ในวันที่สะพานพระราม 8 พัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นพับบลิกสเปซอีกแห่งของชาวฝั่งธนฯ รวมถึงนักเรียน-นักศึกษาในละแวกใกล้เคียง ที่หากแดดร่มลมตกเมื่อไร ก็มักพากันมานั่งทอดสายตาที่สวนริมแม่น้ำ ยืดแข้งขาออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ เล่นฟุตซอลในสนามใกล้ๆ หรือลานกว้างใต้สะพานที่แปรเปลี่ยนเป็นลานสเก็ตบอร์ดให้เด็กๆ ได้ออกมาวาดลวดลายโชว์ลีลากันสนุกสนานทุกค่ำคืน
ทว่าหากไม่ใช่คนที่คลุกคลีอยู่แถบนี้อาจไม่รู้เลยว่า พื้นที่ติดกันนี้มีชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่โดดเด่นเรื่องงานหัตถกรรมต่างๆ และของกินของใช้นานาชนิดตั้งอยู่ในชื่อ ‘บ้านปูน’
ขณะที่น้ำเหนือกำลังไหลลงมา สมทบกับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มปริ่มขอบกระสอบทรายใต้สะพานพระราม 8 เราเริ่มต้นทริปวันนี้ที่ด้านหน้าแนวกำแพงเก่า ปูนที่เคยฉาบหลุดล่อนออกมาจนเห็นแนวอิฐก่อ ค่อยๆ ผุพังทลายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงเรื่องราวความเป็นมาที่แทบจะเลือนหาย ติดอยู่บนป้ายสีซีดจาง
‘กำแพงวังเจ้าอนุวงศ์’ หรือที่เรียกกันภาษาปากว่าวังเจ้าลาว เป็นหลักฐานของการเข้ามาอยู่อาศัยของเจ้านายจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่มาปลูกบ้านเรือนประทับยามที่ต้องเดินทางเข้ามาทำธุระยังกรุงเทพฯ ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญหนึ่งที่อยู่คู่บ้านย่านนี้
จากกำแพงวังในวันนั้น กลายเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตของชุมชนบ้านปูนกับพื้นที่สะพานพระราม 8 ในวันนี้ ทอดตัวเลียบไปกับที่พักอาศัย โดยมีทางเข้า-ออกเล็กๆ ด้านบนเป็นป้ายสีเขียวเขียนชื่อระบุชัดว่า ‘ชุมชนบ้านปูน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร’ อยู่ที่ปลายกำแพงริมแม่น้ำ
เยี่ยม ‘บ้านปูน’ แหล่งผลิตสรรพสินค้าย่านฝั่งธนฯ
ชื่อเสียงเรียงนามของบ้านปูนไม่ได้มีที่มาซับซ้อน ว่ากันง่ายๆ คือมาจากการที่มีโรงทำปูน วัตถุดิบสำคัญกินคู่กับหมาก ตั้งอยู่ด้านในชุมชนมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงฯ ขณะที่อีกกระแสหนึ่งบอกว่าเพิ่งมาตั้งในช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ปูนแดงจากที่นี่คงจะโด่งดังและเป็นแหล่งผลิตใหญ่จนคนทั่วไปขนานนามให้
“จากที่ลุงเห็นตอนนั้น บ้านปูนมีเตาปูนสองเตา เตาหนึ่งร้าง อีกเตายังเผาอยู่ พอเกิดสงครามก็เลิก เพราะเขาต้องไปเอาหินปูนก้อนใหญ่ๆ จากราชบุรีมาเผาจนสุกแดง แล้วเอาไปหมักในอ่างหมักที่มีสิบกว่าบ่อ ใหญ่เป็นเมตรๆ เอาใบพายใหญ่ๆ ไปกวนจนได้ที่ก็ใส่สีขมิ้นให้ออกเป็นสีแดง แล้วตอนหลังก็ใส่สีเสียดให้เข้มขึ้นอีก” คุณลุง ‘อาภรณ์ นพคุณ’ ชาวชุมชนบ้านปูนในวัย 84 ย่าง 85 ปี เผยถึงที่มาของชื่อย่าน ซึ่งเขายังพอทันเห็นก่อนโรงปูนจะเลิกทำไป
