Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบสนามเด็กเล่น - Urban Creature

ภาพของเด็กๆ วิ่งเล่นชุลมุน ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเฮฮา บนเครื่องเล่นสีสันสดใส คือบรรยากาศที่เราสัมผัสได้เสมอเมื่อไปเยี่ยมเยือนสนามเด็กเล่น

สนามเด็กเล่นคือพื้นที่แห่งความสุขของเด็ก เป็นพื้นที่ที่พวกเขา (และเราในอดีต) ได้ใช้เวลากระโดดโลดเต้นกับเพื่อนฝูงโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก นอกเสียจากจะเล่นอย่างไรให้สนุกที่สุด

มองแบบผิวเผิน เหมือนว่าสนามเด็กเล่นจะเป็นแค่พื้นที่ให้เด็กเล่นสนุก ปลดปล่อยพลังอันเหลือล้นจนเหนื่อยหอบ แต่ ‘ญารินดา บุนนาค’ และ ‘โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์’ (Roberto Requejo Belette) กลับมองว่าสนามเด็กเล่นมีประโยชน์และมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น และมันคือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเมืองที่น่าอยู่

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์ ญารินดา บุนนาค

ญารินดาและโรเบร์โต้ คือสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Imaginary Objects ออฟฟิศออกแบบที่ทำงานหลากหลายรูปแบบ นอกจากผลงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน พวกเขายังเชื่อมั่นกับการออกแบบสนามเด็กเล่น และฝากผลงานออกแบบไว้มากมาย เช่น Play Objects ต้นแบบสนามเด็กเล่นสำหรับชุมชนในงาน Bangkok Design Week 2020, Thawsi Playground สนามเด็กเล่นที่โรงเรียนทอสี หรือ Kitblox ผลงานเครื่องเล่นตัวต่อหลากสีหลายรูปทรงสำหรับเด็ก

ในมุมมองของพวกเขา สนามเด็กเล่นจะช่วยสร้างเมืองที่น่าอยู่ได้อย่างไร นอกจากการเป็นสถานที่เล่นสนุก สนามเด็กเล่นมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง และไอเดียเบื้องหลังการสร้างสนามเด็กเล่นของพวกเขาคืออะไร มาโลดแล่นไปในบทสนทนาและค้นหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์ ญารินดา บุนนาค

เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนเด็กๆ คุณเติบโตมากับสนามเด็กเล่นแบบไหน

ญารินดา : ตอนเด็กใช้เวลาเล่นส่วนใหญ่อยู่ที่สนามหลังบ้าน ที่บ้านมีเครื่องเล่นเล็กๆ สไลเดอร์ ชิงช้า บ้านกระท่อมไม้ไผ่เล็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สร้างเอาไว้ เราจะใช้เวลาอยู่ในกระท่อมเยอะมาก นอกจากบ้านก็จะไปสนามเด็กเล่นที่โรงเรียน

บ้านของเราอยู่ชานเมือง ซึ่งข้อเสียของชานเมืองคือบ้านส่วนใหญ่จะมีกำแพงล้อมรอบ เดินออกไปข้างนอกก็ไม่ค่อยมีอะไร เราจะรู้สึกเหมือนติดเกาะ มีขี่จักรยานไปเล่นบ้านเพื่อนหรือในซอยบ้าง แต่เราจะไม่ค่อยไปไกล เพราะในซอยไม่มีทางเท้า ค่อนข้างจะอันตรายสำหรับเด็ก มันไม่ได้เป็นชานเมืองที่อุดมด้วยธรรมชาติ มีทุ่งหรือป่าแบบต่างประเทศ

โรเบร์โต้ : ผมเติบโตในย่านชานเมืองของเมืองมาดริด ประเทศสเปน ในช่วงทศวรรษที่ 80 ย่านที่ผมอยู่เต็มไปด้วยตึกอะพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่โล่งกว้าง แต่มันไม่ใช่พื้นที่สีเขียวนะ มันออกจะแห้งแล้งสักหน่อย ไม่ไกลจากที่ผมอยู่คือโรงงานคอนกรีต โรงงานรถยนต์ แล้วผมอยู่ใกล้สนามบิน เพราะฉะนั้นมันมีความเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

สถานที่ที่ผมเติบโตไม่ได้มีเครื่องเล่น แต่ผมกับเพื่อนจะหาวิธีเล่นภายในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่เอง พวกเราเตะฟุตบอลบนลานคอนกรีต บางทีก็ปีนป่ายบนปล่องสี่เหลี่ยมที่น่าจะเป็นปล่องระบายอากาศของลานจอดรถใต้ดิน

มองว่าพื้นที่เล่นของตัวเองตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

ญารินดา : สมัยนั้นแถวบ้านเราพื้นที่เล่นนอกบ้านแทบจะไม่มีเลย และพื้นที่เมืองก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะเล่นได้ด้วย เดินออกจากซอยไปก็กลัวโดนรถชน ไม่มีฟุตพาทให้เดิน บ้านก็ล้อมรั้วกันสูง ไม่มีใครเป็นหูเป็นตาเวลาเล่นแล้วเกิดอันตราย ด้วยผังเมืองของกรุงเทพฯ ที่ออกแบบมาพึ่งพารถเป็นหลัก มันค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็กอย่างเราที่จะออกไปเล่น จนถึงตอนนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าพื้นที่เมืองเกื้อหนุนแก่การเล่นหรือการผจญภัยของเด็กมากขึ้น แต่อันตรายขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะคนอยู่เยอะขึ้น พอประชากรเยอะขึ้น พื้นที่แออัดมากขึ้น การเล่นข้างนอกบ้านเลยอันตรายมากขึ้นไปอีก

โรเบร์โต้ : ของผมแตกต่างกับญารินดา เพราะเวลาผมลงมาจากอะพาร์ตเมนต์ แม่จะปล่อยผมออกไปเล่นไกลๆ ได้เลย โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอันตราย บางทีผมก็ปั่นจักรยานไปเล่นบนพื้นที่โล่ง ขุดดินเป็นรางลูกแก้ว มันมีที่โล่งกว้างเยอะมากแต่ไม่ได้ออกแบบให้เป็นอะไรโดยเฉพาะ เราใส่ไอเดียการเล่นของเราลงไปบนพื้นที่ว่างเปล่าพวกนั้นเอง

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์ ญารินดา บุนนาค

พวกคุณสนใจการออกแบบสนามเด็กเล่นตอนไหน

ญารินดา : จริงๆ ออฟฟิศตอนที่ตั้ง Imaginary Objects ปี 2018 เราก็ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน แต่จุดเริ่มต้นที่เราเบนเข็มเข้ามาออกแบบเครื่องเล่น คือปี 2020 ที่เราเสนอโครงการสำหรับงาน Bangkok Design Week ตอนนั้นปัญหาที่เห็นคือ เรามองว่ากรุงเทพฯ มีสนามเด็กเล่นน้อยมากๆ และอีกประเด็นหนึ่งคือ กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างในเมืองเต็มไปหมดเลย ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสพัฒนา

เราเลยมองว่า ถ้าเอาสนามเด็กเล่นไปใส่ จากพื้นที่รกร้างน่ากลัว มันจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนทันที เพราะถ้ามีเด็กมาเล่น พ่อแม่ก็ต้องมา หรือบางทีตายายก็มาด้วย เพื่อนบ้านก็จะรู้จักกันเพราะพาลูกมาเล่นกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้ชุมชนเหนียวแน่นขึ้นด้วยซ้ำ เลยเกิดเป็นโครงการทำสนามเด็กเล่นในงาน Bangkok Design Week 2020 ขึ้นมา

หลังจากที่ทำเทศกาล Bangkok Design Week ครั้งนั้น เราค้นพบว่าการออกแบบสนามเด็กเล่นสนุกมาก แล้วมันให้ความปีติทันที ความอิ่มเอมใจทันที เพราะโมเมนต์ที่มันเสร็จปั๊บ เราเห็นเด็กแถวชุมชนตรงนั้น เห็นคนร่วมงานมาเล่น เห็นความสุขที่เราได้มอบให้กับเขา มันชัดเจนกว่าเวลาเราออกแบบอาคารเสร็จแล้วลูกค้าเข้าไปใช้มัน

หลังจากงาน Bangkok Design Week คนก็เริ่มติดต่อมาว่าช่วยไปออกแบบสนามเด็กเล่นโรงเรียนได้ไหม ที่บ้านเขาได้ไหม เราก็เริ่มออกแบบสนามเด็กเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โรเบร์โต้ : ผมว่าอีกเหตุผลคือเราทั้งสองคนต่างมีครอบครัวมีลูกด้วย เวลาไปเที่ยวเมืองต่างๆ ในวันหยุด เราชอบมองหาพื้นที่ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นและใช้เวลาอย่างสนุกสนาน เราสนใจเรื่องพัฒนาการของเด็กและรับรู้ว่าการเล่นสำคัญมากต่อพัฒนาการเด็ก

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก Bangkok Design Week 2020
Credit : Behype Perspective
Credit : Behype Perspective

การออกแบบสนามเด็กเล่นแตกต่างกับการทำงานออกแบบอย่างอื่นอย่างไรบ้าง

โรเบร์โต้ : เราได้ทดลองไอเดียเยอะกว่ามากในการออกแบบสนามเด็กเล่น เพราะในโปรเจกต์รูปแบบอื่นนั้นมักจะมีข้อจำกัดเยอะกว่ามาก มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น งบประมาณ การขาย งานระบบ แต่การทำสนามเด็กเล่นมันทำได้รวดเร็ว และใช้งบประมาณไม่มาก และเห็นผลลัพธ์ได้ทันทีว่ามันสร้างความสุขให้คนใช้งานมากแค่ไหน มันไม่ซับซ้อนและไม่ต้องใช้ระยะเวลาการก่อสร้างที่ยาวนาน

อีกอย่างคือ กิจกรรมของสนามเด็กเล่นคือการเล่น เป้าหมายการออกแบบคือการสร้างพื้นที่ให้คนได้เล่นอย่างสนุกสนาน ได้เอาร่างกายไปมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องเล่นอย่างใกล้ชิด ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย

พอความสนุกสนานเป็นจุดหมายปลายทาง มันเลยออกแบบได้เพลิดเพลินกว่าการทำพื้นที่แบบอื่นอย่างออฟฟิศหรือบ้านเรือน ที่คนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงานออกแบบแนบแน่นเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ได้เข้าไปทำอะไรสนุกๆ ด้วย

ญารินดา : เวลาที่ออกแบบงานประเภทอื่น เราเห็นความสุขได้ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่พอเป็นสนามเด็กเล่น เราได้เห็นความสุข ความสนุก ความอิ่มเอมใจของคนที่มาใช้งานชัดและเร็วกว่ามาก มันชื่นใจมากเลย

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์ ญารินดา บุนนาค

ทำไมเมืองถึงต้องมีสนามเด็กเล่น ทั้งๆ ที่เด็กอาจจะเล่นของเล่นที่บ้านหรือเล่นที่ถนนหน้าบ้านก็ได้

โรเบร์โต้ : ในความเป็นจริงเด็กสามารถเล่นที่ไหนก็ได้ และสรรหาวิธีเล่นได้ด้วยตัวเอง แต่สนามเด็กเล่นจะช่วยให้การเล่นมีคุณภาพมากขึ้น มอบประสบการณ์แตกต่างที่เด็กๆ ไม่เคยพบเจอ แล้วช่วยให้เขามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เปรียบเทียบเหมือนการวาดภาพ ถ้าคุณทดลองใช้สี พู่กัน เครื่องมือวาด พื้นผิวที่วาด หรือเทคนิคที่ต่างออกไป คุณอาจได้ผลงานศิลปะที่พิเศษกว่าการวาดด้วยสีธรรมดาลงบนผืนผ้าเปล่า มันคือการเติมแต่งประสบการณ์การเล่นให้รุ่มรวย ได้ทางเลือกในการเล่นเพิ่มมากขึ้น

ญารินดา : สนามเด็กเล่นยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กสามารถเสี่ยง ลองผิดลองถูก ล้มได้ เจ็บได้ สนามเด็กเล่นถูกออกแบบมาให้คิดถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นการบริหารความเสี่ยง ว่าเราจะทำพื้นที่อย่างไรให้เด็กได้ท้าทายความสามารถและเพิ่มศักยภาพตัวเอง โดยที่จะไม่เกิดการบาดเจ็บรุนแรง การสร้างสนามเด็กเล่นจึงจำเป็นเพราะมันคือขอบเขตที่ปลอดภัย ต่างกับการปล่อยให้เด็กไปเล่นบนถนนแล้วเขาอาจจะถูกรถชนก็ได้ แล้วสนามเด็กเล่นก็เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านได้พบปะกัน สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนที่เหนียวแน่นด้วย

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก Beaconhouse
Credit : Jinnawat Borihankijanan

คิดว่าสนามเด็กเล่นช่วยสร้างเมืองที่ดีได้อย่างไรบ้าง

ญารินดา : มันช่วยเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเมือง พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กไม่ควรจำกัดอยู่แค่ที่บ้านและโรงเรียน ใช่อยู่ที่มีแค่บ้านกับโรงเรียนเด็กก็เติบโตเรียนรู้ได้ แต่เราไม่ควรผลักภาระว่าเด็กจะต้องเติบโตอยู่แต่ในบ้าน หรือโรงเรียนจะต้องสอนทุกอย่างให้กับเด็ก เพราะฉะนั้นแล้วนอกจากสองพื้นที่นี้ สนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ให้อิสระเด็กกับการทดลอง เรียนรู้ตัวเอง ค้นหาตัวเอง ได้เข้าสังคมโดยไม่มีคนมาบอกว่าต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น มันเป็นพื้นที่ของเขาจริงๆ

โรเบร์โต้ : ผมคิดว่าสนามเด็กเล่นช่วยดึงสภาวะแบบธรรมชาติกลับเข้ามาที่เมืองด้วย เพราะสิ่งต่างๆ ในเมืองถูกออกแบบโดยมีฟังก์ชันการใช้งานกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ในธรรมชาติมันไม่ได้มีอะไรบอกว่าเราต้องใช้งานกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือลำธารยังไง เราอาจจะห้อยโหนไปกับกิ่งไม้ ปีนต้นไม้ หรือกระโจนลงไปในลำธาร สภาพแวดล้อมเมืองไม่ได้ถูกออกแบบให้ร่างกายมีปฏิสัมพันธ์ได้หลากหลายเหมือนกับธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมอย่างนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลและจินตนาการในการใช้ชีวิตได้เยอะกว่ามาก

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก

มองสถานการณ์ของสนามเด็กเล่นในเมืองอย่างกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง

โรเบร์โต้ : ผมมองว่าสนามเด็กเล่นสัมพันธ์กับสวนสาธารณะ เพราะสนามเด็กเล่นมักอยู่ในสวนสาธารณะ แล้วในสายตาของคนต่างชาติอย่างผม ถึงกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะอยู่บ้างอย่างสวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนเบญจกิติ แต่คนส่วนใหญ่เข้าถึงสวนพวกนี้ไม่ได้เพราะมันไกลจากบ้านที่พวกเขาอยู่ เพราะฉะนั้นคนเลยเข้าถึงการพักผ่อนและการเล่นในสนามเด็กเล่นไม่ได้

ญารินดา : มองเหมือนกับโรเบร์โต้ เราคิดว่าปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ คือการเข้าถึง เคยพูดตลกกับสามีว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งซอยตัน เรามีถนนใหญ่ที่แตกซอยเป็นถนนเล็กย่อยที่ลึกสองสามกิโลเมตรแล้วกลายเป็นซอยตัน ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยเป็นหลัก การเดินทางจากบ้านมาสวนสาธารณะจึงลำบากมาก คนต้องออกจากซอยมาต่อรถต่อขนส่งสาธารณะหลายชั้นกว่าจะไปได้ เพราะฉะนั้นสนามเด็กเล่นก็เลยเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ยากเช่นกัน

แล้วเรามองว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสในการออกแบบได้หรือเปล่า

ญารินดา : โปรเจกต์ล่าสุดคือตัว Kitblox ก็ตอบโจทย์สภาวะเมืองแบบนี้ เพราะอีกปัญหาของการสร้างสนามเด็กเล่นที่เราเรียนรู้ตอนทำ Bangkok Design Week คือ หลายชุมชนมีข้อจำกัดที่ทำให้สร้างสนามเด็กเล่นภายในชุมชนไม่ได้

อย่างชุมชนหนึ่ง เราไปเจอพื้นที่ว่าง พอคุยกับหัวหน้าชุมชน เขาบอกว่าไม่สามารถสละเป็นพื้นที่สนามเด็กเล่นได้ เพราะเอามาทำเป็นที่จอดรถได้รายได้มากกว่า อีกที่หนึ่งเราไปเจอพื้นที่ว่างเหมือนกัน เราก็คุยว่าเอาสนามเด็กเล่นไปตั้งได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นสุสานเก่าของบรรพบุรุษ ถ้าไปตั้งจะเป็นการลบหลู่ หรืออีกที่เป็นพื้นที่ริมน้ำ ถ้าจะเอาสนามเด็กเล่นไปตั้งต้องมีการถมดิน เพิ่มงบเยอะเลย เพราะพื้นที่ตรงนั้นหน้าฝนน้ำจะท่วมตลอด แต่ละที่มีข้อจำกัดเยอะมากในแง่ของการจะสร้างสนามเด็กเล่นและเอาสนามเด็กเล่นไปวางตรงพื้นที่นั้น

Kitblox Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น
Credit : Jinnawat Borihankijanan

ทีนี้ก็เป็นที่มาไอเดียโครงการ Kitblox ตอนนั้นทาง Mappa (แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ความรู้ทักษะชีวิตกับพ่อแม่และลูก-ผู้เขียน) ร่วมกับ สสส. มาปรึกษาเราว่าเขาอยากออกแบบสนามเด็กเล่นที่เคลื่อนย้ายได้ เพื่อใช้กับเทศกาลที่เขาจะนำไปจัดในหลายจังหวัด ทีนี้พอ Mappa กับ สสส. ให้ทุนมา เราเลยคิดว่ามันต้องไม่ใช่สนามเด็กเล่นถาวรทั่วไป แต่ต้องเป็นอะไรบางอย่างในสเกลที่เคลื่อนย้ายและจัดเก็บได้ เลยเป็นที่มาของ Kitblox ที่เป็นตัวต่อขนาดยักษ์ ที่สามารถจะไปอยู่ในพื้นที่แบบไหนก็ได้ และโยกย้ายได้ เป็นเครื่องมือให้เด็กสามารถออกแบบและสร้างพื้นที่เล่นให้พวกเขาเอง มันตอบโจทย์กับชุมชนที่ไม่มีพื้นที่สร้างสนามเด็กเล่น ชุมชนอาจเอามันไปใส่ในห้องสมุดชุมชนวันหนึ่ง อีกวันก็ย้ายไปไว้ที่สถานีอนามัย เป็นการ Share สนามเด็กเล่น

คิดว่าเป็นสนามเด็กเล่นอีกแบบหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์เมือง และตัดตอนความยุ่งยากของระบบการสร้างสนามเด็กเล่นด้วย ไม่งั้นกว่าเมืองจะมีสนามเด็กเล่นสักแห่ง ต้องไปหาพื้นที่ หาดีไซเนอร์ ออกแบบ ผ่านขั้นตอนประมูล หาผู้รับเหมา กว่าจะสร้าง กว่าจะเสร็จ แต่ถ้าเป็น Kitblox สามอาทิตย์ทำที่โรงงานก็เสร็จแล้ว เอาไปตั้งที่ไหนก็ได้

สนามเด็ดเล่น kitbox

คุณคิดอะไรกันบ้างเวลาออกแบบสนามเด็กเล่นสักโปรเจกต์หนึ่ง

โรเบร์โต้ : หากดูผลงานที่เราเคยทำที่ผ่านมา สนามเด็กเล่นของเราสร้างจากการเอาองค์ประกอบหรือ Objects ที่แตกต่างมาประกอบกันในพื้นที่ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบจะให้ประสบการณ์การเล่นที่หลากหลาย เราอยากเปิดโอกาสให้เด็กๆ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องเล่นของเราได้หลายรูปแบบ เป็นองค์ประกอบปลายเปิดที่ไม่ได้จำกัดชัดเจนว่ามีวิธีเล่นอย่างไร

ในการสร้างงานสถาปัตยกรรม ลูกค้ามักมีโจทย์ชัดเจนว่าในตึกจะต้องมีกิจกรรมอะไรบ้าง แต่สนามเด็กเล่นที่เราทำ เราพยายามเปิดกว้างความเป็นไปได้ของกิจกรรม ปล่อยให้เด็กๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการเล่นอย่างเต็มที่

ญารินดา : ตอนออกแบบชิ้นตัวต่อของโปรเจกต์ Kitblox เราพยายามหาสมดุลระหว่างรูปทรงเรขาคณิตกับรูปทรงที่เด็กรู้จัก เช่น ตัวอักษรหรือสัตว์ เราอยากให้ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีรูปร่างหน้าตาดึงดูด ในขณะเดียวกันก็ต้องตีความได้หลายแบบ และประกอบกับชิ้นอื่นๆ ได้ด้วย บางชิ้นเด็กบางคนอาจมองเป็นบันได บางคนมองเป็นเครื่องบิน บางชิ้นอาจคล้ายตัว S หรือเหมือนเป็ด เราไม่อยากดีไซน์ให้รูปทรงมันชัดเกินไป เพราะเด็กจะไม่ได้ใช้จินตนาการ แล้วเราก็เจาะรูหรือทำหยักเพื่อให้ชิ้นส่วนอื่นมาเสียบเข้ากันได้

เราออกแบบชิ้นส่วน Kitblox ให้บางชิ้นใหญ่เกินกว่าเด็กคนเดียวจะยกกันได้ด้วย เพราะเด็กๆ จะได้มีเพื่อนช่วยยก มันมีการสอดแทรกทักษะการเรียนรู้เข้าไปในตัวดีไซน์

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรเบร์โต้ เรเกโฮ เบเล็ตต์ ญารินดา บุนนาค

การเปิดโอกาสให้เด็กตีความเครื่องเล่นและออกแบบสนามเด็กเล่นด้วยตัวเองสำคัญอย่างไร

ญารินดา : มันฝึกให้เด็กมีความคิดเชิงวิพากษ์ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้เขาแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เราไม่ได้ให้อะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ เด็กสามารถต่อชิ้นส่วนเป็นรถ แล้วทลายเป็นเรือ เป็นบ้าน ทำให้เขาเห็นได้ด้วยตัวเองว่าเขามีความสามารถที่จะสร้างสรรค์อะไรออกมาได้อย่างไม่สิ้นสุด

โรเบร์โต้ : มันหมายความว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น เขาจะกล้าลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกได้ด้วย

ในเคสของสนามเด็กเล่นที่ยึดติดอยู่กับที่ คุณออกแบบสนามเด็กเล่นประเภทนี้อย่างไรให้เด็กรู้สึกว่าเขาสามารถสร้างโลกในแบบที่เขาอยากสร้างได้เหมือนกับ Kitblox

โรเบร์โต้ : สำหรับสนามเด็กเล่นที่ยึดติดกับที่แล้วเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ เราก็พยายามออกแบบให้เด็กเล่นได้หลายแบบ อย่างสนามเด็กเล่นโรงเรียนทอสี เราผสมผสานเครื่องบาร์โหนเข้ากับเสาปีนป่ายและแท่นเดินทรงตัว กลายเป็นโครงสร้างของแท่งไม้หลายแท่งซึ่งเด็กจะหาวิธีเล่นได้หลากหลายกว่าบาร์โหนธรรมดาแน่นอน

ญารินดา : เราใช้เทคนิค ‘ทับซ้อน’ ในการวางผังด้วย อย่างในโปรเจกต์ Beaconhouse Playgrounds เราเอาบ่อทราย แท่นหิน บาร์โหน แท่นปีนป่าย มาวางซ้อนกันในผังและผสมผสานกัน แท่นหินที่อยู่บนบ่อทรายอาจกลายเป็นที่นั่งหรือเป็นแท่นตารางเรียนคณิตศาสตร์ ขอบบ่อทรายก็อาจเป็นทางเดินทรงตัวที่เด็กเดินไปรอบๆ ก็ได้ เมื่อของหลายชิ้นมาอยู่ด้วยกัน ขอบเขตและหน้าที่ของมันจะเริ่มไม่ชัดเจนแล้ว เด็กก็ไม่รู้สึกจำกัดว่าต้องเล่นอย่างไร

