ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลุ่มน้ำโขง - Urban Creature

“ผืนดินแตกระแหง ดินแดนแห่งความแห้งแล้ง” 

คือวาทกรรมที่สร้างภาพจำให้แดนอีสาน ในความจริงอีสานเคยอุดมสมบูรณ์กว่านี้ ชาวบ้านสามารถทำประมงน้ำจืด ทำเกษตรริมสองฝั่งแม่น้ำ แต่ 20 ปีให้หลัง ‘แม่น้ำโขง’ เส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต กลับเผชิญชะตากรรมจากผลกระทบของการสร้างเขื่อน ระดับน้ำที่ผันผวนและปัญหาอื่นๆ นับไม่ถ้วน ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและนับวันยิ่งวิกฤต ส่งผลต่อระบบนิเวศ รวมถึงวิถีชีวิตของคนริมโขงที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เราต่อสายตรงถึง ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมาหลายปี และเป็นตัวตั้งตัวตีในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ด้วยความตั้งใจที่อยากเป็นเสียงแทนชาวบ้านผ่านเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง’

ภาพ : ก้านก่อง จันลอง (จากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

ย้อนต้นตอ ‘เขื่อนจีน-ลาว-ไทย’


น้ำแห้งขอดที่ขังอยู่ในแอ่งเล็กแอ่งน้อย และสันดอนทรายที่โผล่ขึ้นกลางแม่น้ำโขง เป็นภาพที่เราไม่อยากเชื่อสายตาว่า ที่แห่งนี้คือเส้นสายของแม่น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ เมื่อปี 2563 ระดับน้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤตต่ำสุดในรอบ 50 ปี แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น 

ย้อนกลับไปประมาณ 10 – 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่จีนเริ่มสร้างเขื่อนเหนือแม่น้ำโขงตอนบน หรือที่เรียกว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ หรือ ‘หลานชางเจียง’ ไล่เรียงลงมาเป็นขั้นบันไดนับ 11 เขื่อน ส่งผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงและการไหลของน้ำที่เปลี่ยนไป

เร่งเวลากลับมาเมื่อ 2 ปีก่อน ‘เขื่อนไซยะบุรี’ ถูกสร้างขึ้นเหนือแม่น้ำโขงตอนล่างในลาวซึ่งอยู่ใกล้ไทยมากกว่า ส่งผลกระทบต่อพี่น้องที่อยู่ติดพรมแดนไทย-ลาวในภาคอีสาน ยาวลงไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม

ที่มา : www.mymekong.org

ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากสองเขื่อนหลักๆ นี้เท่านั้น คุณสุวิทย์​ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยังชี้ให้เห็นว่า แม่น้ำโขงนั้นยาวถึงสี่พันกว่ากิโลเมตร ถ้ามองตามจริง แม่น้ำโขงช่วงไทยและลาวก็เป็นพื้นที่รับน้ำที่ใหญ่พอสมควร ดังนั้น ต้นตอสำคัญนอกจากเขื่อนจีน คือไทยและลาวเองก็สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายย่อยไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขงอย่างปฏิเสธไม่ได้

ยังไม่รวมอีกหลายโครงการที่อยู่ในแผนอย่าง ‘เขื่อนปากชม’ และ ‘เขื่อนสานะคาม’ ที่ห่างไทยแค่ 2 กม. หรือโครงการพัฒนาของไทยที่กำลังเป็นข้อถกเถียงอย่าง ‘โครงการโขง เลย ชี มูล’ ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ในหลายจังหวัด ทั้งที่ปัจจุบันน้ำโขงก็มีน้อยอยู่แล้ว

“โครงการเหล่านี้เอาประโยชน์จากแม่น้ำโขงฝ่ายเดียว
โดยไม่ได้มองมิติสิ่งแวดล้อม”

ภาพ : ก้านก่อง จันลอง (จากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

แม่น้ำที่กำลังจะตาย


เมื่อลงลึกถึงปัญหาแม่น้ำโขงที่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ โพสต์ลงบนเพจ ‘Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง’ มาตลอดระยะปีกว่านับตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรีถูกสร้างขึ้น พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายมิติและกระทบเป็นห่วงโซ่


‘แม่น้ำไร้ตะกอน’ ความสวยงามที่มาพร้อมหายนะ


ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ น้ำโขงใสขึ้นผิดปกติราวกับน้ำทะเล เรียกว่า ‘Hungry River’ หรือ ‘แม่น้ำไร้ตะกอน’ ปกติน้ำโขงจะเป็นสีออกขุ่นๆ เนื่องจากมีตะกอน แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนวางตัวกั้นแม่น้ำโขง ตะกอนที่มากับน้ำจะถูกกักไว้หน้าเขื่อน น้ำที่ล้นออกมาจึงใสเพราะน้ำตกตะกอนแล้ว ซึ่งตะกอนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลิ่งไม่พังและยังเป็นธาตุอาหารของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขง


จากฝนกลายเป็นแล้ง จากแล้งกลายเป็นหลาก


วัฏจักรของแม่น้ำโขงปรับตัวตามฤดูกาลมาหลายล้านปี ในหน้าแล้งน้ำจะลดลงเป็นปกติ และเมื่อถึงหน้าฝนน้ำก็จะกลับมาเต็มตลิ่ง ทว่าเขื่อนทำให้น้ำในแม่น้ำโขงไม่ไหลตามธรรมชาติ เนื่องจากการปล่อยน้ำของเขื่อนไม่อิงตามฤดูกาล แต่อิงตามความต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ฤดูฝนน้ำกลับแล้ง ในฤดูแล้งน้ำกลับเยอะ

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

ระบบนิเวศพัง สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่


การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำยังส่งผลต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า ‘ป่าน้ำท่วม’ ซึ่งมีพืชน้ำอย่าง ‘ต้นไคร้’ เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำและเป็นจุดที่ปลาจะมาวางไข่ ในหน้าฝนน้ำจะท่วมใบ ดอก และผลของต้นไคร้ จนย่อยสลายกลายเป็นอาหารของปลา และเมื่อฤดูแล้งมาเยือนและน้ำลด พืชเหล่านี้จะกลับมาผลิใบอีกครั้ง แต่ปัจจุบัน ฤดูฝนกลับน้ำแห้งยิ่งกว่าฤดูแล้ง ต้นไคร้จึงยืนต้นตายมากกว่า 70% เมื่อสัตว์น้ำไม่มีที่อยู่และแหล่งอาหารก็ลดจำนวนลง ไข่และลูกปลาเกิดใหม่กลายเป็นสูญ สัตว์น้ำที่หนีลงร่องน้ำไม่ทันก็ตาย

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

ปลาอพยพและวางไข่ผิดฤดู


ในทางกลับกัน น้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนในฤดูแล้งจะไปกระตุ้นให้ปลาอพยพขึ้นมาวางไข่ ซึ่งเป็นวิถีที่ผิดธรรมชาติ ปกติแล้วปลาต้องอพยพต่อเมื่อถึงฤดูวางไข่ในต้นฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไข่พัฒนาจนพร้อมผสมพันธุ์ การที่พวกมันอพยพขึ้นมาทั้งที่ยังไม่ถึงหน้าฝนแปลว่าปลาจะยังวางไข่ไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถอพยพขึ้นไปตอนบนของแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะกับการวางไข่เพราะมีเขื่อนกั้นไว้

ภาพ : สมาน แก้วพวง (จากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

ระดับน้ำผันผวน สาหร่ายตายเป็นแพ


ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดคือสาหร่ายที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก’ จริงๆ แล้วไกมีประโยชน์ทั้งเป็นที่วางไข่และเป็นอาหารของปลาบางชนิด ชาวบ้านยังมักเก็บไกมาทอดขายหรือกินเอง แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จีนลดการจ่ายน้ำทำให้ระดับน้ำลดลง สาหร่ายจึงเติบโตอยู่ในแอ่ง พอเขื่อนเปิดประตูน้ำ สาหร่ายก็ไหลออกมาสู่ร่องน้ำลึก ทำให้ปลาที่วางไข่อยู่ในสาหร่ายหลุดออกมาจนไม่เหลือรอด จำนวนปลาที่เกิดใหม่จึงลดจำนวนตามลงไป

นอกจากนี้ น้ำที่ใสผิดปกติยังทำให้สาหร่ายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยปกติถ้าน้ำมีตะกอนเป็นสีขุ่นๆ สาหร่ายก็จะอยู่แค่บริเวณผิวน้ำ แต่พอแสงแดดส่องลงไปถึงก้นแอ่ง สาหร่ายจึงสามารถเกิดอยู่ใต้น้ำ และเมื่อมันลอยตัวขึ้นมาทำให้แดดส่องลงไปไม่ถึงข้างล่าง สาหร่ายก็จะเน่าส่งผลต่อไข่ปลาที่ต้องฟักตัว ยังไม่รวมสาหร่ายที่เน่าและโดนน้ำพัดออกสู่ร่องน้ำใหญ่เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

‘ชาวประมง’ วิถีชีวิตที่หายไปกับน้ำ


ปัญหาแม่น้ำโขงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำเท่านั้น หากถามว่าใครได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด คงต้องตอบว่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่หากินกับแม่น้ำโขง

