kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ - Urban Creature

ลัดเลาะเข้ามาในซอยสาทร 11 ท่ามกลางเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ และภาพคนทำงานเดินขวักไขว่ ร้านไอศกรีมเล็กๆ ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนน ประตูหน้าร้านถูกเปิดเข้า-ออกเป็นระยะ ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ใช้ในร้าน ผู้คนที่เดินเข้าไปต่างกลับออกมาพร้อมกับแซนด์วิชหนึ่งชิ้นและรอยยิ้มกว้าง

kintaam (กินตาม) คือชื่อร้านที่เราพูดถึง นี่คือแบรนด์ไอศกรีมแซนด์วิชของ น้ำอบ-ถมทอง ไชยจินดา และ น้ำทิพย์ ไชยจินดา สองพี่น้องชาวเชียงใหม่ผู้รักไอศกรีม ขนมอบ และการทดลองเป็นชีวิตจิตใจ พวกเธอไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ก่อนจะเปิดร้านก็ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญในการทำไอศกรีม มีเพียงความชอบกิน ความสนุกจากการสร้างสรรค์ และความกล้าบ้าบิ่นอีกหนึ่งหยิบมือที่เป็นส่วนผสมในการสร้างแบรนด์ขึ้นมา

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

กินตามเกิดขึ้นจากธุรกิจไอศกรีมพรีออเดอร์ช่วงโควิด เติบโตสู่ไอศกรีมฝากขายในร้านอาหารเหนือ หอมด่วน และร้านขายของชำสุดชิก The Goodcery เพียงสองขวบปี สองสาวก็สร้างร้านของตัวเองที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

คอลัมน์ประจำจังหวัดครั้งนี้ขอชวนทุกคนล้างมือให้สะอาด แล้วตามไปกินกินตาม ไอศกรีมแซนด์วิชที่เรารับรองว่าไม่มีใครเหมือน พลางฟังน้ำอบและน้ำทิพย์เล่าเรื่องการทำแบรนด์ไอศกรีมที่เรามั่นใจว่าไม่เหมือนใคร

เตือนอีกครั้งก่อนกินว่า วิธีกินที่ถูกต้องคือกินแบบเบอร์เกอร์ ไม่ต้องใช้ช้อนส้อม แค่จับด้วยสองมือแล้วกัดเท่านั้น เชื่อเถอะว่าจะเลอะสักนิดสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

กิน’ติม

kintaam มาจาก ‘กินตามอัธยาศัย’ วลีที่คนในครอบครัวของน้ำอบและน้ำทิพย์ชอบใช้บ่อยๆ

ครอบครัวของสองพี่น้องไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับไอศกรีมมาก่อน หากจะมีอะไรที่จุดประกาย คงเป็นความชอบในการกินและทำขนมของน้ำทิพย์

เรื่องมีอยู่ว่า หน้าร้อนในปีที่โควิดระบาดหนัก น้ำทิพย์และน้ำอบผู้มีบ้านอยู่เชียงใหม่-แต่เรียนจบและไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ครู่ใหญ่-ก็ย้ายกลับมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่บ้าน

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

น้ำทิพย์ผู้เบื่อง่ายชวนคนในครอบครัวทำขนม อบคุกกี้ ปั่นไอศกรีมกินกันแบบง่ายๆ ด้วยเครื่องปั่น หลายครั้งเข้าก็รู้สึกว่าอร่อย ทำขายได้ แล้วก็ลองทำขายขึ้นมาจริงๆ

ด้วยน้ำทิพย์เรียนจบด้านการทำหนัง และทำงานเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ที่ช่วยเล่าเรื่องราวของแบรนด์ลูกค้าผ่านภาพเคลื่อนไหว ประกอบกับน้ำอบเคยทำแบรนดิ้งการตลาดเพื่อซัพพอร์ตแบรนด์เหมือนกัน สองสาวพี่น้องจึงรวมพลังกันเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเอง

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย
kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“ไม่รู้เลยว่าธุรกิจทำยังไง แค่ทำตามสัญชาตญาณว่าเราทำสินค้าได้และเล่าเรื่องได้ แค่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการลองทำ”

ความตั้งใจแรกเริ่มคือการทำขายสนุกๆ เท่านั้น แต่ในความสนุกก็จริงจังใช่เล่น พวกเธอสำรวจตลาดไอศกรีมเมืองไทย พบว่าส่วนมากจะขายเป็นสกู๊ปหรือไอศกรีมแท่ง สองสาวจึงเจาะกลุ่มไปที่ไอศกรีมแซนด์วิช

