หนึ่งวันใน The Jim Thompson Art Center - Urban Creature

ไม่ว่าจะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะแบบไหน จะรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือโดยสารเรือคลองแสนแสบ ก็เดินถึงที่นี่ได้ภายใน 3 นาที

สถานที่แห่งนี้คือ ‘The Jim Thompson Art Center (หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน)’ อาคารปูนเปลือยสูง 5 ชั้น (รวมที่จอดรถชั้น G) บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ที่มีกำแพงอิฐเรียงตัวกันเป็นลายผ้ามัดหมี่ อยู่ถัดจาก ‘พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน’ อาคารทรงเรือนไทย ที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นสถานที่เดียวกันอยู่บ่อยครั้ง

เพื่อทำความรู้จักกับหอศิลป์ที่ยืนหยัดขอเป็นปอดสีเขียวใจกลางเมือง นำเสนอศิลปะร่วมสมัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ซีรีส์คอนเทนต์ ‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ ตอนที่ 2 จึงขอยืมตัว ‘คุณแชมป์-ชนพล จันทร์หอม’ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์และผู้ช่วยประสานโครงการประจำหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน มาพาเดินชมหอศิลป์ฯ เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับตัวพื้นที่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

จิม ทอมป์สัน / หอศิลป์ / ศิลปะร่วมสมัย

“คนมักเข้าใจว่าตัวหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันเป็นที่เดียวกัน ทั้งที่จริงไม่ใช่” คุณแชมป์บอกกับเราตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มเข้าสู่บทสนทนาอย่างเป็นทางการ ถึงความเข้าใจผิดที่เป็นคล้ายค่าดีฟอลต์จนเขาต้องขอเกริ่นนำก่อน

เพราะแม้จะมีคำว่า ‘จิม ทอมป์สัน’ และอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน (James H.W. Thompson Foundation)’ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อคอยดูแลรักษาทรัพย์สินของคุณจิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย ที่หายตัวไปจากโรงแรมบนแคเมอรอนไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ในปี 1967 อย่างเป็นปริศนา ทว่าตัวหอศิลป์ฯ และพิพิธภัณฑ์ฯ ต่างนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกัน

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

เปรียบง่ายๆ ว่า ถ้าพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันคือสถานที่นำเสนอเรื่องราวใน ‘อดีต’ ที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมความเป็นไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากวัตถุสะสมของคุณจิม ทอมป์สันในสมัยที่เขายังคงอาศัยและมีชีวิตอยู่ในประเทศไทย ตัวหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันคือสถานที่ที่แยกตัวออกมา นำเสนอ ‘ปัจจุบัน’ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อเชื่อมโยงต่อไปยัง ‘อนาคต’

“หอศิลป์แห่งนี้ตั้งขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2003 ตอนนั้นเราใช้ชื่อว่า ‘ศูนย์ศิลปะและสิ่งทอ’ และยังเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน” คุณแชมป์เล่าย้อนไปถึงการถือกำเนิดของหอศิลป์ฯ ที่พยายามนำเสนองานศิลปะด้วยการผสมผสานเข้ากับงานสิ่งทอซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจิม ทอมป์สัน

หลังจากนั้นทางหอศิลป์ฯ ได้ ‘อาจารย์เจี๊ยบ-ดร.กฤติยา กาวีวงศ์’ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและหัวหน้าภัณฑารักษ์ประจำหอศิลป์ฯ ทำให้แนวทางการนำเสนอของหอศิลป์ฯ ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เป็นการนำเสนอศิลปะร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้แยกตัวออกมาเป็นหอศิลป์ฯ หลังใหม่ และก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงโควิดระบาดพอดี

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“พอเจอโควิดเข้าไป เรากับสถาปนิกบริษัทดีไซน์-กว่า จำกัด (Design Qua) ผู้ออกแบบอาคาร เลยพยายามออกแบบให้พื้นที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น”

ผู้ช่วยภัณฑารักษ์บอกกับเราก่อนจะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ภายในหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีแค่พื้นที่แสดงงานศิลปะ แต่อาคาร 5 ชั้นหลังนี้มีทั้งคาเฟ่ ห้องสมุด แกลเลอรี ร้านอาหารบนดาดฟ้า ไปจนถึงพื้นที่เปิดโล่ง และลานจอดรถอัตโนมัติ (Automatic Parking) ที่ไม่ค่อยเห็นในหอศิลป์แห่งอื่นๆ