บ้านปูนและพื้นที่ใกล้เคียงเคยแน่นขนัดไปด้วยสวน ตั้งแต่แถบสะพานพระราม 6 ไปจนถึงบางกอกน้อย ชาวบ้านผูกพันกับสายน้ำลำคลอง เพราะใช้เป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ ก่อนจะกลายเป็นชุมชนเมือง คอนโดมิเนียม และถนนหนทางแทรกขึ้นระหว่างบ้านคน รวมทั้งค่อยๆ กลืนพื้นที่ปลูกผลไม้ไปเรื่อยๆ จนแทบไม่เห็นร่องรอยเดิมแล้ว
“เดิมทีที่นี่เป็นสวนเสียส่วนใหญ่ ปลูกเงาะ มังคุด มะไฟ มะม่วง สมัยก่อนคนเขาเอาที่อยู่ริมแม่น้ำกัน เพราะเป็นทางเอก แต่คนสมัยนี้ชอบริมถนน ลุงว่าถ้าเอาความสะดวกสบาย อยู่ริมแม่น้ำดีกว่า มีความร่มเย็นและมีความสุข” เจ้าของร้านชำปากทางเข้าชุมชนบ้านปูนนั่งเล่าอย่างอารมณ์ดีที่โต๊ะหน้าร้าน พลางรับไหว้ทักทายคนที่เดินผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่า เสมือนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ประจำชุมชน
“แต่บ้านปูนทุกวันนี้เงียบนะ เพราะส่วนใหญ่คนไปทำงาน คนเก่าย้ายออกไปก็เงียบหนักเข้าไปอีก กลายเป็นคนแปลกหน้าเยอะ แต่ก่อนเรารู้หมดบ้านนั้นคนนี้บ้านนี้คนนั้น” แกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน
อาณาเขตของบ้านปูนเคยกินพื้นที่กว้างไกลกว่าที่เห็นทุกวันนี้ แต่ก่อนนั้นฝั่งหนึ่งของชุมชนยาวไปถึงวัดบวรมงคลฯ หรือวัดลิงขบ ส่วนอีกฝั่งยาวไปจรดถนนจรัญสนิทวงศ์ที่อยู่ด้านหลัง วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนก็คึกคักจอแจ เพราะเป็นที่จอดพักของเรือทรายที่ล่องลงมาจากอยุธยา และยังอยู่ติดกับโรงงานสุราบางยี่ขัน
“ช่วงที่เราเจริญที่สุดในทางแถบนี้คือมีเรือทราย เรือต่อ มาจอดริมแม่น้ำเพื่อรอเรือขนทรายที่มาจากผักไห่ อยุธยา
“เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน เวลาสร้างตึกสร้างถนนต้องใช้ทราย พอเรือลำใหญ่ที่เขาส่งทรายเสร็จก็มาจอดที่นี่เพื่อรอเรือเล็กมาลาก ใครมาก่อนก็แวะมาซื้อของที่นี่ ส่วนทางด้านโรงเหล้า ประตูจะเปิดทางด้านบ้านปูน คนก็เข้าออกทางนี้ ความเจริญมาตกตรงนี้หมด”
นอกจากความเจริญทางน้ำ แถบนี้ยังเป็นต้นทางของรถไฟราษฎร์สายบางบัวทองหรือเรียกกันในประสาชาวย่านว่า ‘รถไฟพระยาวรพงษ์’ ซึ่งเป็นทางรถไฟของเอกชนสายบ้านปูน-บางบัวทอง ตั้งสถานีอยู่ตรงวัดลิงขบ ถือได้ว่าในระยะเวลาหนึ่ง ชุมชนนี้คงโก้ไม่ใช่น้อย เพราะมีรถไฟแล่นตรงมาถึง เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย
“ลุงเคยเห็นรถไฟ ตอนเด็กๆ เคยปีนขึ้นปีนลงเลย เขาวิ่งเอาของจากบางบัวทองมาขายที่นี่ ตอนหลังรถราเยอะๆ ก็เลิกไป เรียกว่ารถไฟวรพงษ์ ตอนนี้เหลือแต่ชื่อซอยรถไฟวรพงษ์”
บทบาทสำคัญของบ้านปูนในอดีตคือ เป็นแหล่งผลิตสรรพสินค้าหลายอย่างป้อนเข้าสู่ท้องตลาด นอกจากโรงปูนแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีทั้งโรงงานทำเตาอั้งโล่ บ้านทำเส้นขนมจีน โรงทำจุกขวด บ้านตีมีด โรงทำฟืนใส่เรือกลไฟ บ้านทำรองเท้าเกี๊ยะ และอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งต่างเคยตั้งเรียงรายอยู่ในชุมชนและริมแม่น้ำ ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์เมดอินบ้านปูนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ มานานหลายชั่วอายุคน
“คิดว่าสมัยก่อนหมู่บ้านของเราเจริญหรือไม่เจริญล่ะ มีหลายอย่างนะที่นี่” คุณลุงอาภรณ์ตั้งคำถาม ก่อนเล่าต่อ “เคยมีโรงหลอมตะกั่ว ใกล้ๆ กับทางเข้า เขาทำจุกเหล้าจากรากลำพู โดยจะตัดมาเหลาๆ ให้พอดีกับปากขวด แล้วเอาครั่งมาชุบ พวกขวดเหล้าขาวเหล้าแม่โขงใช้แบบนี้หมด มีโรงขนมจีน มีโรงตีมีดแต่คนไม่ค่อยรู้ เขาตีกรรไกรโบราณที่อันใหญ่หน่อย ทำเสร็จก็ส่งไปที่อื่น โรงงานยาฝิ่นก็อยู่ริมน้ำ
“ส่วนโรงเตาอั้งโล่เขาจะใช้แกลบเผาเตา เรายังเคยไปช่วยเขาเลย เป็นเพื่อนๆ กัน ไปวิ่งเล่น ไปกินข้าวบ้านเขา ทำเตานี่ค่าใช้จ่ายสูง เขาต้องเอาดินมาจากทางคลองบางกอกน้อย ตรงนี้เคยมีสี่ถึงห้าโรง ตอนหลังเขาก็เลิกไป”
บ้านปูนในฐานะศูนย์รวมโรงงานต่างๆ เหลือเพียงแต่ชื่อและเรื่องราวจากปากของคนที่เคยอยู่อาศัยและเกิดทันเห็น หลายแห่งเลิกกิจการไป บ้างเปลี่ยนไปเป็นห้องเช่า บ้างกลายเป็นคาเฟ่และร้านอาหาร
“เมื่อก่อนมันคือบ้านที่เจริญ แต่ทุกวันนี้ไม่เหลือให้เราเห็นสักอย่าง”
พลวัตสำคัญของบ้านปูนในช่วงหลังคือ การเริ่มเวนคืนที่ดินสร้างสะพานพระราม 8 เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรข้ามไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โรงงานสุราบางยี่ขัน หนึ่งในสถานที่ทำมาหากินมาช้านานของคนในชุมชนจำเป็นต้องย้ายออกไปที่จังหวัดปทุมธานี อาคารเดิมของโรงงานถูกรื้อถอน บางหลังเปลี่ยนไปเป็นที่ทำการของสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (มูลนิธิชัยพัฒนา) และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
“ตอนที่เวนคืนทำสะพานพระราม 8 จริงๆ แล้วเขาจะเอาตรงนี้ด้วย แต่เราไม่ยอม เพราะคนแถวนี้อยู่มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย” ลุงอาภรณ์เล่าย้อนไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ในคราวที่เริ่มมีโปรเจกต์สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ จนคนในชุมชนต้องออกมาคัดค้าน และเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้ ก็ยังมีโครงการทำเขื่อนสองชั้นหรือทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้อง เนื่องจากผลกระทบที่มีนั้นได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้โครงการพับไป ทิ้งไว้เพียงสติกเกอร์รณรงค์ติดอยู่ทั่วชุมชน
ยล ‘ศาลาโรงธรรม’ มรดกล้ำค่าของชาวบ้านปูน
นอกจากบ้านเรือนอาศัย ยังมีมรดกสำคัญของบ้านปูนที่ทุกคนภูมิใจและหวงแหน นั่นคือ ‘ศาลาโรงธรรม’ ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หากมีการเวนคืนหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชน อาคารโบราณหลังนี้คงโดนหางเลขไปด้วย
“ศาลาโรงธรรมสร้างเมื่อไร เราก็ไม่รู้ เขาบอกว่ารัชกาลที่ 2 แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่าใช่ไหม เขาว่าสมเด็จโต พรหมรังสีเคยมาเทศน์ที่นี่ ก็ไม่รู้ว่าจริงไหมอีก แต่ไม่กี่สิบปีมานี้ก็นิมนต์พระเกจิดังๆ มาบ่อยๆ” คุณลุงอาภรณ์โหมโรงเล่าเรื่องราวพร้อมทั้งเชื้อเชิญให้เราไปสำรวจศาลาโรงธรรมที่ว่า
