01
ความทรงจำน้อยนิดระหว่างเราและจังหวัดเชียงราย คงเป็นวันหนึ่งในฤดูฝน แดดเช้าเย็นฉ่ำด้วยอายกลิ่นเมฆครึ้มในร้านกาแฟ ชาวเมืองต่างแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดที่ต้องไปให้ได้เมื่อมาเยือนแดนเหนือถิ่นนี้ เช่น เดินชมงานที่ ขัวศิลปะ ไป วัดร่องขุ่น ดูลวดลายฝีมืออาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และที่ขาดไม่ได้คือ บ้านดำ พิพิธภัณฑ์แห่งชีวิตของถวัลย์ ดัชนี ซึ่งทุกสถานที่ที่เอ่ยมาล้วนอยู่นอกเมือง วิธีเดินทางง่ายๆ ที่แนะนำต่อกันมาคือ การเช่ารถยนต์สักคันเพื่อประหยัดทั้งเงินและเวลา เราอดคิดซ้ำๆ ในใจไม่ได้ว่าขนส่งสาธารณะทุกๆ ที่ควรเร่งปรับปรุงแก้ไขได้เสียที
กลับมาเชียงรายอีกครั้งในฤดูกาลเดียวกันกับคราวก่อน รอบนี้เราไม่ได้ออกไปนอกเมือง แต่กำลังนั่งอยู่บนรถรางไฟฟ้า
“วันนี้เป็น Test Day ทดลองใช้และดูระยะการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนขนาดเล็กภายในเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ในเมืองเชียงราย” อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พูดผ่านไมค์เป็นการทักทายสำหรับการนำทัวร์เมืองล้านนาในวันนี้
ปกติแล้วรถรางไฟฟ้าของทางเทศบาลจะให้บริการในเมืองวันละ 2 รอบ แล่นไปยัง 4 จุดสำคัญ เป็นเส้นทางรถรางเชิงท่องเที่ยวสำหรับไหว้พระในเมืองเก่าเชียงรายที่มีหลายสิบวัด
แต่เพื่อการซัปพอร์ตมิติที่หลากหลายของผู้คนในเมืองมากขึ้น Test Day วันนี้เลยเพิ่มรอบรถรางเป็นทั้งหมด 8 รอบ ในบริเวณ 10 จุดสถานที่ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), สำนักงานในจังหวัดเชียงราย, กลุ่มนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น และคนในชุมชน วางแผนร่วมกันเพื่อออกแบบระบบขนส่งขนาดเล็กในเมืองเชียงราย
ปัจจุบันตัวป้ายจอดรถของเทศบาลนครเชียงรายเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นศิลปกรรมของล้านนา มีความสวยงามและทรงคุณค่า แต่มีข้อมูลบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบันเท่าไรนัก ทางทีมจึงดีไซน์ป้ายใหม่เพื่อฟังก์ชันที่มากกว่าป้ายที่เคยมีในเมือง เช่นการใช้สัญลักษณ์ตัว R แทน Real Station เพื่อให้จำง่ายทั้งหมด 10 เส้นทาง สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดดูข้อมูลเพื่อให้คนใช้ขนส่งสาธารณะหรือเดินเท้า จะได้ดูป้ายเพื่อวางแผนการเดินทางได้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสถานที่สำคัญในเมือง รายละเอียดระบบของรถราง ไปจนถึงเส้นทางใหม่ๆ ที่ได้จากการสำรวจจากคนในพื้นที่ แบ่งออกเป็น รูตร้านไหนอร่อย, รูตแฟชั่น, รูตครีเอทีฟคาเฟ่, รูตไหว้พระธรรมะเล่าเรื่อง ฯลฯ โดยผู้เดินทางใช้ระยะการเดินเท้าเพียง 2 – 3 นาทีก็ถึงจุดหมายตามป้ายแนะนำแล้ว
พูดง่ายๆ ว่าข้อมูลในป้ายเป็นเหมือนไกด์ไลน์การเดินทาง ถ้าสนใจอะไรมากขึ้นก็ค้นเพิ่มในอินเทอร์เน็ต จากแต่เดิมที่เราต้องเสิร์ชหากันเองมาตั้งแต่ต้น ที่สำคัญ การทดลองพัฒนาระบบขนส่งขนาดเล็กครั้งนี้ ยังเป็นไปเพื่อส่งเสริมการเดินเท้าในเมืองมากขึ้น นักท่องเที่ยวเองก็ได้ใช้งานรถรางร่วมกับคนท้องถิ่น เกิดประโยชน์มากกว่าเดิม
