ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อมโลกปี 2021 - Urban Creature


ปฏิทินหมุนเข้าปี 2021 เข็มชีวิตเดินไปข้างหน้าในขณะที่นาฬิกาโลกกำลังนับถอยหลัง ในปีที่ผ่านมาการละลายของแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่กรีนแลนด์เดินเข้าสู่จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ ภัยธรรมชาติหลายอย่างกำลังรุมเร้าจนสถานการณ์ของโลกตั้งอยู่ในความไม่แน่นอน  


แม้ธรรมชาติกำลังสะสมขุมกำลังเพื่อเดินหน้าเข้าโจมตี แต่ทั่วโลกกำลังหาทางหยิบยื่นสันติ ถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง แต่นานาชาติเห็นไปในทางเดียวกันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรอไม่ได้ ในปี 2021 นี้คืออีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาโลก ก่อนที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าจะลงเอยเช่นไรในปี 2030 .


ตามไปดูนโยบายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในปีหน้า ที่ขยับเขยื้อนกันตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงเอกชน 

THE WORLD AGREEMENT : ทั่วโลกลงนามเพื่อสิ่งแวดล้อม


ย้อนกลับไปในปี 2015 ท่ามกลางสนามการค้าที่คุกรุ่นและระอุไม่ต่างจากอุณหภูมิของโลกที่ค่อยๆ สูงขึ้น หลายประเทศต่างลงนามเพื่อเข้าร่วม ‘ข้อตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อหวังว่าสถานการณ์ของโลกจะดีขึ้น 


นับจากการบังคับใช้ข้อตกลงปารีสในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 เพื่อหวังให้สิ่งแวดล้อมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สถานการณ์ของโลกกลับย่ำแย่ราวตลกร้าย จนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวว่าข้อตกลงปารีสไม่เพียงพอจะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือขีดจำกัดที่ 2 องศาเซลเซียส ตามคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ แต่ทิศทางของแต่ละประเทศในอนาคตเต็มไปด้วยความน่าสนใจหลังจากเวลา 5 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นผล  


นอกจากในปี 2030 จะครบกำหนดสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงปารีส สำหรับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 30  ปี ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของหลายประเทศเช่นสหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าลดคาร์บอนถึง 65 เปอร์เซ็นต์ หรือ 68 เปอร์เซ็นต์ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะเห็นภาพชัดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 


ประเทศทั้งยากจนและร่ำรวยกำลังมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ พวกเขาเริ่มจากการตั้งเป้าหมายระยะสั้น ทำให้ไอเดียที่น่าสนใจอย่าง ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมเชิงรุก’ ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยขึ้น โดยพยายามมองการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการยกระดับเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งลงมือตั้งแต่ระดับเล็กอย่างสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไปจนถึงการสนับสนุนหน่วยเศรษฐกิจที่เน้นพลังงานสะอาด

IN COUNTRY SIDE : ยักษ์ใหญ่ไม่ยอมให้โลกร้อน


“ช่วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์มาถึงแล้ว และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงอีกต่อไป” เซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ เจ้าของน้ำเสียงนุ่มลึกจากสารคดีชุด Our Planet และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ บอกว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมาตลอดหลายปี เขาเสริมว่าภัยธรรมชาติที่เห็นได้ชัดเจนบังคับให้รัฐบาลออกมาเคลื่อนไหว 


หนึ่งในก้าวที่ทั่วโลกมองว่าสำคัญคือการขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาของ โจ ไบเดน กำลังจุดความหวังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ประชากรโลก โดยเฉพาะนโยบายที่อยู่ตรงข้ามกับอดีตคู่แข่งอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มองว่าโลกร้อนเป็นเรื่องตลก 


ในฐานะประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของโลก สหรัฐอเมริกามีความรับผิดชอบโดยอัตโนมัติต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไบเดนรับปากว่าเขาจะนำสหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ความตกลงปารีสอีกครั้ง หลังจากที่ทรัมป์พยายามถอนตัวในปีที่ผ่านมา 


เขายังวางแผนจะใช้งบประมาณสำหรับวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศกว่า 4 แสนล้านเหรียญฯ พร้อมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เน้นพลังงานสะอาด และที่เป็นความหวังมากกว่านั้นคือสหรัฐฯ วางแผนใช้เงิน 2 ล้านล้านเหรียญฯ เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อีกด้วย 


ไม่ต่างจากแดนลุงแซม หากบินข้ามฟากมาดูมังกรยักษ์แห่งเอเชียอย่างจีน จะเห็นว่าชาวแผ่นดินใหญ่ตั้งเป้าให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เช่นกัน แม้จะมีปลายทางอยู่ที่ปี 2060 


จีนมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงหนึ่งในสี่ของโลก อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีผู้ทรงอำนาจอย่างสีจิ้นผิงมองว่าพวกเขาต้องเป็นผู้นำด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งกระทบแผ่นดินใหญ่โดยตรง เพราะหากอุณหภูมิในเอเชียเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรของพวกเขามีปัญหาทันที และคนจีนอาจอพยพเพื่อหนีภัยธรรมชาติราว 67 ล้านคน


แผ่นดินใหญ่จึงขยับตัวอย่างน่าสนใจด้วยการลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนถึง 360,000 เหรียญฯ พร้อมเดินหน้าเทคโนโลยีไฟฟ้าอย่างเต็มตัว และสนับสนุนการผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์มากกว่าเดิม 3 เท่า เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 65 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 ก่อนจะเหลือศูนย์ในปี 2060

REBRANDING : บริษัทชั้นนำกำลังเปลี่ยนแปลง


แม้การขยับตัวของนานาประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการหยิบยื่นสันติให้สิ่งแวดล้อม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนก็เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่สำคัญ ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น จนทำให้แบรนด์ต่างๆ พากันเติมสีเขียวให้ตัวเอง 


แบรนด์เครื่องดื่มที่คนทั่วโลกหลงรักอย่าง ‘Coca-Cola’ ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้สร้างขยะพลาสติกอันดับ 1 ของโลกถึง 3 ปีซ้อน พวกเขาผลิตพลาสติกมากถึง 3 ล้านตันต่อปี หรือ 200,000 ขวดต่อนาที จนทำให้มีขยะพลาสติกหลงไปอยู่ตามธรรมชาติจำนวนมาก


แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดี เพราะนอกจากความสดชื่นจากเครื่องดื่มที่เขามอบให้ผู้คน โค้กยังต้องการคืนความสดใสให้ธรรมชาติด้วยการตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะยกเลิกบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้สำหรับการรีไซเคิล และได้วางจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์แล้วใน 18 ประเทศทั่วโลก 


ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ขยับตัวครั้งสำคัญ ซึ่งสร้างความกินแหนงแคลงใจให้ผู้บริโภคไม่น้อย ‘Apple’ ประกาศว่าบริษัทจะไม่ทำกระบวนการใดที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนภายในปี 2030 ก้าวที่เห็นได้ชัดคือพวกเขายกเลิกการแถมที่ชาร์จพร้อมหูฟังใน iPhone 12 ซึ่งบริษัทคู่แข่งอย่าง ‘Samsung’ มีทีท่าว่าจะเดินตามรอยนโยบายนี้เช่นกัน  


ก้าวที่จริงจังยังมีให้เห็นอีกมากมายจากแบรนด์ทั่วโลก ‘Nike’ ใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับรองเท้าในรุ่น Nike Air หรือ ‘Johnson & Johnson’ ตั้งเป้านำบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ หรือทำให้ย่อยสลายได้ในปี 2025 บริษัทซอฟต์แวร์อย่าง ‘Microsoft’ ก็วางแผนจะทำให้คาร์บอนเป็นลบในปี 2030 กระทั่งของเล่นอย่าง ‘Lego’ ก็เดินหน้าผลิตตัวต่อที่ทำจากอ้อย และจะผลิตสินค้าจากวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2030 เช่นเดียวกัน 


นอกจากภาวะโลกร้อน ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้แบรนด์เหล่านี้ต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และอยากก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในใจลูกค้าด้วยการมอบของขวัญให้โลก ต่างจากการดูดกลืนทรัพยากรอย่างที่เคยเป็นมา 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.