ชั้นกราวนด์ / ลานจอดรถ / ลานกิจกรรม

ให้นั่งคุยกันคงจะไม่เห็นภาพ เราขอให้คุณแชมป์รับหน้าที่เป็นไกด์กิตติมศักดิ์พาเดินสำรวจกันไปแต่ละจุด โดยเริ่มจาก ‘ลานจอดรถอัตโนมัติ’ (Automatic Parking)

เมื่อทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ ตัดสินใจสร้างอาคารใหม่สำหรับหอศิลป์ฯ โดยเฉพาะ โจทย์หนึ่งที่อยู่ในการออกแบบมาตั้งแต่ต้นคือ การสร้างลานจอดรถใหม่ที่สามารถรองรับผู้ชมจากทั้งฝั่งหอศิลป์ฯ และพิพิธภัณฑ์ฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกปีได้

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง
The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ด้วยความที่พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ทางสถาปนิกเลยออกแบบลานจอดรถอัตโนมัติในรูปแบบลานถาด (Pallet Type Parking System) ที่มีลิฟต์และถาด (Pallet) ในการเคลื่อนย้ายรถยนต์ไปยังช่องจอดที่ว่าง โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องขับรถเข้าไปจอดเอง” กลไกการทำงานนี้ทำให้พื้นที่ที่มีจำกัดสามารถรองรับรถยนต์ขนาดเล็กได้กว่า 40 – 50 คันเลยทีเดียว

และถึงแม้จะมีลานจอดรถรองรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ทางหอศิลป์ฯ มองไกลไปกว่านั้น ด้วยแนวคิดที่ว่า ในอนาคตคนน่าจะหันมาใช้ระบบโดยสารสาธารณะมากขึ้น

“พื้นที่ตรงนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องแกลเลอรี ห้องเวิร์กช็อป หรือลานกว้างๆ สำหรับทำกิจกรรมอะไรก็ได้ เป็นการมองการณ์ไกลของทีมสถาปนิกที่ออกแบบเหมือนกัน” คุณแชมป์อธิบาย

ชั้นหนึ่ง / นกกระตั้ว / ศิลปินฝากร้าน

ถัดเข้ามาจากลานจอดรถ อีกหนึ่งสิ่งที่อธิบายความเป็นหอศิลป์ฯ ได้เป็นอย่างดีคือ การใช้อิฐปูนเปลือยออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“อาคารบ้านเรือนในกรุงเทพฯ เป็นตึกปิดทึบซะเยอะ ที่นี่เลยพยายามออกแบบให้รองรับกับสภาพอากาศธรรมชาติ เปิดให้อากาศถ่ายเท มีต้นไม้ มีสวนหย่อม” คุณแชมป์เล่าถึงความตั้งใจที่อยากให้ที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิสเล็กๆ ท่ามกลางตึกใหญ่

เมื่อเดินขึ้นบันไดเหล็กสีดำมายังบริเวณชั้นหนึ่ง สถานที่แรกที่จะพบคือ ‘Cockatoo Canteen’ คาเฟ่ที่ควบตำแหน่งร้านอาหารของหอศิลป์ฯ ซึ่งได้ศิลปินไต้หวันที่พำนักอยู่เวียนนา ‘จุน ยัง’ (Jun Yang) มาช่วยออกแบบสี กระจก และเฟอร์นิเจอร์ภายในคาเฟ่ ให้ผู้มาเยือนได้จิบเครื่องดื่มเย็นๆ กินอาหารอร่อยๆ ปล่อยใจสบายๆ ขบคิดเรื่องราว หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มเพื่อน

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

นอกจากการออกแบบที่โดดเด่นแล้ว ชื่อร้านนี้ยังมีที่มาที่ไป เพราะคำว่า Cockatoo เป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ตั้งตามสัตว์เลี้ยงของคุณจิม ทอมป์สัน ซึ่งก็คือ ‘นกกระตั้ว’ นั่นเอง

