เที่ยวถนนอิสรภาพ กับ Mercury Goldfish - Urban Creature

‘อิสรภาพ’ ที่แท้จริงคืออะไร ใครเป็นผู้กำหนด


นี่เป็นคำถามที่มนุษย์หลายคนพยายามหาคำตอบ เกือบทั้งชีวิตในการหาคำจำกัดความให้คำนี้อยู่เสมอ และหลายครั้งคนเราก็นำไปนิยามสิ่งต่างๆ ในหลายบริบท ไม่ว่าจะวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งชื่อของ ‘ถนน’

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จัก ‘ถนนอิสรภาพ’ ถนนสายเก่าในย่านฝั่งธนฯ ที่มีความยาว 4.18 กิโลเมตร ตัดผ่านถนนและแยกสำคัญๆ ถึง 4 เขต คลองสาน ธนบุรี บางกอกใหญ่ และบางกอกน้อย นำโดยไกด์เจ้าถิ่นที่กำเนิดเติบโตในย่านนี้มาตั้งแต่แบเบาะ ‘จอน-จอนปรอท วงษ์เทศ’ พร้อมด้วย ‘มาอิ-ณัฐชานันท์ เนติกรวิวัชร’ คู่หูจากวงดนตรีอิสระ Mercury Goldfish

‘อิสรภาพ’ (น.) ความเป็นใหญ่ ความเป็นไทแก่ตัว


จอนเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนถนนอิสรภาพ ชื่อ ‘ถนนเจ้ากรุงธน’ สร้างพร้อมกับการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เมื่อครั้งฉลองครบรอบ 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่สร้างเสร็จตลอดทั้งสายภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลยุคนั้นจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนอิสรภาพ’ ให้ชื่อไม่ซ้ำกับถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และมีนัยเชื่อมโยงกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่

วันนี้เราออกเดินเท้าสำรวจย่านเริ่มจากถนนอิสรภาพ เข้าถนนวังเดิม ถนนอรุณอมรินทร์ แวะสี่แยกบ้านแขก แล้วเลยไปจนเกือบถึงถนนลาดหญ้า ระหว่างที่เดินจอนเล่าเรื่องราวความผูกพันที่ยังคงเป็นภาพคุ้นเคยอยู่ในความทรงจำ ทั้งความสุขที่ตอนเด็กๆ พ่อชอบพาไปวัดแจ้ง ขี่จักรยานผ่านโรงเรียนทวีธาภิเศก แยกโพธิ์สามต้น วังเดิม และตัดผมร้านแถวนั้นที่เปิดมานานกว่า 30 ปี ตำนานฉากเจ้าน้ำตาของจอนในวัยเด็กไม่อยากตัดผมเกรียน เดินร้องไห้ตลอดเส้นทางระหว่างไปร้านตัดผม

อิสรภาพที่ถูกแช่แข็ง


เดินไปคุยไปสักพักเราก็เดินมาหยุดที่หน้าร้านขายหีบศพที่ดูท่าทางจะอยู่กับย่านนี้มานาน เราจึงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ

 “ถนนอิสรภาพฝั่งนี้ไม่ค่อยมีอะไรหรอก เท่าที่เห็นก็มีรถไฟฟ้า
คนมาเที่ยววัดอรุณฯ ฝั่งธนฯ ไม่มีอะไรเลยเงียบมาก”

ร้านจำหน่ายหีบศพ ซุ่นฮวด (ฮั่งเท้ง) ริมถนนอิสรภาพ

คุณป้าสมใจและคุณป้าวันทนีย์ ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้สืบทอดธุรกิจจำหน่ายหีบศพร้านซุ่นฮวด (ฮั่งเท้ง) ที่อยู่คู่ย่านอิสรภาพมามากกว่า 64 ปี ได้บอกกับเราถึงบรรยากาศในอดีตก่อนจะมีการตัดถนนว่า แถวนี้มีลักษณะเป็นป่า น้ำประปาก็ยังเข้าไม่ถึง ต้องไปตักน้ำในสระบัวที่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ของปั๊มแก๊ส พออายุ 7 ขวบถึงมีถนนตัดผ่านหน้าบ้าน พอมีถนนก็เริ่มมีประปา มีตึกแถวขึ้นมา ซึ่งหากมองตึกแถวตรงสะพานเจริญพาศน์จะเห็นว่ามีลักษณะ 2 ชั้น ตึกแบบนี้มีอายุราว 60 ปี ส่วนตึกที่สูงเกิน 2 ชั้นขึ้นไปจะมีอายุประมาณ 40 ปี 

