‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เร็ว ประหยัด ไม่ปล่อยควัน แต่คนไทยจะได้ใช้ไหม ? - Urban Creature

ต้นตอฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียของรถยนต์ ยิ่งจำนวนรถมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ปริมาณฝุ่นพิษรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับผลกระทบคือทุกคนที่สูดดมควันเข้าไปทุกวัน โดยต่างประเทศเองก็ให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากลดการปล่อยควันเสีย ใช้พลังงานน้อย แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว แล้วถ้าย้อนกลับมามองเมืองไทยล่ะ เราจะมีโอกาสได้ใช้หรือไม่ ?

ว่าด้วยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าต้องถาม ‘รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล’ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จะมาคลายประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้มากขนาดไหน ? รวมถึงอนาคตของไทยจะมีโอกาสที่จะได้ขับขี่อย่างแพร่หลายหรือไม่ ต้องติดตามกัน !

PM 2.5 อยู่มานานเกือบ 100 ปี

ก่อนจะเข้าเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ต้องทำความรู้จักตัวปัญหา ‘ฝุ่น PM 2.5’ กันเสียก่อน เพราะมันเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมปี ค.ศ. 1850 ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานสัตว์เป็นแรงงานกล เพราะสามารถพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ ในจังหวะนั้นเองก็ได้พัฒนารถยนต์ควบคู่ไปด้วยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1900 จึงเกิดรถยนต์ไอน้ำ รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์น้ำมันเข้ามาแข่งขันในตลาดกว่า 20 ปี

จนช่วงหลังบริษัทฟอร์ดได้หันมาพัฒนาเครื่องยนต์เป็นหลัก เพราะมองว่าสามารถใช้ได้จริง ใช้งานง่าย และราคาถูกกว่าแบบอื่นๆ ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าสมัยนั้นที่มาพร้อมกับการผลิตไฟฟ้าช่วงแรกๆ ซึ่งมีความเร็วต่ำและใช้งานยาก

“ฝุ่น PM 2.5 ตอนนั้นทุกคนคิดว่าเป็นหมอกพิษ”

สมัยก่อนคนไม่ได้คิดถึงสิ่งแวดล้อมมากนัก จนมาตระหนักช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งใช้เครื่องจักรมากทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ขึ้นมา จึงเริ่มมีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาและทดลองจนพบว่ามันมีผลกระทบต่อร่างกาย

จนกระทั่งวันหนึ่งเมืองลอสแองเจอลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแต่หมอกปกคลุมไปทั้งเมือง ทำให้คนให้ความสำคัญกับการควบคุมมลพิษ โดยอเมริกาใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการออกกฎหมาย Clean Air Act ใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1963 เพื่อควบคุมโรงงานไม่ให้ปล่อยมลพิษมากเกินกำหนด และหลังจากนั้นก็มีประเทศอื่นเริ่มทำตาม

เมืองเติบโตแลกมาด้วยฝุ่นพิษ

อาจารย์ยศพงษ์เล่าถึงฝุ่น PM 2.5 ในไทยไม่ต่างจากการเกิดฝุ่นในประเทศอื่นๆ แถมมีกันมานานแล้ว “อย่างประเทศจีนหลาย 10 ปีที่ผ่านมาก็มีฝุ่นเหมือนกัน ด้วยการพัฒนาเมืองขยายตัวขึ้น ทั้งสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและผลิตรถยนต์มากมาย แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมมันก็เห็นชัด ในขณะที่เมืองก็เริ่มเติบโตไปพร้อมกัน เพราะอุตสาหกรรมก็ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่เขาเองก็ไม่ได้ควบคุมหรือดูแลมันตั้งแต่แรก”

“ที่มันวุ่นวายมาตลอด
เพราะเราปล่อยให้มันโตอย่างอิสระ”

“ซึ่งมันเหมือนกรุงเทพฯ ที่มันวุ่นวายอยู่ตลอดเพราะเราปล่อยให้มันเติบโตอิสระ แต่มันก็มีข้อดีข้อเสียของมันนะ อย่างเราเอาระบบการเดินทางสาธารณะมาใช้ ฝุ่นควันมันก็เติบโตตามการเดินทางสาธารณะ อย่างพื้นที่เมื่อก่อนพอเริ่มมีถนนเข้ามาผ่านไป 10 ปีพื้นที่มันก็เปลี่ยน หรืออย่าง BTS ผ่านมา 20 ปี พื้นที่มันก็พัฒนาไปหมดแล้ว”

“ซึ่งประเทศอื่นเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็เริ่มหาทางควบคุม เช่น จีนประกาศห้ามรถยนต์วิ่งเข้ามาในเมือง กำหนดเวลาเข้าออก หรือในยุโรปที่เก็บภาษีเมื่อนำรถยนต์วิ่งเข้าในเมือง แต่บ้านเรารถมันติดบวกกับสภาพแวดล้อม ปกติมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้จะลอยตัวไปที่สูงง่าย แต่พอข้างล่างอากาศมันต่ำกว่า ยิ่งหน้าหนาวเป็นช่วงความกดอากาศต่ำ มันก็ไม่ลอยขึ้นไป จึงทำให้ฝุ่นมันสะสมแล้วปกคลุมเป็นหมอกอยู่อย่างนี้”

รถยนต์ไฟฟ้า จากตัวเลือกกลายเป็นตัวจริง

เมื่อถึงจุดที่เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการก้าวหน้า บวกกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เริ่มกระทบสิ่งแวดล้อมจนเห็นชัดเจนขึ้น คนก็เริ่มกลับมาให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1960 – 2000 ในรูปแบบของรถยนต์ Hybrid ซึ่งก็ยังมีเครื่องยนต์ผสมอยู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 2012 บริษัท Tesla ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเปิดตัวในโมเดล Tesla Model S

ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรีดีขึ้น มีขนาดเล็ก แถมใช้งานได้ยาวนานมากกว่าเก่า โดยชาร์ตไฟ 1 ครั้งถ้าเป็นแต่ก่อนอาจวิ่งได้ไม่ถึง 100 กิโลเมตร ปัจจุบันวิ่งได้มากถึง 200 – 300 กิโลเมตร จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนในยุคนี้

รถยนต์ไฟฟ้าช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน ?

“ถ้าพูดถึงตัวรถยนต์ไฟฟ้ามันไม่ได้ปล่อยมลพิษออกมา เพราะไม่มีเครื่องยนต์ แต่ถ้าเราวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นทาง คือโรงไฟฟ้ามันก็ต้องผลิตมากอยู่แล้ว สมมติว่าเรามีรถที่ปล่อยมลพิษบนท้องถนนอยู่ 10 ล้านคัน เทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า 10 ล้านคันที่อาจต้องใช้โรงไฟฟ้าแค่ 5 – 10 โรง

ถามว่าการควบคุมรถ 10 ล้านคัน กับควบคุมโรงไฟฟ้าแค่ 10 โรง อันไหนควบคุมง่ายกว่ากัน ซึ่งโรงไฟฟ้ามันมีจำกัด สามารถคำนวนและรับมือได้ รวมทั้งไม่กระจายออกไปที่อื่นอีกด้วย”

รถยนต์น้ำมัน VS ไฟฟ้า แบบไหนคุ้มกว่ากัน ? 

“สมมติ 1 คันเดินทางสัก 300 กิโลเมตรก็อาจจะใช้ไฟแค่ 40 หน่วย ก็เหมือนกับเราใช้ไฟที่บ้าน ปกติไฟบ้านจ่ายหน่วยเป็น กิโลวัตต์/ชั่วโมง อย่างปกติค่าไฟหน่วยละ 4 บาทก็ราคาประมาณ 160 บาท

ถามว่าถ้าเราใช้รถยนต์น้ำมัน 300 กิโลเมตรเหมือนกันล่ะ สมมติสัก 1 ลิตรได้ 10 กิโลเมตร ถ้าวิ่ง 300 กิโลเมตรก็เท่ากับใช้น้ำมัน 30 ลิตร ซึ่งปกติน้ำมันลิตรหนึ่งประมาณ 25 บาทคูณ 30 ลิตร ก็จะเท่ากับ 750 บาท

ซึ่ง 160 บาทกับ 750 บาท เป็นตัวเลขที่ต่างกันมากทีเดียว ถ้าเทียบการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าประหยัดกว่าในระยะยาว แต่ราคารถอาจจะแพงกว่ารถยนต์กินน้ำมัน”

ต้องทำอย่างไรให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ?

หากมองถึงข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้านั้นน่าใช้งาน แต่ก็ยังติดอุปสรรคอยู่หลายอย่าง เพราะนับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาในบ้านเรา

“อย่างแรกคือ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขายโดยภาคเอกชนอาจมีราคาแพงเพราะต้นทุนสูง เพราะตอนนี้คนไม่นิยมใช้ คนใช้น้อยผู้ผลิตได้น้อย ต้นทุนก็สูง มันก็จะวนลูปอยู่แบบนี้ แต่ถ้าอยากออกจากลูปนี้ ก็ต้องผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้มากขึ้น อาจจะต้องออกนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เอกชนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกลง”

1. ต้องสร้างความต้องการให้เกิดขึ้นมาก่อน โดยเริ่มจากให้ทุกคนเห็นภาพในทิศทางเดียวกันว่ามันจะดีอย่างไรในระยะยาว

2. ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ เช่น สถานีชาร์ตไฟฟ้า เพราะถ้าไม่มีให้บริการ อาจจะมีอุปสรรคในการใช้งาน หากอยู่บ้านอาจจะเสียบปลั๊กชาร์ตได้ แต่ถ้าอยู่คอนโดสูงจะเสียบชาร์ตได้อย่างไรละ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปรับปรุงข้อกฎหมายรถสาธารณะให้ทั่วถึง

3. ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม มันก็ต้องส่งเสริมให้ได้ 2 ทางแบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือทั้งสร้างความต้องการด้วยและอุตสาหกรรมด้วย มันก็จะส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศ สร้างงานและแรงงานไปพร้อมๆ กัน

4. ส่งเสริมมาตรการจูงใจให้คนใช้กันมากขึ้น เช่น ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดหย่อนภาษีได้ไหม ?

มองประเทศอื่น ทำไมไทยไม่เหมือนเขา ?

“อย่างในต่างประเทศที่เขามีรถยนต์ไฟฟ้าเพราะเขามีเงินสมทบ คือบ้านเราปัจจัยไม่เหมือนกัน การเอางบไปใส่กับรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรงคงไม่ใช่ทางออก เพราะทุกคนอาจไม่ได้จำเป็นต้องซื้อรถ

ซึ่งในสถานการณ์นี้บ้านเราควรเอาเงินไปลงทุนกับสิ่งที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากกว่า อาจจะแค่จูงใจอย่างการช่วยลดหย่อน แต่คงไม่ถึงกับทุ่มสนับสนุนให้คนมีรถกันมากขนาดนั้น แต่ต่างประเทศเขาสามารถซื้อรถได้ทุกคน แต่ทุกคนไม่ซื้อ พวกเขาเลือกใช้ขนส่งสาธารณะ เพราะการมีรถคือการมีภาระเหมือนมีลูก”

“แต่ของไทยมันไม่ใช่ภาระนะ เราแทบจะเรียกว่าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ต่างประเทศด้วยฐานเงินเดือนมันเท่ากันหมด มีความสามารถซื้อรถกันหมด แต่บ้านเราก็ต้องทำแต่จะทำอย่างไรให้เหมาะสมมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย

แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐทำได้คือสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ เช่นรถเมล์ทั้งหมด แท็กซี่ทั้งหมดควรเป็นไฟฟ้า เพราะว่าเราสามารถลงเงินสนับสนุนได้มาก และต้องทำออกมาเยอะด้วย ต้องทำเพื่อขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือไม่ใช่เพื่อรถส่วนตัวของใครบางคน”

“ผมก็อยากเห็น ขสมก. เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด อยากเห็นแท็กซี่ทุกที่ สามล้อเป็นไฟฟ้าทั้งหมด


ถ้าเราบอกไทย
ส่งเสริมขนส่งสาธารณะเป็นไฟฟ้า
สามล้อยังเป็นไฟฟ้าได้เลย
มอเตอร์ไซค์รับจ้างควรจะเป็นไฟฟ้าได้ไหม
ผมว่าคนไทยได้ใช้กันทุกคน”


Content Writer : Jarujan L.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Benyatip S.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.