‘ฮากาตะ’ ถ้าได้ยินชื่อนี้แล้วคิดถึงอะไรกันบ้าง กลิ่นหอมกรุ่นของราเม็งน้ำซุปกระดูกหมู ตลาด Christmas Market ย่านช้อปปิงขนาดใหญ่ที่เดินซื้อของเชื่อมต่อกันได้ไม่สะดุด หรือสถานีชื่อดังที่ถ้าอยากท่องเที่ยวในภูมิภาคคิวชูให้ครบๆ สักครั้งต้องใช้สถานีนี้เป็นจุดเชื่อมต่อ
และหากใครเคยได้ยินเรื่องที่รัฐบาลไทยสนใจรวมขนส่งสาธารณะไว้ในที่เดียวเพื่อให้การเดินทางในไทยไร้รอยต่อ โมเดลที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นต้นแบบก็คือ ฮากาตะ เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นนี่เอง คอลัมน์ City in Focus จึงขอชวนทุกคนมาดูย่านที่ทำให้การเดินทางด้วยรถ ราง บัสเป็นเรื่องง่าย แสนสบาย

เชื่อมต่อรถ-ราง-บัส
ในพื้นที่เล็กๆ ของฮากาตะแห่งนี้ รู้หรือไม่ว่าที่นี่ประกอบไปด้วยศูนย์รวมการเดินทางทั้งบัส แท็กซี่ รถไฟฟ้าใต้ดิน ชินคันเซ็น และรถไฟ JR โดยเหมาะทั้งสำหรับการเดินทางในเมืองฟุกุโอกะเอง และเดินทางออกไปต่างเมือง ไม่ว่าจะโตเกียว นาโกยา หรือไปดู World Expo ที่โอซากาก็ยังได้
นอกจากสถานีกลางนี้จะรวบรวมทุกการเดินทางเอาไว้แล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของสถานีฮากาตะยังมีความพิเศษตรงที่สถานีนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองฟุกุโอกะ ในระยะที่ไปถึงพื้นที่สำคัญๆ ได้ในเวลาเพียงน้อยนิด เช่น หากจะไปช้อปปิงที่แหล่งวัยรุ่นอย่างเทนจินก็ห่างเพียง 3 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 5 นาทีเท่านั้น หรือจะไปสนามบินก็ใช้เวลาเพียง 2 สถานีเช่นเดียวกัน
โดยปกติด้วยความยิ่งใหญ่ของรถยนต์ ราง บัสต่างๆ ในสถานี อาจทำให้การเดินทางดูยุ่งยากและซับซ้อน แต่ด้วยระบบและการจัดการของญี่ปุ่น ทำให้ตารางเวลาและป้ายต่างๆ ชัดเจน สะดวกสบาย เราสามารถเช็กข้อมูลและเวลาการเดินทางได้อย่างแม่นยำในแอปพลิเคชันการเดินทางทั่วๆ ไปอย่าง Google Maps หรือแอปฯ อื่นๆ ของญี่ปุ่น และเมื่อเดินทางไปถึงสถานีแล้วก็มีป้ายบอกทางและเวลาติดไว้หลากหลายจุด เพื่อไม่ให้พลาดการเดินทางสำคัญของทุกคน

รวมถึงตั๋วรถไฟหรือบัสที่ใช้ร่วมกันได้อย่าง IC Card หรือ Suica ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถใช้ขึ้น-ลงขนส่งสาธารณะได้ไม่สะดุด ยกเว้นรถไฟพิเศษบางรูปแบบ เช่น JR หรือชินคันเซ็นบางรูปแบบที่อาจต้องมีการจองตั๋วพิเศษ
อย่างไรก็ตาม การขนส่งในญี่ปุ่นยังมีตั๋วรถไฟอีกมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะ All JR Kyushu Pass, JR Northern Kyushu Pass และอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในขนส่งสาธารณะ และทำให้การเดินทางทั้งในเมืองและระหว่างเมืองสะดวกสบาย

ปรับการเดินทางด้วยบัสให้สะดวกขึ้น
นอกจากเหล่ารถไฟในเมืองและระหว่างเมืองแล้ว ที่นี่ยังมีอาคารสูงตระหง่านอย่าง Hakata Bus Terminal (Hakata BT) ที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟ JR Hakata ทำให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระหว่างบัสในเมือง บัสทางไกล รถไฟ JR และรถไฟใต้ดินได้ราบรื่น
Hakata BT เป็นอาคารสูงที่ลบภาพจำสถานีบัสธรรมดาๆ ไปเลย เพราะที่นี่สูงกว่า 10 ชั้น มีชั้นสำหรับบัสทั้งหมด 3 ชั้น และ 7 ชั้นบนเป็นร้านค้าและร้านอาหาร ซึ่งแต่ละชั้นมีการแบ่งประเภทบัสอย่างชัดเจน
ชั้น 1 เป็นของ Nishitetsu Bus หรือบัสที่ให้บริการระหว่างเมืองและจังหวัดต่างๆ
ชั้น 2 เป็นบัสความเร็วสูง, Nishitetsu Bus, Showa Bus และบัสเช่าเหมา
ชั้น 3 เป็นบัสความเร็วสูงและ JR Kyushu Bus ส่วนชั้นใต้ดินเรียกว่า Bus Chika เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินโดยไม่ต้องเดินอ้อมข้ามตึก
ชั้นต่างๆ เหล่านี้แบ่งตามเส้นทางและประเภทการเดินรถ พร้อมกันกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่แยกชานชาลาขาออก ชานชาลาขาเข้า พื้นที่นั่งรอ จุดจำหน่ายตั๋ว เคาน์เตอร์ให้บริการข้อมูล และป้ายนำทางโดยละเอียด ทั้งป้ายบริเวณจุดรอรถและป้ายนำทางบนพื้นที่แยกสีและชื่อสายชัดเจน ร่วมกับตารางเวลาบนหน้าจอที่ละเอียดแม่นยำในหลากหลายภาษา
ตัวป้ายนำทางบนพื้นนอกจากจะช่วยทำให้เหล่านักเดินทางไปถึงชานชาลาได้ง่ายขึ้น ยังมีส่วนช่วยหมุนเวียนคนให้ไม่วุ่นวายมากจนเกินไป ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการออกแบบที่มุ่งเน้นเรื่องระบบหมุนเวียนคนให้ไม่ต้องเดินสวนกันในที่แคบๆ เข้าทางไหนออกทางนั้นได้ หรือการแบ่งสีของทางขึ้นบันไดเลื่อนหรือลิฟต์ ที่โซนสีเหลืองและแดงเป็นทางขึ้น-ลงไปชานชาลา ส่วนสีม่วงสำหรับร้านค้า เพื่อแยกให้แต่ละทางขึ้นไม่พลุกพล่านจนเกินไป
นอกจากนั้น การมีตึกสูงของสถานีกลางฮากาตะนี้ เกิดจากแนวคิดการพัฒนาพื้นที่แนวตั้งที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในเขตเมืองที่มีราคาที่ดินสูง รวมทั้งยังรองรับผู้โดยสารและกิจกรรมต่างๆ ได้มาก

พัฒนาพื้นที่โดยรอบ
พื้นที่ฮากาตะถูกพัฒนาด้วยแนวคิด ‘Compact City’ หรือเมืองกระชับ ที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ หรืออธิบายง่ายๆ ว่า เป็นการจับสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่จำเป็นๆ มาไว้ชิดกันในจุดหรือย่านเดียวของเมือง เพื่อให้คนเดินเท้าเข้าถึงพื้นที่จำเป็นเหล่านั้นได้ และพัฒนาระบบขนส่งให้เดินทางง่ายแทนการใช้รถส่วนตัว
ย่านนี้จึงมี ‘Hakata BT’ และ ‘Hakata Station City’ ที่ไม่ได้เป็นแค่สถานีรถไฟและบัส แต่ยังเป็นจุดรวมห้างสรรพสินค้าทั้ง AMU PLAZA, KITTE, AMU EST, Hankyu โรงแรม โรงภาพยนตร์ รวมถึงพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย จากความครบครันที่กล่าวมาจึงทำให้คนที่เคยไปเยี่ยมเยียนที่นี่รู้สึกว่าฮากาตะแทบจะกลายเป็นเมืองขนาดจิ๋วมากกว่าย่านย่านหนึ่งเสียอีก
นอกจากนั้น ฮากาตะยังได้รับการพัฒนาแบบ Transit-Oriented Development (TOD) ที่เน้นการสร้างชุมชนที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และพื้นที่นันทนาการรอบๆ สถานีขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งช่วยทำให้ปัญหาการจราจรและมลพิษในเมืองลดลงอีกด้วย

หากไทยจะลองหยิบยกโมเดลรวมขนส่งสาธารณะมาใช้ในกรุงเทพฯ บ้าง อาจจะมีอีกหลากหลายบทพิสูจน์ที่ต้องพัฒนาร่วมกันไป ทั้งตั๋วรถ-ราง-บัส ที่ควรใช้ร่วมกันได้จริง หรือตารางเวลา และความเพียงพอต่อความต้องการของรถไฟ มิเช่นนั้นต่อให้นำทุกขนส่งมารวมไว้ที่เดียว แต่ยังต้องวิ่งเข้าวิ่งออกซื้อตั๋วใหม่อยู่ร่ำไป หรือเช็กเวลาที่แน่นอนของรถไฟไม่ได้ ก็คงไม่ได้ช่วยประหยัดเวลาหรือทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้นเสียเท่าไหร่นัก
Sources :
Architecture Research and Design | bit.ly/4jeeiJR
Centre for Liveable Cities Singapore | bit.ly/42jjc2d
Globaleur | tinyurl.com/2bxxhqkl
Japan Endless Discovery | bit.ly/3Rkci6y