หลายคนคงสังเกตได้ว่าช่วงนี้พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก ทั้งพายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน ไปจนถึงอากาศร้อนอบอ้าวสุดขีด จนหลายๆ คนไม่อยากขยับตัวหรือก้าวเท้าออกจากบ้าน
แต่ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่เจอสภาพอากาศร้อนจนแทบทนไม่ไหว เพราะวิกฤต ‘คลื่นความร้อน (Heatwave)’ ลักษณะนี้กำลังแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาค ‘ยุโรป’ ที่มหันตภัยคลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวยุโรป และยังก่อให้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ความถี่และความรุนแรงของคลื่นความร้อนในยุโรปกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ด้านนักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า คลื่นความร้อนยุโรปตะวันตกอาจปกคลุมพื้นที่ไปอีกหลายสัปดาห์ พร้อมเตือนว่าครั้งนี้อาจเป็นวิกฤตคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่ พ.ศ. 2300 หรือในรอบกว่า 260 ปี
หนึ่งในประเทศที่เจอคลื่นความร้อนหนักที่สุดคือ ‘อังกฤษ’ อย่างเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 อังกฤษทุบสถิติอากาศร้อนครั้งใหม่ วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 40.3 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศที่อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส
สภาพอากาศที่ร้อนจัดติดต่อกันหลายวันทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศแนะนำให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟที่แล่นผ่านพื้นที่สีแดงซึ่งกำหนดโดยสำนักอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ เนื่องจากคลื่นความร้อนอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมอย่างรางรถไฟ สายเคเบิล และสัญญาณจราจร เสียหายได้ โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 หนึ่งในผู้ดำเนินงานระบบรางรถไฟของอังกฤษอย่าง Network Rail ได้แชร์ภาพรางรถไฟที่กลายเป็นสีดำหลังเกิดเหตุไฟไหม้ และยังมีรูปสัญญาณรถไฟที่ละลายเพราะโดนแดดเผา ซึ่งทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักตลอดทั้งวัน
‘ฝรั่งเศส’ ก็เจอคลื่นความร้อนหนักไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 มี 64 พื้นที่ในฝรั่งเศสที่ทุบสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เมืองแซงต์บรียุกมีอุณหภูมิสูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส เมืองน็องต์สูงถึง 42 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมในปี 2492 ที่ตอนนั้นแตะ 40.3 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่อุณหภูมิสูงสุดที่ฝรั่งเศสเคยเจอ เพราะความร้อนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของฝรั่งเศสคือ 45.9 องศาเซลเซียสเมื่อปี 2562 แต่ถึงอย่างนั้น คลื่นความร้อนระลอกนี้ทำให้ฝรั่งเศสต้องเจอกับไฟป่ารุนแรงในหลายพื้นที่ ประชาชนหลายหมื่นรายต้องอพยพหนีควันและไฟป่าที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ได้มีรายงานเปิดเผยว่า ‘สเปน’ และ ‘โปรตุเกส’ มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะหายนะความร้อนครั้งนี้แล้วกว่า 2,000 ราย โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศผิดปกติก็คือ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ ‘Climate Change’ ที่มาจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ Climate Change ถือเป็นวิกฤตของมนุษยชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนที่สุด เพราะถ้าหากยังจำกันได้ เมื่อเดือนเมษายน 2565 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการเปิดเผยความจริงและความรุนแรงของภาวะโลกร้อนภายใต้ชื่อ Scientist Rebellion ได้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลและบริษัทยักษ์ใหญ่หยุดสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อป้องกันไม่ให้โลกเผชิญกับหายนะจากภาวะโลกร้อน
คลื่นความร้อนที่กำลังแผ่ปกคลุมไปทั่วโลก และการเคลื่อนไหวของเหล่านักวิทยาศาสตร์คือสัญญาณที่เตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่โลกของเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและทันที ไม่เช่นนั้น อุณหภูมิโลกอาจทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนและรุนแรงเกินกว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่ได้
Sources :
AccuWeather | t.ly/sb5C
Axios | t.ly/Qdgk
CBC | t.ly/lyG1
CNBC | t.ly/Qxsu
DW | t.ly/_uG-
News18 | t.ly/J3i2
The Bulletin | t.ly/RZ_rUPI | t.ly/sFps