Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เชียงใหม่ - Urban Creature

เช้านี้เชียงใหม่อากาศเย็นกำลังดี เรามาถึง The Goodcery ร้านขายของชำย่านช้างม่อยตั้งแต่ประตูเปิด

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านขายของชำขนาดสองคูหาแห่งนี้จะกลายเป็น Safe Space ที่เราปวารณาตนว่าจะมาทุกครั้งถ้าได้มาเชียงใหม่ อาจเพราะที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ขายวัตถุดิบและของกินคัดสรรจากทั่วไทย แต่ยังมีร้านกาแฟ ร้านขนมปัง ร้านอาหารฟิวชัน ทุกสิ่งที่เราต้องการภายในที่เดียว

แต่เช้านี้ สิ่งแรกที่เข้าปากเราไม่ได้อยู่ในลิสต์นั้น แต่เป็นน้ำเต้าหู้ของ Have a nice bean ที่วางเด่นหราอยู่ในตู้แช่ของร้าน

ปกติเราไม่ค่อยกินน้ำเต้าหู้ ยิ่งเต้าหู้ก้อนหรือเต้าหู้ยี้นี่ไม่ต้องพูดถึง แต่ความเข้มข้นของน้ำเต้าหู้แบรนด์นี้ทำให้เราลองเปิดใจ

Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เชียงใหม่

Have a nice tofu

Have a nice bean คือแบรนด์น้ำเต้าหู้สุดเข้มข้นจากเชียงใหม่ ฝีมือ ‘ฝน-รวิพร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์’ ทายาทรุ่นสามของธุรกิจเต้าหู้ยี้ห่อใบไผ่ตราลูกโลกที่มีอายุกว่า 70 ปี

ย้อนไปราว 70 ปีก่อน อากงของฝนอพยพจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบมาอยู่ย่านหัวลำโพง หาบเร่ขายอาหารแถวเยาวราชอยู่พักใหญ่ก่อนจะเปิดธุรกิจของดองบรรจุกระป๋องของตัวเอง อากงขายทั้งซีเซ็กฉ่าย ตั้งฉ่าย ขิงดอง และจับพลัดจับผลูมาทำเต้าหู้ยี้

‘ทวีผล พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์’ ผู้เป็นทั้งป๊าของฝนและเป็นลูกชายคนที่ 3 ของอากงเล่าให้ฟังว่า กว่าสินค้าจะติดตลาดก็ลำบากใช่เล่น โชคดีที่ได้แรงสนับสนุนจากลูกค้าคนจีนที่มักซื้อไปประกอบอาหารหรือกินสดๆ จนเต้าหู้ยี้ห่อกระดาษขายได้เดือนละหลักร้อยกล่อง อากงจึงปรับมาห่อด้วยใบไผ่ บรรจุใส่ขวดและกระป๋อง ตั้งแบรนด์ของตัวเองชื่อ ‘ลูกโลก’ และมีโรงงานเป็นหลักเป็นแหล่ง ก่อนทายาทอย่างป๊าทวีผลจะมารับช่วงต่อ

เต้าหู้ยี้ตราลูกโลก

ในปี 2508 ป๊าทวีผลเลือกย้ายโรงงานมาตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลเรียบง่ายคือหาคนงานและวัตถุดิบง่ายกว่า

ถึงอย่างนั้น ป๊าทวีผลก็ยังคงระบบการทำเต้าหู้กึ่งอัตโนมัติดั้งเดิมของอากงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดองเต้าหู้ยี้ในไหเล็กๆ การใช้บล็อกพิมพ์ไม้ที่ทำให้เต้าหู้กลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมสวย การห่อด้วยใบไผ่ที่ช่วยรักษาเนื้อเต้าหู้ให้เด้งดึ๋งดั๋งได้นาน หรือแม้กระทั่งการปั๊มฝากระป๋องเองในทุกๆ กระป๋อง

รู้ตัวอีกที เต้าหู้ยี้ห่อใบไผ่ตราลูกโลกก็อยู่ในครัวของลูกค้ามานานกว่า 70 ปี ส่วนป๊าทวีผลก็ลงหลักปักฐาน แต่งงาน และไม่คิดจะย้ายโรงงานไปที่ไหนอีก

รวิพร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์ และ ทวีผล พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์

Have a nice childhood

ฝนผู้เป็นลูกสาวคนเดียวเติบโตมากับภาพป๊าทำเต้าหู้มาตลอด สถานที่โปรดในวัยเด็กของเธอจึงหนีไม่พ้นโรงงานเต้าหู้ที่เธอชอบไปวิ่งเล่น

“เราอยู่กับความเค็มมาตั้งแต่เด็ก” ฝนเท้าความอย่างขำขัน “อยู่กับของดองที่บ้าน ใครไปใครมาก็หาว่าบ้านมีกลิ่น แต่เราชิน อย่างเวลาไปโรงเรียน ป๊าจะบอกว่าถ้าใครถามก็บอกเขาว่าเรามีโรงงานกระป๋อง ตอนนั้นก็ไม่เก็ตว่าทำไมต้องบอกอย่างนั้น เราเลยบอกเพื่อนว่าเราทำเต้าหู้ยี้ ทีนี้ด้วยความเป็นเด็กมันก็ไม่เก็ตกัน เพื่อนๆ ก็จะล้อว่าอะไร ยี้ แต่เราก็ไม่ได้สนใจ” หญิงสาวหัวเราะ 

