พ้งสมัยก่อนเอาไว้ด้วย
“เราอยากรักษาสภาพเดิมของตึกเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยบริเวณข้างบนจะเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับจังหวัดระยอง เพราะเราอยากให้ที่นี่เป็นคาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชน ที่ให้ทั้งข้อมูล รูปภาพ และประสบการณ์ผ่านเครื่องดื่มภายในร้าน” กษิดิ์เดชกล่าว
โดยช่วงนี้ร้านหลานเอกยังคงจัดนิทรรศการภาพถ่าย Portrait of YOMJINDA Exhibition ที่จัดแสดงถ่ายภาพฟิล์มจากฝีมือของเด็กๆ ในยมจินดา ภายใต้หัวข้อ ‘If Yomjinda Could Say ยมจินดาอยากบอกอะไร?’
คาดว่าทางร้านจะจัดแสดงภาพถ่ายเหล่านี้ต่อไปอย่างต่ำอีก 3 เดือน และหลังจากนั้นจะมีการหมุนเวียนการจัดแสดงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเมนูสเปเชียลของร้าน ที่กษิดิ์เดชจะครีเอตขึ้นมาตามมูลนิธิหรือองค์กรที่ทางร้านต้องการสนับสนุน และมีกิมมิกเล็กๆ ให้ลูกค้าได้ร่วมบริจาคกับทางร้านผ่านการซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ด้วย โดยทางร้านจะบริจาค 40 เปอร์เซ็นต์จากราคาเครื่องดื่มโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้กับมูลนิธินั้นๆ โดยตรง
ทำให้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในย่านยมจินดาครั้งนี้ นอกจากจะเต็มไปด้วยเรื่องราววิถีชีวิต ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงรสชาติที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีจากร้านหลานเอกและกษิดิ์เดชแล้ว ยังส่งเสริมให้คนภายนอกได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขับเคลื่อนชุมชนยมจินดาให้อยู่คู่เมืองระยองตราบนานเท่านานอีกด้วย