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

นั่นเพราะหนึ่ง-มันเป็นส่วนผสมของไอศกรีมและขนมอบที่ชอบกิน สอง-ไอศกรีมแซนด์วิชมักเป็น ‘เมนูแอบๆ’ ที่ซ่อนอยู่ในร้านไอศกรีมแทบทุกร้าน แต่น่าแปลกที่มันไม่ได้เป็นสินค้าหลักของแบรนด์ไอศกรีมเจ้าไหนเลย

“ไอศกรีมแซนด์วิชทำให้เราสามารถเปลี่ยนตัวแป้งด้านบนได้เรื่อยๆ ตามความชอบ อาจเป็นขนมปัง คุกกี้ เค้ก บราวนี หรือวาฟเฟิลก็ได้” น้ำทิพย์เล่าเหตุผลที่ทำให้เธอไม่เคยเบื่อ

กินเล่น

แรกเริ่มเดิมที กินตามเป็นโปรเจกต์ระยะสั้น ทำเอาสนุก โดยน้ำทิพย์และน้ำอบลองผิดลองถูกในการสร้างสรรค์ไอศกรีมรสชาติใหม่ 4 รสชาติขึ้นมา เวลาผ่านไปกว่า 3 เดือน ทั้งคู่ก็เปิดรับพรีออเดอร์และส่งเดลิเวอรีในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

ไอศกรีม 4 รสชาติที่ว่าคือ กล้วยผ่อง (กล้วยหอมกับเนยถั่ว) ไบร์ทจัง (เลมอนเคิร์ด) ช็อคแสบ (ช็อกโกแลตกับพริก) และเย็นเจี๊ยบ (โฟรเซนโยเกิร์ตกับแยมขิง)

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“ตอนนั้นกำลังอินการเมือง ไอศกรีมของเราจึงอยากขอแซะรัฐบาลนิดหนึ่ง เช่น ช็อคแสบ เกิดจากคอนเซปต์ของการเผาพริกเผาเกลือขับไล่ ส่วนกล้วยผ่อง มาจากชื่อเต็มว่ากล้วยสีทองผ่องอำไพ ซึ่งมาจากประโยค ‘เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพฯ’ หรือเย็นเจี๊ยบ ที่ส่วนผสมหลักเป็นโฟรเซนโยเกิร์ต เราเปรียบเหมือนประเทศไทยที่โดนแช่แข็ง” สองสาวยิ้ม

แต่จู่ๆ โปรเจกต์ระยะสั้นกลับกลายเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา จุดเปลี่ยนคือต้นปี 2021 ที่ทั้งคู่ได้เข้าร่วมงาน Bangkok Design Week

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“เราได้ไปออกบูทขายไอศกรีม ทำกันแค่สองคน พี่อบรับออเดอร์ ทิพย์ทำไอศกรีม กะทำเอาสนุกเฉยๆ แต่มีลูกค้ามาต่อคิวยาวเลย ทั้งลูกค้าเก่าที่เคยพรีออเดอร์กับเราและลูกค้าใหม่ที่เขาสนใจ มันทำให้เราเห็นว่ามีคนอินในสิ่งเดียวกัน”

กินสนุก

ไอศกรีมแซนด์วิชของกินตาม เป็นไอศกรีมที่ Creative Based

ครีเอทีฟแค่ไหน หากคุณก้าวเข้ามาในช็อปของกินตามสาขา 2 ย่านสาทร นอกจากไอศกรีมนับสิบรสชาติ คุณจะได้เจอกับบิสกิตที่ใช้โปะบน-ล่างตัวไอศกรีม และท็อปปิงฉ่ำๆ ที่มีให้เลือกอย่างสนุกสนาน หลากหลายยิ่งกว่าไอศกรีมเสียอีก

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“เราเริ่มคิดทุกอย่างมาจากฝั่ง Creative Side ในแต่ละรสชาติ เราต้องคิดว่ามันมีเรื่องราวให้เล่าไหม เราพยายามคิดหนึ่งรสชาติเป็นโปรเจกต์งานหนึ่งชิ้น ที่ต้องคิดทั้งวัตถุดิบ วิธีเล่า วิธีกินที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ยังไงได้บ้าง” น้ำอบเล่า

ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีขีดจำกัด ไอศกรีมก็เช่นกัน หนึ่งในวิธีสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจคือ การจับมือคอลแลบกับแบรนด์และอีเวนต์ต่างๆ เพื่อสร้างรสชาติใหม่ที่เปิดขายในจำนวนจำกัด เช่น CrispyCoff รสกาแฟนมที่ใช้เมล็ดกาแฟคั่วกลางจากร้าน THIRD PLACE Coffee, รสขนมถ้วยที่เสิร์ฟใน Convo.bkk คาเฟ่ขวัญใจชาวเก๋ย่านเจริญกรุง และล่าสุดคือไอศกรีม Club Sandwich รสถั่วพิสตาชิโอและรสสตรอว์เบอร์รีซันดรายด์โทเมโท ทำล้อไปกับคลับแซนด์วิชที่มักเสิร์ฟในโรงแรม เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดร้านใหม่หน้าโรงแรมพิงค์พยอม เชียงใหม่

