เราได้ยินชื่อ Healthy Space Forum หรือศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง ครั้งแรกจากพอดแคสต์ Unlock the City ที่ ‘รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา’ ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังภาคและเมืองเป็นโฮสต์เจ้าประจำ ด้วยความเข้าใจว่า Healthy Space Forum คือหน่วยงานที่ต่อยอดมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์พนิตเป็นหนึ่งในผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนมีสนามฝึกปรือฝีมือ นำความรู้ที่ใช้มาออกแบบงานเพื่อใช้งานจริงๆ
ไม่ผิดไปจากความเข้าใจเท่าไหร่ สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือ เมื่อเราได้นั่งคุยกับอาจารย์พนิตและทีมนักออกแบบของ Healthy Space Forum ความเข้าใจว่าพวกเขาออกแบบพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อความ ‘เฮลตี้’ ของคนเมือง จริงๆ ถูกผลักเพดานไปไกลกว่านั้น
สิ่งที่พวกเขาทำนับตั้งแต่ Day 1 ในปี 2554 ไม่เพียงแต่ออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด แต่ยังหมายรวมถึงการตีความพื้นที่ในแบบใหม่ๆ ไปจนถึงการบริหารจัดการชุมชนให้คึกคักขึ้นมา
บรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องราวการเดินทางตลอด 12 ปีของ Healthy Space Forum และความเชื่อเบื้องหลังการออกแบบของพวกเขาที่ล้วนเป็นไปได้ภายใต้หนึ่งเป้าประสงค์ นั่นคือการผลักดันให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
พื้นที่ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบริหารร่างกายเท่านั้น
12 ปีก่อน Healthy Space Forum เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจว่าอยากสร้างพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันมากขึ้น
เนื่องจากรายงานทางการแพทย์ในเวลานั้นรายงานว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs กันเยอะจนน่าตกใจ และในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรค NCDs อันได้แก่ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเครียด เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะคนเมืองที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมขยับร่างกาย
“คนเราเป็นสัตว์ที่ต้องใช้แรง ต้องเดิน ต้องเคลื่อนที่ แต่พอมาอยู่ในเมือง มาทำงานในออฟฟิศ มันมีการขยับร่างกายน้อยกว่าฐานที่ต้องการ ร่างกายของทุกคนจึงไม่ได้ใช้อย่างที่ควรจะถูกใช้” อาจารย์พนิตย้อนกลับไปอธิบาย
ความท้าทายคือ ตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วคนเราต้องเดินไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นก้าวต่อวัน หรือประมาณ 5 ไมล์ “บอกได้ว่าเยอะมาก เราไม่ได้คิดว่าจะเติมตรงนี้ให้ได้ แต่เราจะแทรกองค์ประกอบหลายๆ อย่างลงไปในชีวิตของคุณเพื่อให้คุณขยับร่างกายได้”
งานแรกๆ ของ Healthy Space Forum จึงถูกยึดถือตามแนวทางนั้น เช่น การออกแบบโต๊ะประชุมแบบยืน ซึ่งก่อร่างสร้างชิ้นงานมาจากงานวิจัยที่บอกว่าการยืนทำงาน ยืนประชุม ยืนจิบกาแฟตอนพัก ช่วยให้เราได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และลดโอกาสที่จะเกิดความเมื่อยล้าหรือการนั่งเปื่อยๆ เพื่อเล่นโทรศัพท์มือถือ
รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่ให้กับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนมาออกกำลังกายมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือการได้ออกมาใช้เวลาร่วมกัน
ถึงตรงนี้ ‘ศิรดา ดาริการ์นนท์’ สถาปนิกผังเมืองอาวุโสก็อธิบายเสริม
“เคสหนึ่งที่เคยทำคือลานมีสุข เป็นพื้นที่ริมเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ตรงนั้นเป็นถนนที่ทั้งชุมชนต้องผ่านอยู่แล้ว เราเลยเข้าไปคุยกับเทศบาลว่า เป็นไปได้ไหมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้มาออกกำลังกาย พักผ่อนกัน
“โดยทั่วไปคนอาจจะคิดถึงสนามกีฬาธรรมดา นำโกลหรือแป้นมาตั้ง แต่เรามองว่าพื้นที่มันควรเป็นมากกว่านั้น เพราะถ้าคนไม่เล่นบาส เล่นบอล เขาจะไปที่ไหน เราอยากออกแบบพื้นที่ให้คนที่ไม่อยากเล่นกีฬาหนักๆ เช่น เด็กผู้หญิง คนทำงาน ไปจนถึงผู้สูงวัย ให้ออกมาใช้เวลาด้วยกันได้แม้พวกเขาจะไม่ออกกำลังกายก็ตาม” ศิรดาบอก
พื้นที่ที่ถูกตีความใหม่
หนึ่งในเพนพอยต์สำคัญที่ทีม Healthy Space Forum มองเห็นคือ พื้นที่สาธารณะที่รัฐพยายามสร้างนั้นเป็นสวนสาธารณะเสียส่วนใหญ่ ซึ่งบางทีหลายคนอาจจะเข้าไม่ถึง
“ยกตัวอย่าง สวนเบญฯ ถ้าอยู่ฝั่งธนฯ คุณจะมายังไง หรือถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ คุณก็มาทุกวันไม่ได้อยู่ดี เราคิดว่าควรมีพื้นที่แบบนี้อยู่ใกล้บ้าน แต่มันไม่มี” อาจารย์พนิตอธิบาย
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การตีความพื้นที่แบบใหม่ ในความหมายคือพื้นที่แห่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันเดียวเสมอไป
“หนึ่งในนั้นคือลานจอดรถที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี ซึ่งพอพนักงานเลิกงานแล้วลานจอดรถนั้นจะว่าง เราก็ไปขีดสีตีเส้นให้กลายเป็นลานออกกำลังกายหลังเลิกงานได้ นี่คือตัวอย่างว่าพื้นที่หนึ่งไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันเดียวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง และเมืองสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า” หัวเรือใหญ่ของศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองบอก
“หรือหากพูดถึงงานใหญ่ๆ ที่คนรู้จักกันดี เราก็เคยทำพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย” ‘วันพัฒน์ มาตังคะ’ หนึ่งในผู้จัดการโครงการยกตัวอย่างเคสที่เขาประทับใจในการร่วมออกแบบใหม่ให้เราฟัง
“ตรงนี้ทีมได้เข้าไปช่วยวางผัง ทำ Master Plan ใหม่ โดยมีเป้าหมายอยากปรับปรุงพื้นที่อาคารเพื่อความเป็นเลิศทางกีฬาและเพื่อประชาชน การออกแบบงานนี้เรามองเป็นสองมิติ มิติแรกคือความเป็นเลิศด้านกีฬา การจัดการแข่งขันต่างๆ ว่าจะมีโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เพื่อจุคนขนาดไหน จำนวนที่นั่งเท่าไหร่เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลกได้
“อีกฟังก์ชันหนึ่งคือการจัดงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแข่งขันกีฬา เช่น คอนเสิร์ต เวลาคิดถึงราชมังฯ เราจะนึกถึงปัญหาการเข้าถึงที่ไม่ค่อยสะดวก เราจึงแนะนำมาตรฐานไปว่าทางเท้าควรมีความกว้างเท่าไหร่เพื่อรองรับคนเป็นหมื่นๆ ที่เดินทางพร้อมกัน โดยคำนวณด้วยหลักการทางวิศวกรรมจราจรเพื่อให้พื้นที่นี้เดินทางได้สะดวก”