ร้านขายของชำริมถนนอิสรภาพ

“อาจเพราะย่านนี้ถูกดันให้เป็นเมืองเก่า ตึกก็สร้างสูงไม่ได้ เพราะมีกองทัพเรือ พระราชวังเดิม และวัดอรุณฯ ความเจริญเลยมาช้า จนปัจจุบันเขาก็ยังไม่ให้สร้าง ถ้าลองสังเกตแค่เลยไปแยกพรานนกจะเห็นเลยว่าแตกต่างกันมาก มีถนนเส้นนี้แหละที่ยังไม่เจริญ”

อนาคตอิสรภาพก็คงเหงาๆ เฉาๆ อยู่อย่างนี้ ดีหน่อยที่ช่วงก่อนมีรถไฟฟ้ามาถึง คนก็เดินผ่านไปมาทั้งวัน เพื่อไปเที่ยววัดแจ้ง วัดกัลยาฯ วัดหงส์ฯ แต่พอช่วงโควิด-19 ถนนอิสรภาพก็ร้างราผู้คน

“ถ้ามันยังมีกฎหมายไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูงได้ ความเจริญมันก็ไม่มาหรอก ฉันก็อยู่มา 60 ปีแล้วนะ ทำไมถึงหยุดความเจริญด้วยคำว่า ‘ถนนสายวัฒนธรรม’ ฉันก็ไม่เข้าใจ ตอนนี้ผู้ประกอบการร้านค้าในปัจจุบันเท่าที่คุยก็จะตายกันหมด อยู่ไม่ไหว โควิด-19 รอบแรกก็กัดฟันสู้นะ”

ร่องรอยหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เราข้ามคลองบางกอกใหญ่ผ่าน ‘สะพานเจริญพาศน์’ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ใต้สะพานเราพบที่ตั้งของหลุมหลบภัยเล็กๆ เป็นร่องรอยบ่งบอกเหตุการณ์บ้านเมือง และการเอาชีวิตรอดของผู้คนจากการทิ้งระเบิดลงกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอดีตเคยมีอักษรปั้นด้วยปูนเขียนไว้ว่า ‘หลุมหลบภัยบรรจุได้ ๖๐ คน’ แต่ไม่มีใครใช้ ปัจจุบันเหลือเพียงประตูลูกกรงกับเศษขยะมากมายอยู่ภายใน

ที่มา : https://lek-prapai.org/home/view.php?id=190

มัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาว สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 มีหน้าจั่วทรงวัดไทย

ยล ‘มัสยิดบางหลวง’ หรือ ‘กุฎีขาว’


แม้ร้านรวงริมถนนอิสรภาพจะดูเงียบเหงาซบเซาไปบ้าง แต่ย่านนี้กลับมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าค้นหา และภาพวิถีชีวิตเดิมๆ ที่มีเสน่ห์ซุกซ่อนอยู่ จอนและมาอิพาเราเดินซอกแซกผ่านถนนวังเดิม เข้าถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ มายังมัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ เราได้พบกับ อิหม่ามรอมดอน ท้วมสากล ที่เดินออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมรับช่วงต่อนำเราไปเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของศาสนสถาน ซึ่งมีสถาปัตยกรรมลักษณะหน้าจั่วทรงวัดไทยที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ

“คนพุทธเดินผ่านก็ยกมือไหว้ เข้าใจว่าเป็นวัด”

อิหม่ามบอกเราว่า มัสยิดแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 โดยเจ้าขุนมูลนายสมัยกรุงธนบุรี และพี่น้องชาวมุสลิมส่วนหนึ่งที่อยู่หัวรอ คลองตะเคียน บางปะอิน อพยพนั่งเรือมาที่คลองบางหลวงก็มาร่วมมือฟื้นฟูจากอาคารไม้เก่าที่ทรุดโทรมแล้วสร้างมัสยิดหลังนี้ขึ้นมา ส่งผลให้มัสยิดบางหลวงจึงเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน

อิหม่ามรอมดอน ท้วมสากล ด้านหน้าโค้งซุ้มทรงวิมานมิมบัรและมิห์รอบ

ด้านในตกแต่งด้วยศิลปะ 3 เชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นลายดอกประจำยาม ดอกรัก กาบพรหมศร วิมานสามยอดที่เป็นศิลปะของไทย ส่วนศิลปะจีนมีดอกพุดตานหรือเมาตาน และใบฝรั่งเทศของศิลปะยุโรปที่สอดแทรกอยู่บริเวณโค้งซุ้มทรงวิมานมิมบัรและมิห์รอบ ซึ่งเป็นพื้นที่แท่นแสดงธรรมสำหรับยืนเทศน์และนำละหมาดของอิหม่าม ตรงกลางมีแผ่นไม้ที่เต็มไปด้วยภาษาอาหรับแกะด้วยไม้สักแผ่นเดียว โดยผู้หญิงชื่อ ฟาติมะห์ คนในชุมชนเมื่อ 300 ปีก่อน ลงรักปิดทองประดับกระจกตามศิลปะไทยที่เรียกว่า ‘เครื่องกุดั่น’

หากมองขึ้นไปบนเพดานกลางมัสยิดจะเห็นตะเกียงโบราณ ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ที่รัชกาลที่ 6 ท่านได้พระราชทานเป็นของที่ระลึกแก่ตัวแทนชุมชนที่ไปร่วมงาน

มัสยิดอีกแห่งในละแวกเดียวกัน

พอออกมาจากสุเหร่าเราได้พบกับคุณยายนุช วัย 72 ปี ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มากว่า 20 ปี คุณยายนุชทักทายและชวนพูดคุยอย่างเป็นกันเอง จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า อิสรภาพของสตรีมุสลิมเป็นอย่างไร

คุณยายครับ ทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องใส่ฮิญาบคลุมศีรษะ 

“การคลุมฮิญาบเป็นการปกป้องไม่ให้อุจาด ยั่วยุ พอคลุมมิดชิดคนก็จะไม่ค่อยมอง เหมือนศีล 5 ของศาสนาพุทธนั่นแหละ ไม่ทำก็ผิดศีล แต่จริงๆ ยายไม่ใส่นะ เพราะยายสมัยเด็กๆ ก็มีเพื่อนเป็นคนพุทธ คนคริสต์ ย่านนี้มี 3 ศาสนา คริสต์ตรงกุฎีจีน พุทธที่วัดกัลยาฯ อิสลามก็กุฎีขาว พอถึงเวลาทำบุญเขาก็จะมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ได้มีแบ่งแยก ยายก็เรียนอัลกุรอานมา ถ้ามีพิธีการยายก็คลุม แต่ยายมองว่ามันไม่ได้จำเป็นต้องใส่ในชีวิตประจำวันเสมอไป แต่ก็พูดไม่ได้เพราะเขายึดถือกันมาแบบนั้น เราต้องเข้าใจเพราะเป็นกฎที่มีไว้ แต่ส่วนตัวยายมองว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า”

หลังจากนั้นอิหม่ามพาเดินไปดูสุสานของชาวมุสลิมที่เรียกว่า กุโบร์ พร้อมเล่าให้ฟังถึงหลักคิดเรื่องการเกิดและตายของศาสนาอิสลามว่า เมื่อมีคนตายต้องรีบฝังให้เร็วที่สุด เพราะชาวมุสลิมเชื่อว่าการตายไม่ใช่จุดดับสูญ แต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในโลกหน้าอันสถาพร หากเราเกิดมาจากดินต้องกลับไปสู่ดิน เพื่อกลับไปสู่ความเมตตาในอ้อมอกของพระเจ้าให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว อิสลามไม่มีผี แต่มีโลกของดวงวิญญาณ โลกแรกคือชาติในครรภ์มารดา โลกที่ 2 คือโลกปัจจุบัน โลกที่ 3 คือโลกวิญญาณ ส่วนโลกที่ 4 คือโลกหน้า นรก สวรรค์มีแน่นอน ซึ่งในพระคัมภีร์บรรยายนรกไว้น่ากลัวมาก

บนถนนสายอิสรภาพมีศาสนสถานหลายแห่ง ทั้งวัด มัสยิด และคริสตจักร
สะท้อนถึงอิสระในการนับถือศาสนา

แล้วอิสรภาพสูงสุดของศาสนาอิสลามคืออะไรเหรอครับอิหม่าม

“ตอนนี้คนมองศาสนาอิสลามในแง่ลบค่อนข้างเยอะ อิสลามมีสองนัย อันแรกนอบน้อมต่อพระเจ้าองค์เดียว อันที่สองคือสันติภาพ อิสลามเป็นศาสนาเอกภาพ ไม่มีชั้นวรรณะ ทุกคนคือพี่น้องกันหมด ทุกคนมีที่มาเดียวกันจากมนุษย์คนแรก 

