ถึงคุณจะไม่ใช่คนที่เดินเข้าร้านขายของชำบ่อยๆ หรือเข้าไปทีก็ไม่ได้ใช้เวลาอ้อยอิ่งอยู่ในร้านนานๆ แต่ถ้าได้รู้จัก ‘The Goodcery’ คุณอาจจะเปลี่ยนใจ
ไม่ใช่แค่เพราะร้านขายของชำเชียงใหม่ร้านนี้ออกแบบร้านให้ช้อปสนุก เห็นอะไรก็อยากกินอยากซื้อไปเสียหมด แต่ The Goodcery ทลายกรอบของร้านขายของชำเดิมๆ ไปแบบไม่เหลือเค้า
ตั้งแต่ชื่อร้าน The Goodcery ที่มาจากคำว่า Grocery Store หรือ ‘ร้านโชห่วย’ ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าห่วยในภาษาไทย ร้านจึงหยิบคำที่มีความหมายตรงข้ามคือ ‘ดี’ หรือ Good ที่พ้องเสียงกับคำว่า Goods (สินค้า) อีกทีมาตั้งเสียเลย
ถ้าถามว่าร้านมี ‘ดี’ อะไรบ้าง อย่างแรกคงเป็นสินค้าภายในร้านที่ไม่เหมือนกับร้านขายของชำร้านไหน เพราะ ‘น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร’ หนึ่งในหุ้นส่วนเลือกเองกับมือ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้หลวมๆ ว่าจะต้องเป็นของโลคอลจากฝีมือชาวบ้านตัวเล็กๆ ในท้องถิ่น เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ที่สำคัญคือไม่ใช่สินค้าที่เราเห็นได้ตามห้างฯ ใหญ่
ดีอย่างที่สอง คงยกให้ไวบ์สของร้านที่ก้าวเข้ามาแล้วรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ในร้านขายของชำเลย แต่เป็นคาเฟ่ที่มีกาแฟ ขนมปัง อาหารพร้อมเสิร์ฟ แถมยังนั่งทำงานได้ตลอดทั้งวัน (ซึ่งเราทำแบบนั้นได้จริงๆ)
The Goodcery สร้าง ‘ดี’ เหล่านี้ได้อย่างไร เรานัดกับน้ำตาลเพื่อฟังเรื่องเล่าของเธอในยามที่แสงแดดยามสายอุ่นกำลังดี
ร้านชำที่อยากแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางอาหาร
เพราะเกิดและเติบโตในย่านช้างคลาน ครอบครัวเปิดร้านขายข้าวหมกและข้าวซอยท่ามกลางชุมชนมุสลิมที่มีความผสมผสานทางวัฒนธรรม น้ำตาลจึงคุ้นชินกับสีสันอันแตกต่างของผู้คน วิถีชีวิต ไปจนถึงเรื่องอาหาร
“การเติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เราชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา เรามองอาหารเป็นเรื่องของผู้คนและชาติพันธุ์ สนใจที่มาของอาหารแต่ละเมนู ซึ่งไม่ต้องเริ่มต้นที่ไหนไกล แต่เริ่มจากตัวเรานี่แหละว่าทำไมฉันได้กินข้าวหมกไก่สูตรนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำไมแกงเนื้อบ้านฉันเรียกอุก แต่ที่อื่นเรียกอุ๊บ ทำไมบ้านฉันมีอาหารไม่เหมือนคนอื่น”
วิถีชีวิตรอบตัวก็ปัจจัยหนึ่ง อีกปัจจัยคือการออกเดินทางท่องเที่ยวไปหลายประเทศที่ทำให้เธอมองเห็นความสัมพันธ์ที่ผูกโยงกันระหว่างอาหารกับท้องถิ่น และยิ่งเข้าใจลึกซึ้งเมื่อได้ใส่หมวกผู้ประกอบการของ Wine Citizen บริษัทตัวแทนจำหน่ายไวน์ในภาคเหนือซึ่งทำมาแล้วเกือบ 10 ปี งานนี้สอนให้เธอจับคู่ไวน์กับเมนูอาหารคาแรกเตอร์หลากหลาย ได้เข้าใจการสื่อสารให้ตรงจุดขายของแต่ละร้านอาหาร และเข้าใจวัฒนธรรมกินดื่มของคนเชียงใหม่