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก Beaconhouse
Credit : Jinnawat Borihankijanan
Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก โรงเรียนทอสี
Credit : Ketsiree Wongwan

คุณเคยเห็นเด็กเล่นเครื่องเล่นของคุณด้วยวิธีที่เหนือความคาดคิดบ้างไหม อะไรคือวิธีเล่นที่คุณเห็นแล้วเซอร์ไพรส์ที่สุด

ญารินดา : เยอะมาก อย่างเครื่องเล่นที่ทอสี เราไม่คิดว่าเด็กจะปีนที่กรอบรอบนอกตัวโคน เราคาดไม่ถึงเลยจริงๆ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็เป็นบทเรียนให้เราเหมือนกัน มันทำให้เรามีความระมัดระวังในการออกแบบมากขึ้น เพราะเด็กเขามีวิธีเล่นที่คาดไม่ถึง และถ้าเราออกแบบอะไรที่เสี่ยงภัยกับเด็กเกินไป มันอาจสร้างอันตรายให้กับตัวเด็กก็ได้

แล้วผู้ใหญ่จะได้ประโยชน์อะไรจากสนามเด็กเล่นบ้าง

ญารินดา : เราคิดว่าสนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ได้พบปะกันด้วย และหลายต่อหลายครั้ง บทสนทนาที่เกิดขึ้นมันดีและมีความหมายมาก แล้วมันยังเป็นพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ใช้เวลาร่วมกับเด็ก สร้างประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำด้วยกัน

โรเบร์โต้ : จริงๆ สนามเด็กเล่นรองรับการใช้งานจากคนหลายช่วงอายุได้ด้วย ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในฮ่องกง และที่ฮ่องกงผู้ใหญ่จะเข้ามาใช้งานสนามเด็กเล่นในตอนกลางคืนเพื่อออกกำลังกาย มันมีเครื่องเล่นออกกำลังกายแบบ Calisthenics ที่ผู้ใหญ่สามารถวิดพื้น โหนบาร์ สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนักร่างกายตัวเอง ตัวสนามเด็กเล่นเองจริงๆ มีหลายประเภท ตอบโจทย์คนหลายแบบ และสนามเด็กเล่นสำหรับผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องเล่น Calisthenics

Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบ สนามเด็กเล่น เมือง เด็กเล็ก Grown Up Playground
Credit : Ketsiree Wongwan

เราเคยทำโปรเจกต์ Grown Up Playground ที่ชวนให้ผู้ใหญ่ไปเล่นเหมือนเด็กอีกครั้ง ปล่อยตัวเองออกจากความคาดหวังของสังคม เราเลยออกแบบสนามเด็กเล่นในสเกลของผู้ใหญ่ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า มีโอกาสในการออกแบบสนามเด็กเล่นให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่เด็กด้วย 

สุดท้ายนี้ คุณมีภาพสนามเด็กเล่นในอุดมคติไหม

ญารินดา : สนามเด็กเล่นในอุดมคติของเราคือธรรมชาติ มันเปิดโอกาสให้เล่นได้หลายอย่างมาก ทั้งห้อยโหนตามกิ่งไม้ หาดทราย ปีนป่ายภูเขา แล้วก็มีบรรยากาศที่สวยงามมาก นี่คือสนามเด็กเล่นในอุดมคติ

ตอนโควิดระบาด เราพาสามีกับลูกย้ายไปอยู่หัวหิน เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเลยระหว่างตอนที่เขาอยู่คอนโดฯ กับตอนอยู่ทะเล ที่หัวหินลูกได้ลงไปเล่นน้ำ ก่อประสาททราย จับปู​ ซึ่งเราโชคดีมากๆ ที่มีธรรมชาติให้ลูกออกไปเล่น แต่คนอีกหลายคนเขาไม่มีโอกาสอย่างนั้น เราเลยหวังว่าอย่างน้อยการสร้างสนามเด็กเล่นในเมือง จะสร้างพื้นที่เรียนรู้เลียนแบบธรรมชาติ เอาไว้ให้เด็กๆ ได้ค้นหา ทดลอง และเจ็บตัวอย่างปลอดภัย

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.