พื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ
เมื่อถามว่าพื้นที่แบบไหนที่ Healthy Space Forum จะช่วยเข้าไปพัฒนา ทีมสรุปนิยามเรียบง่ายมาบอกเราว่า มันคือพื้นที่ที่คนในชุมชนเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ดี แต่เขาไม่รู้จะทำยังไงกับมัน ซึ่งในระยะแรกเริ่มของการทำงาน พื้นที่เหล่านี้มักถูกแนะนำโดย สสส. ที่ป้อนงานมาให้ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มมีผลงานก็มีพื้นที่จากชุมชนหลายๆ แห่งติดต่อเข้ามาเอง
“คนที่เรียนผังเมืองจะรู้ว่าปัญหาของประเทศนี้คือการลงดาบ หรือคำสั่งจากรัฐที่ควบคุมการพัฒนาเมืองและกฎหมายต่างๆ แต่ในความเป็นจริง คนในพื้นที่คิดว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเขาที่สุด เขาควรจะได้ออกแบบตามแบบที่เขาต้องการจริงๆ” อาจารย์พนิตชี้
“ซึ่งแน่นอนว่าถ้าปล่อยให้ทำเองจะเละ เพราะเขาไม่ได้รู้เรื่องมาตรฐานหรือเรื่องความปลอดภัย ความเหมาะสม สิ่งที่เราทำคือช่วยเขาในเชิงเทคนิค แล้วให้เขามาช่วยงานไฟนอลทัชเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทาสี เพื่อให้เขารู้สึกผูกพัน รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ของเขา วันหนึ่งเขาอาจจะพาลูกหลานมาดูว่าเขาเป็นคนทำ นี่คือสิ่งที่ผูกเขาเข้ากับพื้นที่โดยไม่ต้องทำอะไรมาก”
‘วชิรกร อาษาสุจริต’ หนึ่งในผู้จัดการโครงการ ยกตัวอย่างเคสพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองเชียงรายให้เราเห็นภาพเพิ่ม
เขาเล่าว่า แต่ก่อนพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จากทุกอำเภอมานั่งรอรถโรงเรียนอยู่ริมถนน ลานตรงกลางเป็นที่จอดรถทั้งหมดซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรไปมากกว่านั้น พวกเขาจึงอยากเปลี่ยนพื้นที่จอดรถนี้ให้ยืดหยุ่นกับเด็กๆ ด้วยการเป็นลาน ‘รู้ เล่น เต้นรำ’ ให้เด็กจากหลายๆ โรงเรียนได้มาใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการเต้นคัฟเวอร์ หรือในวันหยุดพื้นที่นี้ก็แปลงโฉมเป็นส่วนหนึ่งของถนนคนเดินที่ผู้ใหญ่อีกเจเนอเรชันจะมาจัดงานรำวง ทำให้เราได้เห็นภาพของเด็กๆ เต้นคัฟเวอร์อยู่ข้างๆ รำวงของผู้ใหญ่ เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบน่ารักๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของคน 2 เจนฯ
และแน่นอนว่าสีสันอันสวยงามของลานกิจกรรมนี้ก็ได้เด็กๆ ขาประจำนั่นแหละมาช่วยทาสี เพื่อให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง
พื้นที่ที่ต้องค่อยๆ พัฒนาให้เติบโต
ในโปรเจกต์หนึ่งๆ สิ่งที่ทีม Healthy Space Forum จะลงมือทำก่อนคือการทำความเข้าใจเพนพอยต์และข้อจำกัดของคนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้คนในท้องที่ได้แชร์ความคิดเห็น ก่อนจะนำมาออกแบบด้วยความรู้ด้านผังเมืองที่ตัวเองมี
“ความแตกต่างคือ เมืองเมืองหนึ่งมีผู้ใช้งานเยอะ การออกแบบย่อมต่างจากสถาปนิกที่ออกแบบบ้านที่มีเจ้าของไม่กี่คน พื้นที่ของโครงการจึงไม่ได้คิดเผื่อแค่คนที่มาใช้เท่านั้น แต่ยังคิดถึงคนรอบข้าง เช่น บ้านข้างๆ จะอยู่ยังไง รถจะติดไหม วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งแง่ดีและแง่ลบ แล้วค่อยๆ พัฒนาพื้นที่นั้นเป็นเฟสให้คนมาลองใช้แล้วพัฒนาต่อ” ศิรดาเน้นย้ำ