“จะเห็นว่าพวกชั้นวางของขาย ถ้าไม่ใช้งาน แต่ละชั้นสามารถสอดเก็บเข้าไปให้อยู่ในระดับเดียวกันได้ด้วย” คุณแชมป์ชี้ชวนให้เราสังเกตการออกแบบที่ใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ‘พี่ตุ่น’ พนักงานดูแลร้านคาเฟ่อยู่กับหอศิลป์ฯ มากว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนจบยังบอกกับเราด้วยสีหน้ามีความสุขว่า เหตุผลที่เธอทำงานที่นี่มาจนถึงทุกวันนี้ได้เป็นเพราะเพื่อนร่วมงาน และบรรยากาศทำงานแบบครอบครัว อีกทั้งเมื่อมีการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการด้านบน เธอและคนใน Cockatoo Canteen ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริการจัดเลี้ยงอยู่เสมอ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ก่อนหน้านี้พี่ทำงานในร้านอาหารที่พิพิธภัณฑ์ฯ พอย้ายมาอยู่ฝั่งหอศิลป์ฯ ที่เป็นคาเฟ่ อยู่ในโซนที่ไม่ต้องเป็นทางการมาก รองรับลูกค้าวัยรุ่นซะเป็นส่วนใหญ่ ก็ทำให้สนุกและรีแลกซ์มากขึ้น” พี่ตุ่นเล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

ส่วนพื้นที่ใกล้ๆ กันอย่าง ‘Cockatoo Shop’ เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าของทางหอศิลป์ฯ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินนำผลงานตัวเองมาฝากขาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นข้าวอินทรีย์ แยมผลไม้ เสื้อยืด ผ้าไหม แพรอีโป้ (ผ้าขาวม้า) และสินค้าแปรรูปอีกมากมายที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

ชั้นสอง / ห้องสมุด / ห้องอีเวนต์

อีกจุดเช็กอินที่ห้ามพลาดเมื่อมาหอศิลป์ฯ ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการอย่างเป็นทางการคือ ‘ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน (William Warren Library)’ แหล่งค้นคว้าชั้นดีของคนรักศิลปะ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

คุณแชมป์ยืดอกบอกกับเราว่า ที่นี่ถือเป็นห้องสมุดที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนอยากพักผ่อน

“ที่นี่เป็นห้องสมุดที่คนมานอนหลับเยอะอยู่เหมือนกัน บางคนมานั่งทำงานอ่านหนังสือแล้วง่วงก็นอน เราก็ไม่ได้ห้ามอะไร” เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะ

และสำหรับใครที่เป็นขาประจำอาจจะรู้สึกว่าหลังๆ ห้องสมุดแห่งนี้เงียบสงบและไม่มีกลิ่นรบกวน ที่เป็นแบบนี้เพราะทางหอศิลป์ฯ ได้ปิดช่องตรงกลางที่เดิมเชื่อมกับตัวคาเฟ่เรียบร้อยแล้ว

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ปกติเราจะมีการตรวจสอบกับทางทีมผู้ดูแลตึกอยู่เรื่อยๆ ว่ามีปัญหาในการใช้งานอย่างไร สามารถปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้ประสบผลในการใช้งานได้มากที่สุด อย่างการปิดช่องตรงนี้ก็เพื่อปรับปรุงให้พื้นที่ห้องสมุดสอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น” และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตคือ ภายในห้องสมุดมี ‘ห้อง Archives’ หรือห้องเก็บคลังข้อมูลเกี่ยวกับจิม ทอมป์สันซ่อนอยู่ด้วย โดยประตูทางเข้าอยู่กลืนไปกับตึกเลย

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ข้างในเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับตัวคุณจิม ทอมป์สันเอาไว้ ทั้งหนังสือพิมพ์เก่าๆ เอกสาร หรืองานสะสม ซึ่งตรงนั้นคุณบรูโน่ที่เป็นคนฝรั่งเศสจะคอยดูแลให้” คุณแชมป์เน้นย้ำว่าพื้นที่ส่วนนี้ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้า แต่ถ้าใครรู้จากบทความนี้จะลองแวะไปมองหากันก็ได้