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

กินตามยังมีโปรเจกต์ #KintaamLocalProduce ที่หยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปลงโฉมเป็นไอศกรีมแซนด์วิช เช่น รสน้ำเต้าหู้-ปาท่องโก๋ที่จับมือกับ Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้สุดน่ารักจากเชียงใหม่ และล่าสุดคือรส ‘ข้าวปุกงา’ เมนูหนึบหนับหอมหวานที่คนภาคเหนือคุ้นเคยกันดี

“เราไม่ได้โฟกัสว่าจะเป็นของจากเชียงใหม่หรือที่ไหนเท่านั้น โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากคำถามว่า เราสนใจและชอบกินอะไร ต้องถูกปากเราก่อน อีกเหตุผลคือเราอยากสนับสนุน The Goodcery ร้านขายของชำที่รวมวัตถุดิบโลคอลจากทั่วประเทศมาขาย เราคุยกับพี่น้ำตาล (ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร) ว่าเราอยากดึงวัตถุดิบในร้านมาครีเอตเป็นไอศกรีมแซนด์วิช แล้วก็เจอข้าวปุกงา

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย
kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“แต่จะทำให้เป็นไอศกรีมแซนด์วิชยังไง เราก็มาดูก่อนว่าข้าวปุกงาที่เรารู้จักประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เหมือนมา Deconstruct มันก่อน พบว่าแผ่นข้าวปุกคือข้าวเหนียวดำที่เอาไปตำแล้วใส่งาขี้ม่อน แล้วเวลาทานก็เอาไปปิ้งแล้วโรยน้ำตาลอ้อย เราคิดต่อแบบกว้างๆ ในระดับนานาชาติว่า ถ้าไม่มีสัญชาติ วัตถุดิบเหล่านี้จะเป็นอะไรเหรอ มีวัตถุดิบที่คาบเกี่ยวกันแต่แค่อยู่คนละวัฒนธรรมไหม เราก็คิดถึงการกวนข้าวเหนียวดำให้กลายเป็นโมจิ ด้านน้ำตาลอ้อยเราก็ใช้น้ำตาลมะพร้าวแทนเพราะอยากได้กลิ่นหอมของมัน งาขี้ม่อนได้มาจากเชียงใหม่ แล้วเกลือที่อยู่ในงา เราเลือกเกลือหวานจากปัตตานี ซึ่งอยู่บนเชลฟ์ของ The Goodcery เช่นกัน” น้ำทิพย์เล่าเบื้องหลัง ก่อนที่น้ำอบจะเสริมต่อ

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“ตอนแรกเราก็คิดอยู่ว่ามันจะเข้าใจยากไปไหมสำหรับคนกิน เพราะหน้าตามันก็แปลกๆ รสชาติก็ไม่แน่ใจ แต่เราก็คิดว่าเป็นโปรเจกต์สนุกๆ ถ้าไม่เวิร์กเดือนเดียวเราก็เปลี่ยนรสชาติ กลายเป็นว่าฟีดแบ็กที่ได้ค่อนข้างโอเค โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ที่ก่อนหน้านี้ออกรสชาติพิเศษ กระแสตอบรับจะเรื่อยๆ แต่รสข้าวปุกงาถือว่าขายดีเลย”

ในอนาคต พวกเธอยังออกปากว่าอยากทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่หลากหลายและท้าทายกว่านี้อีก จะเป็นอะไรต้องคอยติดตามกัน

กินตาม

ตั้งแต่เปิดแบรนด์มา สองสาวเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เซอร์ไพรส์พวกเธอคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

คิดถึงไอติม หลายคนก็น่าจะคิดถึงเด็กๆ แต่จริงๆ กลุ่มลูกค้าของกินตามเป็น First Jobber ไปจนถึงคนวัยอิสระ “อาจไม่ใช่คนชอบกินไอติมเสียทีเดียว แต่เป็นคนที่ชอบไอเดียและวิธีการเล่า เพราะไอศกรีมของเราก็อาจจะไม่ได้เข้าใจง่าย เป็นสกู๊ปใส่โคน เด็กหลายคนก็อาจจะไม่เก็ต” น้ำอบบอก “แต่ก็มีเด็กบางคนที่เก็ตนะ เขาเป็นลูกค้าประจำ เดินเข้ามาในร้านก็จะพาแม่มาด้วยแล้วอธิบายให้แม่ฟังว่าต้องเลือกไอติมแล้วเลือกบิสกิตแบบนี้นะ” เธอหัวเราะ