อีกพาร์ตหนึ่งที่ Healthy Space Forum ทำงานด้วยคือการบริหารจัดการย่าน เพราะพวกเขามองว่าเมืองจะพัฒนาได้ ไม่ได้พึ่งพาแค่การส่งเสริมแค่เรื่องกายภาพเท่านั้น แต่คนในย่านยังสามารถผลักดันให้ย่านเติบโตขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีแบรนดิ้งที่แข็งแรงของตัวเองได้
“เราเป็น Manager หรือ Facilitator ช่วยไกด์ในการปั้นเครือข่ายภายในย่านให้เกิดขึ้น เพราะจริงๆ แล้วทุกย่านนั้นมีต้นทุนที่ดีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ประวัติศาสตร์ หรือคนเก่ง ซึ่งเมืองจะไปไหนไม่ได้เลยถ้าทุกคนอยู่กันเอง แต่เมื่อเกิดการรวมตัวกันเป็นย่าน แลกเปลี่ยน จับกลุ่ม มันจะเกิดการต่อยอดและสร้างบทสนทนาต่อได้ นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้เมืองเดินต่อ”
เล่าถึงจุดนี้ ‘จารวี ดำรงค์กิจการ’ ผู้จัดการโครงการอีกคนยกตัวอย่างงานที่อยู่นอกเหนือจากงานออกแบบให้ฟัง นั่นคืองานกิจกรรม FINDING PATTERN ตระเวนส่องลวดลายและสำรวจย่านเก่าเมืองภูเก็ต
“ด้วยความที่ย่านเมืองเก่าของภูเก็ตเป็นห้องแถวแทบทุกที่ พื้นที่สาธารณะในเมืองแทบจะไม่มี ซึ่งปกตินักท่องเที่ยวจะเดินแต่ถนนถลาง ไม่เชื่อมไปย่านอื่น เราเลยใช้กิจกรรมการเดินมาแก้ปัญหาด้วยการชวนพวกเขาเดินเชื่อมย่านด้วยเส้นทาง 3 เส้น รูตแรกคือส่องตึกเก่า รูตที่สองคือส่องแลนด์มาร์ก และรูตที่สามคือส่องวิถีตลาด
“แน่นอนว่านอกจากเป้าหมายที่เป็นการเดิน ซึ่งเป็นกิจกรรมทางกายที่อยากส่งเสริม กิจกรรมนี้มีประโยชน์งอกเงยขึ้นมาในหลายมิติ มิติแรกคือการนำวัฒนธรรมในพื้นที่มาผูกกับการท่องเที่ยว เราชวนเด็กๆ ในพื้นที่มาเป็นไกด์นำทัวร์ เพื่อให้พวกเขาอธิบายประวัติศาสตร์ของลวดลายต่างๆ ที่เห็นในเมืองเก่า ทั้งกระเบื้อง ช่องหน้าต่าง ประตู คนที่มาจะได้รู้และบอกต่อได้อีก
“อีกหนึ่งมิติคือการชุบชีวิตให้พื้นที่ที่แทบไม่เคยมีคนเห็นได้ถูกมองเห็น เช่น ตรอกตั่วแจ้ ซึ่งเป็นตรอกแคบๆ สุดตรอกคือบ่อน้ำเก่าของเมือง เราเห็นว่าพื้นที่นี้น่าเล่นมาก แต่จะทำยังไงให้ซอยที่ไม่มีคนเดินกลายเป็นพื้นที่ที่คนจะเดินเข้าไปดูได้ ก็ตอบโจทย์ได้ด้วยกิจกรรมนี้”
พื้นที่ที่คนออกแบบต้องมีความสุข
“สำหรับผม นักออกแบบต้องแฮปปี้ก่อน” อาจารย์พนิตตอบ เมื่อเราถามว่าตัวชี้วัดความสำเร็จของ Healthy Space Forum อยู่ตรงไหน
“หลายเสียงบอกว่าออฟฟิศเราเป็นออฟฟิศที่สนุก เพราะเราไม่เคยบังคับอะไรเลย เข้าออฟฟิศเมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากเราเชื่อว่าน้องๆ นักออกแบบแต่ละคนจัดการตัวเองได้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของกัน”
“เรารู้สึกว่าแกนหลักในการทำงานคือความเชื่อใจ” ศิรดาเสริม “ทั้งความเชื่อใจกันระหว่างทีม เชื่อว่าทุกคนทำได้ ผลักให้เกิดผลงานใหม่ๆ ที่เราอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งพอมันเกิดขึ้นได้ มันก็สร้างความเชื่อใจจากคนภายนอกว่าวิธีการใหม่ๆ แปลกๆ ก็ทำให้เวิร์กกับการปรับปรุงชุมชนและย่านได้เหมือนกัน
“พวกเขาจะเชื่อว่าการออกแบบทำให้เมืองพัฒนาต่อได้ เกิดการร่วมมือ การให้โอกาสกัน บนพื้นฐานความเชื่อและความหวังว่าเมืองที่เราอยู่จะดีขึ้น ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เราอยากเห็น” ศิรดาปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม