เดินในเมืองให้สนุกขึ้น ด้วยนวัตกรรมและทางเท้า - Urban Creature

เคยคิดไหมว่า ทำไมเราถึงไม่อยากใช้เวลาในวันหยุดออกไปเดินเท้าท่องแต่ละย่านของเมือง คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แดดร้อน ทางเท้าไม่ดี หรือเดินได้ไม่สะดวก แต่นอกเหนือจากความปลอดภัยและความสะดวกสบายทั่วๆ ไปอย่างทางเท้าที่กว้างตามมาตรฐาน ความสม่ำเสมอของพื้นทางเท้าที่ไม่เหยียบแล้วเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือแม้กระทั่งไฟส่องสว่างตลอดการเดิน ยังมีอีกปัจจัยสำคัญอย่างการออกแบบสนุกๆ ที่จะช่วยทำให้การเดินในเมืองของพวกเรามีสีสันมากขึ้นได้อีก

คอลัมน์ Urban Sketch ขอลองออกไอเดียว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนการเดินธรรมดาๆ ให้มีชีวิตชีวาและสนุกได้ตลอดทาง

การเดิน ทางเท้า นวัตกรรม กรุงเทพ การเดินในเมือง เมืองหลวง ถนน ทางคนข้าม สวน พื้นที่สีเขียว

1) พื้นจอ Interactive

เดินอย่างเดียว มองพื้น มองทางแล้วก็เบื่อๆ ถ้ามีจอ Interactive ที่ทำให้การเดินไม่ต้องมองแต่อะไรซ้ำๆ ก็คงดี เราเลยคิดถึงจอที่โต้ตอบได้ พร้อมใส่อะไรสนุกๆ อย่างปลาทองที่ว่ายไปว่ายมา พร้อมผืนน้ำที่เมื่อเราเหยียบแล้วมีคลื่นเกิดขึ้น กระทั่งทุ่งหญ้าที่มีกระรอกตัวเล็กๆ กระโดดดึ๋ง เวลาเหยียบจุดไหนหญ้าก็เกิดการเคลื่อนไหว

2) จุดแวะนับก้าวและเติมพลัง

นี่เราเดินมาไกลแค่ไหน เป็นจำนวนกี่ก้าวแล้ว หรือวันนี้เดินได้มากกว่าเมื่อวานไหม นี่เลย เราขอเสนอจุดแวะนับก้าวและเติมพลังให้ทุกคนนำ Smart Watch ไปแปะที่แท่นพร้อมขึ้นโชว์เป็นลำดับแข่งขัน และมอบรางวัลให้นักเดินคนเก่งที่สะสมจำนวนก้าวได้มากที่สุดในสัปดาห์ คู่กับบริการเช่ายืมเซตนักเดินอย่างหมวก แว่นกันแดด ร่ม หรือพัดลมจิ๋ว โดยมีค่าบริการคิดตามรายชั่วโมงและคืนได้ที่จุดแวะนับก้าวจุดต่อไป

อีกส่วนสำคัญที่จุดนับก้าวนี้มีคือ ข้อความให้กำลังใจสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมแข่งขันเดินแชมเปียนชิป แต่ก็ต้องการกำลังใจดีๆ ให้ผ่านวันยากๆ ไปได้ โดยติดเป็นป้ายเล็กๆ อย่าง ‘เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เป็นวันใหม่’ หรือ ‘มีอะไรเหนื่อยล้าลองเล่าให้เราฟังได้นะ’ คู่กับสายด่วนหรือเบอร์กรมสุขภาพจิต จะได้เป็นจุดเติมพลังทั้งแรงกายและแรงใจให้พร้อมไปต่อ

3) เส้นทางสนุกสัตว์ สะดวกคน

เวลาออกไปเดินคนเดียวจะเหงาๆ หรือบางทีพอเดินไปสักพักก็เริ่มเบื่อ อยากชวนน้องหมาคนสนิท คาปิบาราตัวโปรด หรือแมวสุดที่รักมาเดินเป็นเพื่อนบ้างจัง แต่เวลาพาออกมาเดินทีไรก็มีแต่ความยากลำบาก ด้วยทางเดินที่ไม่เป็นมิตรกับน้องๆ เราจึงนึกถึงเส้นทางเดินของคนกับสัตว์ควบคู่กันไป และเป็นฟุตพาทที่เหมาะกับเท้าของสัตว์เลี้ยงตัวโปรด

เริ่มต้นด้วยเส้นทางเดินใกล้สวนสาธารณะที่คนมักพาน้องๆ ไปเดินเล่น หรือเป็นเส้นทางใกล้หมู่บ้านหรือเขตพักอาศัยที่คนมักจูงสัตว์เลี้ยงไปเดินเป็นประจำ

4) ถนนแสงสีเสียง

ออกแบบถนนให้มีระบบเซนเซอร์สีและเสียงฝังอยู่ใต้พื้น เมื่อมีคนเดินผ่าน เซนเซอร์จะจับการเคลื่อนไหวและสร้างเสียงเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับการเดิน เช่น เดินเร็วก็เป็นเสียงกลองดังต่อเนื่อง เดินช้าเกิดเสียงเปียโน ร่วมกับสีที่เปลี่ยนไปตามจังหวะการเหยียบ เช่น สีฟ้า สีแดง สีส้ม หรือสีเขียว โดยเฉพาะเส้นทางเดินที่อยู่ใกล้ย่านกลางคืนอย่างบรรทัดทอง เยาวราช หรือรัชดาฯ เพื่อเติมความสดใสให้พื้นทางเดิน ทั้งส่องสว่างและมีสีสันยามค่ำคืน

5) สวนระยะสายตา

ใครๆ ก็อยากมีสวนใกล้ตัวหรือพื้นที่สีเขียวที่มองเห็นได้ง่ายโดยไม่ต้องออกไปไหนไกล ยิ่งถ้าสวนเหล่านั้นเดินผ่านได้ง่ายๆ ในเส้นทางเดินประจำวันก็น่าจะดีเป็นที่สุด

สวนระยะสายตาขนาดเล็กๆ ที่อาจจะห้อยเอาไว้หรือตั้งสูงขึ้นมา เพื่อให้เรามองระหว่างการเดินในชีวิตประจำวัน จึงตอบโจทย์และเพิ่มชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากสวนแนวตั้งหรือสวนที่เห็นได้ด้วยระดับความสูงของการยืนทั่วๆ ไปแล้ว สวนระยะสายตาในระดับความสูงอื่นๆ ก็มีความจำเป็นสำหรับการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้วีลแชร์ เด็ก หรือผู้พิการ เพื่อให้สัมผัสพื้นที่สีเขียวระหว่างเดินทางได้

6) เพลงข้ามถนน

ในการเดินแต่ละวัน เราคงไม่ได้จะเดินแค่บนทางเท้าหรือพื้นทั่วๆ ไป แต่ต้องมีหลากหลายสถานการณ์ที่จะเจอกับแยกมุมทั้งหลายที่ทำให้เราต้องเดินข้าม ซึ่งนอกจากทางม้าลายได้มาตรฐานและสัญญาณไฟทางเดินข้ามที่นานพอให้เราเดินได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่มาคู่กันและทำให้เราเดินได้สนุกขึ้นอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แบบเพลงข้ามถนนที่แตกต่างกันไปในแต่ละย่านทั่วกรุงเทพฯ โดยใส่จุดเด่นของย่านนั้นลงไปในทำนองจนเป็นเอกลักษณ์ ถ้าอยากได้ยินเสียงดนตรีนี้ต้องแวะเวียนมาที่ย่านนี้เท่านั้น

_______________________________________

‘City Walk, City Work เมืองเดินได้เดินดี’ คือซีรีส์คอนเทนต์จาก Urban Creature ที่อยากชวนทุกคนมาสำรวจความเป็นเมืองเดินได้ของกรุงเทพฯ และผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว