สำหรับย่านบางกอกใหญ่ แลนด์มาร์กที่คนรู้จักคงหนีไม่พ้น ‘วัดอรุณฯ’ จุดที่หลายคนแต่งองค์ทรงเครื่องสวมชุดไทยไปถ่ายรูปกับสถาปัตยกรรมสวยๆ แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้คือ ภายในย่านบางกอกใหญ่ยังมีอีกหลายสิ่งรอให้เราไปค้นหา
‘mapmap GO!’ คือแผนที่ข้อมูลและเส้นทางแนะนำสำหรับวางแผนท่องย่านบางกอกใหญ่ในรูปแบบกระดาษ ผลงานจากการรวมตัวกันระหว่างทีม ‘mor and farmer’ ที่มีสมาชิกคือ ‘ธาริต บรรเทิงจิตร’, ‘ภาสุร์ นิมมล’ และ ‘รินรดา ราชคีรี’ และทีม ‘Refield Lab’ อย่าง ‘นักรบ สายเทพ’, ‘อรกมล นิละนนท์’ และ ‘อัตนา วสุวัฒนะ’ ในนาม ‘CAN : Community Act Network’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มคนที่สนใจเรื่องชุมชนและเมืองเอาไว้ด้วยกัน

รวมคนและข้อมูลให้เดินเที่ยวดี
“เราสนใจเรื่องของการทำข้อมูลและงานแผนที่กันอยู่แล้ว เลยคิดกันเล่นๆ ว่า แล้วถ้าข้อมูลที่เรามีสามารถแปลออกมาเป็นกระดาษให้คนมาใช้งานมันจะเวิร์กไหม เลยเลือกย่านหนึ่งที่ไม่ใหญ่มากอย่างย่านบางกอกใหญ่มาทำ” นักรบ หนึ่งในสมาชิกผู้จัดทำ mapmap GO! บอกกับเรา
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่ลงเอยที่ย่านบางกอกใหญ่คือ ย่านนี้มีกลุ่มที่ทำงานกับชุมชนอย่าง ‘ยังธน’ และ ‘CROSSs and Friends’ อยู่เดิม ทำให้การทำข้อมูลไม่ได้เป็นเพียงการทำจากมุมมองภายนอก แต่มีการรีเช็กและเติมสิ่งที่น่าสนใจจากกลุ่มคนขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่ด้วย
เมื่อมีไอเดียแล้ว ลำดับต่อไปคือการเก็บข้อมูล ทุกคนหยิบเอาข้อมูลในมือที่มีอยู่เดิมมาประกอบเข้ากับ Open Data และการวิเคราะห์ดาวเทียม โดยอิงจากคอนเซปต์หลักที่อยากให้แผนที่นี้เป็น ‘แผนที่เดินเที่ยวดี’
พัฒนาจากทริปเดินเมือง

“ย้อนกลับไปตอน Bangkok Design Week 2024 เราลองเอาแผนที่เวอร์ชันแรกไปชวนคนมาเดินด้วยกัน ว่ามันจะใช้ได้ไหม มีฟีดแบ็กยังไง จากนั้นจึงนำแผนที่มาปรับจนได้ออกมาเป็นแผนที่ในปัจจุบันที่วางขายในงาน Bangkok Design Week 2025 ที่เพิ่งจบไป” นักรบเล่า
ภายใน mapmap GO! ประกอบไปข้อมูล 8 ชุด ได้แก่
1. ชุมชน ศาสนสถาน สวนสาธารณะ บริการและขนส่งสาธารณะ สถานที่น่าสนใจ
2. เส้นทางแนะนำ ถนน ทางข้าม สิ่งกีดขวาง
3. พื้นที่ไฟสาธารณะ
4. อุณหภูมิพื้นผิว
5. ความเขียวขจี
6. พื้นที่ร่มไม้
7. อาคาร
8. แม่น้ำ ลำคลอง
ผู้อ่านแผนที่สามารถนำข้อมูลทั้ง 8 ชุดมาวิเคราะห์เพื่อหาเส้นทางการเดินที่เหมาะกับตัวเองได้ เช่น ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบอากาศร้อน ก็เลือกเส้นทางที่มีร่มไม้ได้ หรือถ้าอยากมาเดินในช่วงเย็นไปถึงค่ำ การเลือกเส้นทางที่มีไฟทางสาธารณะก็น่าจะปลอดภัยกว่าเส้นทางอื่น

นอกจากนี้ ใครที่ไม่อยากผจญภัยด้วยตัวเอง ภายในแผนที่ก็มีการแนะนำรูตการเดินให้แล้วทั้งหมด 5 รูต โดยแบ่งตามความสนใจ ระยะทาง และระยะเวลาในการเดินเอาไว้ด้วยเช่นกัน
เสน่ห์ของแผนที่กระดาษ
แต่ถึงอย่างนั้น ในยุคที่ลักษณะพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ล้มหายและเกิดใหม่อยู่เสมอ การทำแผนที่ในลักษณะแผ่นกระดาษก็อาจจะทำให้เราไม่ได้ข้อมูลพื้นที่ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่ามนตร์เสน่ห์ของการเดินทางด้วยแผนที่นั้นเกินร้อยอย่างแน่นอน
“อันนี้เป็นสิ่งที่เราคุยกันตั้งแต่ต้น เพราะกระดาษมันนิ่ง ในขณะที่พื้นที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่เราก็ยังมองว่าแผนที่คือรูปแบบหนึ่งของการบันทึกว่าครั้งหนึ่งย่านเคยมีอะไร อีกทั้งต่อให้รายละเอียดบางอย่างจะเปลี่ยนไป แต่โครงสร้างเส้นทางหลักคงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก” ธาริตกล่าวถึงเสน่ห์ของแผนที่กระดาษ

“แต่เราก็คุยกันว่า ในอนาคตสุดท้ายข้อมูลพวกนี้อาจจะต่อยอดไปอยู่ในเว็บไซต์หรือนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่จะอัปเดตเป็นปัจจุบันได้เหมือนกัน ส่วนตัวแผนที่นี้เป็นเหมือน Souvenirs เก็บไว้เป็นที่ระลึก” ภาสุร์เสริม
เป็นเจ้าของ พร้อมช่วยพัฒนาย่าน
และถึงแม้ว่า Bangkok Design Week 2025 จะจบลงไปแล้ว แต่ใครที่สนใจอยากมีแผนที่บางกอกใหญ่ของ mapmap GO! รวมไปถึงสติกเกอร์ภาพวาดธรรมชาติข้างทางและพื้นที่สีเขียวในเมือง ผลงานการออกแบบของ miminini เป็นของตัวเอง ทักไปสั่งซื้อที่เพจเฟซบุ๊ก mapmap ในราคา 455 บาท หรือเสิร์ชหาคำว่า mapmap.city เพื่อสั่งซื้อได้ทั้งใน Shopee และ Lazada ได้เลย
โดยรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่าย 10 เปอร์เซ็นต์ จะถูกส่งต่อเพื่อนำไปพัฒนาย่านบางกอกใหญ่ผ่านเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างยังธนด้วยนะ
