เนื้อสัตว์จากแล็บไร้ความชัดเจนทางศาสนา - Urban Creature

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงหรือ Cultured Meat กำลังเผชิญหน้ากับคำถามข้อสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรม เมื่อเนื้อที่ใช้วิธีการเพาะขึ้นมาจากชิ้นส่วนของสัตว์ ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และไม่ได้ถูกเชือดตามหลักฮาลาล ผู้บริโภคกลุ่มสำคัญอย่างชาวมุสลิมหลายพันล้านคนทั่วโลก หรือศาสนาอื่นที่มีกฎด้านอาหาร จะสามารถบริโภคอาหารแห่งอนาคตนี้ได้โดยไม่ผิดหลักศาสนาหรือไม่

Eat Just สตาร์ทอัปผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง จากซานฟรานซิสโก กำลังวางเดิมพันระหว่างเทคโนโลยีกับขนบธรรมเนียมที่มีมาอย่างช้านาน เพื่อเสนอแนวทางใหม่ในการป้อนโปรตีนให้กับโลก ในปี 2020 Eat Just เริ่มวางจำหน่ายนักเก็ตไก่ที่เพาะในห้องปฏิบัติการในสิงคโปร์ ก่อนจะระดมทุนเงินได้มากถึง 267 ล้านดอลลาร์ในปีต่อมา แผนของบริษัทคือมุ่งหน้าไปสู่ตลาดมุสลิม และมีแผนจะสร้างโรงงานในประเทศกาตาร์ ทว่าเมื่อปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาแล้ว เนื้อสัตว์ชนิดใหม่นี้ยังไม่ได้รับอนุมัติ และยังไม่มีตราฮาลาลประทับอยู่บนสินค้าแต่อย่างใด

Cultured Meat เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และอาจมีมูลค่าถึง 25,000 ล้านภายในเวลา 10 ปี มหาเศรษฐีของโลกทั้ง Bill Gates, Richard Branson แม้กระทั่งผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่าง Eduardo Saverin และอีกมากมายกำลังลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตและหวังให้กำไรงอกงามจากห้องแล็บ

อย่างไรก็ตาม Nahdlatul Ulama องค์กรอิสลามที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เซลล์ที่นำมาจากสัตว์ที่มีชีวิต และเพาะในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพจะอยู่ในหมวดหมู่ของซากสัตว์ ซึ่งถือว่าไม่สะอาด และมีกฎห้ามไม่ให้บริโภค แต่ประตูก็ยังไม่ได้ปิดตายโดยสิ้นเชิงเมื่อ Muhammad Taqi Usmani ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลามบอกว่าหากเนื้อสัตว์ที่นำมาเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ถูกเชือดตามกระบวนการที่สอดคล้องกับหลักของศาสนาอิสลาม

อุตสาหกรรมนี้ยังเผชิญกับความท้าทายจากผู้บริโภคชาวยิวเช่นกัน เมื่อผู้นำศาสนายังไม่ได้ให้คำตอบว่า Cultured Meat ถือว่าเป็นโคเชอร์ หรืออาหารที่ได้มาตรฐานตามกฎของยิวหรือไม่ Joel Kenigsberg รับบี (ผู้สอนศาสนายิว) ในลอนดอนบอกว่าเทคโนโลยีนี้ราวกับหลุดออกมาจากนวนิยายและถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ การจะหาแบบอย่างในอดีตมาตีความจึงถือเป็นเรื่องท้าทายมาก


ทุกอย่างอาจจะเป็นเรื่องของเวลา Yaakov Nahmias ประธานบริหารของ Future Meat อีกหนึ่งบริษัทในอุตสาหกรรมที่กำลังขอการอนุมัติด้านกฎระเบียบจาก FDA สหรัฐฯ วางเป้าหมายที่จะนำไก่จากแล็บไปจำหน่ายในร้านอาหารภายในต้นปี 2023 ซึ่งคาดว่าปัญหาด้านศาสนาจะคลี่คลายแล้ว “เรามีนักบวชจากหลายกลุ่มเดินทางมาเยี่ยมชม และกำลังไปได้สวย” เขายังเสริมว่าในอนาคตเนื้อสัตว์เหล่านี้จะได้รับการรับรองทั้งฮาลาลและโคเชอร์

ระหว่างนี้ในสิงคโปร์ ประเทศที่รัฐบาลได้อนุมัติการจำหน่าย Cultured Meat ในเชิงพาณิชย์เร็วที่สุดในโลก ก็ยังไม่มีข้อชัดเจนทางศาสนาแต่อย่างใด สภาศาสนาอิสลามแห่งสิงคโปร์ (IRCS) กล่าวในแถลงการณ์ว่า “อาหารเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ในหลักนิติศาสตร์อิสลามซึ่งต้องอาศัยการวิจัย วิเคราะห์ และการตีความทางศาสนาที่เหมาะสมต่อไป’

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.