High-Functioning Depression เหมือนไม่เป็นไรแต่ข้างในพัง - Urban Creature

ยังทำงานได้ดีเหมือนปกติ สังสรรค์กับเพื่อนได้เหมือนเดิม เที่ยวเล่นอย่างสนุกได้แบบไม่มีอะไรในใจ แต่ทำไมกลับถึงบ้านทีไรความรู้สึกข้างในถึงได้พังยับเยินก็ไม่รู้ 

อาการเหล่านี้มักรู้จักในชื่อของ ‘High-Functioning Depression’ หรืออาจอธิบายได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าที่ยังสามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ดี เนื่องจากอาการซึมเศร้าที่คนรู้จักกันนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพของคนที่หมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากทำอะไรจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ แต่สำหรับ High-Functioning Depression จะเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัวเพราะคนคนนั้นยังสามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเป็นการทำงาน การเข้าสังคม พูดคุยยิ้มแย้ม เล่นสนุกสนานได้เหมือนเดิม และมักคิดว่าไม่ใช่อาการที่รุนแรงแต่อย่างใด

High-Functioning Depression

ทำความเข้าใจกับ High-Functioning Depression

ชื่อของ High-Functioning Depression เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากเหตุการณ์เสียชีวิตของ ‘Cheslie Kryst’ พิธีกรและ Miss USA 2019 ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยแม่ของเธอได้เปิดเผยสาเหตุการสูญเสียของ Cheslie ว่าเป็นเพราะอาการ High-Functioning Depression ที่เธอเก็บซ่อนภาวะซึมเศร้าเอาไว้และต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตโดยลำพังมาอย่างยาวนาน 

ความจริงแล้ว High-Functioning Depression นั้นไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์หรือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM-5) โดยตรง แต่เป็นคำอธิบายภาวะของคนที่ยังสามารถทำงานได้ดีและใช้ชีวิตได้แบบปกติแม้ต้องอยู่กับความเครียดหรือความโศกเศร้าก็ตาม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชหลายคนมองว่าคำเรียกของ High-Functioning Depression นั้น เกิดขึ้นเพราะขาดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ ‘โรคซึมเศร้าแบบถาวร (Persistent Depressive Disorder หรือ PDD)’ หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)’ ที่แม้มีอาการไม่รุนแรงมากเท่ากับ ‘โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)’ แต่มีอาการยาวนานติดต่อกันกว่า 2 ปี 

อาการซึมเศร้าที่ซ่อนไว้ข้างใ

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าการทำให้ ‘ภาวะซึมเศร้าที่ยังทำงานได้ดี’ เป็นเสมือนภาวะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นได้และไม่รุนแรงนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคได้ เพราะ High-Functioning Depression เป็นเหมือนการอธิบายอาการซึมเศร้าที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย เนื่องจากยังสามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติและสุขภาพทรุดโทรมน้อยกว่าโรคซึมเศร้า และด้วยอาการที่ฟังดูไม่รุนแรงนี้เองที่อาจเพิ่มโอกาสให้คนละเลยอาการของตัวเองที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็อาจรู้สึกว่าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เป็น High-Functioning Depression เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติตามต้องการ ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม High-Functioning Depression ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (PDD) ซึ่งเป็นโรคจากการวินิจฉัยทางการแพทย์ เพราะแสดงอาการน้อยเหมือนกัน รวมถึงการที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะของอาการซึมเศร้า ทั้งๆ ที่อาการของโรคนั้นแม้ไม่หนักหนาสาหัส แต่ก็สามารถส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตทั้งในแง่ของการทำงาน สังคม และด้านอื่นๆ 

ทั้งนี้ อาการของผู้ที่เป็น High-Functioning Depression มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีอาการที่สังเกตได้อย่างน้อย 2 อาการเหมือนกับ PDD เช่น

  • ความอยากอาหารลดลง
  • ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ
  • เหนื่อยมากกว่าเดิม
  • ความมั่นใจในตัวเองลดลง
  • มีปัญหากับการจดจ่อ ความจำ และการตัดสินใจ
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า หรือรู้สึกผิด

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์และปัจจัยบางอย่างที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบ เช่น ปัญหาทางการเงิน, ความเครียดจากการทำงาน, การสูญเสียคนรัก, ความเหงา หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต ซึ่งความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดจากพันธุกรรม, ความวิตกกังวล, สุขภาพจิต, ความเครียดในชีวิต หรือปัจจัยทางสังคม เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ High-Functioning Depression ที่เศร้าแล้วใช้ชีวิตดีได้อย่างเดียว

แม้ว่าภาวะซึมเศร้านี้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจก่อให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าประเภทอื่นๆ ตามมาโดยไม่รู้ตัว เพราะการซ่อนอาการเศร้าและใช้ชีวิตแบบปกตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับโรคซึมเศร้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น

  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) 
  • โรคซึมเศร้าแบบถาวร (Persistent Depressive Disorder : PDD) หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) ที่จะมีอาการติดต่อยาวนานอย่างน้อย 2 ปี 
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder : SAD) มักจะเป็นในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี เกิดขึ้นบ่อยในช่วงฤดูหนาว อาการจะลดลงเมื่อกลับเข้าสู่ฤดูร้อน
  • โรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ (Perinatal Depression) เกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
  • อาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder : PMDD) เป็นอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์รุนแรงกว่า Premenstrual (PMS) ที่ผู้มีประจำเดือนมักเป็นในช่วงก่อนมีประจำเดือน
  • ภาวะซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ (Bipolar Depression) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของอารมณ์ อาจเกิดอารมณ์คุ้มคลั่งสลับกับอาการเศร้า
  • โรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน (Psychotic Depression) โรคซึมเศร้าที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่นเห็นภาพหลอนหรืออาการหลงผิด

อย่าเพิ่งมองข้ามว่าอาการเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จัดการได้ด้วยตัวเอง หรือไม่กล้าบอกใครเพราะกลัวโดนมองว่าอ่อนแอ หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังเจอกับภาวะซึมเศร้า ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อทำการประเมินอาการ หาสาเหตุที่เกิดขึ้น และหาทางรักษาในขั้นตอนต่อไป


Sources :
Medical News Today I bit.ly/3M7wsgM
NBC News I nbcnews.to/3RwiVQQ 
Verywell Mind I bit.ly/3fA8PkB

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.