ไม่ต้องงดเนื้อสัตว์ ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ - Urban Creature

อากาศร้อนขึ้นทุกวัน จนหลายคนเริ่มตระหนักถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เป็นแค่งานวิจัยหรือคำขู่จากการไม่รักษาสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

ถึงแม้จะดูไม่น่าเชื่อ แต่นอกจากการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งให้น้อยลงแล้ว อาหารการกินของเราในทุกๆ มื้อก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อโลกด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการผลิตวัตถุดิบไปจนถึงมื้ออาหารที่มีเศษอาหารหลงเหลืออยู่บนจาน

แต่ขณะเดียวกัน อาหารก็เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต เพราะเราคงไม่สามารถงดกินข้าวเพื่อคืนความยั่งยืนให้โลกได้ แล้วจะมีหนทางไหนบ้างที่ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คอลัมน์ Green Insight ขอพาไปดูฮาวทูการกินที่ยังคงสนุกกับมื้ออาหาร และเป็นส่วนหนึ่งในการรักโลกไปพร้อมๆ กัน

อาหารจากเนื้อสัตว์ทำโลกร้อน

เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็กจนโตว่าสัตว์บางประเภท เช่น วัว หมู ไก่ ปลา แกะ ถูกสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์ แต่เรากลับไม่รู้เลยว่าการมีอยู่และเพาะพันธุ์สัตว์เหล่านี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่จำนวนมากนั้นกำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำร้ายโลกอยู่

Food choice and climate change

เพราะการทำปศุสัตว์จำเป็นต้องใช้พื้นที่มหาศาล จนอาจส่งผลให้พื้นที่ป่าและต้นไม้ลดลง กระทบต่อการดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลงตามไปด้วย กลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของวิกฤตโลกร้อน

นอกจากนี้ ทุกขั้นตอนของการผลิตเนื้อสัตว์ล้วนแล้วแต่ใช้ทรัพยากรและปล่อยของเสียไปรบกวนธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำและพลังงานปริมาณมากในการเลี้ยงสัตว์ ทำความสะอาดโรงฆ่าสัตว์ การขนส่งอาหารและเนื้อสัตว์ รวมถึงการแปรรูปอาหาร ที่เป็นปัจจัยของการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

คาร์บอนฟุตพรินต์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร

คาร์บอนฟุตพรินต์ หรือ รอยเท้าคาร์บอน คือปริมาณการปล่อยและการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน โดย 1 ใน 4 ของการเกิดก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากกระบวนการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ก็ตาม

งานวิจัยจากวารสาร Science ในปี 2018 พบว่า การผลิตเนื้อวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ดังนั้นการเลือกกินอาหารที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วย

กินให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเลิกกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร แต่สำหรับใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อนผ่านมื้ออาหาร ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ทำให้เรามีความสุขกับการกินเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือได้ลดปริมาณตัวการทำลายโลกแบบอ้อมๆ ดังนี้

1) กินผักให้เยอะขึ้น ลดเนื้อสัตว์ลง

ก๊าซมีเทน คือหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยสาเหตุมักเกิดจากการปล่อยของเสียอย่างการตดหรือเรอจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เช่น วัว แกะ แพะ ควาย ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้องที่ปล่อยก๊าซประเภทนี้ออกมาตลอดทั้งวัน

และไม่ใช่แค่ของเสียที่ออกมาจากสัตว์โดยตรงเท่านั้น แต่ขั้นตอนการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซออกมาในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 60 กิโลกรัม หรือเนื้อแกะและชีสที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 20 กิโลกรัม

เพื่อช่วยลดโลกร้อน เราอาจไม่จำเป็นต้องงดเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด เพียงแค่ลดปริมาณลงในบางมื้ออาหาร และเพิ่มการกินผักให้มากขึ้น หรือจะลองกินมังสวิรัติหนึ่งวันต่อสัปดาห์ก็สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ได้จำนวนหนึ่งแล้ว

2) กินอาหารท้องถิ่น

การเลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ผลิตภายในท้องถิ่นจะช่วยลด Food Miles หรือระยะทางการขนส่งอาหารตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภคที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ยืนยันโดยงานวิจัยที่พบว่า การขนส่งอาหารทั่วโลกในระยะเวลา 1 ปี ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,000 ล้านตันเลยทีเดียว

Food choice and climate change

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ที่แม้ส่วนใหญ่จะขนส่งผ่านเรือที่ไม่ได้สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากนัก แต่อาหารบางชนิดที่มีอายุสั้นก็จำเป็นต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากถึงประมาณ 50 เท่าของการขนส่งโดยเรือ

แม้การเลือกกินอาหารจากท้องถิ่นจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับการกินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่น้อยลงก็ตาม แต่ก็ยังถือเป็นทางเลือกที่ทำได้ง่ายๆ ให้คนที่อยากช่วยโลกด้วยอาหารการกิน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นอีกด้วย

