ทำไมญี่ปุ่นยังชิลกับ COVID-19 ? - Urban Creature

เดือนเมษายน เป็น High-Season ของประเทศญี่ปุ่น ปกติหลายคนคงเตรียมบินลัดฟ้าไปพักผ่อนท่ามกลางฤดูใบไม้ผลิ แต่น่าเศร้าที่ในปีนี้ดันมีไวรัส COVID-19 ระบาด ก็เลยต้องกักตัวอยู่บ้านเฝ้ารอประกาศและติดตามสถานการณ์อย่างใช้ชิดติดจอ

หากพูดถึงแดนซากุระในตอนนี้แล้วล่ะก็ ต้องบอกเลยว่าญี่ปุ่นคือประเทศแรกๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูงอย่างรวดเร็วไล่เลี่ยกับประเทศจีน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ตัวเลขที่ดูเหมือนจะน่าเป็นห่วงกลับเริ่มนิ่ง จนดูไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไหร่ (มั้ง) แถมข่าวก็ออกกันโครมๆ ว่าคนญี่ปุ่นยังออกไปทำงานกันแทบจะเป็นปกติ ไหนจะออกไปกินลมชมซากุระที่นานปีมีหน ทำเอาหลายคนที่ติดตามข่าวนี้งงไปตามๆ กัน

Photo: AFP

“การรับมือที่ญี่ปุ่นไม่เข้มเลย ตอนนี้ก็ยังออกไปข้างนอกได้ปกติ ขอแค่ไม่เข้าที่ปิด มองว่าคนไทยยังดูตื่นตัวมากกว่า ถ้าถามว่าที่ญี่ปุ่นใครตื่นตัวก็ต้องพวกเอกชน”

เราไม่ได้ทึกทักเอาเอง เพราะ ปัญญ์ ทวีพงศากร เพื่อนคนไทยของเราในญี่ปุ่นที่กำลังเรียนอยู่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต บอกกับเราผ่านวิดีโอคอลด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่ดูไม่ตกใจอะไร เมื่อเราถามว่า “ที่นั่นเป็นไง” ซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศในเมืองไทยที่ดูจะจริงจังกับสถานการณ์นี้มากกว่าด้วยซ้ำ

Photo: AP Photo / JAE C. HONG

มีผู้ติดเชื้อเรื่อยๆ แต่ญี่ปุ่นยังเอื่อยๆ

ที่ปัญญ์ตื่นตัวก็เพราะคอยอัปเดตกับทางบ้านที่ประเทศไทยอยู่ตลอด ทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องชิลๆ แบบที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นอยู่ ซึ่งความตื่นตัวมันเริ่มมาตอนเหตุการณ์เรือสำราญ Diamond Princess ที่ทำเอาหน้ากากอนามัยขาดตลาด แต่พอเวลาผ่านไป รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้แสดงความชัดเจนว่า COVID-19 มีความรุนแรงมากขนาดนั้น ด้วยยอดผู้ติดเชื้อที่แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ดูน่าตกใจ จนคนญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม

“ที่ญี่ปุ่นคนยังออกมาซื้อของกินข้าวกันปกติเลย ยิ่งตอนหน้าซากุระก็ออกมาดูกันเพราะมันดูได้ครั้งเดียวต่อปี เพียงแต่คนอาจจะดูไม่เยอะถ้าเทียบกับสถานการณ์ปกติ”

ปัญญ์บอกกับเราถึงการใช้ชีวิตปกติของคนญี่ปุ่นท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 และถ้าย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคม หลายประเทศเข้มงวดกวดขันให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ในที่พัก บางประเทศถึงขั้นทำการล็อกดาวน์ห้ามคนเข้าออก ตัดภาพมาที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเพียงว่า ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ปิดทึบ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดคนเยอะ และทำ Social Distancing เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่คำสั่งห้ามจริงจัง เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเท่านั้น

Photo: AFP

นอกจากจะไม่ล็อกดาวน์แล้ว ปัญญ์ยังบอกเป็นเสียงเดียวกับคนญี่ปุ่นอีกว่า รัฐบาลไม่ค่อยตื่นตัวในการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง ซึ่งจากรายงานของทางการโตเกียวเมื่อต้นเดือนเมษายน มีการตรวจร่างกายของประชาชนในประเทศไปเพียง 39,466 คนเท่านั้น จากทั้งหมดที่มีถึง 125 ล้านคน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ที่ตรวจสอบไปแล้วกว่า 4 แสนคน

Photo: REUTERS / Athit Perawongmetha

เรื่องภัยพิบัติทำได้ดี แต่เรื่องไวรัสนี้ยังไม่ผ่าน

สำนักข่าวต่างชาติหลายเจ้ามองว่า การรับมือกับวิกฤติ COVID-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นล่าช้า เพราะกว่าจะประกาศอะไรออกมา ก็ต้องรอให้มีการระบาดหนักๆ เกิดขึ้นก่อน อย่างโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ยื้อกันอยู่ตั้งนานกว่าจะประกาศว่าขอเลื่อนไปปีหน้า จนสุดท้ายจำนวนผู้ติดเชื้อก็พุ่งพรวดเป็นหลายร้อยคน

ที่รัฐบาลญี่ปุ่นลีลาลวดลาย มาจากการที่ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น กังวลว่าเศรษฐกิจจะล่ม และปากท้องของประชาชนจะย่ำแย่ไปกว่านี้ อีกทั้งระบบสาธารณสุขที่ไม่เอื้อให้ประชาชนต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างไม่จำเป็น หากยังไม่ผ่านการแอดมิดจากคลินิกมาก่อน ทำให้ผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อยังต้องเดินทางไปทำงานทั้งๆ ที่มีไข้

Photo: JAPAN Forward

สำหรับชุดตรวจ COVID-19 ก็เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงยากซะเหลือเกิน เพราะมีการตั้งเกณฑ์สำหรับตรวจโรคไว้ยิบย่อยเพื่อกันไม่ให้คนแห่มาตรวจ จนสื่อของญี่ปุ่นลงความเห็นว่าผู้ป่วยที่มีระยะเริ่มต้น กลับเข้าไม่ถึงการตรวจแทนที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

“ไวรัสมันไม่เหมือนภัยพิบัติที่มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว คนญี่ปุ่นจะรู้ทันทีว่าตอนไหนต้องเตรียมอพยพ แต่พอเป็นเรื่องไวรัสระบาดปุ๊บ มันเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐบาลและประชาชนต้องเจอ”

หากมองในภาคประชาชน คัลเจอร์การทำงานหนักแทบถวายชีวิต ก็เป็นอีกสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกว่าเรื่องไวรัสระบาด ซึ่งปัญญ์ก็ตอกย้ำความเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนกเป็นที่สุด ด้วยการบอกเราว่า ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นยังคงเดินทางไปทำงานกันอย่างปกติ แน่ล่ะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนญี่ปุ่นเลย ถ้าไม่มีไม้ตายและคำสั่งให้ work from home จากบริษัทของตัวเอง

Photo: AFP / Philip FONG

โชคร้ายก็ยังมีโชคดี

อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในญี่ปุ่นมักมีความเนี้ยบแฝงอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อย รักความสะอาด และแคร์สายตาประชาชน ปัญญ์บอกว่าก็ยังถือเป็นจุดที่พอเบาใจได้บ้าง เพราะประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมาย และกฎทางสังคมที่แข็งแรง รวมถึงมีการวางผังเมืองที่ดี อย่างการมีจุดทิ้งขยะที่ชัดเจน และไม่ได้หาถังขยะยากเหมือนบ้านเรา

“ความสะอาด มันเป็นความเด็ดขาดของที่นี่ ซึ่งมันบีบให้คนญี่ปุ่นต้องชินกับไลฟ์สไตล์แบบนี้ จริงๆ แล้วนิสัยคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างกับประเทศอื่นหรอก”