หลังจากสนทนากันมาสักพัก เราขอแวะสัมผัสบรรยากาศภายนอกบนลานโล่งชั้นสองสักหน่อย และเมื่อมองผ่านระเบียงออกไปจะพบกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันที่ล้อมรอบด้วยสีเขียวของต้นไม้ด้วย

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทางทีมสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เปิดโล่ง เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงทางสายตาระหว่างตัวจิม ทอมป์สันอันเก่ากับจิม ทอมป์สันใหม่” ผู้ช่วยภัณฑารักษ์พูดพลางทอดสายตามองไปยังส่วนพิพิธภัณฑ์ฯ

เมื่อรีเฟรชร่างกายที่ลานโล่งแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว เราก็เตรียมพร้อมเข้าสู่ห้องอีเวนต์ พื้นที่จัดกิจกรรม ที่ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคลาสเรียน เวิร์กช็อป เสวนา เป็นต้น โดยคุณแชมป์บอกกับเราว่า ถ้ามีศิลปินหรือผู้คนภายนอกติดต่อเข้ามาขอจัดแสดงงาน ส่วนใหญ่จะจัดในห้องนี้เป็นหลัก

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

ชั้นสาม / นิทรรศการหลัก / สงครามเย็น

สำรวจกันมาเกินครึ่ง ในที่สุดเราก็เดินกันมาถึงบริเวณชั้นสาม พื้นที่แกลเลอรีที่มีทั้งหมด 2 ห้อง ซึ่งตอนนี้กำลังจัดนิทรรศการนานาชาติที่มีชื่อว่า ‘โลกร้าว : เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (The Shattered Worlds : Micro Narratives from the Ho Chi Minh Trail to the Great Steppe)’

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

นิทรรศการนี้เป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปินเชิงวิจัย 13 คนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยูเรเชีย เพื่อนำเสนอภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และความซับซ้อน และผลกระทบของสงครามเย็นในแต่ละภูมิภาคที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน

ถ้าย้อนกลับไปดูนิทรรศการที่ผ่านๆ มาจะเห็นว่า ‘สงครามเย็น’ เป็นหนึ่งประเด็นที่ทางหอศิลป์ฯ หยิบยกมาจัดแสดงอยู่บ่อยครั้ง ที่เป็นเช่นนี้คุณแชมป์บอกว่า เป็นเพราะสงครามเย็นคือช่วงเวลาที่คุณจิม ทอมป์สันอาศัยอยู่ในประเทศไทยพอดี อีกทั้งคนไทยมักมองสงครามเย็นเป็นสิ่งที่ห่างไกล ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเราได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง
The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“เราต้องการให้ตัวพื้นที่ของหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากในห้องเรียน เปิดรับความรู้อื่นๆ จากโลกภายนอก จากศิลปินต่างประเทศบ้าง ศิลปินไทยบ้าง” คุณแชมป์กล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักของหอศิลป์ฯ ในการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดง

และกว่าจะมาเป็นนิทรรศการให้เราได้รับชมกัน ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านมือ ‘ทีมอาร์ตเซ็นเตอร์’ ที่มีกันอยู่ทั้งหมด 6 คน รวมอาจารย์เจี๊ยบ ที่นั่งทำงานอยู่ที่ชั้นสามนี้มาก่อนทั้งนั้น โดยแต่ละนิทรรศการจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา 2 – 3 เดือน

คุณแชมป์เล่าว่า กระบวนการจัดทำนิทรรศการของที่นี่เริ่มต้นจากการประชุมกันระหว่างทีมและศิลปินที่จะเข้ามาจัดแสดง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผลงานจัดแสดงที่ต้องดูไปถึงเรื่องการขนส่ง

“เคยมีงานที่ศิลปินต้องเป็นคนขับรถขนงานออกมาให้ขนส่งต่อทางเรือเพื่อจะส่งมาประเทศไทยอีกทีหนึ่ง บางทีศิลปินก็เป็นคนขนงานใส่กระเป๋าเดินทางมาเองจากประเทศเขาก็มี

“แต่ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่ๆ เราจะใช้ขนส่งที่ดูแลจัดการงานศิลปะโดยเฉพาะ เพราะเราไม่ได้มีคนขนส่งงานศิลปะภายในเป็นของตัวเอง” คุณแชมป์เล่าถึงกระบวนการขนส่งงานศิลปะที่เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

และเมื่อพูดถึงงานชิ้นใหญ่ เขายังเล่าต่ออีกว่า อีกหนึ่งข้อจำกัดของที่นี่คือการไม่มีลิฟต์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะขนของหรือขนคนก็ใช้ลิฟต์ตัวเดียวกัน

“มีครั้งหนึ่งเรามีงานที่ใหญ่ถึงสามเมตร ในขณะที่ลิฟต์มีความสูงประมาณสองเมตร ตอนนั้นเลยจำเป็นต้องใช้คนประมาณสิบคนช่วยกันขนขึ้นบันไดมาเรื่อยๆ จนถึงชั้นสาม ทุลักทุเลกันไม่น้อย” ผู้ช่วยภัณฑารักษ์เล่าให้เราฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

พ้นไปจากเรื่องขนส่ง การติดตั้งงานก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหลายครั้งนิทรรศการที่จัดที่หอศิลป์ฯ ไม่ใช่เพียงการจัดแสดงภาพถ่าย บางครั้งเป็นของตั้งโชว์ บางอย่างมีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้หอศิลป์ฯ ต้องจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนรวมถึงเรายังไม่รู้คือ ในการจัดแสดงแต่ละครั้ง ผลงานทุกชิ้นจะผ่านการทำ ‘ทะเบียนวัตถุ’ ก่อนเสมอ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“งานแต่ละครั้งมีทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ หลายชิ้นเราแค่ยืมเขามา บางครั้งเราคอมมิสชันให้เขาผลิตขึ้นใหม่ ฉะนั้นก่อนเริ่มจัดแสดงจึงต้องจัดทำทะเบียนวัตถุ เพื่อที่ตอนส่งคืนจะต้องเช็กอีกรอบว่ามาแบบไหน ต้องกลับไปแบบนั้น”

จากนั้นเมื่อนิทรรศการดำเนินมาจนจบ การรื้อถอนก็เป็นกระบวนการที่มองข้ามไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณแชมป์และทีมต้องเตรียมขึ้นนิทรรศการใหม่ทันที

“บางครั้งการจัดนิทรรศการก่อนหน้าอาจทำให้ผนังหรือรูปแบบห้องเปลี่ยนแปลงจนไม่สอดคล้องกับงานต่อไป ขั้นตอนนี้จึงรวมไปถึงการทำผนัง ทาสี หรือจัดพื้นที่ใหม่เพื่องานใหม่ วนลูปไปเรื่อยๆ” คุณแชมป์เล่าถึงกระบวนการทำงานที่เป็นแพตเทิร์นแบบนี้ตลอดทั้งปี เพราะที่นี่เปิดให้บริการ 365 วันแบบไม่มีวันหยุด

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

ชั้นดาดฟ้า / จุดเช็กอินถ่ายรูป / ร้านลาบเสียบ

ฟังเรื่องราวของหอศิลป์ฯ กันมาเต็มอิ่ม รู้ตัวอีกทีเราก็ขึ้นมายังจุดสุดท้ายของวันนี้ที่เป็นชั้นดาดฟ้ากันแล้ว แม้จะเรียกรวมๆ ว่าชั้นดาดฟ้า แต่บริเวณนี้สามารถแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ระดับ 

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

ระดับแรกเป็นพื้นที่ยอดฮิตที่คนชอบมายืนถ่ายรูป หรือบางทีทางหอศิลป์ฯ เองก็เปิดให้เช่าพื้นที่ใช้จัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานเดินแบบหรืองานเต้น Performance ก็เคยมีมาแล้ว

ในขณะที่ระดับสองจะเป็นที่ตั้งของร้านลาบเสียบ ร้านอาหารอีสานในรูปแบบเสียบไม้ที่ขยับขยายเป็นร้านประจำดาดฟ้า จากที่ก่อนหน้าเป็นเพียงร้านรถเข็นเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นร้านที่เติบโตไปพร้อมกับหอศิลป์แห่งนี้เลยทีเดียว

“ด้วยความที่ลาบเสียบอยู่ในพื้นที่ของจิม ทอมป์สัน ร้านนี้เลยเป็นพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้เหมือนกัน อย่างในช่วงกลางวันที่ไม่ได้เปิดร้านก็เคยให้คนเช่าใช้ถ่ายรูปโฆษณาบ้างเหมือนกัน”