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“แต่พอกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องคิดไอศกรีมที่ตอบโจทย์เขาโดยเฉพาะนะ เราคิดว่าทุกวันนี้มีสินค้าสำหรับลูกค้าทุกแบบอยู่แล้ว เราคิดทำในสิ่งที่ชอบ แล้วคนที่ชอบเหมือนเราเขาก็จะเข้ามาเอง” น้ำทิพย์ระบายยิ้ม

ถึงอย่างนั้น สองสาวก็บอกว่าในอนาคต ความท้าทายที่พวกเธออยากทำให้สำเร็จคือการทำให้ลูกค้าชินกับ ‘วิธีกิน’ ไอศกรีมแซนด์วิชของพวกเธอ

“บางคนใช้ส้อมช้อนมาตัดไอศกรีม เพราะเคยชินกับการเข้าคาเฟ่ไปกินเค้กกินขนมที่ใช้ช้อนตัด แต่ภาพที่เราอยากเห็นคือให้เขากัดไอศกรีมเหมือนกัดเบอร์เกอร์เลย เราเข้าใจเรื่องคนกลัวมือเลอะนะ แต่นั่นคือเป้าหมายหนึ่งของเราเหมือนกัน” น้ำทิพย์เน้น

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

“เราอยากให้คนกินมือเลอะ เพราะพอมือเลอะแล้วมันจะรู้สึกเหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็ก ตอนเด็กๆ เรากินอะไรก็แค่จับใส่ปาก ไม่คิดอะไรเยอะ เราอยากให้คนกินไอศกรีมกินตามได้กลับไปรู้สึกแบบนั้น กลับไปกินไอติมแล้วมีความสุข ปล่อยใจให้มือเลอะได้ห้าถึงสิบนาที กินเสร็จก็แค่ไปล้างมือเท่านั้น” สองสาวยิ้มกว้าง

Kintaam’s Sisters Favorite Flavour

มาหากินตามถึงร้านทั้งที เราจึงอยากชวนพี่น้องเจ้าของแบรนด์แนะนำไอศกรีมแซนด์วิชรสที่ห้ามพลาดเด็ดขาดให้หน่อย และนี่คือคำตอบของทั้งคู่

น้ำอบเลือกรสเย็นเจี๊ยบ

“ส่วนตัวชอบกินรสนี้ เพราะเป็นรสที่มีความเปรี้ยวของโฟรเซนโยเกิร์ตเป็นเบส และมีความหวานจากแยมขิงที่เรากวนเอง ให้ความรู้สึกสดชื่น รสนี้เป็นรสที่คนไม่ชอบทานขิงก็ทานได้ คอนเฟิร์มจากเพื่อนที่ไม่กินขิงของเรา”

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

น้ำทิพย์เลือกช็อคโกคุกกี้

“ความพิเศษคือ ก่อนหน้านี้เรามีรสช็อคแสบที่เป็นช็อกโกแลตพริก แล้วก็จะมีรีเควสต์บอกว่าเด็กกินไม่ได้ บางทีอยากกินของหวานไม่ได้อยากกินของเผ็ด เราเลยทำรสชาตินี้ขึ้นมา ไอเดียเกิดจากการทำไอศกรีมแซนด์วิชจะมีเศษคุกกี้ที่แตกหรือบิ่นอยู่ กินได้แต่ไม่สวย เรารวบรวมเก็บไว้มาบดแล้วใส่ในช็อกโกแลต กลายเป็นเมนูใหม่ที่ใช้ของอย่างคุ้มค่า”

kintaam ไอศกรีมแซนด์วิชจากเชียงใหม่ ที่หยิบวัตถุดิบไทยมาสร้างสรรค์เมนูให้คนกินตามอัธยาศัย

kintaam กินตาม
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 20.00 น.
พิกัด : ซอยสาทร 11 (สาขากรุงเทพฯ) BTS เซนต์หลุยส์ ทางออก 3 และหน้าโรงแรมพิงค์พยอม (สาขาเชียงใหม่)
แผนที่ : maps.app.goo.gl/VZa4BnYRA4LcT9R8A (สาขากรุงเทพฯ) และ maps.app.goo.gl/2bRcwij9tRG7Yhi59 (สาขาเชียงใหม่)
ช่องทางติดต่อ : www.instagram.com/kintaam

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.