“อันไหนที่ทำแล้วช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ผิดข้อห้ามศาสนา ทำได้ทันที อย่างการไปช่วยงานศพในพิธีพุทธก็ไปช่วยได้ พิธีกรรมต่างคนต่างนับถือไม่เป็นไร อย่างในวันสำคัญ บาทหลวงกับหลวงพ่อก็มานั่งประชุมจัดงานการกุศลร่วมกัน อะไรที่ทำให้เกิดความสามัคคีขอให้ทำทันที เพราะพวกเราเป็นพี่น้องกัน” 

ปัจจุบันคนในชุมชนกุฎีขาวบางส่วนประกอบอาชีพทำบายศรีส่งขายในตลาด

อิหม่ามเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนทุกบ้านในชุมชนมีอาชีพดั้งเดิมคือทำประมงน้ำจืด ตื่นเช้ามืดทอดแหหาปลากันที่ท่าเตียน ปากคลองตลาด สะพานพุทธฯ เอาไปขายวงเวียนใหญ่ ซางตาครู้สคอนแวนท์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว สำหรับกุฎีขาวแห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่มิสยิดบางหลวงไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้น ถ้าใครอยากมาศึกษาเรียนรู้ก็สามารถติดต่ออิหม่ามรอมดอนได้โดยตรง

อาณาจักรร้านตัดผม ‘ราไว แฮร์คัท’


เราเดินย้อนกันไปทางสี่แยกบ้านแขกที่จอนบอกว่าหากไม่ได้มาเห็นถือว่ามาไม่ถึงถนนอิสรภาพ ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านบิวตี้ซาลอน แฮร์คัตมากมายเรียงรายทั้งชายหญิง โดยเฉพาะชื่อ ‘ร้านราไว แฮร์คัท’ ที่ขณะทอดน่อง จะพบร้านในชื่อเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา แต่ต่างกันที่ตัวเลขของสาขา

ในอดีตความรุ่งเรืองของธุรกิจบิวตี้ซาลอน แฮร์คัตของร้านราไวเคยมีมากถึง 30 สาขา บุกเบิกโดย ‘คุณราไว มิลินทสูต’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ในชื่อราไวบาร์เบอร์ตรงหัวมุมสี่แยกบ้านแขก ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ราไว แฮร์คัทใน พ.ศ. 2527 นอกจากนั้นยังมีธุรกิจหอพักในชื่อเดียวกัน และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมสวยอีกด้วย แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ร้านทำผมทยอยปิดตัวลง ปัจจุบันคงเหลือร้านราไว แฮร์คัทเพียงสิบกว่าสาขาเท่านั้น

ที่มา : OK Nation

สภากาแฟ ‘ร้านไทยกาแฟ-บังใหญ่’


จอนและมาอิพาเราข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม เข้ามายังซอยข้างโรงรับจำนำ ชุมชนสี่แยกบ้านแขก เพื่อไปเยือน ‘ร้านไทยกาแฟ-บังใหญ่’ ที่เรียกได้ว่าเป็นสภากาแฟประจำชุมชนที่รายล้อมไปด้วยหลากหลายศาสนาซึ่งเปิดมานานกว่า 80 ปี แค่เพียงก้าวขายังไม่ถึงหน้าร้านดี กลิ่นหอมของชาก็เตะจมูกเราเข้าอย่างจัง จนต้องรีบจรลีเข้าไปจับจองที่นั่ง

“คิดถึงให้โทรมา ผ่านไปผ่านมาแวะมาอุดหนุน”

สโลแกนของร้านสุดจ๊าบที่เชื้อเชิญผู้คนในชุมชนเข้ามานั่งพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศร้านที่ยังเหมือนวันวาน คงความคลาสสิกมาตั้งแต่สมัยที่ร้านมีตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญของคุณปู่ 

ส่วนเมนูขึ้นชื่อที่มาแล้วต้องห้ามพลาด คือ ‘ชาซีลอน’ ชานำเข้าจากศรีลังกาที่ทางร้านชงด้วยนมสดทุกเมนู ทำให้ชูกลิ่นชูรสชาติให้กลมกล่อมหอมมันยิ่งขึ้น กินคู่กับขนมปังปิ้งร้อนๆ เพิ่มความหอมด้วยการปิ้งบนเตาถ่าน เอาเข้าปากจะสัมผัสได้ถึงความกรอบนอกนุ่มในกับไส้ฉ่ำๆ ด้วยราคาเป็นกันเองจนเราต้องสั่งมากินเพิ่ม

พี่วาเจ้าของร้านรุ่นที่ 3 เล่าถึงเรื่องราวของตนเองด้วยตาที่เปล่งประกายถึงความฝันที่อยากสานต่อความดั้งเดิมของร้านให้คงอยู่คู่ชุมชนได้มากที่สุด ถึงแม้บางอย่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงความผูกพันกับลูกค้าที่มีตั้งแต่รุ่นคุณปู่มานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ยันเด็กนักเรียนนักศึกษามานั่งทำรายงานกัน ลูกค้าบางคนมากับแฟนตั้งแต่สมัยเรียนจนแต่งงานมีลูกก็ยังคงพามาอยู่เสมอ จนพี่วาก็แอบเอ๊ะกับตัวเองว่า…เราแก่แล้วเหมือนกันนะเนี่ย

| ไทยกาแฟ-บังใหญ่
ร้านตั้งอยู่ที่ชุมชนสี่แยกบ้านแขก ใกล้กับมัสยิดนูรุ้ลมู่บีน (บ้านสมเด็จ) 
เปิดบริการ : 09.00 – 21.00 น. หยุดทุกวันพุธ

หากข้ามฟากมาฝั่งถนนอิสรภาพตัดใหม่ จะพบกับมอเตอร์ไซค์จอดอยู่เต็มหน้าร้านสเต๊กชื่อดังในตำนานที่เปิดมาแล้วครึ่งศตวรรษ ‘สเต็กสอาด 1970 (สี่แยกบ้านแขก)’ ชาวธนบุเรี่ยนบอกกันปากต่อปากว่า อร่อยและราคาประหยัด ซึ่งเมื่อก่อนหากอยากกินเมื่อไหร่ต้องนั่งรถเมล์มาต่อคิวกันเลยทีเดียว

| ร้านสเต็กสอาด 1970 (สี่แยกบ้านแขก)
ร้านตั้งอยู่ที่ปากซอยอิสรภาพ 12 สี่แยกบ้านแขก 
เปิดบริการ : 11.00 – 14.00 น. และ 16.00 – 22.00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์

‘เนื้อหอม คาเฟ่’


เราเดินย้อนขึ้นไปยังช่วงต้นของถนนอิสรภาพอันเป็นที่ตั้งของร้านอาหารบรรยากาศสุดชิลของพี่ตั้ม อดีตสถาปนิกเด็กฝั่งธนฯ และพี่ปอ ที่มีความตั้งใจในการทำธุรกิจร้านอาหารด้วยแนวคิดเพื่อสังคม เติบโตควบคู่ไปกับชุมชนอย่างยั่งยืน มีพนักงานภายในร้านที่เป็นคนจากในชุมชนหลากหลายสัญชาติ ทั้งเนปาล อินเดีย พม่า และที่สำคัญ เราขอแนะนำว่าเหล่าเนื้อ Lover ไม่ควรพลาด!

เรียกได้ว่า ‘ร้านเนื้อหอม คาเฟ่’ เป็นร้านอาหารน้องใหม่ของย่าน เพราะเปิดบริการมาได้เพียง 1 ปี แต่ก็เนื้อหอม มัดใจลูกค้าในพื้นที่อย่างมาก จากเมนูอาหารสุดสร้างสรรค์ที่ดึงเสน่ห์ นำเสนอเรื่องราวรากเหง้า และวัตถุดิบแท้ๆ จากชุมชนในย่านมาสู่จานอาหาร ที่แค่พูดชื่อเมนูเราก็แอบกลืนน้ำลายไปสองสามอึก

พี่ตั้มแนะว่าถ้าอยากเข้าใจย่านอิสรภาพให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต้องลองมาทานอาหารทั้ง 3 เมนู 

เริ่มจากจานแรก ‘บะหมี่เนื้อท่าดินแดง’ เมนูที่ถ่ายทอดความเข้มข้นของอาหารจีนในท่าดินแดงสมัยก่อน ที่ค่อยๆ กลมกลืนไปกับความเป็นไทยอย่างน่าพิสมัย ด้วยวัตถุดิบหลักอย่างเส้นบะหมี่ที่อยู่คู่ท่าดินแดงมาแปดสิบกว่าปี ปรุงด้วยซอสและพริกแกงสูตรเฉพาะของทางร้านผสมความเค็มและเผ็ดกำลังดี

จานที่สอง ‘ซี่โครงหมูบ้านแขก’ เมนูที่ถ่ายทอดความเป็นชุมชนบ้านแขก โดดเด่นด้วยเครื่องเทศหลากชนิด และผงมาซาล่าของอินเดีย คลุกเคล้ากันด้วยซอสบาร์บีคิวสูตรต้นตำรับเข้าเนื้อจนเกิดเป็นรสชาติใหม่ที่เข้มข้น กลายเป็นความลงตัวอย่างพอดิบพอดี

และจานสุดท้ายเมนูซิกเนเจอร์ขึ้นชื่อของร้าน ‘เนื้อย่างซอสเนื้อหอม’ ที่นำเสนอเนื้อสันนอกสไลซ์ราดด้วยน้ำซอสพริกแกงเมืองกาญจน์บ้านเกิดของพี่ตั้ม มีรสเค็มอ่อนๆ และกลิ่นหอมจากโชยุ ผสมกับสมุนไพรไทย จนมาอิสาวลูกครึ่งญี่ปุ่นอุทานออกมาดังๆว่า “สุโก้ยยย! (สุดยอด)” 

เราได้ชิมแล้วประทับใจในความอร่อยและสร้างสรรค์ของอาหารทั้งสามจาน แต่อีกหนึ่งเมนูที่ถ้าได้มาคราวหน้าแล้วต้องลองให้ได้คือ ‘ข้าวผัดแจ่วลาดหญ้าไก่ย่าง’ อาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากน้ำจิ้มของร้านจิ้มจุ่มที่เรียงรายอยู่บนถนนลาดหญ้า

หลังจากที่เราได้มีโอกาสมาเดินย่านอิสรภาพทั้งวัน เราพบว่าการเติบโตในย่านนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในฐานะคนรุ่นใหม่อย่างพี่ตั้ม เราจึงถามถึงอนาคตและความอยู่รอดของย่านนี้ว่าควรเป็นไปในทิศทางใด

“อิสรภาพผมมองว่ามันเป็นตัวเอกที่ตายไปแล้ว และมันกำลัง Reborn เป็นเด็กที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง เรามองว่ามันกลับมาแน่ แต่เราต้องถามตัวเองซ้ำๆ ว่า Where we are จริงๆ นะ

“เราคงอยู่รอดคนเดียวไม่ได้ ถ้าคนรอบข้างเราไม่รอด การที่เราอยู่รอดได้ด้วยการส่งต่อสิ่งเล็กๆ ให้กันมันจะทำให้เรายั่งยืนกว่าจริงๆ เราต้องหารากเหง้าที่แท้จริงก่อนว่าเขาใช้ชีวิตกันมาอย่างไร คือถ้าเราเปรียบเทียบ Sustainability กับ Fast Fashion ในเชิงธุรกิจ Fast Fashion มันทำร้ายทุกอย่างเลยเพราะเราตามไม่ทัน แต่ถ้าเราเลือกความยั่งยืน สิ่งที่มีอยู่แล้วทำให้ดี ผลักดันในสิ่งที่เขามีก่อนดีกว่าแล้วคนจะวิ่งกลับมาหาย่านเอง”

| เนื้อหอม คาเฟ่
ร้านตั้งอยู่ที่ปากซอยอิสรภาพ 4 ถนนอิสรภาพ
เปิดบริการ : 09.00 – 21.00 น. หยุดทุกวันจันทร์

จากการเดินทอดน่องอย่างอิสระไปบนถนนอิสรภาพกับจอนและมาอิในวันนี้ ทำให้เราได้เปิดโลก เห็นมุมมองความเป็น ‘อิสรภาพ’ ในมุมมองที่หลากหลายมากกว่ากะลาแคบๆ ที่เราเคยมี จนปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว อาจขึ้นอยู่กับมุมมองของใครคนนั้นเป็นผู้กำหนด เพื่อตอบสนองคุณค่าความคิดความเชื่อของตนเองซึ่งแปรผันตามกรอบต้นทุนชีวิต

และถนนสายนี้ก็สะท้อนให้เห็นรูปแบบของอิสรภาพที่หลากหลายอย่างเห็นได้ชัด ทั้งอิสรภาพในความเชื่อ อิสรภาพในการใช้ชีวิต อิสรภาพในการอยู่อาศัย อิสรภาพในการทำมาค้าขาย และอิสรภาพที่รอการปลดปล่อย เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาค้นหาคำตอบอย่าง ‘อิสระ’ ของคำว่า ‘อิสรภาพ’ ในแบบฉบับของตนเองบนถนนสายนี้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.