สำรวจป้ายหาเสียงในฤดูกาลเลือกตั้งกรุงเทพฯ 2565 - Urban Creature

ในฤดูเลือกตั้ง นอกจากจะได้เห็นภาพการปรากฏตัวของแคนดิเดตนักการเมืองหลายคนบ่อยๆ ทั้งในหน้าสื่อ และการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ สิ่งที่เห็นได้ถี่ไม่แพ้กันก็คือ ‘ป้ายหาเสียง’ และ ‘ประกาศหาเสียง’ ของแคนดิเดตแต่ละคนหรือแต่ละพรรค ที่จัดเต็มด้วยสโลแกน และนโยบายการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน 2565 นี้ ภาพบรรยากาศป้ายมากมายที่เราเคยเห็นในศึกการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ต่างทยอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ใช่ เราหมายถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) นั่นแหละ อีกไม่นาน คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองในคูหาอีกครั้ง หลังจากรัฐริบเอาเสียงของประชาชนไปนานหลายปี ซึ่งคนกรุงจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 หลังยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อมีการคอนเฟิร์มแน่ชัด ผู้สมัครหลายคนก็เริ่มติดป้ายหาเสียงแบบไม่มีใครยอมใคร แถมยังมีการเริ่มปิดประกาศและติดตั้งป้ายก่อนมีการประกาศหมายเลขประจำตัวผู้สมัครในวันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน 2565 เสียด้วยซ้ำ

ถ้าสังเกตดีๆ ในโลกออนไลน์ตอนนี้เริ่มมีคอนเทนต์เกี่ยวกับการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ เยอะขึ้นเรื่อยๆ มีคนถ่ายภาพป้ายเลือกตั้งที่พบเจอมาแชร์ต่อมากมาย ทั้งในมุมตลกขบขัน มุมซีเรียส มุม Complain ไปจนถึงข้อเสนอ และเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการออกแบบคอนเทนต์ ดีไซน์ป้ายหาเสียง ไปจนถึงความเหมาะสมของการติดตั้งป้ายในแต่ละพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพาทุกคนออกไปสำรวจเมืองในย่านต่างๆ เพื่อเก็บเอาภาพป้ายหาเสียงที่ติดตั้งในกรุงเทพมหานครมาแบ่งปันกัน

สำหรับการติดตั้งป้ายประกาศต่างๆ มีทั้งข้อควรรู้สำหรับประชาชน และข้อควรระวังสำหรับผู้สมัคร ซึ่งจากกฎกติกาการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ต้องคำนึงถึงเกณฑ์จากกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีการประกาศย้ำระเบียบการหาเสียงใหม่ในปีนี้ โดยมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบตามประกาศการกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่เผยแพร่ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ดังนี้

แต่ละเขตติดตั้งป้ายได้ในจำนวนที่จำกัด

จากประกาศการติดประกาศและป้าย หน่วยงาน กกต. ได้กำหนดจำนวนออกมาอย่างชัดเจน ตามเกณฑ์ ดังนี้

– จัดทำประกาศได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง

– แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งทำได้ไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง

*ห้ามติดประกาศหรือป้ายหาเสียงเลือกตั้งนอกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่สมัคร

ขนาดป้ายห้ามใหญ่เกินกำหนด

ไม่ใช่ว่าจะทำประกาศหรือป้ายขนาดไหนมาติดตั้งตามอำเภอใจก็ได้ เพราะ กกต. กำหนดขอบเขตของขนาดที่ชัดเจนไว้ ดังนี้

– ปิดประกาศหาเสียงเลือกตั้งได้ในความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร

– ปิดป้ายหาเสียงเลือกตั้งได้ในความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร

ต้องติดป้ายในบริเวณที่กำหนด

ทั้งนี้ กกต. ได้จัดบริเวณสำหรับการติดป้ายสำหรับผู้ลงสมัครเลือกตั้งไว้ในพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

– บริเวณปิดป้ายของสำนักงานเขตปกครอง

– บริเวณปิดป้ายของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ

– บริเวณปิดป้ายของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพฯ

นอกจากบริเวณที่กำหนด กกต. ยังบอกในระเบียบการอีกว่าต้องขออนุญาติหน่วยงานในพื้นที่ และกำหนดจำนวนไว้อย่างชัดเจน โดยระบุเอาไว้ว่า

– ให้ผู้สมัครปิดประกาศตามหัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยปิดได้สถานที่ละ 1 แผ่น 

– ให้ผู้สมัครขอปิดประกาศกับหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้รับมอบหมายของสถานที่นั้นๆ

พื้นที่นี้ห้ามติดป้ายโดยเด็ดขาด

การติดตั้งทั้งหลายต้องคำนึงถึงขนาดและติดในพื้นที่ที่กำหนด นั่นรวมถึงพื้นที่ที่ห้ามติดเป็นอันขาด 

ได้แก่ ผิวการจราจร, เกาะกลางถนน, สะพานลอยเดินข้าม, สะพานลอยรถข้ามและส่วนประกอบสะพาน, รั้วและแผงเหล็กริมถนน, ป้ายและสัญญาณไฟจราจร, ป้ายประกาศราชการ, รั้ว กำแพง หรือผนังอาคารของทางราชการ, ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน-เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงยึดตามเกณฑ์การไฟฟ้านครหลวง, ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร, ตู้โทรศัพท์, ตู้ไปรษณีย์, อนุสาวรีย์, ป้อมตำรวจ, ห้องน้ำสาธารณะ, สนามหลวง, สวนหย่อม, สวนสาธารณะ, วงเวียนทุกวงเวียน, ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง, ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา, ลานพระบรมรูปทรงม้า, ถนนราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน

*กรณีที่จะติดประกาศในซอยต้องห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร

ถ้าติดตั้งผิดกฎ ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กรณีที่ทำผิดกฎกติกา ผู้มีอำนาจรับผิดชอบสามารถสั่งผู้สมัครให้แก้ไขได้ภายในวันและเวลาที่กำหนด ถ้าไม่แก้ไขตามกติกา บุคคลและหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถรื้อถอน ทำลาย ปลด ปกปิด หรือลบข้อความ ภาพ หรือรูปรอยได้ โดยมีการคิดค่าใช้จ่าย หรือนำมาสืบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดได้ในภายหลัง

ทำตามกฎไม่พอ เพราะดีไซน์ป้ายต้องดึงดูดใจ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ขั้นตอนการออกแบบ คิดค้นคำที่จะนำมาใช้บนโปสเตอร์ การวางเลย์เอาต์ให้น่าสนใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับแคนดิเดตและทีมงาน อาทิ ภาพถ่ายที่ดึงดูด ฟอนต์ที่ลงตัว จำนวนฟอนต์ที่เหมาะสม สีสันที่สวยงาม รวมถึงโครงป้ายและวัสดุที่ใช้ต้องแข็งแรง เพราะเมื่อนำออกมาวางรวมๆ ใกล้กับผู้สมัครหลายๆ คน ก็เป็นเหมือนสนามประชันเล็กๆ ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งย่อมเกิดการเปรียบเทียบจุดเด่นและจุดด้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย

ติดป้ายแบบไหนปัง แล้วติดแบบไหนพัง

ไม่ใช่แค่การปฏิบัติตามกฎกติกาของ กกต. เท่านั้น แต่การติดตั้งยังต้องคำนึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ให้รบกวนผู้คนและสังคม ต้องคำนึงว่าประกาศของตนจะไม่บดบังสายตาผู้คน ไม่กีดกั้นทางเท้าสัญจร และถนนที่ประชาชนใช้ หรือไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และทรัพย์สินสาธารณะ

เพราะหลายๆ ครั้ง เมื่อเกิดกรณีการติดป้ายหรือปิดประกาศผิดที่ผิดทาง อาจนำมาสู่ความรำคาญ ข้อครหาด้านลบ และเสียงตำหนิก่นด่าจากประชาชนได้ แน่นอน นั่นอาจทำให้ผู้ชิงตำแหน่งต้องสูญเสียคะแนนเสียงของตนไปอย่างน่าเสียดาย 

การทำประกาศในพื้นที่สาธารณะน่าจะเป็นปัญหาสากลที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ แต่หลายๆ ประเทศก็พยายามหาทางออกด้านการทำพีอาร์ให้ออกมาดีที่สุด อย่างในเคสของประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการติดบิลบอร์ดขนาดใหญ่ (Election Poster Board) เพื่อให้เป็นพื้นที่ติดประกาศหาเสียงส่วนกลาง ไม่ให้ประกาศหรือป้ายรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชน หรือมีไอเดียดีๆ สำหรับการทำป้ายหาเสียงเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของบางรัฐในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ด้วยการตั้งข้อกำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลที่ย่อยสลายได้ง่าย อย่างเช่น โพลิโพรพิลีน พลาสติกลูกฟูก (Coroplast) กระดาษแข็ง หรือไม้ มาผลิตป้ายหาเสียง รวมถึงไอเดียหลีกเลี่ยงทางสัญจร ด้วยการติดป้ายเล็กๆ บนพื้นสนามหญ้าในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น 

ส่วนในประเทศไทย เราก็เริ่มเห็นการทำป้ายขนาดเล็กมากๆ นำมาติดบนเสาไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนประชาชน รวมถึงการทำป้ายรีไซเคิลมาใช้ด้วย

ดูเหมือนว่าป้ายหาเสียงจะไม่ใช่แค่เรื่องขำๆ เพราะมันมีส่วนสำคัญต่อศึกการเลือกตั้งทุกครั้ง ในฐานะเครื่องมือโปรโมต สร้างภาพลักษณ์และเรียกคะแนนนิยม เพราะถ้ามีคอนเทนต์ดีๆ ที่มาพร้อมการติดตั้งอย่างเคารพผู้คนและสภาพแวดล้อม ก็จะช่วยซัปพอร์ตฐานเสียงให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าติดผิดที่ผิดทาง ก็อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน จนทำให้ความนิยมติดลบได้เช่นกัน

เคสของป้ายหาเสียงน่าจะเป็นมุมมองเล็กๆ มุมหนึ่งที่พอจะทำให้เรามองเห็นภาพบางส่วนว่า ก่อนที่ใครสักคนจะมาเป็นผู้แทนของประชาชน การทำป้ายหาเสียงอย่างคำนึงถึงรายละเอียดด้านความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ของทุกคน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และเป็นการหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ 

นี่จึงเป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเวทีการแข่งขันเพียงเพื่อชิงตำแหน่ง หรือการเป็นผู้คว้าชัยทางการเมืองเท่านั้น แต่นี่เป็นการอาสาเข้ามาทำงานตำแหน่งผู้แทนอย่างตั้งใจ เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนี่คือหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งทุกครั้งนั่นเอง


ซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature คือซีรีส์ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน


Source : 

Post Today
ประชาชาติธุรกิจ

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.