เราเลยขอตัวลาจากคู่สนทนาอาวุโสประจำบ้านปูน แล้วเดินต่อไปตามทางแคบๆ ตามหลัง ‘พี่ศรี-ศรีเชาวน์ ทองโปร่ง’ ประธานชุมชนบ้านปูนคนปัจจุบัน ที่ขี่จักรยานคู่ใจนำทางเราไป ใช้เวลาไม่นานนักก็มาหยุดอยู่หน้าอาคารไม้เก่าแก่ที่คนในชุมชนมีไว้สำหรับทำบุญร่วมกัน
แม้จะไม่ทราบอายุแน่ชัดว่าศาลาหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อใดกันแน่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่มีอาคารไม้ตั้งอยู่ในชุมชนเก่าแก่ แนบสนิทชิดกับกำแพงบ้านคนทั้ง 4 ด้าน ก็ถือว่าเป็นภาพที่หาดูไม่ง่ายนักในเมืองหลวงของเรา
น่าเสียดายที่เราไม่ได้เข้าไปด้านในของศาลาโรงธรรมที่สร้างขึ้นอยู่คู่บ้านปูนมากว่าร้อยปี เนื่องจากตัวอาคารปิดไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ แถมคุณลุงผู้รับหน้าที่ดูแลก็อายุมากแล้ว ทำได้เพียงแต่มองลอดลูกกรงเข้าไป ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างกับศาลาการเปรียญที่เราเห็นได้ตามวัด
ถึงอย่างนั้น ประธานชุมชนบ้านปูนก็ช่วยเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในยามมีกิจกรรมงานบุญประจำของชุมชน ที่ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมอาหารที่ศาลาอีกหลังไม่ไกลกัน แล้วนำขึ้นไปถวายพระด้านบนศาลาโรงธรรม ให้เราได้พอเห็นภาพบรรยากาศการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านปูน
เยือน ‘วัดสวนสวรรค์’ วัดร้างกลางชุมชนวัดคฤหบดี
เราเดินต่อไปยังสถานที่ถัดไป ซอกแซกผ่านซอกซอย ข้ามคลองเล็กๆ ที่พี่ศรีบอกว่าเป็นเขตแดนระหว่างชุมชนบ้านปูนกับชุมชนวัดคฤหบดี พร้อมทั้งพูดติดตลกว่า “พ้นตรงนี้ก็ไม่ใช่ถิ่นของผมแล้ว” ระหว่างทางก็ชี้ชวนดูบ้านหลังนู้นหลังนี้ พร้อมกับบอกเล่าพื้นเพเจ้าของบ้านแต่ละหลังอย่างเป็นกันเอง
ไม่ทันเลี้ยวเข้าซอย ก็เห็นหลังคาของจุดหมายปลายทางของเราสูงขึ้นมาระหว่างหลังคาบ้าน พี่ศรีส่งไม้ต่อให้เจ้าของพื้นที่อย่าง ‘ป้าแอ๋ว’ ประธานชุมชนวัดคฤหบดี และ ‘ป้าเอียด’ รองประธานชุมชน ที่มานั่งรอต้อนรับเราอยู่ก่อนแล้ว
วัดสวนสวรรค์ (ร้าง) คืออีกหนึ่งจุดหมายของเราในวันนี้ ตั้งอยู่ในเขตชุมชนวัดคฤหบดี เพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกับชุมชนบ้านปูน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสวนผลไม้ จนกระทั่งพนักงานที่ทำงานโรงเหล้าบางยี่ขันเริ่มย้ายกันมาซื้อที่ดินแถบนี้เพื่อปลูกบ้าน เมื่อคนเยอะเข้าจึงแยกตัวตั้งเป็นชุมชนวัดคฤหบดีขึ้นมาอีกแห่ง
“เมื่อก่อนคนงานโรงเหล้ามีเป็นพันคน เวลามีงานศพทียืนให้แน่นกันไปหมด ไม่มีใครรู้จักกัน” ถ้อยความจากประธานชุมชนผู้เกิดและโตที่โรงงานสุราบางยี่ขันพาให้เราคิดตามว่าที่นี่คงเป็นชุมชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้
แม้จะเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระจำพรรษา แต่โบสถ์วัดสวนสวรรค์ยังคงอยู่หลงเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ มีเพียงหลังคาที่ผุพังไปบ้าง เพราะชาวบ้านช่วยกันเอาใจใส่สอดส่องดูแลอยู่เสมอ