02
รถรางไฟฟ้าที่เรานั่งเริ่มล้อหมุนที่จุด ‘R01 บริเวณขนส่งแห่งแรกของจังหวัดเชียงราย’
อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย รับไมค์ต่อจากวิทยากรคนแรก เธอยิ้มทักทายและเริ่มปูพื้นความรู้ให้ผู้โดยสารในรถรางได้รู้จักกับเมืองเชียงราย ผ่านเรื่องเล่าวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของเมืองฉบับรวบรัด
อาจารย์เล่าว่าปี 1805 ได้มีการค้นพบโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเป็นสะดือเมืองแห่งแรกอยู่ที่วัดพระธาตุดอยจอมทองในปัจจุบัน ทั้งนี้เชียงรายเคยถูกปกครองด้วยกองทัพพม่าในยุคหนึ่งประมาณ 40 – 50 ปี เมื่อพม่าอพยพออกไป เชียงรายก็ถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างประมาณ 39 ปี ก่อนมีการฟื้นฟูเมืองในปี 2386 โดยสร้างประตูเมือง 12 ประตู พัฒนาคูเมืองกำแพงเมือง และตัดถนนเส้นแรกขึ้นมีชื่อว่า ‘ถนนธนาลัย’
ในช่วงประมาณปี 2417 ก็ย้ายสะดือเมืองบนยอดดอยมาอยู่ที่ตรงกลางเวียงหรือที่เรียกว่าวัดกลางเวียงในปัจจุบัน เป็นการฝังสายสะดือเมืองแห่งที่สองตามคติความเชื่อของคนพม่าซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมา จนประมาณปี 2453 ก็เริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาเมืองที่มีคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเชียงราย โดย ‘นายแพทย์วิลเลียม เอ. บริกส์’ มีส่วนช่วยพัฒนาเรื่องของการสร้างอาคารราชการ และเริ่มมีการนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในการออกแบบอาคาร ขณะเดียวกันก็มีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่ด้วย หลังจากนั้นเมืองเชียงรายได้เปลี่ยนผังเมืองเป็นแบบกริด (Grid) รวมถึงสร้างอาคารขนาดใหญ่อย่างศาลากลางหลังแรก โรงพยาบาล และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย
ความเขียวร่มรื่นของจามจุรีต้นสูง ทำให้แดดช่วงบ่ายสามโมงไม่ร้อนจนเกินไปนัก รถรางแล่นผ่านที่จุด ‘R02 วัดเจ็ดยอด’ บริเวณนี้เป็นเขตเมืองใหม่ กลางคืนคึกคักมีผู้คนสัญจรไปมา เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนกลางวันจะเงียบ เหมาะแก่การท่องเที่ยวชมเมือง ทั้งสองฝั่งถนนมีบ้านเรือนหลังคาไม้ให้ได้เห็นอยู่บ้าง อาคารทรงต่างๆ ที่พัฒนามาตามยุคสมัยก็มีให้เลือกชม
รถรางวิ่งสู่ถนนบรรพปราการ ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองเชียงราย ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ ทำให้เกิดการปรับผังเมืองใหม่ เนื่องจากนายแพทย์เอบริกส์เสนอแนะว่าเชียงรายนั้นมีคูเมืองที่น้ำไม่สะอาด อากาศไม่ถ่ายเท สุขลักษณะไม่ดี จึงค่อยๆ รื้อกำแพงทั้ง 4 ด้านของเมืองออก ปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยลักษณะเนินดินไว้เท่านั้น
03
รถรางยังคงมุ่งไปข้างหน้า ผ่านจุด ‘R03 วัดมิ่งเมือง’ เป็นเวลาพอดีกับที่โรงเรียนเลิก รถยนต์กับรถมอเตอร์ไซค์ต่างพากันแล่นฉิวบนท้องถนน มองเห็นวิถีชีวิตต่างๆ ของผู้คนในเมืองเชียงราย