ถึงอย่างนั้น เหตุผลที่ทำให้เธอและหุ้นส่วนอยากเปิดร้านขายของชำก็ไม่ใช่ที่กล่าวมาทั้งหมด แต่คือ ‘ความไม่เท่าเทียมทางอาหาร’ ที่เธอมองเห็นในบ้านเกิด
“สิ่งที่เราไม่ชอบที่สุดคือความไม่เท่าเทียม การทำให้มนุษย์ไม่เท่ากัน และการผูกขาด นั่นคือ Pain Point ที่มองเห็นมาตลอด”
ในสายตาของน้ำตาล เชียงใหม่เคยเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยความหลากหลายของอาหาร แต่พอถึงวันที่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว มีเงินหมุนเวียนในเมืองเยอะขึ้น รายได้เหล่านั้นกลับตกไปอยู่ที่คนกลุ่มเดียว และปล่อยให้คนตัวเล็กๆ ในแวดวงอาหารถูกหลงลืมไป กลายเป็น ‘คนชายขอบทางอาหาร’ ในที่สุด
“หมุดหมายท่องเที่ยวเชียงใหม่มีไม่กี่ที่ ถ้าจะไปวัดต้องไปวัดนี้ กินข้าวซอยต้องไปกินร้านนี้ ถ้าจะกินวัตถุดิบท้องถิ่นต้องไปกิน Fine Dining แล้วความยั่งยืนในการท่องเที่ยวมันอยู่ตรงไหน เราเลยอยากให้คนชายขอบเหล่านี้กลับมาอยู่ในแสงบ้าง” นั่นคือจุดเริ่มต้นของคอนเซปต์ร้านขายของชำที่คัดสรรสินค้าของคนท้องถิ่นที่ถูกเบียดออกจากการกินกระแสหลักหรือหาซื้อไม่ได้ในสโตร์ใหญ่มาวางขาย
ร้านชำที่รวบรวมผลผลิตท้องถิ่นจากเหนือจรดใต้
ความน่ารักของ The Goodcery คือ สินค้าของที่นี่จะไม่ทับไลน์ร้านขายของชำของเพื่อนบ้านร้านอื่นๆ ในเชียงใหม่ เพราะแต่ละตัวล้วนเลือกมาจากสินค้าที่น้ำตาลกินดื่มแล้วประทับใจครั้งเมื่อได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย
ใช่แล้ว สินค้าของร้านไม่ได้จำกัดเฉพาะของกินของใช้จากคนเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลผลิตท้องถิ่นจากเหนือจรดใต้ เป็นไอเทมพิเศษที่เธอนิยามว่า ‘Taste of Local’
เธอเล่าว่า แม้เมนูอาหารบางอย่างในแต่ละท้องถิ่นจะดูคล้ายกัน แต่วัตถุดิบกับรสชาติของพวกเขาจะสร้างความแตกต่างให้จานนั้นๆ “คนใต้ไม่ได้กินมะม่วงกับน้ำปลาหวาน แต่กินกับมันกุ้ง ปลาน้ำจืดภาคกลางก็เนื้อแน่นไม่แพ้ปลาทะเล ซึ่งคนภาคกลางนิยมกินแทนปลาทะเลในช่วงมรสุม น้ำตาลโตนดจากสุโขทัยจะมีรสชาติต่างจากน้ำตาลโตนดของเพชรบุรี หรือเมล็ดข้าวจากภาคอีสานจะเรียว ในขณะที่ข้าวจากภาคเหนือจะมีเทกซ์เจอร์ที่หนึบหนับมากกว่า” เธอยกตัวอย่าง
ที่น่าสนใจคือ เชลฟ์ของ The Goodcery ไม่ได้จัดตามหมวดหมู่สินค้าเหมือนร้านของชำทั่วไป แต่จัดตามภูมิศาสตร์คือภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนกินได้เข้าถึงรสชาติโลคอลจริงๆ มันยังช่วยสื่อสารความรู้ด้านอาหารที่ผูกโยงกับท้องถิ่นไปพร้อมกัน
“เราว่าเรื่องพวกนี้ทำให้เรากินแล้วอร่อยขึ้นนะ เราไม่อยากให้การกินอาหารเป็นเรื่องที่แค่กินให้ตัวเองอิ่ม แต่อยากให้เกิดสำนึกว่าการกินหนึ่งคำของเรามันสร้างองคาพยพของชีวิตอื่นๆ รอบตัวเรายังไง”
ร้านชำที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของผู้คน
ตึก 4 ชั้น 3 คูหาของ The Goodcery เคยเป็นช็อปของร้านเอ็จวิทยุ ร้านวิทยุเก่าแก่ประจำย่านที่น้าของเธอเป็นเจ้าของที่ หลังจากร้านปิดตัวลงทิ้งให้ตึกร้างอยู่หลายปี เธอและหุ้นส่วนอย่าง ‘เต้-ปรีติ สุวรพงษ์’, ‘เน-ธัญวดี ธัญวรธรรม’, ‘กิ๊ก-วรธรรม ธงนำทรัพย์’ และ ‘ตอย-ชลทิศ เขื่อนแก้ว’ จึงขอเช่าที่นี่จากน้าแล้วช่วยกันรีโนเวต
ความตั้งใจของชาวแก๊งคือไม่อยากปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตึก แต่ตกแต่งภายในด้วยวัสดุปูนเปลือยและเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ตั้งไว้ห่างกันอย่างตั้งใจ เพราะอยากมอบบรรยากาศที่อบอุ่น สบายๆ นั่งแล้วไม่เกร็ง
นอกจากนี้ ส่วนหน้าร้านซึ่งติดกับถนนช้างม่อยยังเลือกใช้ผนังกระจก เพื่อให้คนด้านในเห็นรถราและวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ที่สัญจรไปมา จุดนี้น้ำตาลบอกว่ามาจากความชอบส่วนตัวของเธอเอง
“ตอนไปเมืองนอกเราชอบมองถนน ผู้คน และตึก มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเราที่ได้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คน แล้วด้วยความเป็นเชียงใหม่ คุณจะได้เห็นรถแดง รถเหลือง และรถฟ้าขับผ่านไป ได้เห็นคนเฒ่าคนแก่เดินไปซื้อสังฆทาน เพราะตรงนี้ใกล้กาดหลวง มันเป็นจุดที่คนจะมาใช้ชีวิตกันเยอะ มันคือการมองความเคลื่อนไหวและความสวยงามของเมือง” หญิงสาวอธิบาย
ร้านชำที่อยากทำให้เชียงใหม่เป็นที่อยู่พอๆ กับที่เที่ยว
แดดอุ่นยามสายทอแสงผ่านกระจก เคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ตั้งกระจายในร้านให้เป็นสีทอง จมูกเราได้กลิ่นขนมปังอุ่นร้อนที่อบอวลในอากาศ ส่วนหูได้ยินเสียงเครื่องทำกาแฟดังคลอเบาๆ ไม่นานครัวซองต์ชิ้นหนากับอเมริกาโนแก้วโปรดก็ถูกยกมาเสิร์ฟ
เราละเลียดรสชาติขนมปังสลับกับกาแฟ พลางฟังน้ำตาลเล่าต่อว่า เอาเข้าจริงแล้วเธอจะเรียกที่นี่ว่าเป็นร้านขายของชำก็ทำได้ไม่เต็มปาก เพราะจริงๆ คอนเซปต์ของ The Goodcery มาจากตลาด (Market) ในต่างประเทศที่ไปแล้วได้ทำกิจกรรมหลากหลาย
พ้นไปจากโซนขายสินค้าจากท้องถิ่นไทย ที่นี่ยังมีร้านกาแฟ Taste Cafe แบรนด์กาแฟขวัญใจคนเชียงใหม่ที่หนึ่งในหุ้นส่วนอย่างเต้เป็นเจ้าของ ร้านขนมปังที่แม่ของน้ำตาลอบเองกับมือทุกเช้า สุดท้ายคือเวิร์กสเปซสำหรับนั่งทำงานที่น้ำตาลยืนยันว่าต้องมี เพราะ Pain Point สำคัญอีกข้อของที่นี่คืออยากสร้างสเปซบางอย่างที่ทำให้เชียงใหม่เป็น ‘ที่อยู่’ พอๆ กับการเป็น ‘ที่เที่ยว’
“ถามว่าเชียงใหม่อยู่สบายไหม อยู่สบาย แต่มันยังไม่ตอบโจทย์คนทำงาน เราคิดว่าถ้าเราจำเป็นต้องอยู่ที่นี่ เราจะทำยังไงได้บ้าง ก็คิดถึงการมีสเปซสำหรับคนทำงานที่มีที่นั่งเล่น ได้กลิ่นกาแฟ ถึงจะเป็นย่านนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน แต่คุณก็สามารถทำงาน คุยงาน หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ หรือถ้ามาเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกก็มากินข้าวได้”
‘ข้าว’ ที่น้ำตาลพูดถึงเสิร์ฟโดยร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ ที่นี่เสิร์ฟทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น ที่น่าสนใจคือวัตถุดิบกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากสินค้าบนเชลฟ์ของ The Goodcery เอง
“เราอยากเป็นฝ่ายซ้ายทางอาหาร อยากทำให้คนเห็นว่าแท้จริงแล้วการเข้าถึงวัตถุดิบท้องถิ่นไม่ได้เข้าถึงได้เฉพาะแค่ใน Fine Dining เท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงขนาดนั้น” เธอบอก และเล่าต่อว่าโมเดลนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากร้าน Eataly ในประเทศอิตาลี ที่ลูกค้าสามารถซื้อของแล้วกินข้าวในร้านได้เลย “เราไปที่นั่นแล้วชอบ รู้สึกว่าดีว่ะ นี่คือ Soft Power ของอาหารอิตาลีที่แท้ทรู”
และถึงจะไม่ใช่ Fine Dining หรูหรา แต่อาหารของ The Goodcery ก็เป็นเมนูที่หากินจากที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ แม้น้ำตาลจะนิยามว่ามันเป็น ‘อาหารง่ายๆ’ ในท้องถิ่นที่อาจถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
อย่างจานแรกที่เธอยกมาเสิร์ฟเราวันนี้คือ ‘ปาปาแซน้ำเงี้ยวเชียงราย’ เส้นปาปาแซเหนียวหนึบสไตล์จีนยูนนานที่เข้ากันดีกับรสชาติน้ำเงี้ยวเผ็ดจัดจ้านสไตล์เจียงฮาย ไหนจะมี ‘แกงเนื้อมุสลิม’ รสชาติกลมกล่อมที่ตุ๋นเนื้อมาได้เปื่อยจนแทบละลายในปาก
ส่วนใครที่ไม่กินเนื้อ เราขอแนะนำ ‘สามชั้นผัดกะปิเกาะลิบง’ ที่รวมรสหวาน เค็ม กลิ่นเคยหอมๆ และหมูสามชั้นนุ่มๆ มาไว้ในจานเดียวกันได้อย่างลงตัว รวมถึงจานสุดท้ายที่เราได้ลองวันนี้ นั่นคือ ‘แกงคั่วไก่’ ซึ่งใช้ไก่เบรสจากภาคอีสานเนื้อเหนียวหนึบมาคลุกเคล้ากับพริกแกงตำเอง กินกับข้าวแล้วฟินเหมือนได้ขึ้นสวรรค์
นอกจากโซนอินดอร์ที่เป็นสเปซสุด Cozy ฝั่งหลังร้านยังเก๋ไก๋ไม่แพ้ด้านหน้า เพราะจัดเป็นสเปซเอาต์ดอร์ในบรรยากาศแบบสวนเซนอันสงบเงียบ ให้ลูกค้ามานั่งกินข้าว ดื่มไวน์ แฮงเอาต์กับเพื่อนได้แบบชิลๆ
มากกว่านั้น พื้นที่โล่งกว้างด้านหลังยังถูกใช้เป็นลานจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในโอกาสพิเศษ เช่น การตั้งวงเสวนาว่าด้วยการสื่อสารเรื่องอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอาจารย์และนักเขียนชื่อดังหลายคนมาเป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนา เช่น ศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา และอนุสรณ์ ติปยานนท์
ร้านชำที่อยากซัปพอร์ตชีวิตคนในพื้นที่ และขับเคลื่อนชุมชน
ในอนาคต น้ำตาลและหุ้นส่วนยังวางแผนจะขยับขยายเชลฟ์ในร้านให้ครอบคลุม ‘รสชาติ’ ในระดับทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“จริงๆ เราไม่ชอบพูดว่าจะขายแค่ของไทย ไม่ได้อยากชาตินิยม เพราะเรามองว่าการขีดเส้นแผนที่มันจำกัดการกินเกินไป เรามองว่าพรมแดนไม่มีความสำคัญเลย พรมแดนไม่มีอำนาจอะไรนอกจากการเป็นแค่คำพูดหนึ่งคำเท่านั้น และใน Southeast Asia มันมีมิติของรสชาติอีกเยอะมากที่รอให้เราไปสำรวจ” หญิงสาวเล่าด้วยตาเป็นประกาย
“แล้วสำหรับคนเชียงใหม่ การมีสเปซแบบ The Goodcery ช่วยขับเคลื่อนเมืองของพวกเขาได้อย่างไร” เราโยนคำถาม
“ตอบแบบโรแมนติกเลยคือมันช่วยซัปพอร์ตคนเชียงใหม่ให้มีพื้นที่ใช้ชีวิตเพิ่ม ได้กินอาหารที่ดี เพลิดเพลินกับกาแฟ ได้จิบไวน์ ได้คุณภาพชีวิตที่ดี
“แต่ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ เรามองว่า The Goodcery สร้างกลไกตลาดให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น คำว่าตลาดที่เป็นธรรมจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนเชียงใหม่ด้วย แต่มันหมายความรวมถึงการใช้จ่ายของคนเชียงใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชนอื่นๆ อีกสามร้อยกว่าชุมชนที่เราเอาสินค้าเขามา นี่เป็นการช่วยสร้างการหมุนเวียนในชุมชนของพวกเขา และถ้าเขามีเงินมากพอเขาก็จะสนับสนุนกลับมาให้แต่ละชุมชนในเชียงใหม่เอง
“เราเชื่อในการสนับสนุนระหว่างชุมชนว่ามันจะช่วยให้เกิดจุลภาคเล็กๆ ที่หมุนเวียนกัน และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในแต่ละชุมชนต่อไป กระจายรายได้ให้แต่ละครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย
“ในขณะเดียวกัน เราในฐานะตลาดและผู้ผลิตก็ได้จ้างงานคนเชียงใหม่ ส่งเสริมให้ Supply Chain อยู่ได้ และในระยะยาวเราก็อยากให้มันเป็นสเปซที่มีสุนทรียะ ผู้คนมาเจอกันแล้วมีช่วงเวลาที่รีแลกซ์ร่วมกัน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขา”
The Goodcery
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 22.00 น.
พิกัด : 71 ถนนราชวงศ์ ตำบลช้างม่อย เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
แผนที่ : goo.gl/maps/co3gNKS1fhCHvTRw8
ช่องทางติดต่อ : facebook.com/thegoodcery