หลังจากกรุงเทพมหานครเริ่มจัดเทศกาล ‘กรุงเทพฯ กลางแปลง’ ตามสถานที่สาธารณะทั่วเมือง ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีเกินคาด ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ ตบเท้าเข้าชมภาพยนตร์กลางแจ้งฟรีกันอย่างคึกคัก ต่อให้ฝนตกหนักแค่ไหนก็ไม่หวั่น กระแสจากการฉายหนังกลางแปลงครั้งนี้จึงอาจเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วคนไทยนิยมและชื่นชอบการดูภาพยนตร์กันมากเหมือนกัน
แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะชอบการดูหนังบนจอขนาดยักษ์ แต่มันไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปดูหนังในโรง เพราะข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่า คนไทยดูหนังในโรงภาพยนตร์เฉลี่ยคนละ 0.5 เรื่องต่อคนต่อปี และมีอัตราที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนโรงหนังที่เพิ่มขึ้น
หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าโรงหนังน้อยลงอาจเป็นเพราะค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันตั๋วหนังหนึ่งที่นั่งมีราคาเฉลี่ยราว 220 – 280 บาทต่อเรื่อง หากรวมกับค่าเดินทางไปกลับ หรือซื้อน้ำดื่มและป็อปคอร์นเข้าไปกินในโรงหนังด้วย เผลอๆ แบงก์ 500 ก็ยังไม่พอจ่ายด้วยซ้ำ
แม้มีความตั้งใจไปดูภาพยนตร์ในโรงสักเรื่อง แต่เมื่อเจอค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่สูงขนาดนี้ การดูหนังแต่ละทีจึงกลายเป็นความบันเทิงราคาแพงที่คนหาเช้ากินค่ำหรือเด็กจบใหม่ยากจะเอื้อมถึง เพราะค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ที่ระหว่าง 313 – 336 บาทต่อวัน แทบไม่ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันในประเทศไทย ที่ดัชนีอาหารจานเดียวเพิ่มสูงขึ้น 6.7 เปอร์เซ็นต์ จนราคาข้าวผัดกะเพราแตะจานละ 60 บาทเข้าไปแล้ว
วันนี้ Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาตั๋วหนังในประเทศไทยแพงขนาดนี้ และเมื่ออ่านจบแล้ว เราอยากชวนทุกคนคิดต่อว่าสาเหตุเหล่านี้สมเหตุสมผลหรือไม่ และในอนาคตประเทศไทยควรทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนการดูหนังในโรงภาพยนตร์ให้กลายเป็นความบันเทิงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้
หากพร้อมแล้ว ไปสำรวจพร้อมกันเลย!
ย้อนอดีตดูวิวัฒนาการและต้นทุนโรงหนังไทย
หากเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปช่วงประมาณปี 2520 หรือราว 45 ปีที่แล้ว ตั๋วหนังที่เราพบได้ทั่วไปสมัยนั้นมีราคาเพียง 20 บาท แตกต่างจากในปัจจุบันที่ราคาตั๋วหนังแบบธรรมดาพุ่งทะยานถึงใบละ 220 – 280 บาท หากดูภาพรวม สาเหตุหลักอาจเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเสื่อมของค่าเงิน ทำให้ค่าครองชีพ ราคาสินค้า และค่าบริการ รวมไปถึงราคาตั๋วหนังเพิ่มสูงขึ้นตามกันไป
แต่อีกสาเหตุที่ทำให้ราคาตั๋วในยุคนั้นมีราคาถูก ภาพยนตร์เป็นความบันเทิงที่จับต้องได้มากกว่ายุคนี้ คงต้องมองกลับไปถึง ‘ต้นทุน’ และ ‘เทคโนโลยี’ ในช่วงนั้นด้วย
เนื่องจากในอดีตโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็น ‘โรงภาพยนตร์เดี่ยว (Stand-alone Cinema)’ ขนาด 800 – 1,000 ที่นั่ง ที่มักตั้งอยู่ใจกลางเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่มีคนพลุกพล่าน อย่างเช่น ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ในย่านเจริญกรุง และ ‘โรงหนังสกาลา’ ในย่านสยามสแควร์
ในสมัยนั้น โรงหนังแบบสแตนด์อะโลนมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะโลเคชันที่เดินทางสะดวก และราคาตั๋วที่จับต้องได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบรรดาโรงหนังเดี่ยวมีต้นทุนในการฉายหนังไม่สูงมากนัก ทำให้กำหนดราคาตั๋วได้ต่ำ
นอกจากนั้น โรงหนังเดี่ยวยังกำหนดราคาตั๋วโดยแบ่งตามระยะที่นั่งในโรงภาพยนตร์ กล่าวคือ ยิ่งที่นั่งใกล้จอภาพยนตร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งถูกลงเท่านั้น การดูหนังหนึ่งเรื่องจึงมีราคาตั๋วให้เลือกซื้อมากถึง 3 – 4 ราคา ทำให้คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยยังมีโอกาสซื้อตั๋วราคาถูกเข้าไปดูหนังในโรง ในอดีตจึงถือว่ามีตัวเลือกทางราคามากกว่า เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่จำหน่ายตั๋วตามคุณภาพของเก้าอี้นั่ง ซึ่งทางเลือกส่วนใหญ่ก็ยังถือว่าราคาสูงอยู่ดี
แต่หลังจากที่ธุรกิจศูนย์การค้าเริ่มเติบโต คนส่วนใหญ่จึงหันไปใช้บริการและพักผ่อนหย่อนใจในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ทำให้บรรดาโรงภาพยนตร์ต้องปรับตัว เกิดเป็น ‘โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (Mini Theatre)’ ในห้างสรรพสินค้า ที่ย่อขนาดลงเหลือเพียง 250 ที่นั่ง และในหนึ่งพื้นที่อาจแบ่งย่อยเป็น 2 – 3 โรง
แม้ว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์จะขยับขยายเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่ในช่วงแรกต้นทุนของ Mini Theater ก็ยังไม่สูงมากนัก เพราะตัวโรงหนังเป็นการต่อเติมจากพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเดิม ทำให้โครงสร้างไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยก่อนยังมีข้อจำกัดด้านคุณภาพภาพและเสียง เนื่องจากเป็นการฉายหนังด้วยม้วนฟิล์ม ซึ่งมีความคมชัดต่ำและเกิดเหตุขัดข้องบ่อยครั้ง
ต่อมาในปี 2537 จึงได้มีการถือกำเนิด ‘โรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ (Multiplex Cinema)’ ซึ่งแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก เพราะเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อทำโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ ไม่ใช่การดัดแปลงพื้นที่ของห้างฯ เหมือนแต่ก่อน ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถออกแบบขนาดโรงให้มีพื้นที่กว้างขวาง ติดตั้งระบบภาพและเสียงที่ได้มาตรฐานตามสากล และยังเพิ่มบริการต่างๆ เช่น เคาน์เตอร์จำหน่ายเครื่องดื่ม ป็อปคอร์น ขนมว่าง รวมไปถึงห้องน้ำและพื้นที่นั่งรอก่อนเข้าชมภาพยนตร์ด้วย
การลงทุนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งการเปลี่ยนระบบฉายหนังจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล รวมไปถึงการเพิ่มทางเลือกในการดูหนังที่หลากหลาย ตั้งแต่ Real 3D Digital Cinema, Digital Cinema 2K, IMAX (Image MAXimum) ไปจนถึง 4Dx Cinema การลงทุนเหล่านี้จึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาตั๋วหนังกันอย่างต่อเนื่อง
มีอะไรก็รวมในราคาตั๋วหนังไว้ก่อน
แม้โรงภาพยนตร์ให้เหตุผลว่าราคาตั๋วหนังแพงขึ้นเพราะต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการฉายหนังด้วยม้วนฟิล์มเป็นระบบดิจิทัล ติดตั้งระบบฉายภาพแบบ 3 มิติ หรือการใช้นวัตกรรมระบบเสียงที่มีคุณภาพที่สุดอย่าง Dolby Atmos ที่ทำให้การประสบการณ์ดูหนังในโรงภาพยนตร์สนุก ตื่นเต้น ชนิดที่ว่าหาไม่ได้จากที่อื่น
ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าราคาตั๋วหนังจำเป็นต้องแพงขนาดนี้จริงหรือ
ซึ่งทางผู้ประกอบการฝั่ง บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือเครือ Major Cineplex ได้ชี้แจงว่า ราคาตั๋วหนังในไทยยังถือว่าค่อนข้างถูกกว่าตั๋วในต่างประเทศ เมื่อเทียบกับคุณภาพด้านต่างๆ ทั้งการบริการ ความสะอาด เก้าอี้ดูหนัง และห้องน้ำที่ทางโรงภาพยนตร์ให้บริการ ทำให้อนุมานได้ว่า การขึ้นราคาตั๋วหนัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีการรวมคุณภาพการบริการเข้าไปด้วย
อีกทั้งภาระค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ของโรงภาพยนตร์ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าอุปกรณ์ภายในโรงภาพยนตร์ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริการอื่นๆ เมื่อต้นทุนพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้น ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องขึ้นราคาตั๋วหนังตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด
ทั้งนี้ ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ราคาตั๋วหนังเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายของทางโรงภาพยนตร์ อย่างการบวกเพิ่มราคาตั๋วหนังฟอร์มยักษ์บางเรื่องที่มีความยาวมากกว่า 2 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าระยะเวลาของหนังที่นานขึ้น ทำให้โรงหนังฉายหนังได้น้อยลงกว่าปกติ เช่น ปกติหนึ่งโรงอาจฉายได้ 7 เรื่องต่อวัน ถ้าฉายหนังที่มีความยาวมากกว่าปกติ อาจฉายได้ลดลงเหลือ 5 เรื่องต่อวัน
นอกจากนี้ ยังมีตั๋วหนังแบบพิเศษอีกหลายตัวเลือกที่แพงกว่าตั๋วทั่วไปหลายเท่าตัว ซึ่งมาพร้อมบริการที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้มาใช้บริการ อาทิ เก้าอี้นั่งที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น บริการอาหารและเครื่องดื่มก่อนเข้าชมภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการเสิร์ฟไวน์หรือค็อกเทลระหว่างชมภาพยนตร์ในโรงก็มี
ก็จริงอยู่ที่หลายคนอาจพอใจ และพร้อมจ่ายเงินในส่วนนั้นเพื่อแลกกับการดูหนังที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้บริการเหล่านี้ได้ เนื่องจากอัตราค่าบริการขั้นต่ำมีราคาสูงเกินเอื้อม
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการดูหนังได้มากขึ้น ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์บางแห่งจึงต้องออกโปรโมชันเพื่อจูงใจให้คนเข้าโรงหนังมากขึ้น เช่น กำหนดวันขายตั๋วหนังราคาพิเศษ ขายบัตรสมาชิกสำหรับใช้ลดราคาตั๋วหนังทุกครั้งที่ซื้อ แจกตั๋วหนังฟรีเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมของโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีและช่วยกระตุ้นให้คนตบเท้าเข้าโรงหนังมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน โปรโมชันเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงต้องหวังพึ่งส่วนลดหรือตั๋วราคาพิเศษ เพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อตั๋วในราคาปกติได้
รายเล็กล้มหาย รายใหญ่ผูกขาด
ถึงแม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะเริ่มคึกคัก หลากหลาย และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากเข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ แต่เมื่อหันกลับมามองที่ธุรกิจปลายน้ำอย่างโรงภาพยนตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีเพียงสองบริษัทใหญ่ที่ครองตลาดในประเทศไทยอยู่ ได้แก่ ‘บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘Major Cineplex’ และ ‘บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘SF Cinema’
โดยวารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน ประจำปี 2561 ในหัวข้อ ‘ภาวะกึ่งผูกขาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย กับบทบาทของพื้นที่ทางเลือกเพื่อเสริมความหลากหลายในระบบภาพยนตร์’ เปิดเผยว่า Major Cineplex ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วน SF Cinema มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ แค่ผู้ให้บริการเพียงสองเจ้าก็กินส่วนแบ่งทางการตลาดไปมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือพื้นที่ให้ผู้เล่นรายย่อยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ส่วนเหตุหลักที่ทำให้เป็นเช่นนี้ นั่นก็เป็นเพราะลักษณะเฉพาะของการประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการล้วนเป็นรายเดิมที่อยู่ในวงการมานาน และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย หรือรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้
จากรูปแบบนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เกิด ‘ภาวะกึ่งผูกขาด’ โครงสร้างตลาดมีการกระจุกตัวสูง กล่าวคือเครือโรงภาพยนตร์หลักทั้งสองรายกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ สามารถกำหนดกลไกที่เอื้อต่อผลกำไรของตนเองได้อย่างเต็มที่
อย่างการกำหนดรอบฉายภาพยนตร์ในสัปดาห์ต่อไปโดยพิจารณาจากการทำรายได้ของหนังเรื่องนั้นๆ จากการฉายในสัปดาห์แรก ทำให้ผู้ผลิตหนังขนาดเล็กหรือนอกกระแสที่ไม่มีฐานแฟนคลับ ยากจะทำรายได้จากภาพยนตร์ของตน เนื่องจากถูกถอดออกจากโปรแกรมฉายหนังเร็วกว่ากำหนด จนบางครั้งจะเห็นได้ว่าโรงภาพยนตร์หนึ่งแห่งมีหนังฉายเพียง 3 – 4 เรื่องเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นหนังต่างประเทศฟอร์มยักษ์ที่มักทำเงินได้มหาศาล ทำให้โรงหนังหลายแห่งขาดความหลากหลายของประเภทหนัง ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อย ส่วนผู้ผลิตหนังรายย่อยก็ขาดโอกาสและพื้นที่ในการนำเสนอผลงาน
นอกจากนี้ ภาวะกึ่งผูกขาดลักษณะนี้ยังทำให้ผู้บริโภคยังต้องแบกรับราคาตั๋วที่แพงขึ้น เพราะอุตสาหกรรมโรงหนังไม่มีการถ่วงดุลจากผู้ค้ารายอื่น และแม้ว่าผู้ประกอบการรายเล็กจะปรับลดราคาตั๋วหนังให้ถูกกว่าสองเจ้าใหญ่ แต่เนื่องจากโรงหนังรายย่อยมักจะเปิดอยู่โลเคชันเดียว ไม่มีสาขาย่อย และมักจะตั้งอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัดจึงไม่มีทางเลือกมาก สุดท้ายพวกเขาก็กลั้นใจต้องควักเงินซื้อตั๋วหนังของโรงภาพยนตร์เจ้าใหญ่อยู่ดี
โรงหนังล้นตลาด เพราะประชาชนเบือนหน้าหนี
มากไปกว่านั้น ในงานเสวนา ‘เดินหน้าหนังไทย? ในภาวะผูกขาด’ ช่วงกลางปี 2559 ก็ได้คาดเดาว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในการดูหนัง ทั้งค่าตั๋วหนัง ค่าป็อปคอร์น และเครื่องดื่ม มีราคาสูง น่าจะเป็นผลมาจากการที่มีจำนวนคนดูที่น้อยกว่าจำนวนโรงภาพยนตร์ ทำให้เกิดปัญหา ‘อุปทานส่วนเกิน’ หรือ ‘Over Supply’ ที่เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต เนื่องจากฝั่งผู้ผลิตลงทุนในสินค้าและบริการมากเกินความต้องการของผู้บริโภคไป จนเกิดปัญหาสินค้าและบริการล้นตลาดในที่สุด
โรงหนังจึงจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ด้วยการคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเข้าไปในค่าตั๋ว ให้ผู้บริโภคเป็นคนแบกรับภาระส่วนนั้นๆ เป็นปัญหาที่วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะต่อให้ผู้บริโภคจะบ่นว่าตั๋วราคาแพงแค่ไหน แต่ปัญหา Over Supply ก็ยังคงผลักให้ผู้ให้บริการไม่สามารถลดราคาได้อยู่ดี
ปัจจุบัน ปัญหา Over Supply ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากการเข้ามาของบริการสตรีมมิงออนไลน์หรือการดูหนังแบบออนไลน์ ที่กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคอหนังที่มีงบจำกัด ผู้บริโภคจ่ายค่าสมาชิกเพียงแค่เดือนละหนึ่งครั้ง จากนั้นพวกเขาก็สามารถดูหนังที่หลากหลาย ทั้งเก่าและใหม่ ได้แบบไม่จำกัดจำนวนเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง สะดวกแถมประหยัดกว่าการดูหนังในโรงภาพยนตร์กว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น บริการสตรีมมิงออนไลน์อย่าง Netflix ที่เริ่มต้นเพียง 99 บาทต่อเดือน ถูกกว่าครึ่งหนึ่งของราคาตั๋วหนังหนึ่งใบในโรงภาพยนตร์เสียอีก
อย่างไรก็ตาม อรรถรสจากการดูหนังผ่านหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ก็ยังเทียบไม่ได้กับการเข้าไปนั่งในโรงหนังที่รายล้อมไปด้วยจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่และระบบภาพและเสียงที่คุณภาพคมชัดแบบจัดเต็ม เพราะฉะนั้นหากเลือกได้ ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังอยากไปดูหนังในโรงภาพยนตร์มากกว่าอยู่แล้ว เพียงติดอยู่ที่ปัญหาราคาตั๋วหนังที่แพงจนเกินไป ทำให้การดูหนังในโรงกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายหรือไปเฉพาะวันพิเศษเท่านั้น
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องทำก็คือ การพูดคุยหาวิธีแก้เกมว่าจะทำอย่างไรให้ราคาตั๋วหนังถูกลงจากเดิม เพื่อดึงประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้กลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง
นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เองก็ควรเข้ามามีบทบาทในการควบคุมและตรึงราคา เพื่อให้ตั๋วหนังยังอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนมีกำลังจ่าย รวมไปถึงภาครัฐที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์รายย่อยมากขึ้น เพื่อดึงส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และทำให้กลไกตลาดกลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย
เพราะถ้าหากมีการสนับสนุนจากทางรัฐ และมีการปรับราคาตั๋วหนังลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ เชื่อว่าจะมีอีกหลายครอบครัวที่พากันไปชมภาพยนตร์ในวันธรรมดากันมากขึ้น โดยไม่ต้องรอคอยให้ถึงโอกาสพิเศษของพวกเขา เปลี่ยนให้การดูหนังในโรงภาพยนตร์กลับมาเป็นความบันเทิงราคาถูกที่สามารถจับต้องได้ของคนไทยอีกครั้ง
Sources :
MGR Online | t.ly/RQpTx
TDRI | t.ly/HQEC
Thaia4 | t.ly/s3P0
ThaiPublica | t.ly/XkWf
วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ | t.ly/1-3k