พูดถึงหน้ากากอนามัย ก็เกิดคำถามว่า ทำไมคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถึงชอบใส่หน้ากากอนามัย ? เหตุผลหลักๆ คือ คนญี่ปุ่นประมาณ 1 ใน 4 ต้องป่วยด้วยอาการแพ้เกสรดอกไม้ หรือไข้ละอองฟาง (Kafunsho) เพราะที่ญี่ปุ่นมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่เป็นต้นเหตุของไข้นี้ ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้หรือป่วยจากไข้หวัดต่างๆ จึงมักใส่หน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม

Photo: REUTERS

อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นมักต้องการความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีนิสัยพื้นฐานแบบตัวใครตัวมัน และไม่ถึงเนื้อถึงตัวกันอยู่แล้ว เลยทำให้เกิดการสัมผัสกันได้น้อยมากตามไปด้วย เหมือนเป็นการทำ Social Distancing กลายๆ นี่จึงเป็นความโชคดีของญี่ปุ่นสำหรับสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด และส่วนตัวปัญญ์เป็นคนที่ชอบความเป็นส่วนตัว และไม่ได้รักการสังสรรค์ปาร์ตี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยน่าห่วงเรื่องการต้องตกอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือต้องใกล้ชิดผู้คนในพื้นที่แออัด

Photo: Bloomberg

ภาวะฉุกเฉิน คว้าน้ำเหลว ?

ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีแต่ขึ้นเอาๆ นายกรัฐมนตรีอาเบะเลยออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยจะครอบคลุมพื้นที่กรุงโตเกียว ชิบะ โอซากา ไซตามะ คานากาวา เฮียวโงะ และฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยการประกาศภาวะฉุกเฉิน จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้อำนาจสั่งการกับภาคเอกชนได้ ซึ่งภาคเอกชนหรือบริษัทนั้นๆ อาจจะมีนโบบายให้ชาวออฟฟิศ work from home แต่สำหรับภาคประชาชนแล้ว กฎหมายบอกว่าถ้ามีการบังคับประชนห้ามออกนอกบ้าน รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้ทันที เลยทำให้ภาวะฉุกเฉินเป็นเพียงคำร้องขอจากรัฐบาลในเวอร์ชันที่ดุขึ้นเท่านั้นเอง

“ที่เกียวโตมีคนติดเชื้อ แต่ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในประกาศภาวะฉุกเฉิน การใช้ชีวิตของคนที่นี่ก็ยังคงชิลเหมือนเดิม คือนึกภาพคนญี่ปุ่นหยุดทำงานอยู่บ้านไม่ออกเลย”

ปัญญ์เสริมว่า แม้ผู้คนจะใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนต่างชาติที่ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ปัญญ์บอกว่าตัวเองก็ต้องเฝ้าระวังตลอด ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ออกจากที่พัก เพราะรู้ว่าวิกฤติ COVID-19 ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่แป๊บๆ เดี๋ยวก็ผ่านไป

Photo: AFP

หลังจากประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน สิ่งเปลี่ยนอย่างชัดเจน คือบริษัทและร้านรวงต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเปิดให้เห็นอยู่ตามปกติ เรียกได้ว่ามีทั้งจุดที่ผู้คนบางตาลง และจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน ยิ่งภาวะฉุกเฉินไม่สามารถใช้กับภาคประชาชนได้ เลยยังเห็นคนญี่ปุ่นออกไปไหนมาไหนได้สบายๆ แทบไม่ต่างอะไรกับก่อนที่จะประกาศ

ต้องมาติดตามกันว่า สถานการณ์ COVID-19 ในญี่ปุ่นจะลงเอยอย่างไร คนญี่ปุ่นจะชิลแบบนี้ต่อไปไหม หรือจะมีการระบาดคลื่นลูกใหญ่ที่น่ากลัวกว่าเดิม นี่คือเรื่องนี่น่าจับตามองเลยทีเดียว


Sources
The New York Times
The Japan Times
The Japan Times
The Guardian
Hfocus
Workpoint News
Bangkok Biz News
Thairath
Voice TV

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.