คุณคิดว่าตัวอักษร 153 ตัวทำอะไรได้บ้าง?
อาจจะนึกออกยากสักหน่อย เราเลยอยากยกข้อความหนึ่งให้เห็นภาพ
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
สำหรับคนที่อ่านแล้วรู้สึกคุ้นๆ ข้อความเหล่านี้คือเนื้อหาของ ‘กฎหมายมาตรา 112’ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง กฎหมายหมิ่นฯ หรือชื่อใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนจะสะดวกเรียก หากสื่อความหมายเดียวกัน
ไม่นานมานี้ กระแสการพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 นี้ลุกลามและเข้มข้นเคียงคู่ไปกับความร้อนระอุทางการเมืองที่ซัดกระหน่ำมากขึ้นทุกวัน
อาจเพราะมีผู้คนมากมายถูกตีตราต้องโทษ ไปจนถึงจองจำด้วยกฎหมายนี้ ด้วยเพราะสิ่งที่พวกเขาทำคือการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
อาจเพราะความผิดแผกแปลกเพี้ยนของการตีความและการบังคับใช้ ที่หลายๆ ครั้งดูเป็นการตั้งใจปิดปากคนที่พูดเรื่องที่คนส่วนหนึ่งไม่อยากได้ยิน
อาจเพราะชุดตัวอักษรที่มีความยาวเพียง 2 บรรทัดเมื่อถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ และสั้นกว่าหลายๆ สเตตัสเฟซบุ๊ก หรือทวีตในทวิตเตอร์ ได้กลายเป็นเครื่องมือกดขี่ ทำร้ายและทำลายชีวิตของใครหลายๆ คนอย่างไม่อาจหวนคืน
เมื่อสิ่งที่เคยหลบซ่อนและตั้งอยู่บนที่สูงถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถาม การทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ดังนั้นแล้ว ทาง iLaw จึงจัดทำหนังสือ Introduction to No.112 : 12 คำถามเพื่อทำความเข้าใจกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมมาตีแผ่ให้ทุกคนเข้าใจ ไปจนเห็นถึงอันตรายของมัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ขบคิด และตั้งคำถามว่าถึงเวลาที่บางสิ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง
เราขอยกตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจมาให้ได้ลองอ่าน และหวังว่าอ่านจบแล้ว หนังสือเล่มนี้จะกลายเป็น Must-Read ของใครหลายๆ คน
‘ห้ามหมิ่น’ กันมาอย่างยาวนาน
กว่าจะมาเป็นกฎหมายมาตรา 112 กฎหมายห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นถูกบัญญัติขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อยกกษัตริย์ให้สูงขึ้นเหนือคนทั่วไปเพื่อสนองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเรื่อยมาเพื่อให้เข้ากับบริบทกระแสสังคมและการเปลี่ยนผ่านระบบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อาจฟังดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงจะมุ่งไปข้างหน้าอย่างมั่นคง หากความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้พากฎหมายฉบับนี้ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ทุกครั้งไป เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองมักจะเข้ามาแทรกแซงและหยิบยกกฎหมายนี้มาเป็นเครื่องมือในการไล่กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ เช่น ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นต้น
นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด เพราะขอบเขตที่แสนคลุมเครือ
แม้ใจความของกฎหมายมาตรา 112 จะแสนสั้นและเรียบง่าย แต่เนื้อในกลับแฝงความคลุมเครือเอาไว้ชนิดคาดไม่ถึง โดยในหนังสือจะพูดถึงประเด็นที่น่าเคลือบแคลงจุดใหญ่ๆ อยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน นั่นคือ
1. มาตรา 112 คุ้มครองใครบ้าง?
2. การกระทำแบบใดที่ถือว่าเข้าข่ายว่าผิด?
เมื่อได้กลับไปสำรวจข้อกฎหมาย ก็ดูเหมือนจะชัดเจน เพียงแต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะก็มีกรณีตัวอย่าง เช่นการที่นักกิจกรรม 5 คนแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบัน>งบวัคซีน COVID 19” ซึ่งไม่ได้ถือว่าระบุเจาะจงตัวบุคคล หากนักกิจกรรมเหล่านั้นก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยมาตรา 112
หรือคดีหมิ่นรัชกาลที่ 4 และคดีหมิ่นพระนเรศวร ที่ชวนตั้งคำถามว่า กฎหมายมาตรานี้ที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์นั้น ต้องย้อนกลับไปคุ้มครองในอดีตแค่ไหนกัน?
หรือประเด็นว่า การกระทำแบบใดที่ถือว่าเข้าข่ายความผิด ซึ่งก็มีกรณีที่นักกิจกรรมและเยาวชนแต่งกายด้วยชุดคร็อปท็อปและถือสุนัขสองตัวก็ถูกแจ้งมาตรา 112 ได้ ก็นำมาซึ่งการตั้งคำถามว่าขอบเขตของกฎหมายนี้อยู่ที่ตรงไหนกันแน่
เครื่องมือปิดปากทางการเมืองแสนเลือดเย็น
แม้แรกเริ่มกฎหมายมาตรา 112 จะมีไว้ใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่หลายครั้งเมื่อสถานการณ์การเมืองไทยอยู่ในจุดที่เปราะบาง เมื่อมวลชนลุกฮือเพื่อต่อต้านอำนาจกดขี่ การปราบปรามเพื่อกำราบประชาชนให้เชื่อเชื่องต่อไปก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง และกฎหมายมาตรา 112 ก็จะเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้อยู่ร่ำไป
ตั้งแต่ยุคปราบเสื้อแดง เมื่อกลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ออกมาต่อต้านการเผด็จการทหารถูกป้ายสีให้เป็นตัวร้าย และเป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ ที่ต้องถูกกำจัด นอกเหนือจากการบังคับใช้กับคนมากมายที่ดูจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของเผด็จการทหาร แต่ก็มีคดีหนึ่งที่น่าสะเทือนใจและชวนให้ตั้งคำถามอย่างมาก นั่นคือคดี ‘อากง SMS’ ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากการถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS จำนวน 4 ครั้ง และไม่เคยได้รับการประกันตัว โดยทั้งหมดนี้ไม่มีพยานหลักฐานที่แน่นหนาน่าเชื่อถือได้แต่อย่างใด
จนถึงยุค คสช. เข้ายึดอำนาจ ที่การใช้กฎหมาย 112 อย่างหนักข้อและรุนแรงไร้เหตุผลขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงได้เห็นว่ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะ
โพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง (คดีของ ฐนกร)
พูดว่า “จ้า” (คดีของ พัฒน์นรี แม่ของ จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์)
แชร์โพสต์ข่าวจากเพจเฟซบุ๊ก (คดีของ ไผ่ จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน)
ไล่เรียงมาจนถึงช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ที่ความรุนแรงจากรัฐถูกดันจนทะลุเพดาน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ตัวเลขของผู้ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายมาตรา 112 พุ่งสูงสุดขึ้นเป็นประวัติการณ์
สิทธิ ชีวิต อิสรภาพ สิ่งที่ 112 พรากไปจากชีวิตคน
เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โทษของมาตรานี้จึงหนักหนาและเด็ดขาด
โทษขั้นต่ำของกฎหมายมาตรานี้คือติดคุก 5 ปี ไม่มีโทษปรับ
โทษจำคุกสูงสุดที่มีคนเคยได้รับคือ 30 ปี (คดีของวิชัย และพงษ์ศักดิ์)
และด้วยความที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเบื้องสูง สถานะและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ถูกฟ้องจึงถูกลิดรอนโดยอัตโนมัติ ไม่เคยมีใครได้ต่อสู้คดีอย่างถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงหลังถูกจองจำด้วย
ทันทีที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 คนคนนั้นก็จะถูกตีตราด้วยความเป็นคนไม่ดี หรือคนเลวทันที ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งว่าสิ่งที่พวกเขากระทำนั้นเป็นความผิดจริงหรือเปล่า
และสุดท้ายคือเรื่องของอิสรภาพที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกคุมขัง ผู้ที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองซึ่งชีวิตไม่ได้ราบเรียบสวยหรู ยิ่งกว่านั้นคือการต้องอยู่กับความหวาดวิตก ไปจนถึงผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงจิตใจของครอบครัวที่ต้องแหลกสลายอย่างไม่อาจกอบกู้ให้เป็นดังเดิม
วันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงก็ต้องมาถึง
จากประเด็นที่ยกตัวอย่าง และหากได้อ่านหนังสือทั้งหมด จะเห็นภาพรวมของกฎหมายมาตรานี้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และจากเหตุการณ์ที่ไล่เรียงในระยะเวลาเพียงไม่นาน ก็ทำให้เกิดความคลางแคลงและตั้งคำถามต่อข้อกฎหมายนี้อย่างมากมาย จนเชื่อว่าภายในใจของหลายต่อหลายคนคงเกิดความคิดหนึ่งขึ้นในใจว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเสียที”
ด้วยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทิศทางที่ทุกๆ สิ่งดีขึ้นและเป็นที่พอใจของคนทุกฝ่าย หนังสือจึงได้รวบรวมข้อคิดเห็นหรือประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 มาให้ศึกษาและเสนอทางออกร่วมกัน ตั้งแต่การเปรียบเทียบข้อกฎหมายการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับสถาบันกษัตริย์ประเทศอื่น ข้อเสนอการแก้ไขของคณะบุคคลที่หลากหลายและแตกต่าง ไปจนถึงว่า ถ้าไม่มีกฎหมายข้อนี้แล้ว จะมีอะไรที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์ได้ ซึ่งอ่านแล้วเชื่อว่าแต่ละคนคงต่างมีคำตอบในใจ และทางออกที่ใช่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการเห็นต่างเป็นสิ่งแสนสามัญของประชาธิปไตย
หากสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ คุณก็ไม่อาจปฏิเสธได้ คือความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดต้านทานมันได้ แม้จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แม้จะยื้อยุดฉุดรั้งเพียงใด เฉกเช่นกาลเวลาที่เดินหน้าไปสู่อนาคตเสมอ ที่สำคัญก็คือ เมื่อเมล็ดพันธุ์ทางความคิดถูกฝังลงในใจคนแล้ว แม้จะเหยียบย่ำเพียงใด ก็จะผลิบานได้ใหม่เสมอ