ทำไมระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของไทยถึงน้ำไม่ท่วม? - Urban Creature

ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าวที่ฝนตกหนักจนน้ำท่วมเข้าไปในระบบรถไฟฟ้าของหลายประเทศ เช่น จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และล่าสุดคือกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่ชาวเน็ตพากันแชร์คลิปน้ำท่วมไหลบ่าจากพื้นดินสู่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างภายในที่ได้รับความเสียหายจากน้ำที่ซึมผ่านเข้ามา

เห็นเหตุการณ์แบบนี้ เราเลยสงสัยว่าไทยเองก็น้ำท่วมบ่อย แถมเมื่อปี 2554 กรุงเทพฯ เองก็เจอน้ำท่วมใหญ่นานเป็นเดือนๆ จนหลายคนถึงขนาดต้องทิ้งบ้านทิ้งรถหนีน้ำย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว แล้วระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) บ้านเราเป็นยังไงบ้างนะ จะโดนน้ำท่วมหรือได้รับผลกระทบแบบที่ประเทศอื่นเจอหรือไม่

หลังจากหาข้อมูลและสอบถามคนกรุงเทพฯ รอบตัว ผลปรากฏว่า ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินบ้านเราไม่เคยมีน้ำท่วมแบบที่ต่างประเทศประสบเลย นั่นเพราะ MRT ไทยมีมาตรการและระบบป้องกันน้ำท่วมที่ออกแบบมาแล้ว ทำให้ไม่ว่าจะฝนตกหนักแค่ไหน หลายพื้นที่ประสบน้ำท่วมจนต้องดับรถ เดินลุยน้ำสูงระดับเอว ผู้ใช้งานที่ติดอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จะไม่ประสบกับน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามาในสถานีจนเป็นอันตรายต่อชีวิตแน่นอน

คอลัมน์ Curiocity จึงอยากชวนไปดูเบื้องหลังมาตรการความปลอดภัยของ MRT ในไทย ว่าทำไมเราถึงไม่ต้องกังวลว่าจะประสบภัยแบบที่ต่างประเทศพบเจอ

สถานีไฟฟ้าใต้ดิน mrt ไทย น้ำไม่ท่วม

ก่อนอื่นชวนมาทำความเข้าใจก่อนว่า ด้วยความที่กรุงเทพฯ มักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ ทำให้ระบบรถไฟฟ้า MRT มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและป้องกันน้ำท่วมภายในสถานีกับอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินไว้ตั้งแต่แรกแล้ว โดยใช้ค่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 200 ปีของกรุงเทพฯ เป็นเกณฑ์ในการออกแบบทางเข้า-ออก และช่องเปิดต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า 

การยกระดับทางเข้า-ออกสถานี ปล่องระบายอากาศ และช่องเปิดต่างๆ

MRT ได้มีการออกแบบทางเข้า-ออกสถานีให้ยกระดับสูงกว่าระดับทางเท้าโดยเฉลี่ย 1.2 เมตร ซึ่งโดยปกติระดับน้ำท่วมฉับพลันจะอยู่ที่ประมาณ 0.5 เมตรจากระดับทางเท้า นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องขึ้นบันไดก่อนเข้าตัวสถานีนั่นเอง

การออกแบบตัวอุโมงค์และสถานีใต้ดิน

นอกจากการยกระดับทางเข้า-ออกของสถานีให้สูงขึ้นแล้ว MRT ยังออกแบบให้อุโมงค์และตัวสถานีใต้ดินสามารถป้องกันน้ำใต้ดินที่จะซึมเข้ามาระหว่างรอยต่อต่างๆ ได้ด้วย หรือถ้าเกิดฝนตกน้ำท่วมรุนแรงจริงๆ น้ำจะซึมเข้ามาในระบบได้มากที่สุดไม่เกิน 1 ลิตร ต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร ในเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้มีเวลาวางแผนจัดการระบบและอพยพผู้คนได้แน่นอน