นอกจากเสมาดั้งเดิมที่ยังคงอยู่รอบโบสถ์แล้ว ป้าแอ๋วชี้ให้เราสังเกตเสมาทั้งสี่มุมที่ช่างทำเสมาฝากเทคนิคเก๋ๆ ไว้ด้วยการทำเสมาพับตามมุม เป็นการแสดงอาณาเขตสี่เหลี่ยมของโบสถ์ที่ไม่เหมือนใคร ขณะที่ด้านหน้าโบสถ์มีพระปรางค์ตั้งคู่กัน 2 องค์
“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นพื้นเตี้ย แต่เขาถมขึ้นมา เคยเป็นกอกล้วยตานีด้วย ไม่มีใครกล้าเข้าเพราะกลัวงู มีสะพานไม้เดินไปริมสุดนู่น บ้านไม่มีรั้ว เดินทะลุใต้ถุนกันหมด สมัยก่อนเด็กที่อยู่บ้านแถวนี้ก็เข้าไปอ่านหนังสือในโบสถ์ เขาว่ามันเงียบดี” ป้าเอียดช่วยเสริมถึงสภาพรอบวัดสวนสวรรค์ในอดีต
ทั้งคู่ชวนเราเข้าไปด้านในโบสถ์ที่เงียบสมดังคำป้าเอียดว่า พร้อมกับบรรยากาศที่เข้มขลังตามสไตล์วัดโบราณ มีพระพุทธรูปประธานชื่อหลวงพ่อดำ ประดิษฐานอยู่ เป็นที่นับถือของคนละแวกนี้
ประธานชุมชนเล่าประวัติของวัดร้างแห่งนี้ว่า น่าจะสร้างในราวปลายอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้าง วัดคงอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งดินงอกออกไปเรื่อยๆ วัดสวนสวรรค์เลยอยู่ห่างจากแม่น้ำ ชาวบ้านจึงไปสร้างวัดขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำชื่อว่าวัดคฤหบดีในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้วัดสวนสวรรค์ถูกทิ้งร้าง
“ถ้าไม่ได้ชุมชนวัดนี้คงไม่เป็นแบบนี้ น่าจะรกร้างไม่มีชีวิต เราก็ช่วยกันดูแล อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังเห็น” ป้าแอ๋วเอ่ยถึงความร่วมใจของคนในย่านที่ร่วมกันดูแล เก็บกวาดเช็ดถู ช่วยกันคนละไม้ละมือตามกำลัง “ชุมชนก็สัมพันธ์กับวัด วัดก็สัมพันธ์กับชุมชน ไม่อย่างนั้นคงไม่อยู่ได้ถึงปัจจุบัน”
ชุมชนบ้านปูนและสถานที่ต่างๆ ที่เราเดินสำรวจในวันนี้ เคยมีความพยายามผลักดันให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่หลายครั้งหลายหน ทั้งจากการเป็นชุมชนต้นแบบพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างเมื่อหลายปีก่อนมีการติดป้ายข้อมูลของที่ต่างๆ ในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาที่นี่มากขึ้น หรือไม่นานมานี้ ทางเขตบางพลัดก็เริ่มจัดทริปพาผู้สนใจเดินเล่นในชุมชนโบราณแห่งนี้ เป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นมาเสมอ แต่ก็ยังไม่สำเร็จเท่าไรนัก
เราหวังว่าสักวันหนึ่งชุมชนเงียบๆ แต่อัดแน่นไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายทั้งเรื่องเล่าของตัวชุมชนเอง อาคารโบราณสถานที่แอบซ่อนอยู่ รวมถึงพลังความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน จะทำให้ที่นี่กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง และเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาเช่นวันวาน
หากใครสนใจหรือพอมีเวลา ลองเข้าไปเดินศึกษารากเหง้าของชาวกรุงเทพฯ และเยี่ยมเยือนทำความรู้จักบ้านปูนให้มากขึ้นได้ทุกวัน ชาวบ้านปูนยินดีต้อนรับ