กลิ่นขนมปังอบสดใหม่ลอยจางๆ ในอากาศ ลาเต้ร้อนแก้วหนึ่งวางอยู่ตรงหน้า เรายกขึ้นจิบเชื่องช้า ละเลียดรสขมจากกาแฟที่เบลนด์กับความหวานของน้ำผึ้งได้พอดี ความง่วงงุนจากการออกเดินทางแต่เช้าหายเป็นปลิดทิ้ง
“เดือนนี้มีวันพิเศษคือวันผึ้งโลก เราอยากให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของสนามเด็กเล่นจะมีเวิร์กช็อปที่สอนเด็กๆ เรื่องนี้ ส่วนคาเฟ่ก็จะทำเมนูที่อินสไปร์ควบคู่ไปด้วยกัน” หญิงสาวคนคิดเมนูอธิบายให้ฟัง
หญิงสาวคนนี้คือ ‘พีช-วงศ์ณิชา วงศ์สืบชาติ’ หุ้นส่วน ‘คาเฟ่’ ที่เสิร์ฟกาแฟให้เรา ส่วนที่นั่งข้างกันคือ ‘พราว พุทธิธรกุล’ หุ้นส่วน ‘สนามเด็กเล่น’ ที่เพิ่งถูกพูดถึง
Little Stove & Little Stump คือชื่อของคาเฟ่และสนามเด็กเล่นแห่งนี้ และถึงแม้จะตั้งชื่อแยกกันชัดเจน ทว่าทั้งสองร้านตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นั่นคือลานกว้างริมคลองบางมดในย่านพระราม 2 ที่มีต้นไทรเก่าแก่ตั้งอยู่เด่นหรา รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่
ไม่ผิดแน่ว่าเป็นความตั้งใจ พวกเธออยากให้ทุกคนในครอบครัวได้มีพื้นที่ใช้เวลาร่วมกันได้ แต่มากกว่านั้น-ในฐานะแม่ของลูก-พวกเธออยากให้ผู้ใหญ่ไม่พลาดโมเมนต์สำคัญของเด็ก
เช้าวันนี้ที่ไร้เสียงเจี๊ยวจ๊าวของน้องๆ เราเอ่ยปากขอให้พวกเธอพาทัวร์คาเฟ่และสนามเด็กเล่นพร้อมกับเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง ท่ามกลางกลิ่นขนมปังอบสดใหม่และสีเขียวของพรรณไม้
Little Bond
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน พีชกับพราวรู้จักกันผ่านสามีที่เป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่เจอกันบ่อยจนกลายเป็นเพื่อนสาวคนสนิท แชร์ความชอบ ความฝัน และเรื่องราวในชีวิตประจำวันให้กัน ยิ่งได้มีลูกในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันก็ยิ่งเข้าอกเข้าใจกันและกันมากขึ้น
หนึ่งในความฝันที่ทั้งสองคนแชร์กันบ่อยๆ คือ ถ้ามีลูก พวกเธอก็อยากให้ลูกได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในพื้นที่ที่เอื้อให้คนทั้งครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ที่สำคัญคือได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
อย่างที่คุณเดาออก ความฝันนั้นต่อยอดกลายมาเป็นสนามเด็กเล่นและคาเฟ่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปีในการปลุกปั้น
“ตอนแรกคุยกันว่าเราอยากทำสนามเด็กเล่น และอยากให้มีพื้นที่รับประทานอาหารที่ดี เด็กๆ เล่นเสร็จแล้วเหนื่อยก็มากินได้” พีชบอก ก่อนจะเท้าความต่อว่า พราวเป็นสถาปนิกออกแบบภายในที่มีบริษัทของตัวเอง ส่วนพีชทำร้านอาหารไฟน์ไดนิงย่านเอกมัย สองสาวจึงนำสกิลที่ตัวเองถนัดอยู่แล้วมาใช้กับธุรกิจของตัวเอง
“เรามองหาสถานที่ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ แล้วก็มาเจอที่นี่พอดี” พราวผู้เป็นสถาปนิกขอเสริม “ตรงนี้เป็นพื้นที่เปล่า ใกล้คลองบางมด ถึงจะไม่ได้อยู่ในเมืองแต่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แค่เดินทางออกเมืองมาสักหน่อยก็ได้พักผ่อนสายตาแล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม”
Little Stump
ด้วยโจทย์ที่บอกว่าต้องใกล้ชิดธรรมชาติ นอกจากสนามเด็กเล่นแบบเอาต์ดอร์ที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่สีเขียวสบายตา ที่นี่ยังมีส่วนเพลย์กราวนด์แบบอินดอร์ที่ใช้คอนเซปต์ ‘บ้านต้นไม้’ ครอบอยู่
“เราให้ความสำคัญกับการที่เด็กได้ไปสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ด้วยความที่บ้านเราสภาพอากาศร้อนทำให้ยังต้องมีส่วนที่เป็นห้องปรับอากาศสำหรับเด็ก” พราวเล่า แล้วเริ่มพาเราทัวร์โซนสนามเด็กเล่นที่บอกเลยว่าแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นก็ยังใจเต้นระริกระรี้
สนามเด็กเล่นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ โซนต้อนรับที่เข้าไปถึงแล้วจะมองได้ว่าข้างในสนามเด็กเล่นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อจ่ายค่าเข้าเพื่อเข้าไปด้านใน เราพบต้นไม้ใหญ่ใจกลางลานกว้างที่เชื่อมทุกห้องไว้ด้วยกัน
เมื่อเลี้ยวไปทางขวา เราพบห้องเวิร์กช็อปสำหรับทำกิจกรรม “เวลามีคลาสคุณครูจะมาสอนในห้องนี้ หรือถ้าไม่ได้มีคลาสก็ใช้เป็นมุมอ่านหนังสือ วาดรูป ระบายสี เล่นของเล่นไม้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ”
ส่วนห้องทางซ้ายเป็นห้องที่แอ็กทีฟขึ้นมาหน่อย เพราะเป็นห้องเบาะนุ่มที่เปิดให้เด็กๆ ไปเล่น มุด ปีนป่าย เคลื่อนไหวร่างกายได้เต็มที่
ในห้องต่างๆ ยังมีช่องที่เปิดให้เด็กได้สอดส่องมองเห็นห้องอื่นว่าเขาทำอะไรกัน ไปจนถึงได้เห็นธรรมชาติสีเขียวจากโซนเอาต์ดอร์ ในขณะเดียวกัน ช่องเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ใหญ่ที่นั่งรออยู่ที่ลานตรงกลางมองเห็นได้ว่าลูกๆ กำลังทำอะไร
“งานออกแบบสำหรับเด็กมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากงานอาคารแบบอื่น หลักๆ คือเราต้องทำยังไงให้เด็กปลอดภัยที่สุด ไม่มีมุมแหลมคมหรือขั้นบันไดที่อันตราย ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นพื้นที่ที่ Protective เกินไป เพราะอยากให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าในสถานที่แบบนี้เขาจะต้องระวังตัวยังไง” พราวอธิบาย
ในช่วงเวลาที่การเล่นของเด็กเจนฯ ปัจจุบันเปลี่ยนไป การเล่นในสนามเด็กเล่นสำคัญยังไง เราสงสัย
พราวยิ้ม ก่อนจะตอบว่า “จริงๆ เด็กทุกคนน่าจะชอบการเล่นสนามเด็กเล่นอยู่แล้ว แค่สมัยนี้มีอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างอื่นที่มาแทรก มาดึงความสนใจเขา เพราะมันเร็ว เสพง่าย สะดวก แต่เราคิดว่าสนามเด็กเล่นยังสำคัญ เพราะทำให้เด็กได้เสริมทักษะตัวเองในด้านร่างกาย ช่วยให้เขาได้คิด ได้ระมัดระวัง ได้พยายามคอนโทรลร่างกายของเขาให้เล่นโดยไม่เจ็บ หรือเวลาเจ็บแล้วเขาจะแก้ปัญหายังไง มันได้ฝึกกระบวนการความคิดในด้านการช่วยเหลือตัวเองของเขาด้วย”
“การที่เด็กเล่นกับธรรมชาติ พวกเขาจะได้ฝึกประสาทสัมผัสครบทุกอย่าง” พีชเสริม “มันทำให้เขาได้มองเห็น ได้กลิ่น ได้ยินเสียง มากกว่าการอยู่ในพื้นที่ปิดเฉยๆ หรือแม้กระทั่งพวกใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหินตามพื้น มันมีเทกซ์เจอร์ฟอร์มธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน เวลาเด็กได้สัมผัสของพวกนี้ เขาจะรู้สึกต่างไปจากของเล่นพลาสติก”
Little Stove
ถ้าโซนสนามเด็กเล่นคือบ้านต้นไม้ คาเฟ่ที่สร้างไปพร้อมกันก็คือถ้ำ
“เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะออกแบบให้เหมือนถ้ำเป๊ะๆ แต่ใช้เส้นสาย ความโค้งและลวดลายออร์แกนิกทั้งหลายที่เหมือนเปลือกไม้และลายถ้ำมากกว่า” พราวบอก ก่อนพีชจะเสริมว่า จริงๆ จุดขายของคาเฟ่ที่นี่คือขนมปัง
ย้อนกลับไปในช่วงโควิดกำลังระบาด ร้านอาหารที่พีชเปิดต้องปิดชั่วคราว ช่วงเวลานั้นเองที่เธอได้เรียนรู้ศาสตร์การทำขนมปังซาวร์โด หญิงสาวชอบมันมากจนเปิดร้านขายทางออนไลน์ หลังจากโควิดซาก็นำมาใช้ในเมนูไฟน์ไดนิง และแน่นอนว่าที่ Little Stove ก็มีเสิร์ฟ
“พีชอยากให้ที่นี่มีครัวขนมปังที่ทำเอง ต่อยอดเป็นเมนูอาหารที่เบสเป็นขนมปัง” เธอบอก ก่อนจะยกจานแรกมาเสิร์ฟเรา
‘Riceberry Sourdough Scramble Eggs & Bacon Sandwich’ เป็นขนมปังซาวร์โดทำจากข้าวไรซ์เบอร์รีและยีสต์ที่พีชเลี้ยงมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ทำให้ได้ขนมปังเทกซ์เจอร์หนึบ รสชาติเปรี้ยวนิดๆ เข้ากันกับไข่สแครมเบิลที่มีกลิ่นหอมของกระทะ และเบคอนชิ้นหนาราดด้วยน้ำผึ้งลำไยแท้ “น้ำผึ้งนี้เราได้จากฟาร์มเกษตรกรในจันทบุรี เป็นเมนูที่เฟรนด์ลีกับทั้งพ่อแม่และเด็กๆ”
หมดของคาวก็ถึงเวลาของหวาน นั่นคือ ‘Blueberry Cream Cheese Bun’ ขนมปังแป้งยูดาเนะเนื้อนุ่มหอม สอดไส้ครีมชีสบลูเบอร์รี ราดด้วยครัมเบิลกรุบๆ ด้านบน กินคู่กับ ‘Honeycomb Latte’ เป็นส่วนผสมที่เข้ากันดีของลาเต้กับน้ำผึ้งลำไย
เห็นว่าส่วนผสมของหลายเมนูคือน้ำผึ้ง เราจึงอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากถามถึงความสำคัญ พีชยิ้มก่อนตอบว่า
“เดือนนี้มีวันพิเศษคือวันผึ้งโลก เราอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเขาช่วยผสมเกสรดอกไม้ ในส่วนของสนามเด็กเล่นจะมีเวิร์กช็อปที่สอนเด็กๆ เรื่องนี้ ส่วนคาเฟ่ก็จะทำเมนูที่อินสไปร์ควบคู่ไปด้วยกัน”
Little Tales
ความพิเศษของ Little Stove & Little Stump ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะนอกจากสนามเด็กเล่น คาเฟ่ ที่นี่ยังมีหนังสือนิทานประจำร้านด้วย
‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ คือหนังสือนิทานที่ว่า ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างพราว พีช และสำนักพิมพ์สานอักษรที่ขึ้นชื่อเรื่องทำหนังสือนิทานเด็กอยู่แล้ว
“ด้วยความที่เรามีลูก เราจะรู้ว่าพ่อแม่ทุกคนจะต้องกลับไปสู่โลกของนิทานเสมอ เพราะตอนที่ลูกของเรายังอ่านหนังสือไม่ออก หนังสือนิทานที่มีแต่ภาพคือสิ่งที่เราเปิดให้เขาดู ซึ่งในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้พ่อแม่รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งด้วย พิเศษกว่านั้นคือ พอเราเริ่มอ่านให้ลูกฟัง เขาจะเรียนรู้คำศัพท์และการตีความได้อย่างน่าอัศจรรย์” พราวเล่าถึงที่มาที่ไป
“เราคิดว่ามันคงดีมากที่จินตนาการของเด็กๆ จะเกิดขึ้นจริง ถ้าสถานที่ของเราไปอยู่ในนิทาน พอเด็กอ่านนิทาน เด็กก็จินตนาการในแบบของเขา และพอได้มาอยู่ในสถานที่จริงเขาก็จินตนาการต่อได้”
ในช่วงแรกเริ่มของการปลุกปั้นร้าน พีชกับพราวจึงเล่าคอนเซปต์ทั้งหมดของร้านให้นักเขียนและนักวาด ‘กฤษณะ กาญจนาภา’ และ ‘วชิราวรรณ ทับเสือ’ ไปสร้างสรรค์นิทานต่อ จนสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องราวของบ้านต้นไม้ ถ้ำคุณหมี และเหล่าบรรดาสัตว์ที่มาช่วยกันซ่อมแซมบ้าน
“ตอนที่ทำงานอยู่เป็นช่วงก่อสร้างอาคาร เพราะฉะนั้นเรื่องราวในเล่มแรกจึงเป็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมาช่วยกันซ่อมบ้าน จนเกิดเป็นสถานที่ที่มีคาเฟ่ สนามเด็กเล่น และที่อยู่อาศัย”
(Not So) Little Time
พ้นไปจากการมีพื้นที่ให้ครอบครัวมาพักผ่อนด้วยกัน ทั้งสองสาวมองว่า นี่คือพื้นที่ที่ทำให้พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูกๆ อย่างมีคุณภาพ
ในความหมายว่า ไม่อยากให้พลาดช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของลูกๆ
“เวลาที่เราได้ใช้กับลูกมันมีความสุขและเหนื่อยไปพร้อมกัน” พราวหัวเราะ “แต่ถึงอย่างนั้น เด็กๆ ก็โตเร็วมาก ถึงแม้เราจะพาเขาไปเล่น แต่ถ้าไม่ได้เห็นเขาเล่นเราก็อาจพลาดอะไรหลายๆ อย่างไป”
“จริงๆ เวลาที่ได้ใช้ร่วมกับลูกสำคัญมากเลยนะ” พีชสมทบ “อย่างช่วงสามปีแรกเด็กจะโตเร็วที่สุด ถ้าช่วงไหนงานเราเยอะแล้วต้องห่างลูก แค่ครึ่งวันที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราจะคุยกับเขาคนละเรื่องแล้ว เขาโตเร็วมาก มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราว่าการได้ใช้เวลาร่วมกันมันทำให้เราสื่อสารกับเขาได้ดีขึ้น”
“เราทำที่นี่ขึ้นมาเพราะอยากมีสถานที่ใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อใช้เวลาร่วมกับลูกของเรา แต่พอเปิดจริงๆ แล้ว สิ่งที่เติมเต็มเราคือเวลาเห็นคนอื่นมาแล้วเขามีความสุข” พราวเล่าสิ่งที่เธอเซอร์ไพรส์
“การได้เห็นลูกของคนที่มาที่นี่ทำกิจกรรม เล่นในสิ่งที่สนใจ และพ่อแม่ได้รู้ว่าลูกชอบอะไร เล่นอะไรได้ โมเมนต์เหล่านั้นมีความหมายกับเราในฐานะคนสร้างสถานที่แห่งนี้ เพราะเราตั้งใจทำมันขึ้นมา เราก็อยากให้คนที่มาได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เวลาคุณภาพกลับไป”
“เรามองว่าที่นี่เป็นเหมือนลูกเราคนหนึ่ง เพราะธุรกิจมี Cycle ของเขา เราสร้างเสร็จก็เหมือนเราเพิ่งคลอดเขาออกมา แล้วเราจะทำยังไงให้เขาดีขึ้นได้ ก็เหมือนเราเลี้ยงลูกเลย ต้องอยู่กับเขาไปเรื่อยๆ สังเกตพฤติกรรมลูกค้าที่มาหรือพนักงานก็ตาม ลูกค้ามีความต้องการอะไรเราก็ต้องตอบให้ได้ ค่อยๆ โตไปพร้อมกับร้าน เหมือนที่เราโตไปพร้อมกับลูก” พีชทิ้งท้าย
โครงการ Little Stove & Little Stump
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ฝั่งคาเฟ่เปิดเวลา 08.30 – 17.30 น. ส่วนฝั่งสนามเด็กเล่นเปิดเวลา 09.30 – 17.30 น.
พิกัด : พระราม 2 ซอย 33
แผนที่ : goo.gl/maps/hFKYRnzarcntF4bM7
ช่องทางติดต่อ :
Little Stove facebook.com/littlestovebkk
Little Stump facebook.com/littlestumpbkk