“เราไม่ได้เลือกจุดจอดตรงนี้เพราะเป็นวัดสำคัญของเมือง แต่เป็นจุดที่มีตลาด โรงเรียน เป็นเซ็นเตอร์พอยต์ที่เด็กนักเรียนและผู้คนใช้พื้นที่สัญจร
“เชียงรายควรเพิ่มพื้นที่การสัญจรด้วยเท้าเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างแนวถนนบรรพปราการ เชื่อมย่านการค้า ย่านพักอาศัย ย่านโรงแรม ย่านการศึกษา รวมถึงย่านทางวัฒนธรรม หรืออาจเชื่อมไปถึงถนนธนาลัย ซึ่งเป็นถนนเศรษฐกิจและมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ในปัจจุบันเรายังไม่เห็นเส้นทางการเดินเท้าเท่าไหร่” วิทยากรคนแรกบอกเล่า และส่งไมค์ให้อาจารย์สอนวิชาสังคมศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายอีกคนเสริมประวัติศาสตร์ของเมือง
“ถนนที่เราเดินทางอยู่นี้ อาจเรียกอีกชื่อว่า ถนนศาสนา เพราะเรียงรายไปด้วยศาสนาดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นจีนยูนนานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องการค้าระยะแรกๆ
ส่วนบริเวณสวนตุง สวนสีเขียวของเมืองก็มีศาลพระพรหม ที่ขับผ่านมาสักครู่เป็นมัสยิดดารุลอามาน เดี๋ยวจะผ่านวัดช้างมูบที่เป็นวัดของชาวไทยใหญ่ รวมถึงศาลเจ้าด้วย เห็นได้ว่าถนนเส้นเดียวกันนี้มีความหลากหลายของศาสนาถึงสี่แหล่ง”
นอกจากความหลากหลายทางศาสนาแล้ว ถนนเส้นนี้ยังมีโรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดเชียงรายชื่อ ‘เชียงรายวิทยาคม’ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มิชชันนารีเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ตามพันธกิจหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ การแพทย์สาธารณสุข และการศึกษาแบบตะวันตก โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนแห่งแรกของเชียงรายที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบตะวันตก
จากพันธกิจ 3 ข้อของคณะมิชชันนารีนั้น ทำให้เกิดโรงพยาบาลแห่งแรกของจังหวัดเชียงรายชื่อ ‘โอเวอร์บรุ๊ค’ ขึ้นมาด้วย ตัวอาคารยังคงรักษาความโบราณไว้เป็นอย่างดี ทุกๆ เที่ยงวันหอระฆังด้านบนยังคงส่งเสียงจวนครบรอบร้อยปีแล้ว เป็น UNSEEN หนึ่งของเชียงรายเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้วิทยากรได้ชี้ให้ทุกคนเห็นเอกลักษณ์ของอาคารร่วมสมัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับจุด ‘R06 วัดพระแก้ว’
“จริงๆ แล้วคนจะรู้จักวัดพระแก้วกันในนามวัดพระแก้วเชียงราย เมื่อก่อนอาณาจักรล้านนาเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่แรก ก่อนได้รับการอัญเชิญไปอยู่ที่เชียงใหม่ ลำปาง หลวงพระบาง และกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ใครมาเชียงรายก็ต้องมาบริเวณนี้”
04
‘R07 วัดพระสิงห์’ เป็นจุดที่ซัปพอร์ตการท่องเที่ยว วัดพระสิงห์ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะมีโรงเรียนของพระสงฆ์อยู่ด้วย ขณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงก็เป็นศูนย์ราชการต่างๆ การมีเส้นทางรถรางเช่นนี้จะช่วยให้ผู้คนเดินทางมาทำธุระได้โดยไม่ต้องขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์ แค่เปลี่ยนมาใช้วิธีการเดินเท้า ขึ้นรถรางแทน
