‘วันนี้ฝนตกไม่อยากทำงานเลย ถ้าได้นอนบนเตียงทั้งวันก็คงดี’
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยรู้สึกหมดพลัง ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไร ในเวลาที่มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเจอฝนตก โดยเฉพาะคนทำงานที่ต้องเผชิญปัญหาการจราจรระหว่างเดินทาง กว่าจะถึงที่หมายต้องเจอทั้งการยืนเบียดกันบนขนส่งสาธารณะ ความหนาแน่นของรถบนท้องถนน และฝนที่โปรยลงมาพาให้ป่วยกายง่ายๆ
อุปสรรคที่มากับฝนทำให้แต่ละวันของมนุษย์เงินเดือนที่เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้วต้องลำบากกว่าเดิมหลายเท่า ความรู้สึกเหนื่อยล้าสะสมเหล่านี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้บางคนมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
เขาว่าฝนนั้นทำให้คน ‘เฉื่อย’
เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาพร้อมเมฆฝนและฟ้าครึ้ม ทำให้เช้าที่สดใสของเรากลายเป็นวันที่หม่นหมอง การขุดตัวเองขึ้นจากเตียงกลายเป็นเรื่องยาก เกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากทำอะไรตลอดวัน
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้เรียกว่า ‘Monsoon Blues’ คล้ายกับ ‘Winter Blues’ ในเมืองหนาวที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ท้องฟ้ามืดเร็ว ไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้มากนัก ส่งผลให้คนรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการใช้ชีวิต ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล’ หรือ ‘Seasonal Affective Disorder (SAD)’
เช่นเดียวกับความรู้สึกเศร้าซึมในฤดูฝน ที่เกิดขึ้นจากความอึมครึมของก้อนเมฆช่วงที่ฝนตกไปบดบังแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ส่งผลกระทบต่อระบบควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย หรือ ‘นาฬิกาชีวภาพ’ (Biological Clock) ซึ่งสัมพันธ์กับเวลากลางวันและกลางคืนตามธรรมชาติ ทำให้การหลั่ง ‘เซโรโทนิน’ (Serotonin) สารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้รู้สึกขุ่นมัว และฮอร์โมน ‘เมลาโทนิน’ (Melatonin) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนอนหลับเพิ่มขึ้น จึงทำให้รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน
วิธีหลีกหนีจากความอึมครึมของบรรยากาศในฤดูฝนเบื้องต้นคือ การเปิดไฟหรือหน้าต่างเพื่อเพิ่มความสว่างให้กับสถานที่ทำงาน กระตุ้นตัวเองให้ขยับร่างกายอยู่เสมอ อย่างการเดินไปรับประทานอาหารที่ร้านใกล้ออฟฟิศแทนการนั่งรอไรเดอร์ส่งอาหารให้ หรือการฝึกนอนและตื่นเป็นเวลาให้ร่างกายสร้างระบบนาฬิกาชีวิตใหม่ เพื่อเพิ่มความสดชื่นระหว่างวันมากขึ้น
ไม่มีใครอยากทำงานในสภาพที่ ‘แฉะ’
นอกจากฝนตกจะทำให้คนหมองหม่นในระดับบุคคลแล้ว อีกปัญหาใหญ่ที่ใครก็หนีไม่พ้นคือปัญหาการจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ออฟฟิศหลายแห่งกำหนดเวลาเริ่มและเลิกงานไล่เลี่ยกัน ทำให้มวลมหาประชาชนรอใช้ขนส่งสาธารณะที่มีจำกัดในช่วงเวลาเดียวกัน
มากไปกว่านั้น สถานการณ์เหล่านั้นยังนำพาให้เราต้องเจออุปสรรคระหว่างการเดินทางที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งการยืนเบียดบนรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์และชานชาลารถไฟฟ้าที่ไม่สามารถป้องกันฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางคนต้องต่อรถมอเตอร์ไซค์หรือเดินเท้าบนทางเท้าที่มีน้ำท่วมขัง
และหากใครขับรถก็ต้องเผชิญปัญหารถติดที่การันตีได้ว่าการเดินทางมาทำงานหนึ่งครั้งคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เพราะฝนตกและปัญหาเหล่านี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกในทางลบอย่างเลี่ยงไม่ได้
‘ผศ. ดร.รชพร ชูช่วย’ นักวิชาการและสถาปนิกได้อธิบายและเสนอทางออกของปัญหานี้กับ Thairath Plus ไว้ว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ และระบบขนส่งสาธารณะปัจจุบันไม่เอื้อให้คนในเมืองเดินทางได้สะดวกในวันที่ฝนตก เมื่อการเดินทางในวันที่ฝนตกเป็นเรื่องยากลำบากก็ย่อมบั่นทอนสุขภาพจิตของคนทำงาน
ดังนั้นรัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกและมีคุณภาพที่พนักงานออฟฟิศหลายคนเข้าถึงได้ และเพิ่มจำนวนขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมการเดินทางของประชาชนมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน และร่นระยะเวลาการเดินทางให้ลดลง
นอกจากนี้ เพื่อลดปัญหาที่หลายคนต้องมาทำงานในสภาพที่ ‘เฉื่อย’ จากสภาพอากาศ และ ‘แฉะ’ จากการโดนฝนระหว่างทาง หลายออฟฟิศสามารถปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ ‘ไฮบริด’ คือการเข้าออฟฟิศสลับกับทำงานจากบ้าน เพื่อลดความหนาแน่นระหว่างการเดินทาง และรักษาใจพนักงานให้ไม่ต้องฝืนตัวเองออกมาในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจได้อีกด้วย
Sources :
101PUB | t.ly/0kgFY
Alljit | t.ly/vGwPY
Healthline | t.ly/azBMo
MedicineNet | t.ly/T6Y6Z
Thairath Plus | t.ly/ANVjq