Corsair รีไซเคิลพลาสติกเป็นน้ำมันชีวภาพ - Urban Creature

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกระแสหรือสถานการณ์ที่ไม่อาจเลี่ยงหรือเปล่า เพราะเรามักเห็นบริษัทเฉพาะทางที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงสุดยอดสตาร์ทอัปที่สร้างเทคโนโลยีดูดจับคาร์บอนลงดิน หรือบทความเกือบล่าสุดเกี่ยวกับแบรนด์เย็บซ่อมเสื้อผ้าที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในระดับที่ทุกคนเข้าถึงได้ วันนี้ Urban Creature ขอนำเสนอเรื่องราวของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับองค์กร กับ Corsair บริษัทที่พัฒนาโซลูชันธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม 

พูดแบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพใช่ไหมครับว่าเขาทำอะไร อย่างแรกที่ลงมือแล้ว คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันชีวภาพ ซึ่งทำงานกับโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือองค์กรใดก็ตามที่อยากขยับตัวเรื่องปัญหาพลาสติกที่ล้นโลกเหลือเกินในตอนนี้ เขายังออกบริการ Plastic Credit มารอเทรนด์ที่คาดว่าจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีนี้ด้วย 

ที่จริง Corsair ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นน้ำมันอย่างเดียว เพราะ ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา (Jussi Veikko Saloranta) ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ของ Corsair ยืนยันเต็มปากเต็มคำตั้งแต่คำถามแรกเลยว่า นี่คือบริษัทที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก ส่วนคำถามถัดมาที่ว่าทำได้อย่างไร แก้ปัญหาอะไรบ้าง ช่วยโลกได้จริงหรือเปล่า เราลองไปฟังจากเจ้าตัวกันดีกว่าครับ 

เปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน

ชาวฟินแลนด์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 15 ปี อย่างยูสซี เริ่มต้นด้วยการอธิบายบริษัทของตัวเองอย่างเรียบง่ายเหมือนที่เราพูดไปข้างต้นว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ แต่สิ่งที่โฟกัสตอนนี้คือปัญหาพลาสติก

“ภารกิจของเราคือการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เรามุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาพลาสติกเป็นหลัก พลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีต้นกำเนิดมาจากน้ำมัน เราก็แค่เปลี่ยนมันกลับไปเป็นสถานะเดิมแค่นั้นเอง”

ขยะของคุณคือขุมทรัพย์ของเรา คำนิยมยอดฮิตในโลกสินค้ามือสองหรือโลกแห่งการรีไซเคิล สำหรับ Corsair อาจจะพูดประโยคนี้ได้ตรงๆ ว่า ขยะพลาสติกของคุณคือน้ำมันของเรา ซึ่งหมายความตามนั้นทุกคำแบบไม่ต้องอาศัยการตีความ โดยอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า Pyrolysis 

ยูสซีเล่าให้เราฟังว่า ที่จริง Pyrolysis ก็คือการรีไซเคิลนั่นแหละ และไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดแต่อย่างใด อย่างในไทยก็มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว และ Corsair ก็ได้เข้าไปทำงานร่วมกันก่อนจะออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้

“Pyrolysis คือการรีไซเคิลที่ใช้ความร้อนทำให้พลาสติกอุ่นขึ้น เราไม่ได้ถึงกับเผา แค่แปลงให้พลาสติกกลายรูปเป็นของเหลว ที่สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล ซึ่งจะมีค่ากำมะถันต่ำกว่าน้ำมันตามท้องตลาดทั่วไปและสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ได้ทันที น้ำมันชีวภาพยังสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเราในอนาคต”

เขาเล่าว่า กระบวนการนี้มีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครให้บริการในเชิงพาณิชย์ และการทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีตัวนี้ได้ก็ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้า ของการรีไซเคิลพลาสติกไปโดยสิ้นเชิง เป็นเพราะว่า Pyrolysis อนุญาตให้เรารีไซเคิลพลาสติกได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเหมือนกับการรีไซเคิลแก้ว โลหะ หรือกระดาษ 

“ถ้าคุณได้ขยะพลาสติกที่มีความสะอาดสูง ยกตัวอย่างเช่นถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ เราสามารถเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้กลายเป็นน้ำมันชีวภาพถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์” 