ด้วยความที่ครอบครัวทำธุรกิจเต้าหู้ ฝนจึงได้อภิสิทธิ์กินน้ำเต้าหู้ทุกเช้าเย็น เธอบอกว่าแทบจะกินแทนน้ำด้วยซ้ำ และเป็นน้ำเต้าหู้ของที่บ้านนี่เองที่ทำให้เธอไปกินน้ำเต้าหู้ที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่า

“เพราะน้ำเต้าหู้ที่บ้านมันเข้มข้นกว่าร้านทั่วไปที่มักจะผสมน้ำเพื่อให้ขายได้เยอะๆ เพื่อนเรามากินก็บอกว่าของที่บ้านเราหอม รสชาติกำลังดี เพราะไม่ได้ใส่น้ำตาล และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว”

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมฯ ที่เชียงใหม่ ฝนบินไปเรียนต่อและทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่พักใหญ่ แน่นอนเธอเล่าว่า “อยู่นั่นไม่ได้กินน้ำเต้าหู้ร้านไหนอีกเลย จะกินก็ต่อเมื่อกลับบ้านมาเชียงใหม่” ซึ่งระหว่างนั้นก็คิดมาตลอดว่าอยากทำธุรกิจน้ำเต้าหู้

“เคยเล่าให้ป๊ากับม้าฟัง ป๊าก็บอกว่าทำงานดีๆ ได้เงินเดือนเยอะๆ จะมาขายน้ำเต้าหู้ทำไม” ฝนเล่าติดตลก แต่อธิบายแผนที่จริงจังใช่เล่นให้เราฟังต่อ

“ภาพในหัวเขาเป็นน้ำเต้าหู้ถุงละสิบยี่สิบบาท เขาไม่เก็ตว่าจะเป็นยังไง แต่พอเรากลับมา เราก็ทำให้เขาดู ปรับวิธีการจากการทำเต้าหู้ก้อนมาเป็นทำเพื่อขายน้ำ ใช้เครื่องจักรเดียวกันแต่ขั้นตอนในการทำเปลี่ยนไป”

Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เชียงใหม่ เต้าหู้ยี้ตราลูกโลก

Have a nice bean

ความสะอาดและใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนคือสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุด 

ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การฆ่าเชื้อด้วยการสตีมร้อนแทนการต้ม ไปจนถึงการบรรจุลงขวด เปิดง่าย และเก็บได้นาน “น้ำเต้าหู้เป็นสิ่งที่เซนซิทีฟมาก เราซื้อถั่วมาแล้วไม่ได้เอาไปทำเลย ต้องแช่ถั่วหกชั่วโมง แช่นานกว่านั้นถั่วจะเน่า แล้วทำทีหนึ่งไม่ได้ทำได้ทีละนิดหน่อย โหลสองโหล แต่ทำทีละสี่สิบกิโลกรัม ต้องทำเป็นร้อยๆ ขวด” ฝนเล่าถึงข้อจำกัด

หลังผ่านการพัฒนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบรนด์น้ำเต้าหู้ของเธอก็เกิดขึ้น ในฐานะน้ำเต้าหู้เกรดพรีเมียมที่อยากเปลี่ยนภาพจำน้ำเต้าหู้แบบเดิมๆ นำมาซึ่งราคาที่สูงกว่าน้ำเต้าหู้ทั่วไปราว 3 – 4 เท่า

“ตอนแรกเราไม่ได้บอกป๊าว่าขายเท่าไหร่ พอบอกราคาไปป๊าก็ถามว่า แล้วจะมีคนซื้อได้ยังไง ใครมันจะซื้อ เราก็ยืนยันกับเขาว่ามีคนซื้อ” เธอเน้นเสียง ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้เป็นพ่อเท่านั้นที่ตั้งคำถาม ลูกค้าของแบรนด์เองก็เช่นกัน

“เคยไปออกตลาดแล้วเจอลูกค้าถามว่า น้ำเต้าหู้สามสิบห้าบาทเลยเหรอ นี่เป็นเพราะใส่ขวดพลาสติกใช่ไหม ทุกทีซื้อแค่สิบยี่สิบบาท เราเลยลองให้ชิมดูก่อน พอเขาชิมเขาก็เก็ต มันเหมือนกาแฟแหละ แต่ละร้านมีราคาต่างกัน มันอยู่ที่คนเลือกกิน ถ้าเขากินจะรู้เอง” หญิงสาวยิ้ม

Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เชียงใหม่

Have a nice meal

อาจจะแตกต่างจากน้ำเต้าหู้ทั่วไป Have a nice bean ไม่ได้เลือกชูความ Healthy เป็นจุดขาย 