3) กินอาหารตามฤดูกาล

นอกจากเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายที่การซื้อผักผลไม้ในฤดูกาลจะราคาถูกกว่าช่วงเวลาอื่นๆ แล้ว การกินผักผลไม้ตามฤดูกาลยังมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะตามปกติแล้วผักผลไม้จะมีช่วงเวลาที่เติบโตได้ดีตามฤดูกาล เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเร่งการผลิต ดังนั้นการเจริญเติบโตของผักและผลไม้เหล่านี้จึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และแน่นอนว่าปลอดภัยกับคนกินด้วย

4) กินอาหารปรุงสด ลดอาหารแช่แข็ง

หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าการอุ่นอาหารแช่แข็งในไมโครเวฟก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายโลกได้

เพราะขั้นตอนการผลิตอาหารประเภทนี้ใช้พลังงานจำนวนมาก ทั้งกระบวนการผลิตกล่องพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ การใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อทำให้อาหารกลายเป็นน้ำแข็ง การขนส่งแบบเย็น และพลังงานที่สิ้นเปลืองจากการแช่แข็งตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งการอุ่นอาหารก็เป็นการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนด้วยเช่นเดียวกัน

Food choice and climate change

การเลือกกินอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์หรือผักสดจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างน้อยก็ช่วยลดการใช้พลังงานในขั้นตอนของการแช่แข็งและการอุ่นอาหารไปได้

5) ทำอาหารกินเอง

หากไม่กินอาหารแช่แข็ง การสั่งฟู้ดเดลิเวอรีก็ดูเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนนึกถึง เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ทำอาหารตามออเดอร์

แต่เนื่องจากการขนส่งที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออาหารในระหว่างทาง ร้านอาหารจึงต้องหาวิธีเพื่อให้ลูกค้าปลายทางได้รับอาหารในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด หลายครั้งเราจึงได้รับอาหารหนึ่งมื้อที่มาพร้อมพลาสติกเกือบ 5 – 6 ชิ้นที่ห่อหุ้มอาหารไว้อย่างดี แต่ก็สร้างขยะให้โลกมากด้วยเหมือนกัน

ถ้าหากพอมีเวลาว่าง การทำอาหารกินเองจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดโลกร้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ ลดการใช้พลังงานจากพาหนะส่งอาหาร รวมไปถึงตัวเราที่สามารถวางแผนการทำอาหารที่เพียงพอในแต่ละมื้อได้โดยไม่ต้องเหลือทิ้ง แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการออกไปซื้อวัตถุดิบหนึ่งครั้ง หากเก็บรักษาอย่างถูกวิธีก็สามารถใช้ทำอาหารได้หลายมื้อเลย

6) ไม่สร้าง Food Waste

การกินข้าวไม่หมดจานทำให้ชาวนาร้องไห้ไหมไม่รู้ แต่ Food Waste หรือขยะอาหาร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงอาหารเหลือทิ้งในระดับครัวเรือน สร้างก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนได้มากถึง 8 เปอร์เซ็นต์แน่นอน

เพราะฉะนั้นการกินอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและกินให้หมดจาน จะช่วยลดปริมาณขยะจากเศษอาหารที่รอวันเน่าเสียจนสร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลต่อการทำลายโลก

แน่นอนว่าเราอาจเคยชินกับความเชื่อที่ว่า เศษอาหารเหล่านี้สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ แต่ในความเป็นจริง เศษอาหารเหล่านี้มักปะปนกับขยะอื่นๆ ที่เกิดจากการไม่แยกขยะ จนทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายได้สำเร็จ ยังไม่นับรวมการหมักหมมเศษขยะที่อาจกลายเป็นการเพาะเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็นเน่า กลายเป็นมลพิษทางอากาศ

นอกจากการกินอาหารแล้ว เรายังสามารถลด Food Waste ได้ด้วยการวางแผนก่อนซื้อวัตถุดิบ เพื่อช่วยลดการกักตุนหรือซื้อของที่ไม่จำเป็น เพราะวัตถุดิบทำอาหารส่วนใหญ่ล้วนมีวันหมดอายุ หากซื้อไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้ สุดท้ายวัตถุดิบค้างตู้ก็จะกลายเป็นขยะอาหารที่ทำลายโลก

Sources : 
Carbon Brief | bit.ly/3V8LdUP
FTI | bit.ly/3n2CzL2
Greenpeace | bit.ly/41SnNoW
Our World in Data | bit.ly/3Nbp1HS, bit.ly/3oGfoqo
PTT Group | bit.ly/3Hbmn0J
Science | bit.ly/41Qcvl0
ThaiPublica | bit.ly/41AleZ3
World Resources Institute | bit.ly/3HcgHnd
WWF | bit.ly/43ZPEW4

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.