แต่ยิ่งมีการปนเปื้อนมากเท่าไหร่ ตัวเลขก็จะลดลงมาเรื่อยๆ ขยะพลาสติกทั่วไปมีค่ามาตรฐานในการแปลงเป็นน้ำมันชีวภาพอยู่ราว 70 – 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นพลาสติกจากกองขยะก็อาจจะเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ Corsair จึงพยายามหาพลาสติกที่สะอาดที่สุด เป็นที่มาของเหล่าพาร์ตเนอร์สำคัญทั้งโรงแรมหรือห้างร้าน ที่ทำการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งพลาสติกที่ได้มาจะสะอาดและมีประสิทธิภาพมากสำหรับกระบวนการนี้

คนอยากเปลี่ยน แต่ไม่รู้วิธีทำ

ในแง่ปัจเจกบุคคล เราคุ้นเคยกับแนวคิดการลดใช้งานพลาสติกที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน อาทิ การใช้ถุงผ้า ใช้หลอดกระดาษ ใช้ซ้ำ แยกขยะก่อนทิ้ง และอีกมากมาย ในภาพที่ใหญ่ขึ้นไป แบรนด์ชั้นนำพยายามปรับตัวกับสถานการณ์พลาสติกล้นโลก เช่นการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น หรืองดแจกถุงพลาสติกไปเลย

“หลายองค์กรพยายามปรับตัวเข้าหาปัญหาพลาสติก แต่ยังหาทางออกไม่เจอ แม้จะมีความตั้งใจ แต่หลายครั้งสิ่งเหล่านั้นไม่มีโอกาสทำให้มันเกิดขึ้นจริงด้วยข้อจำกัดหลายประการ ผมว่าเราคือส่วนที่ขาดหายไป ในการช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถลดการใช้งานพลาสติกลง และที่สำคัญคือ เลิกส่งพลาสติกไปที่หลุมฝังกลบแต่เก็บไว้ให้เราแทน”

หัวใจของ Corsair คือการทำงานร่วมกับพันธมิตร ยูสซีบอกว่า พวกเขาตั้งหน้าตั้งตาที่จะทำงานร่วมกับผู้บริษัท องค์กร หรือบุคคลใดก็ตามที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะพลาสติก 

“เราภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งกับทุกบริษัทที่เราร่วมงานด้วยทั้งเครือโรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียน หรืออีกหลายบริษัทในประเทศไทย พวกเขาเหล่านี้เป็นองค์กรที่มีความคิดก้าวหน้า และทำงานร่วมกับเราเพื่อแก้ปัญหาพลาสติก”

หลังจากเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว โรงงานที่สระแก้วของ Corsair ก็เดินเครื่องรีไซเคิลทุกวัน โดยได้ขยะพลาสติกมาจากหลายแห่งตั้งแต่องค์กรหรือห้างร้าน บริษัทคัดแยกขยะ หรือจากหลุมฝังกลบ โดยพวกเขาได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอีก 1 ปีนับจากวันนี้จะสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 2 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน และ 2,000 ล้านกิโลกรัมต่อปีภายใน 10 ปี 

“ความจริงคือ ถ้ามีกระบวนการรีไซเคิลที่ดีเราสามารถใช้ขยะพลาสติกจำนวนมากที่มีอยู่บนโลกนี้ ซึ่งหมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องดูดน้ำมันขึ้นมาจากพื้นโลกเพื่อสร้างพลาสติกอีกต่อไป”

Plastic Credit

แม้จะไม่ได้แข็งแกร่งจนทุกคนหันหน้าไปทางเดียวกัน แต่จะบอกว่านานาประเทศไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเลยก็คงไม่ถูกต้อง เพราะความตกลงปารีสหรือพิธีสารโตเกียวก็เป็นหมุดหมายใหญ่ให้ทุกคนเดินตาม มีแนวทางการปฏิบัติและกฎเกณฑ์ที่เห็นได้ชัดและมีความยืดหยุ่น

อย่างที่เราเห็นกับ Carbon Credit ที่เป็นการประเมินมูลค่าของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 1 ตัน ซึ่งซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ธุรกิจที่ต้นทุนในการลดคาร์บอนสูงจึงเลือกนำเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ และมีเวลามองหาวิธีที่ยั่งยืนกว่าสำหรับอนาคต กฎเกณฑ์นี้ทำให้เกิดบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขายคาร์บอนเครดิตล้วนๆ และ Plastic Credit ที่เป็นบริการใหม่ของ Corsair ก็กำลังจะเดินตามรอยเท้านี้เช่นกัน 

“ผมเชื่อว่าอีกไม่นานรัฐบาลทั่วโลกจะออกข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้งานพลาสติกมากขึ้น เราเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในยุโรปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรปออกกฎให้โรงงานต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบสามสิบเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าทุกบริษัทจำเป็นต้องจริงจัง และมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับพลาสติกมากขึ้นตามไปด้วย” 

กฎเหล็กของบริษัทที่ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมคือความโปร่งใส เพราะฉะนั้น การกำจัดขยะพลาสติกทุกกิโลกรัมจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน ที่เปิดให้สาธารณะเข้ามาดูได้และมีรายงานอย่างชัดเจน 

“การมีสถานะขยะพลาสติกเป็นศูนย์ (Plastic Neutral) กลายเป็นเป้าหมายที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับทุกคนและทุกองค์กร ซึ่งทุกครั้งที่ Corsair กำจัดขยะพลาสติกจำนวน 1 กิโลกรัม คุณก็จะได้รับ 10 CSR Plastic Credit ง่ายแบบนั้นเอง”

ผู้บริหารชาวฟินแลนด์บอกว่า ตอนนี้มีหลายองค์กรในยุโรปที่ใช้บริการ Plastic Credit จาก Corsair ซึ่งแปลว่าขยะพลาสติกจำนวนมากกำลังถูกดึงออกจากธรรมชาติและยิ่งมีผู้ใช้บริการดังกล่าวมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สิ่งแวดล้อมฟื้นฟูได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

ธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน

นอกจากการจัดการขยะพลาสติกที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ ต้องบอกว่า Corsair ยังวางแผนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้อีกเยอะ ที่บางส่วนยังเปิดเผยได้ไม่หมดแต่น่าตื่นเต้นมาก เช่นโปรเจกต์ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และไฮโดรเจนจากน้ำ ก่อนจะเอามาผสมกันให้กลายเป็นเชื้อเพลิงแบบใหม่สำหรับอนาคต 

“เรายังเตรียมรับมือกับฤดูฝุ่น PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีจากยุโรป หรือเรื่องเล็กๆ อย่างการจัดการให้รถที่ออกไปเก็บขยะพลาสติกกับพันธมิตรให้เติมน้ำมันชีวภาพที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด”

ต้องเรียนตามตรงว่า พวกเขาไม่ใช่บริษัทรายเดียวที่ทำธุรกิจลักษณะนี้ แต่ในฐานะหัวเรือใหญ่ขององค์กร ยูสซีออกตัวอย่างชัดเจนว่า เขายินดีหากจะมีแบรนด์อื่นเข้ามาเล่นในเกมนี้มากขึ้น เขายกตัวอย่างปรัชญาในการดำเนินธุรกิจขององค์กรกับการเล่นกอล์ฟ คือมีผู้เข้าแข่งขันหลายรายก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแข่งกับตัวเองไม่ใช่คนอื่น และในโลกความเป็นจริงต้องบอกว่ามีขยะพลาสติกอีกมากที่ติดค้างรอการรีไซเคิล ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะมีบริษัทไหนแย่งไปทั้งหมด

“มันไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินหรือปั้นให้เรากลายเป็นธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ถึงผมจะเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จแน่หากว่าทำงานหนักพอ แต่เหนือสิ่งอื่นใดพวกเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า และสะอาดกว่าสำหรับคนรุ่นถัดไป เรายินดีต้อนรับทุกคนที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยกัน” 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ยูสซีต้องการจะบอกว่าสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจสามารถเป็นเรื่องเดียวกันได้ ธุรกิจที่ดีสามารถสร้างผลกระทบทางบวกให้กับธรรมชาติได้ และทุกคนก็สามารถเป็นธุรกิจที่ดีได้เช่นกัน “น่าเสียดายที่เราต้องเห็นมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรทั่วโลกที่ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมต้องปิดตัวลง หรือไม่อาจทำภารกิจให้เสร็จสิ้นได้เพราะพวกเขาไม่มีเงินบริจาคมากพอสำหรับการดำเนินงาน เราจำเป็นต้องหากลไกที่จะทำให้วิธีการเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจและอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ สำหรับผมนั่นคือความยั่งยืน และทุกบริษัทสามารถกลายเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้ อย่างน้อยก็รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำแค่นั้นเอง”

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.