ช่วงนี้กระแสแฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด ยังเดือดปุดๆ ต่อเนื่องมาจากดราม่า #nnevvy ที่แฟนคลับไทยและจีนฉะกันบนทวิตเตอร์เกี่ยวกับนักแสดง ‘ไบร์ท วชิรวิชญ์’ ก่อนจะขุดเรื่องที่ว่าไต้หวันมีฐานะเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนเพื่อมาเหน็บแนมกัน จนลุกลามถึงประเด็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ที่ทำให้ไทยและอีกหลายประเทศต้องประสบภัยแล้ง ซึ่งหากใครติดตามข่าวภัยแล้งตั้งแต่ปีที่แล้วจะรู้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแล้งจัด ส่วนหนึ่งมาจากการกั้นเขื่อนต่างๆ บนลำน้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า
ลำน้ำที่แห้งขอดเห็นสันดอนทราย อีกทั้งน้ำที่ใสจนเปลี่ยนเป็นสีครามเนื่องจากไม่มีตะกอน ทำให้ระบบนิเวศซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านโดยเฉพาะชาวประมง และการทำเกษตรที่ต้องอาศัยชลประทาน ไปจนถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็แห้งตามไปด้วย
• แม่น้ำโขงแล้งจัดเพราะจีนกักเก็บน้ำไว้
หนึ่งในต้นตอของภัยแล้งที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้ คือการที่เขื่อนในประเทศจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนกักเก็บน้ำไว้จำนวนมหาศาล อย่างเขื่อนจิ่งหงในมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 เขื่อนของจีนที่เปิดใช้งานแล้ว มีปริมาตรกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 249 ล้าน ลบ.ม. แต่จีนไม่เคยเปิดเผยสถิติปริมาณน้ำที่แต่ละเขื่อนกักเก็บไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทวิจัยของสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณน้ำที่จีนกักเก็บไว้น่าจะมากกว่า 4.7 หมื่นล้าน ลบ.ม. เลยทีเดียว
• จีนไม่แล้งจริงอย่างที่กล่าวอ้าง
แม้ว่าจีนจะปฏิเสธและกล่าวว่าประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ก็มีหลักฐานจากศูนย์วิจัย Stimson Center ในสหรัฐฯ เผยงานวิจัยออกมาว่า ภัยแล้งรุนแรงในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เกิดจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนในจีนอย่างแน่นอน
จากการศึกษาระบุว่า ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ. 2562 หรือช่วงแล้งหนักเมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องไปจนถึงช่วงน้ำหลาก จีนกลับได้รับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ อีกทั้งข้อมูลจากดาวเทียมยังบ่งชี้ว่า ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนมีความชื้นในดินสูงกว่าที่ผ่านมา ทั้งจากปริมาณน้ำฝนและน้ำที่ละลายจากหิมะ ซึ่งหากจีนไม่มีการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำตามปกติ ปริมาณน้ำในแม่น้ำก็จะเพียงพอที่ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำโขงช่วงชายแดนไทย-ลาว ในช่วงเมษายนปีที่แล้วจนถึงตอนนี้มีปริมาณมากกว่าปกติ
• จีนขอแย้งพร้อมปล่อยน้ำเป็นการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามจีนได้ออกมาโต้แย้งดังเช่นที่ หวัง ลี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อที่ประชุมกรอบล้านช้าง-แม่โขง (LMC) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า จีนก็ประสบภัยแล้งเช่นกัน และจะปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ข้อสรุปของเรื่องนี้ก็หวังว่าจีนจะนำเสนอข้อเท็จจริง และเกิดความร่วมมือในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงอย่างชัดเจนและเท่าเทียมกัน เพราะไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตถึง 6 ประเทศ และทรัพยากรธรรมชาติบนโลกควรมีการจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
Sources : Green News | https://greennews.agency/?p=20880
BBC Thai | https://www.bbc.com/thai/thailand-52276706
Stimson Center | https://bit.ly/3bimOV4