ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ โดย Mayday! - Urban Creature

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีทวิตเตอร์แอ็กเคานต์หนึ่งแชร์ภาพป้ายรถเมล์ใหม่แถวสามยอดจนกลายเป็นไวรัล เพราะดูข้อมูลง่าย ใช้สีระบุสายรถที่ผ่านตามสถานที่ต่างๆ อย่างชัดเจน และบอกลักษณะของรถเมล์สายนั้นๆ ว่ารองรับวีลแชร์หรือไม่ เป็นต้น

แต่ความจริงแล้ว ป้ายรถเมล์เวอร์ชันที่เป็นที่พูดถึงกันอยู่นี้คือเวอร์ชันที่ยังไม่ใหม่ล่าสุด เพราะ ‘วิช-กรวิชญ์ ขวัญอารีย์’ นักออกแบบประจำ Mayday! บอกกับเราว่า ป้ายรถเมล์รูปแบบล่าสุดที่ผ่านการคิดและดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกคนมาแล้วตั้งอยู่บริเวณย่านเมืองเก่าและแหล่งท่องเที่ยวอย่างเยาวราช บนถนน 2 สายสำคัญคือถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง

ป้ายรถเมล์ที่ว่านี้เป็นผลมาจาก Bangkok Design Week ปีนี้ที่ Mayday! ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พัฒนาป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ที่มีข้อมูล สว่าง ปลอดภัย รู้เวลา และขนาดที่เหมาะสม ฉีกทุกข้อจำกัดในอดีตที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นป้ายที่เหมาะกับการใช้งานจริง

ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ โดย Mayday!

“สำหรับป้ายรถเมล์ย่านเยาวราช เราใช้รูปแบบกราฟิกที่คล้ายคลึงกันกับป้ายรถเมล์ตรงบริเวณสามยอด คือใช้เส้นทางและเส้นโยงใยที่คล้ายกัน แค่เพิ่มฟีเจอร์แผนที่รอบๆ ป้ายรถเมล์ที่ทำให้คนที่ลงจากรถเมล์สามารถเดินไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ด้วย” วิชอธิบาย

“ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบกับป้ายรูปแบบเดิม มันเป็นป้ายที่ตั้งขวางทางเดินในกรณีที่ทางเท้าแคบ ทำให้เกะกะ ไม่เหมาะกับการใช้งานในเขตเมืองเก่า เราจึงออกแบบป้ายรถเมล์ใหม่ในเยาวราชให้เป็นเสาเดี่ยว โดยติดตั้งในระดับที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถอ่านในระยะที่นั่งได้ง่ายเหมือนเดิม แต่จะนำข้อมูลมาหันขนานกับทางรถวิ่ง เวลาดูข้อมูลก็อ่านด้านข้างได้เลย รวมถึงเดินผ่านตัวป้ายได้สะดวก ไม่เกิดความรู้สึกว่าป้ายมาบดบังทางเท้า

“นอกจากนี้ เรายังขยายพื้นที่ให้มีข้อมูลเพิ่มเติมด้วย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ ตัวป้ายรถเมล์จึงมีการติดตั้งไฟให้สว่างกับตัวจอป้ายบอกเวลา แต่น่าเสียดายที่เรายังเข้าถึงข้อมูลเวลาการมาถึงของรถไม่ได้ ทำให้ตัวจอไม่ได้ขึ้นเวลา” นักออกแบบแห่ง Mayday! เสริมข้อมูล

ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ โดย Mayday!

ส่วนใครที่สงสัยว่า แล้วตัวป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่นี้จะไปติดตั้งพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตไหม เราก็ได้คำตอบมาว่า ทาง Mayday! กำลังรอความชัดเจนจากทาง สจส. ที่มีโครงการปรับปรุงจุดจอดรถเมล์ในกรุงเทพฯ ภายในปีนี้ เพราะโปรเจกต์ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ที่ทำกับทาง สจส. เช่นกัน

สุดท้ายนี้ วิชบอกกับเราว่า ปัจจุบันสิ่งที่ขาดไปสำหรับป้ายรถเมล์ที่บอกข้อมูลอย่างชัดเจนคือเวลาที่รถจะมาถึง เมื่อไหร่ที่เข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ก็จะทำให้สเตชันการรอรถเมล์สมบูรณ์ขึ้น “ถ้าข้อมูล GPS เปิดเป็น Open Data ได้ ก็จะทำให้การใช้งานและการแสดงผลข้อมูลบนป้ายรถเมล์ดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราอยากเรียกร้องกับทางภาครัฐ”

ส่วนใครที่อยากตามไปดูโปรเจกต์นี้ ปัจจุบันป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่โดย Mayday! มีจำนวน 5 ป้ายบริเวณย่านเยาวราช แบ่งเป็นบนถนน 2 สายคือ ถนนเยาวราช จำนวน 3 ป้าย และถนนเจริญกรุง จำนวน 2 ป้าย

ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ โดย Mayday!

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.