“เราไม่ได้โปรโมตว่าน้ำเต้าหู้ของเรา Healthy จ๋า เพราะคิดเอาเองว่า คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าน้ำเต้าหู้มันให้โปรตีนกับไฟเบอร์ เราเลยใช้วิธีการขายคาแรกเตอร์ของเรากับป๊า”

คาแรกเตอร์ที่ว่าของ Have a nice bean คือการเป็นธุรกิจครอบครัวที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในบ้าน ป๊ารับผิดชอบเรื่องวัตถุดิบและการผลิต ส่วนฝนดูแลเรื่องการโปรโมตและการขาย

“ที่เราใช้ชื่อ Have a nice bean เพราะเราชอบบอกกับคนอื่นว่า Have a nice day มันก็เข้าใจง่ายๆ ดี” เธอเฉลยถึงที่มาของชื่อแบรนด์

สินค้าหลักของ Have a nice bean นอกจากน้ำเต้าหู้สูตรไร้น้ำตาลและน้ำเต้าหู้มุกบุกบราวน์ชูการ์ ฝนยังขยันออกเมนูใหม่ๆ ที่ส่วนมากได้แรงบันดาลใจจากลูกค้าที่แวะเวียนมาหา ทั้งเต้าหู้สดที่นำไปปรุงอาหารต่อได้ เต้าหู้ผสมผักเคล แซนด์วิชน้ำเต้าหู้ไซซ์บิ๊กเบิ้ม ไปจนถึงเต้าหู้ย่างน้ำมันงาและหม่าล่า ที่เธอเข็นออกมาเป็นเมนูพิเศษตอนไปออกบูทในงานต่างๆ

Have a nice fam

แต่เหนืออื่นใด ฝนบอกว่าเหตุผลที่ทำให้เธออยากทำ Have a nice bean ต่อไปเรื่อยๆ คือแบรนด์นี้ทำให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับป๊าทวีผล

“หม่าม้าของเราเพิ่งเสียไปได้ไม่นาน เราก็อยากให้เวลากับป๊ามากขึ้น Have a nice bean เอื้อให้เราได้ทำแบบนั้น” หญิงสาวเล่าอย่างจริงใจ 

แล้วในฐานะทายาทรุ่นสาม เคล็ดลับการทำธุรกิจที่ป๊าย้ำกับคุณบ่อยๆ คืออะไร เราตั้งข้อสงสัย

“ป๊าสอนว่าเรากินยังไงก็ต้องให้ลูกค้าแบบนั้น ไม่ต้องไปเขียม (ประหยัด) หรอก” เธอบอก “เขาจะบอกเสมอว่าขายของกิน อย่าไปหวงกับลูกค้า ให้มือหนักเข้าไว้ ถ้าลูกค้าสั่งมาแล้วเราไปส่งได้ก็ไปส่งซะ ราคาสินค้าไม่ต้องปรับให้มันสวิงเยอะ ถ้าปรับราคาเยอะเดี๋ยวไม่มีคนซื้อ เห็นได้ชัดจากเต้าหู้ยี้ของป๊าที่ขายกระป๋องละแปดสิบบาท ก็ขายมาเป็นสิบๆ ปี ไม่ได้ขึ้นราคาเลย” คำตอบนั้นเรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งวง แต่ก็ฉายความตั้งใจที่ส่งต่อจากพ่อสู่ลูกได้ชัดเจน

“อีกหนึ่งความตั้งใจคือเราอยากต่อจุดระหว่างน้ำเต้าหู้ของเราและเต้าหู้ยี้ของพ่อ ให้คนรู้ว่าทำไมเราถึงมาทำน้ำเต้าหู้ คนที่กินเต้าหู้ยี้ก็จะมาลองน้ำเต้าหู้ของเรา คนที่กินน้ำเต้าหู้ก็ลองมากินเต้าหู้ยี้ดู” หญิงสาวบอก 

ฝนเล่าแผนในอนาคตให้ฟังอีกว่า เธออยากเปิดร้านข้าวต้มกุ๊ยที่หยิบวัตถุดิบประจำบ้านอย่างเต้าหู้ยี้มาทำเมนูซิกเนเจอร์ หน้าร้านก็เปิดขายน้ำเต้าหู้  Have a nice bean เป็นร้านอาหารเล็กๆ สไตล์โฮมมี่ที่ลูกหลานคนจีนอย่างเธออยากทำให้ผู้ใหญ่กินบ้าง

“ในทางหนึ่ง มันคือวิธีการต่อยอดธุรกิจ เราไม่อยากให้ธุรกิจที่บ้านหายไป สมมติวันหนึ่งรุ่นผู้ใหญ่เขาไม่อยู่แล้ว เราก็ยังทำอะไรบางอย่างกับเต้าหู้ได้ 

“น้ำเต้าหู้เป็นมรดกตกทอดของเรา และตัวเราเองก็เป็น Tofu Lover รักการกินเต้าหู้อยู่แล้ว เราก็อยากส่งต่อสิ่งที่เรารักให้คนอื่นบ้าง”

Have a nice bean แบรนด์น้ำเต้าหู้เชียงใหม่

ติดตาม Have a nice bean ได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.