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนของหอศิลป์แห่งนี้ ก็ดูจะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการใช้งานที่หลากหลายและตามยุคสมัยเรื่อยๆ

“ที่เป็นแบบนี้เพราะเราต้องการให้คนมองว่า เราใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะ ศิลปะเชื่อมโยงอยู่กับชีวิตเรา ไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกล หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่สูงส่งเกินจะเอื้อมถึง” คุณแชมป์อธิบายเสริมพร้อมตอบข้อสังเกตของเราไปโดยปริยาย

การออกแบบพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาใช้งานได้หลากหลายจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปที่ตั้งใจมาดูนิทรรศการ นักเรียนนักศึกษาที่มองหาพื้นที่นั่งทำงาน หรือกลุ่มวัยรุ่นที่มาหาสถานที่ถ่ายรูป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทางคุณแชมป์และหอศิลป์ฯ ตั้งธงไว้มาโดยตลอด

พื้นที่สาธารณะ / ผลักดันศิลปิน / พัฒนาวงการศิลปะ

นอกจากนี้ คุณแชมป์ยังบอกกับเราว่า อาจารย์เจี๊ยบ ตนเอง และทีมมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงแต่ละนิทรรศการ เหมือนการ Connect the Dots ไปเรื่อยๆ

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“ถ้าตอนนี้เราจัดแสดงงานของศิลปินหญิง งั้นต่อไปเป็นศิลปินชายดีไหม พอเป็นศิลปินไทยแล้ว ครั้งหน้าลองเอางานของศิลปินต่างประเทศมาแทรกบ้างไหม หรือถ้ามีงานศิลปะมากไปแล้ว ลองเอางานที่เกี่ยวกับผ้าไหม ย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นของจิม ทอมป์สันบ้าง เป็นการพยายามหาจุดที่เชื่อมโยงกันไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความหลากหลาย”

ในขณะเดียวกัน หอศิลป์ฯ เองก็ยังมองไปข้างหน้าด้วยการพยายามนำเสนอผลงานของศิลปินชาวต่างชาติมากขึ้นโดยไม่ละเลยศิลปินไทย พยายามเปิดพื้นที่หอศิลป์ฯ ให้เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับกลุ่มศิลปินยุคใหม่ๆ ที่อาจยังไม่ได้เติบโตในวงการศิลปะได้มาแสดงผลงาน 

“เราต้องการให้ทั้งคนไทยและต่างชาติเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย ทั้งของฝั่งประเทศไทยเองหรือฝั่งต่างชาติ หรือกระทั่งมันมีความเชื่อมโยงกับโลกยังไงบ้าง” นี่คือทิศทางของหอศิลป์ฯ ที่คุณแชมป์บอกกับเรา

The Jim Thompson Art Center หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โอเอซิสการเรียนรู้ใจกลางเมือง

“หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันเป็นหอศิลป์หนึ่งที่อยู่มาอย่างยาวนานกว่ายี่สิบปี แม้จะแยกตัวออกมาแต่ยังอยู่ใกล้กับตัวบ้านจิม ทอมป์สัน ใกล้กับจุดตั้งต้นของเราที่นำเสนอเรื่องของความเป็นไทย

“ฉะนั้นที่นี่จึงเป็นหอศิลป์ที่มีความน่าสนใจ คือเป็นจุดเชื่อมต่อของความเป็นอดีตสู่ความเป็นปัจจุบัน และกำลังพยายามมองหาว่าอนาคตของศิลปะไทยและศิลปะโลกจะเป็นอย่างไร ผ่านการนำเสนอศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบต่างๆ” ไกด์กิตติมศักดิ์ของเรากล่าวทิ้งท้ายเพื่อย้ำถึงจุดมุ่งหมายของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันอีกครั้งก่อนแยกย้ายบอกลากันในวันนี้


‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ One Day With… จาก Urban Creature ที่จะพาไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล Museum STAR ว่า กว่าจะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ติดดาวให้เราเข้าชม มีอินไซต์อะไรที่คนเข้าชมอย่างเราๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนบ้าง

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.