ตลอดเวลาที่ ผศ. ดร.ไชยณรงค์ ลงพื้นที่ไปพูดคุยและรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน ตั้งแต่ช่วงที่มีการสร้างเขื่อนจีนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวประมงแถบอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ปริมาณปลาที่จับได้ลดลงกว่าเท่าตัวและยังคงลดลงเรื่อยๆ

ต่อมามีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีก็กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงในแม่น้ำโขงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ บางครั้งเขื่อนปล่อยน้ำลงมาโดยไม่มีการเตือน เรือและเครื่องมือประมงก็ถูกน้ำพัดหายไป สาหร่ายที่ขยายตัวจำนวนมากก็มักไปถ่วงติดอวนจับปลาทำให้ตาข่ายขาด

หนึ่งในเสียงสะท้อนจาก คุณชัยวัฒน์ พาระคุณ ชาวประมงที่เปลี่ยนไปทำอาชีพเกษตรกรในตำบลบ้านม่วง จังหวัดหนองคาย เล่าให้เราฟังว่า

“ทุกวันนี้ที่ประสบปัญหามากที่สุดคือหาปลาไม่ได้ ช่วงเดือนสามจะเป็นฤดูที่ปลาอพยพขึ้นมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนหรอกครับ จะลงทุนทำ ‘ลี่’ ที่เป็นอุปกรณ์ดักปลาจากไม้ไผ่ก็ไม่คุ้ม ลงทุนลงไปเป็นหมื่นได้ปลามาไม่ถึงสองร้อยโล”

ได้ฟังแล้วก็ทำให้เรารู้สึกเสียดายวิถีเดิมๆ ของคนริมฝั่งโขง 

“วิถีชีวิตเปลี่ยนแบบฉับพลันไม่มีแหล่งให้พึ่งพิงได้เลย เราเคยพึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก เมื่อก่อนจะกินปลาผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าตั้งไฟไว้รอเลย เพราะลงไปหาปลาก็ได้ขึ้นมาเหมือนไปซื้อในตลาด เอาขึ้นมาก็ได้กิน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว” คุณชัยวัฒน์เล่าต่อด้วยน้ำเสียงอาวรณ์

“บางทีเป็นอาทิตย์ก็ไม่ได้ปลา
ตอนนี้มันแย่มากๆ ถึงขั้นวิกฤตแล้ว”

ภาพ : ชัยวัฒน์ พาระคุณ (จากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

ผศ. ดร.ไชยณรงค์ พูดถึงภาพรวมของผลกระทบที่เกิดกับชาวประมงลุ่มน้ำโขงว่า

“อาหารหลักของคนริมโขงมาจากแม่น้ำโขง พูดง่ายๆ คือโปรตีนที่ไม่ต้องซื้อหา แต่เมื่อเกิดแบบนี้ต้นทุนเรื่องอาหารของชุมชนก็เพิ่มขึ้น เป็นชาวประมงแท้ๆ แต่อยากกินปลาก็ต้องไปซื้อ

“หลายคนต้องเลิกจับปลาจนอาชีพประมงแทบไม่เหลือ มีเพียงไม่กี่รายที่ส่วนใหญ่เขาไม่มีที่ดิน กับคนอายุมากที่ทำงานรับจ้างไม่ไหวจึงต้องทนทำประมงต่อไป นอกนั้นเขาก็เปลี่ยนไปทำการเกษตรซึ่งไม่มีความชำนาญ เพราะพึ่งพาแม่น้ำมาตั้งแต่เกิด 

“ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปีสี่สิบโรงงานปิดตัวจำนวนมาก แรงงานจากอีสานอพยพคืนถิ่นเพราะไม่มีงานทำ กลับมาก็ยังทำอาชีพประมงได้

“แต่ตอนเกิดโควิด-19 คนอีสานที่ไปทำงานกรุงเทพฯ
กลับมาบ้านก็ไม่มีปลาให้จับ”

ภาพ : สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ (จากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

‘เกษตรริมโขง’ จะอยู่ได้ต้องพึ่งพาฤดูกาล


อีกประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ‘การทำเกษตรริมโขง’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของคนริมฝั่งโขง คนที่ทำเกษตรริมโขงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุ และคนที่ไร้ที่ดิน นอกจากจะเป็นความมั่นคงทางอาหารและการหารายได้ของชุมชน ยังมีการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมอย่างมะเขือเทศและพริกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม 

เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่ดีที่สุดในประเทศ โดยผลผลิตประมาณ 50% ในประเทศมาจากริมโขง 3 จังหวัดนี้ บริษัทใหญ่ๆ อย่างโรซ่าก็มาตั้งโรงงาน อีกทั้งมีการส่งออกต่างประเทศ บางโรงงานมียอดส่งออกจีนถึง 200 ล้านบาท

