ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้นใหม่” อนาคตพี่ใหญ่ที่เชื่อมทุกย่านเข้าด้วยกัน - Urban Creature

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า MRT เปิดใช้งานทั้งหมด 2 สายนั่นก็คือ สายสีน้ำเงิน (เตาปูน – หัวลำโพง) และน้องใหม่สายสีม่วง (เตาปูน – คลองบางไผ่) ถ้าดูภาพรวมในตอนนี้ ก็จะเห็นว่าทุกสายทำหน้าที่นำคนจากชานเมืองให้เข้ามาในเมืองได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ รถไฟฟ้า MRT ก็จะสามารถเชื่อมต่อทุกย่านในกรุงเทพฯ ให้เป็นวงกลมครบลูป เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางของคนเมืองได้มากขึ้น

ล่าสุดปี 2562 นี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีแผนจะเปิดช่วงใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คือช่วงหัวลำโพง – บางแคและในปีถัดมา 2563 ก็พร้อมจะเปิดช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบเป็นเส้นวงกลมพอดี เรียกได้ว่าเป็นสายรถไฟฟ้าสำคัญที่จะวิ่งเป็นลูปรอบเมือง และเป็นตัวเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน เราจึงอยากชวนทุกคนลองไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ว่าสายสีน้ำเงินมีความสำคัญกับกรุงเทพฯ อย่างไร

สายสีน้ำเงินเส้นใหม่ | ตัวเชื่อมที่รวมทุกสายเข้าไว้ด้วยกัน

ปัจจุบัน เรามีรถไฟฟ้าหลายสายที่ทำให้คนเมืองเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก พอมีเจ้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมครบเป็นเส้นวงกลม ทำหน้าที่วิ่งรอบเมืองไปทักทายกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ เชื่อมเข้าหากันเพื่อส่งผู้โดยสารไปยังด้านต่างๆ ของกรุงเทพฯ

การมาถึงของรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเส้นใหม่นี้ จึงเป็นเหมือนเส้นหลักที่เชื่อมรถไฟฟ้าทุกสายให้เดินทางมาเจอกันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางอ้อมไปอ้อมมา และทำให้คนในหลายพื้นที่เข้าถึงรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเร็วๆ นี้ คาดว่าถ้าเปิดครบทั้งเส้นวงกลมเมื่อไหร่ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ใน พ.ศ. 2572 จะมีคนนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประมาณ 1,536,000 คน / วัน และถ้ารวมกับทุกสายที่เปิดใช้งานร่วมกับเส้นสีน้ำเงิน จะสามารถรองรับคนได้มากถึงประมาณ 7,680,000 คน / วัน เลยทีเดียว

การออกแบบรถไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ที่มีโครงข่ายขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม ต่างก็มีเส้นวงกลมวิ่งรอบเมืองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและเข้าถึงแต่ละพื้นที่มากขึ้น

อย่างในประเทศญี่ปุ่น สายรถไฟฟ้าใต้ดินโทเอ “Oedo Line” (สายโอเอโดะ) ทำหน้าที่เป็นเส้นวงกลมที่วิ่งรอบเมือง ผ่านย่านสำคัญต่างๆ เช่น สถานีชินจูกุ แหล่งช้อปปิ้งชื่อดังของโตเกียวและจุดตัดสถานีเปลี่ยนถ่ายไปยังพื้นที่อื่นๆ หรือสถานีรปปงงิ แหล่งคนทำงานที่มีออฟฟิศตึกสูงมากมาย นอกจากนี้สายโอเอโดะยังตัดกับจุดอินเตอร์เชนจ์สาย Asakusa Line เพื่อเชื่อมต่อกับสนามบิน อย่างสนามบินนาริตะ และฮาเนดะ อีกด้วย

อีกไม่นานชาวกรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งเต็มลูป ช่วยกระชับการเดินทางให้คนในเมืองเขยิบมาใกล้กันกว่าแต่ก่อน เราจะพาไปเจาะดูกันทีละช่วงของรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเส้นนี้ จะเป็นอย่างไรบ้างลองไปดูกัน

2547 – ปัจจุบัน | “หัวลำโพง – บางซื่อ” นี่หรือบางกอก ตึกรามบ้านช่องมีแต่ตึกสูง

ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ถือว่าเป็นพี่คนโตของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่มีมาก่อนช่วงอื่นๆ เปิดใช้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่สายนี้จะมีโครงการรถไฟฟ้ามาเชื่อมต่อเป็นจุดตัดมากมาย อย่างสถานีสุขุมวิทที่เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเข้ม สถานีอโศกซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญในกรุงเทพฯ หรือ สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นจุดอินเตอร์เชนจ์ในอนาคตกับรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม และสถานีรัชดาฯ อินเตอร์เชนจ์กับรถไฟฟ้า BTS สายสีเหลือง

