‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ เกมที่อยากให้เข้าใจความกลัวของผู้หญิง - Urban Creature

ทุกครั้งที่ต้องแยกทางกับเพื่อนโดยเฉพาะช่วงกลางคืน เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนคงไม่ลืมที่จะกำชับและเตือนกันว่า ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วย’ จนประโยคนี้แทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งคำบอกลาที่ติดปากไปแล้ว

บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมประโยคเหล่านี้ถึงกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงหลายๆ คน ทำไมต้องอยากรู้ว่าเพื่อนถึงบ้านแล้วหรือยัง หรือทำไมถึงบ้านแล้วต้องบอกให้คนอื่นรับรู้ด้วย

‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ อาจจะดูเป็นประโยคธรรมดาๆ แต่ความจริงแล้วแฝงไปด้วยความห่วงใย และสะท้อนถึงความอันตรายจากการเดินทางในเมืองนี้ เพราะการบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าตัวเอง ‘ถึงบ้านแล้ว’ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราปลอดภัยและกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ

Get Home Safe Project

จากความเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตประจำวันที่กลายเป็นความคุ้นชิน ‘ต้า-พิมพิศา เกือบรัมย์’ นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเลือกทำธีสิสที่ชื่อว่า ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ ซึ่งมาในรูปแบบของ ‘เกมทางเลือก’ ที่จำลองสถานการณ์การกลับบ้านคนเดียวในช่วงเวลากลางคืน โดยผู้เล่นต้องตัดสินใจแทนตัวละครเมื่อเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ท้ายที่สุดเกมนี้จะทำให้ผู้เล่นตระหนักและเข้าใจถึงความกังวลใจของผู้หญิงหลายๆ คนที่ต้องเดินทางกลับบ้านคนเดียว ไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหนก็ตาม

วันนี้ คอลัมน์ Debut ขอชวนทุกคนไปพูดคุยกับต้าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ รวมไปถึงความตั้งใจที่จะทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามที่ผู้หญิงทุกคนต้องเจอ

ปัญหาการคุกคามไม่ได้เกิดจากเหยื่อ

“อยากลองทำอะไรสักอย่างให้สังคมได้พูดถึงปัญหาการคุกคามทางเพศหรืออันตรายของการเดินทางคนเดียวมากขึ้น อยากให้สังคมเลิกโทษเหยื่อและเข้าใจว่าการถูกคุกคามไม่ได้เกิดขึ้นจากเหยื่อ”

ต้าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเกมนี้ซึ่งเกิดจากประเด็นเรื่อง ‘ความปลอดภัยของผู้หญิง’ ที่กลายเป็นปัญหาในสังคมของเรามานาน เนื่องจากประเทศไทยมีอาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่รอบตัวทุกวัน และส่วนใหญ่เหยื่อจะเป็นเพศหญิง ทำให้เด็กและผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้ระมัดระวังตัวกันมาโดยตลอด แต่ไม่ว่าจะระวังตัวแค่ไหน เหตุการณ์อันตรายก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างไรก็ตาม สังคมของเราอาจยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจความกลัวและความกังวลเหล่านี้

Get Home Safe Project

ไม่ว่าจะในสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ เราเชื่อว่าข่าวที่ถูกหยิบมานำเสนอบ่อยครั้งคือเหตุการณ์ที่หญิงสาวถูกคุกคามทางเพศ ในสถานการณ์และสถานที่ที่ต่างกันไป แต่แทนที่จะตั้งข้อสงสัยกับการลงมือของคนร้าย สังคมกลับมักตั้งคำถามถึงการแต่งกายของผู้เสียหายก่อนเป็นอย่างแรก ทำให้ต้าเล็งเห็นถึงปัญหาและความไม่เข้าใจของคนในสังคมว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

“คนที่ไปคุกคามเหยื่อมักจะมีตรรกะแปลกๆ อย่างเช่น เห็นเหยื่ออ่อนแอกว่า หรือเห็นว่าเหยื่อแต่งตัวโป๊ เขาเลยมีสิทธิ์ที่จะคุกคามทางเพศ ยิ่งสังคมชอบโทษว่าเป็นเพราะเหยื่อแต่งตัวโป๊ ไม่ระมัดระวังตัวเอง ก็ยิ่งเป็นเหมือนการสนับสนุนชุดความคิดผิดๆ ให้คนร้ายเอามาเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุด้วย”

ต้าหวังว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจความหวาดกลัวและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิง ขณะเดียวกัน เธออยากส่งเสริมให้ทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจและเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย

Based on True Stories

“เชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้ยินประโยค ‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ เวลาจะกลับบ้าน เรารู้สึกว่ามันเป็นประโยคที่แสดงความห่วงใยของคนพูด และแสดงให้เห็นถึงอันตรายในสังคมได้ดี”

ต้าพูดถึงชื่อเกมที่มาจากประโยคที่ผู้หญิงหลายๆ คนคุ้นเคยกันดี เธอเลือกใช้ประโยคนี้ตั้งเป็นชื่อเกม เพราะมองว่าเข้าใจง่ายและครอบคลุมความหมายของเกมได้อย่างชัดเจน 

