จัดระเบียบ Back of the Mind ใหม่ให้มีระเบียบมากขึ้น - Urban Creature

ในแต่ละวัน เราย่อมมีความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นผสมปนเปกันไป อาจเป็นเพราะว่าอารมณ์ต่างๆ กำลังทำงานหนัก เพื่อให้การใช้ชีวิตของเราออกมาอย่างสมบูรณ์แบบก็เป็นได้

เช่นเดียวกับ ‘ไรลีย์’ (Riley) เด็กน้อยที่มีเหล่าอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ลั้ลลา’ (Joy), ‘เศร้าซึม’ (Sadness), ‘หยะแหยง’ (Disgust), ‘กลั๊วกลัว’ (Fear) และ ‘ฉุนเฉียว’ (Anger) คอยปกป้องเธอเอาไว้ให้เติบโตมาอย่างดี

แต่เมื่อใน ‘Inside Out 2’ ไรลีย์เริ่มโตขึ้น ลั้ลลาก็เลยไม่สามารถที่จะปกป้องความรู้สึกนึกคิดของเธอได้ทั้งหมด รวมไปถึงอารมณ์ใหม่ๆ อย่าง ‘ว้าวุ่น’ (Anxiety), ‘อิจฉา’ (Envy), ‘เขินอาย’ (Embarrassment) และ ‘เบื่อหน่าย’ (Ennui) ที่เพิ่มขึ้นและหลอมรวมให้ไรลีย์ได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ภูเขาอารมณ์ใน ‘Back of the Mind’ จะต้องได้รับการจัดระเบียบให้เรียบร้อย เพราะลั้ลลาไม่จำเป็นต้องโยนความทรงจำที่ไม่ดีเข้าสู่ภูเขากองนั้นทั้งหมด แต่เลือกบางส่วนที่คิดว่าไรลีย์ยังไม่พร้อมรับมือจริงๆ เข้าไปเก็บเอาไว้ในนั้นแทน

คอลัมน์ Urban Isekai เลยขอพาทุกคนทะลุเข้าไปในสมองของไรลีย์ และแฝงตัวเข้าไปเป็น ‘Mind Workers’ ตัวฟ้า (ที่หน้าตาคล้าย M&M’S) เพื่อสร้างระบบการจัดเก็บ ‘ความทรงจำ’ ของไรลีย์ให้เป็นระเบียบและพร้อมสำหรับการใช้งานในอนาคตกัน

Inside Out 2

ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อให้ Joy ทำงานง่ายขึ้น

ปกติแล้วอารมณ์ต่างๆ ในตัวเราจะทำงานกันผ่านคอนโซลเป็นหลัก เพื่อควบคุมอารมณ์ของเราในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นก็เลยจะขออนุญาตหยิบอุปกรณ์ลงมือรีโนเวตคอนโซลให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพขึ้น ด้วยการติดตั้งแล็ปท็อปเพิ่มอีกอันที่มาพร้อมฟังก์ชันให้ลั้ลลาทำงานได้ง่ายขึ้น

แล็ปท็อปเครื่องนี้มีฟังก์ชันในการเก็บข้อมูลและสั่งการต่างๆ เช่น ระบุข้อมูลว่าความทรงจำนี้คืออะไร อยู่ในหมวดหมู่ใด ถูกจัดเก็บไว้ที่ไหน หรือใช้เรียกดูความทรงจำที่เก็บเข้า Back of the Mind ทั้งหมดได้ เพื่อใช้ตรวจสอบว่าความทรงจำไหนพร้อมเก็บเข้าสู่ ‘Long Term Memory’ หรือพร้อมในการสร้าง ‘Sense of Self’ (การสร้างตัวตน) หรือยัง

สร้างระบบคัดเลือกจัดเก็บความทรงจำที่ไม่ดีเข้า Back of the Mind ในรูปแบบ Vending Machine

ก่อนหน้านี้ ในทุกๆ วันอารมณ์ทั้งหลายจะคัดเลือกความทรงจำที่ไม่ดีส่งไปเก็บเอาไว้ใน Back of the Mind เพื่อปกป้องไม่ให้ไรลีย์ต้องคิดถึงความทรงจำแย่ๆ นั้นอีก แต่เมื่อไรลีย์โตขึ้น ลั้ลลาและผองเพื่อนไม่อาจปกป้องความรู้สึกทั้งหมดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมี Protection Systems เพราะฉะนั้นพื้นที่ Back of the Mind ที่กักเก็บความทรงจำที่ไม่ดีของไรลีย์จึงยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนหน้าตาเป็นเวอร์ชันที่อัปเกรดขึ้นเท่านั้นเอง

โดยในเวอร์ชันนี้ ลั้ลลาจะสามารถสั่งการผ่านแล็ปท็อป เพื่อทำการจัดเก็บความทรงจำ และจัดระเบียบว่าที่ส่งไปจัดเก็บนั้นมีอะไรบ้าง จัดเก็บไว้ในหมวดหมู่ไหน โดยระบบการจัดเก็บจะเปลี่ยนจากการดีดความทรงจำออกจากหอสั่งการไปกองบนภูเขาอารมณ์ที่ Back of the Mind ให้เป็นการจัดเก็บเข้าระบบในรูปแบบของ Vending Machine แทน เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานหรือเรียกดูความทรงจำเหล่านั้นในภายหลัง

คัดแยกความทรงจำด้วยการใช้รหัส

ความทรงจำที่ไม่ดีบางส่วนอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตัวตนของไรลีย์ได้ ดังนั้นเราจะจัดระบบเก็บความทรงจำดังกล่าว เพื่อให้ลั้ลลาทำงานได้ง่ายขึ้น โดยจะแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวด A คือความทรงจำที่พร้อมเก็บเข้า Long Term Memory, หมวด B คือความทรงจำที่ถูกเลือกไปสร้าง Sense of Self ให้สมบูรณ์ และ หมวด C คือความทรงจำบางส่วนที่ยังไม่พร้อมเก็บ หรือยังไม่พร้อมที่จะเอาไปสร้างตัวตน แต่ว่าสามารถนำกลับมาพัฒนา Sense of Self ของไรลีย์ได้ในภายหลัง

และเพื่อจำแนกความทรงจำแต่ละความทรงจำให้เป็นสัดส่วน เราจะจัดเก็บเข้าระบบด้วยการใช้รหัสแทนชื่อเหตุการณ์ เพื่อป้องกันความสับสน เช่น ความทรงจำที่ไรลีย์ทำฟาวล์ในเกมฮอกกี้ ถูกเข้ารหัสเอาไว้ในชื่อ ‘C-123’ ซึ่งเมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ไรลีย์พร้อมรับมือกับความทรงจำที่ไม่ดีแล้ว ลั้ลลาก็แค่กรอกรหัสนั้นและส่งข้อมูลไปให้กับ Mind Workers พาความทรงจำนั้นไปยัง Long Term Memory หรือนำไปสร้าง Sense of Self ได้โดยตรง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.