ช่วงรถไฟฟ้าเส้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นย่านตึกสูง บริษัทห้างร้านจะมารวมตัวกระจุกกันค่อนข้างเยอะ บางย่านเป็นแหล่ง CBD (Central Business District) ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญในกรุงเทพฯ อย่างสถานีศาลาแดง หรือ ลุมพินี รวมไปถึงสถานีสุขุมวิท, พระราม 9 หรือ ลาดพร้าว เรียกได้ว่าเป็นเส้นที่ชาวออฟฟิศใช้เดินทางอยู่ตลอด โดยในปัจจุบันมีคนใช้งาน 400,000 คน / วัน

2562 | “หัวลำโพง – บางแค” เส้นประวัติศาสตร์ ผ่านย่านเมืองเก่า

อีกไม่นานเกินรอ ในปี พ.ศ. 2562 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็มีสมาชิกคนใหม่เพิ่มเข้ามา นั่นก็คือ “ช่วงหัวลำโพง – บางแค” สิ่งที่น่าสนใจของช่วงนี้ก็คือ เป็นเส้นที่ผ่านเขตพระนคร ย่านพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่มีการตกแต่งตัวสถานีรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับอาคารโดยรอบ และยังคำนึงถึงเรื่องราวอันเก่าแก่ของพื้นที่เหล่านี้ มาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์ตัวสถานีให้เป็นซิกเนเจอร์โดดเด่น และดึงดูดให้คนทั่วไปสนใจมาท่องเที่ยวในย่านนี้กันมากขึ้นอีกด้วย

อย่างสถานีสามยอด ภายนอกตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมย้อนยุครัชกาลที่ 6 สไตล์จีน-โปรตุเกส ให้คล้ายกับตึกรอบข้างบนถนนเจริญกรุง หรือสถานีวัดมังกรที่ด้านในเป็นลวดลายศิลปะจีน ทั้งมังกรและดอกไม้ ในโทนสีแดงทอง ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในย่านไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ช่วงหัวลำโพง – บางแค ยังเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของไทยที่ลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำเจ้าพระยากว่า 1 กิโลเมตร ระหว่างสถานีสนามไชยกับสถานีอิสรภาพ โดยคาดว่าเปิดทดลองนั่งฟรีเดือนเมษายน ก่อนจะเปิดใช้จริงภายในเดือนกันยายนปีนี้ จะมีผู้ใช้งาน 417,000 คน / วัน

2563 | “บางซื่อ – ท่าพระ” ย่านที่เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยน่าจับจอง

หลังจากเปิดช่วงหัวลำโพง – บางแค ตามมาติดๆ กับ “ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ” ที่จะเปิดใช้บริการในปีถัดมา พ.ศ. 2563 ซึ่งเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็จะครบเต็มวงกลมในที่สุด โดยคาดว่าหลังจากเปิดใช้งานส่วนขยายใหม่ที่เพิ่มมาทั้งหมดนี้ ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้ามากถึง 40% จะเดินทางผ่านรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และคาดว่าช่วงบางซื่อ – ท่าพระ จะมีผู้ใช้งาน 405,900 คน / วัน

ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นวงกลมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และเป็นเส้นที่เชื่อมฝั่งธนบุรีเข้าไปกับฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ทำให้คนฝั่งธนฯ สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองสะดวกมากขึ้น บริเวณนั้นจึงเป็นทำเลที่อยู่อาศัยที่ใครก็อยากจับจอง เพราะสามารถนั่งเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายเดียวไปเชื่อมกับทุกสายรถไฟฟ้าอื่นๆ ได้สะดวก

ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทยเผยว่า เริ่มเปิดใช้จริงอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562 ในช่วง ‘หัวลำโพง – บางเเค’ ส่วนช่วง ‘เตาปูน – ท่าพระ’ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในต้นปี พ.ศ. 2563 โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งครบเส้นวงกลม ชาวเมืองเดินทางสะดวกสบายกันมากขึ้น

Content Writer : Jarujan Lappanich
Graphic Designer : Vachara Promprasert


SOURCES :

– รายงานประจำปีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2560
https://www.mrta.co.th/media/548304 /รายงานประจำป-2560-ภาษาไทย-ลงเว-บไซต-ฉบ-บสมบ-รณ.pdf
https://www.innnews.co.th/economy/news_236077/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000079840
https://www.thairath.co.th/content/1264849
http://www.realist.co.th/blog /รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-2/   
– http://news.ch3thailand.com/economy/88524?fbclid=IwAR3-q9PkEtvnvg4Iz6neuL9y0ZDDeHK1_1w7EWrcfffUjOvIjgimWPTBtJ0
– https://voicetv.co.th/read/Kp9Tyc-GS?fbclid=IwAR2x629WPnOskJ7bEL5eTzD24Ew5iHWYnDzc2MSOQKpgqmhGC1AbjzJ3vk0

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.