ระบบสูบน้ำออกจากอุโมงค์และสถานีใต้ดิน

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าภายในสถานีและอุโมงค์ใต้ดินมีการติดตั้งระบบสูบน้ำออก โดยสามารถสูบน้ำออกได้มากถึง 28 ลิตรต่อนาที และแต่ละบ่อพักน้ำมีระบบปั๊มบ่อละ 2 ชุดเป็นอย่างน้อย นั่นแปลว่าหากมีปั๊มชุดใดชุดหนึ่งขัดข้อง ปั๊มที่เหลือจะยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ในกรณีที่อุปกรณ์บกพร่อง หรือมีระดับน้ำในบ่อพักที่สูงกว่าปกติ จะมีสัญญาณเตือนมายังศูนย์ควบคุมเพื่อให้สามารถติดตามแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

ระบบกำแพงกั้นน้ำ (Flood Board)

ในกรณีที่น้ำท่วมสูงกว่าระดับทางเข้า-ออกสถานี ทางเจ้าหน้าที่ของ MRT ก็สามารถติดตั้งกำแพงกั้นน้ำซึ่งมีความสูง 1.5 เมตรไว้บนทางเข้า-ออก อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ทางเข้า-ออกมีความสูงเฉลี่ย 2.7 เมตร จากระดับทางเท้า หากวัดจากระดับน้ำท่วมกรุงเทพฯ สูงสุดในรอบ 200 ปีที่มีความสูงประมาณ 1.7 เมตรจากระดับทางเท้า ตัวกำแพงกั้นน้ำที่เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ถูกออกแบบไว้จะมีความสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดถึง 1 เมตร

ระบบประตูป้องกันน้ำ (Flood Gate) 

ในสถานีที่มีทางเชื่อมต่อกับอาคารในระดับใต้ดิน จะมีการติดตั้งประตูป้องกันน้ำที่อาจจะไหลเข้ามาทางอาคารอื่นๆ ได้ เช่น สถานีลาดพร้าวที่มีทางเชื่อมกับอาคารจอดแล้วจร สถานีสามย่านที่เชื่อมต่อกับอาคารจัตุรัสจามจุรีและสามย่านมิตรทาวน์ สถานีบางซื่อที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น ฉะนั้น ใครที่กังวลว่าต่อให้ตัวสถานีมีระบบป้องกันน้ำที่ดีเยี่ยม แต่หากมีน้ำไหลท่วมเข้ามาในอาคารเหล่านี้ ผู้โดยสารใน MRT จะโดนลูกหลงด้วยไหม ก็ขอตอบว่าปลอดภัยแน่นอน

นอกจากนี้ MRT เองก็มีมาตรการด้านปฏิบัติการ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงไว้เช่นกัน ได้แก่

– มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีน้ำท่วม และมีการฝึกซ้อมตามแผนอยู่เสมอเพื่อความชำนาญของผู้ปฏิบัติงาน
– มีแผนการตรวจสอบความพร้อมใช้งาน และบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนจุดรั่วซึมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
– กรณีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม มีการประสานงานและติดตามข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบและแผนรองรับ
– กรณีที่ประเมินว่าสถานการณ์มีความรุนแรงและส่งผลต่อความปลอดภัยในการให้บริการ อาจจะพิจารณาหยุดการเดินรถ เพื่อความปลอดภัยของระบบและผู้โดยสาร

อย่างสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2554 MRT รายงานว่าระดับน้ำท่วมในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้า MRT สูงสุดอยู่ที่ 72 เซนติเมตร จากพื้นถนนที่สถานีสวนจตุจักร หรืออธิบายให้เห็นภาพคือน้ำท่วมสูงประมาณบันไดขั้นแรกของทางเข้า-ออก และไม่พบว่ามีจุดน้ำรั่วเข้าระบบรถไฟฟ้าอย่างผิดปกติ อีกทั้งอัตราการสูบน้ำออกของปั๊มทำงานเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราการสูบน้ำสูงสุดของปั๊ม นั่นจึงทำให้ไม่มีข่าวว่าน้ำท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของไทยนั่นเอง

จากระบบและมาตรการความปลอดภัยเหล่านี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า ระบบรถไฟฟ้า MRT สามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีน้ำท่วมฉับพลันหรือในสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น


Source :
Facebook : MRT Bangkok Metro | bit.ly/3Ac8Web

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.