หลังจากที่ได้ไอเดียเริ่มต้นมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการรีเสิร์ชข้อมูลจากกระทู้ เรื่องเล่า และข่าวต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการสร้าง Google Forms เพื่อแชร์ให้คนบนโซเชียลได้มาแบ่งปันและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเจอ

Get Home Safe Project

จากนั้นก็รวบรวมและวิเคราะห์ดูว่า เหตุการณ์แบบไหนเกิดขึ้นมากที่สุด เหยื่อแต่ละคนมีวิธีการเอาตัวรอดแบบไหนบ้าง และจินตนาการว่า ถ้าตัวเองเจอเหตุการณ์แบบนั้น เธอจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น จะวิ่งหนีหรือจะต่อสู้ เพื่อนำมาปรับใช้กับเนื้อหาในเกมให้สมจริงที่สุด เพราะการกำหนดเนื้อเรื่องนั้นจะต้องอยู่บนความเป็นจริงและต้องระมัดระวังเรื่องความถูกต้อง เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ออกไปด้วย

“คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาแชร์จะเป็นผู้หญิง ทำให้เราได้รู้ว่ามีการถูกคุกคามอีกเยอะมากที่ไม่ได้ออกข่าวหรือนำมาเล่าในโซเชียลมีเดีย มากไปกว่านั้น เรายังได้เข้าใจว่าการโดนคุกคามทางเพศเป็นหนึ่งในความกลัวที่ติดอยู่ในใจของผู้หญิงมาโดยตลอด” ต้าอธิบาย

เผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงผ่านเกม

หลังจากการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ต้าพบว่าเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่เจอบ่อยที่สุดคือการถูกคุกคามทางคำพูด ตามมาด้วยการโดนดักรอ การถูกเดินตาม ส่วนการเอาตัวรอดก็ไม่ได้มีเพียงแค่การวิ่งหนีหรือการต่อสู้เท่านั้น แต่ยังมีวิธีอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง แต่ก็ช่วยให้เหยื่อรอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายได้

“มีคนหนึ่งเล่าในแบบสอบถามว่า ครั้งหนึ่งเคยเดินกลับบ้านช่วงกลางคืน แล้วรู้สึกว่ามีคนเดินตาม ตอนนั้นดึกมากแล้วและไม่มีคนเลย นึกอะไรไม่ออกก็เลยรำตรงนั้นเลย ซึ่งคนที่ตามมาก็กลัว เดินหนีไปเลย หรืออีกกรณีคือเหยื่อขึ้นแท็กซี่แล้วโดนคนขับคุกคาม พูดแซว พูดจีบตลอดทาง เขาก็เลยแกล้งยกโทรศัพท์ขึ้นมาคุย เหมือนคุยกับแฟน พูดไปเรื่อย แล้วก็มีประโยคหนึ่งพูดว่า ‘เธอลืมปืนไว้ในกระเป๋าเราหรือเปล่า แล้วไปทำงานยังไง’ คนขับแท็กซี่ก็เงียบไปเลย แล้วก็พาไปส่งถึงบ้าน”

อย่างไรก็ตาม อันตรายจากการคุกคามไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น เพราะต้าเล่าว่ามีผู้ชายเข้ามาร่วมแบ่งปันข้อมูลด้วย ซึ่งเหตุการณ์ที่ผู้ชายเจอมีตั้งแต่การถูกคุกคามทางวาจา การรีดไถเงิน หรือแม้แต่ถูกยัดยาจากตำรวจก็มีด้วยเหมือนกัน

“พอได้เห็นข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า อันตรายอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด หลายคนอาจคิดว่าเส้นทางที่ตัวเองใช้กลับบ้านเป็นประจำน่าจะปลอดภัยและคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วมันก็สามารถพาเราไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ ทางที่ดีคือต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา และอาจจะต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวหรือพกพาอาวุธเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวไว้บ้าง หรือว่าถ้าเลี่ยงได้ก็อย่าพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงน่าจะดีที่สุด”

จริงอยู่ที่การเริ่มต้นที่ตัวเองอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปสักหน่อย แต่การห้ามไม่ให้ผู้อื่นก่อเหตุคุกคามก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ดังนั้นการปลูกฝังคนในสังคมให้เข้าใจถึงปัญหาของการคุกคามทางเพศ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะลดการก่ออาชญากรรมนี้ในระยะยาวได้

ต้าทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ปล่อยเกมตัวเต็มออกมา เพราะยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาเนื้อเรื่องและปรับให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น รวมถึงกำลังทำเว็บไซต์เพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเล่นเกมจำลองเหตุการณ์ และทำความเข้าใจการเผชิญหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินของตัวละครกัน

Get Home Safe Project

‘ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ’ จะจัดแสดงในนิทรรศการจากนักศึกษามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมเป็นต้นไป ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ใครสนใจสามารถไปดูผลงานสะท้อนปัญหาสังคมของต้าได้ที่งานนี้

ส่วนตัวเกมสามารถเข้าไปเล่นกันได้ที่ gethomesafe.newfile.studio โดยจะเปิดให้เล่นในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้เช่นกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.