ที่กล่าวว่าการทำเกษตรริมโขงพึ่งพาวิถีธรรมชาติ เพราะฤดูฝนน้ำจะท่วมตลิ่งพาตะกอนที่เป็นแร่ธาตุสำคัญมาด้วย เมื่อน้ำลดเข้าสู่ฤดูแล้งชาวบ้านจะทยอยปลูกพืชไร่โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ซึ่งชาวบ้านจะสังเกตจากจิ้งหรีด หากมันลงไปวางไข่ตามหาดแปลว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกแล้ว

แต่ปัจจุบันจิ้งหรีดก็ทำนายน้ำขึ้นน้ำลงไม่ได้ วันดีคืนดีน้ำเขื่อนก็ปล่อยน้ำลงมาท่วมผลผลิตของชาวบ้าน เครื่องมือเกษตรต่างๆ จมหาย การทำเกษตรริมโขงจึงกลายเป็นความเสี่ยง และคนที่แบกรับภาระคือเกษตรกร

ภาพ : Sirisak Saduak (จากเฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน)

‘เงิน’ ไม่สามารถเยียวยา แต่คือ ‘หนทางทำกิน’


เสียงที่คนริมโขงอยากให้ผู้มีอำนาจได้ยินและรับฟัง คือการพัฒนาโครงการใดก็ตาม ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่ใช่ใครแต่เป็นพี่น้องประชาชน ประเด็นรองลงมาที่ ผศ. ดร.ไชยณรงค์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ คือเมื่อเกิดผลกระทบชาวบ้านควรได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม

“เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นต้องมีการเยียวยาให้สมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่จ่ายค่าชดเชยแล้วจบ ชาวบ้านเขาสูญเสียอาชีพประมงไปชั่วลูกชั่วหลาน คุณจะเยียวยาอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่มีเงินก็ต้องปล่อยน้ำออกมาตามธรรมชาติ คุณทำได้ไหมอันนี้ก็ต้องฝากไปคิด 

“ชาวบ้านเขาไม่ได้ต้องการเงิน
เขาต้องการให้แม่น้ำกลับมาจับปลาได้เหมือนเดิม”

ภาพ : กลุ่มฮักแม่น้ำเลย (จากเฟซบุ๊กเพจเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน)

คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาวบ้านที่ต้องเผชิญความลำบาก ว่าพวกเขาได้แต่รอความช่วยเหลือจากรัฐ อันที่จริงเขาแทบไม่ได้รับการเยียวยาที่ดีเลย สิ่งที่ทำได้คือการดิ้นรนทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง

ปีก่อนที่เกิดวิกฤตเขื่อนไซยะบุรีครั้งแรก น้ำโขงลดระดับทีเดียววูบไป 2 – 3 เมตร ทำให้ปลาที่ขึ้นมาวางไข่ตายเกลื่อนเพราะลงร่องน้ำลึกไม่ทัน พอหาปลาไม่ได้คนก็หันไปขึ้นฝั่งปลูกผัก 

คุณชัยวัฒน์เองก็หันมาปลูกยางพาราเพราะเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งนิยมปลูกกันมากในจังหวัดหนองคาย ถามว่าราคาดีไหม คนมีหนี้น้อยก็พออยู่ได้ แต่คนมีหนี้มากก็ไม่พอกิน ด้วยวิถีชีวิตที่ผิดเพี้ยนมาแล้วกว่า 10 – 20 ปี และราคาพืชผลทางเกษตรสวนทางกับค่าครองชีพ คุณชัยวัฒน์ฝากไว้ทิ้งท้าย

“สิ่งที่เราต้องการคือ ทำอย่างไรให้ราคาสินค้าเกษตรดีดตัวขึ้นไปอีกระดับ จริงๆ พื้นที่ทำเกษตรในอีสานมีเยอะ แต่ที่ขายไม่มี คนส่งเสริมไม่มี ชาวบ้านเข้าไม่ถึง มันก็เลยกลายเป็นว่าปลูกไปแล้วจะไปขายที่ไหน”

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

“ถ้าพูดถึงเขื่อนที่มันเกิดขึ้นแล้ว นักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีงานวิจัยออกมาว่า จะทำอย่างไรให้แม่น้ำโขงกลับมาใกล้เคียงเดิม เราก็เรียกร้องกันอยู่ พยายามสื่อสารออกไปให้เขาเห็นว่ามันเกิดปัญหาตรงจุดนี้นะ พวกคุณจะแก้ไขอย่างไร

“การที่น้ำโขงขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ สัตว์น้ำไม่มีสัญชาตญาณตามฤดูกาลแล้ว ปลามันสับสน แม้แต่คนหาปลาก็สับสน เป็นไปได้ไหมถ้าจะปล่อยน้ำให้ไหลอิสระเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ”

Photo Credit : Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง, เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.