ถ้าใครมาเชียงรายต้องมาดูศาลากลางแห่งแรก” วิทยากรแนะนำเสียงดังฟังชัด เพราะศาลากลางแห่งนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่หลังแรกในเมืองเก่าเชียงรายที่สร้างจากวิวัฒนาการของความรู้ฝั่งตะวันตก ผสมผสานกับภูมิปัญญาของช่างล้านนา ข้างในมีห้องใต้หลังคาที่เป็นโครงสร้างไม้ ปัจจุบันกำลังปรับปรุงด้านในใหม่เพื่อทำโซนพิพิธภัณฑ์ภาพ เก็บรวบรวมความทรงจำของเมืองเชียงราย ส่วนลานหญ้ากว้างๆ ด้านหน้าศาลากลางเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานอีเวนต์ต่างๆ
รถรางเคลื่อนที่มาต่อยังจุด ‘R08 บ้านสิงหไคล’ ผู้ดูแลบ้านยิ้มต้อนรับและเล่าว่าสถานที่นี้แต่เดิมเป็นบ้านของมิชชันนารี OMF ที่ชาวเชียงรายเรียก บ้านหลังนี้ออกแบบโดยนายแพทย์เอบริกส์เช่นกัน ปัจจุบัน ‘มูลนิธิมดชนะภัย’ ได้เช่าพื้นที่และปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น Creative Hub ของคนทำงานสร้างสรรค์ในเชียงราย เป็นสถานที่จัดกิจกรรม เวิร์กช็อป และฉายหนังภายในบ้าน ส่วนบริเวณด้านนอกบ้านที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้นที่โอบล้อมพื้นที่กว้างขวางก็ใช้จัดอีเวนต์ได้เช่นกัน
บ้านหลังนี้มีสองชั้น ข้างล่างเป็นร้านกาแฟ และมีพื้นที่ให้เช่าเป็นห้องจัดประชุมและเวิร์กช็อป มีโครงสร้างภายในที่เป็นของเก่าที่รับรู้ได้จากรอยผนังที่กะเทาะออกตามจุดต่างๆ
ด้านบนแบ่งเป็นแกลเลอรีสามห้อง มีที่ให้นั่งดื่มกาแฟชมวิว นิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดงเป็นผลงานของกลุ่มศิลปินและนักออกแบบในเชียงรายหลากหลายแนว แถมยังมีห้องใต้หลังคาที่คณะมิชชันนารีเคยใช้นอนและเก็บของด้วย ผู้ดูแลสถานที่เล่าว่า เขาไม่ได้ใช้งานด้านบนเพราะต้องการคงสภาพไว้ เผื่อมีใครสนใจขึ้นมาดูภูมิปัญญาของการทำงานช่างไม้แบบผสมผสาน เพราะในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ตัวไม้ของบ้านอาจมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและคนใช้งาน ทำให้มีความเก่าใหม่ปะปนกัน
“บ้านสิงหไคลในปัจจุบันเป็นการรีฟังก์ชัน คืออนุรักษ์อาคารเก่าไว้แต่ข้างในเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอย ปรับการใช้งานใหม่ เรียกว่าเป็นการอนุรักษ์รูปแบบใหม่ บ้านสิงหไคลกับศาลากลางจังหวัดมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือเป็นสไตล์โคโลเนียลและนีโอคลาสสิกผสมกัน” วิทยากรบอกเกร็ดความรู้
05
พื้นที่เมืองของเชียงรายมีความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพต้นไม้ใหญ่ พื้นที่สีเขียว และระบบทางเท้าที่ค่อนข้างเดินได้สะดวก เพราะเป็นเมืองที่ดีไซน์ด้วยระบบกริด กริดหนึ่งห่างกัน 200 – 300 เมตร เดินเท้าถึงกันได้ ในแต่ละบล็อกมีการกระจายการใช้งานที่น่าสนใจ เห็นได้จากภาพตามเส้นทางที่รถรางไฟฟ้าออกเดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นบริเวณศูนย์กลางคมนาคม (บขส.) ผ่านศูนย์กลางพาณิชยกรรม ตลาด ร้านค้า สถานศึกษา แหล่งท่องเที่ยว อาคารทางวัฒนธรรม ศูนย์กลางราชการ จนถึงถนนธนาลัยที่เดินเท้าได้ และบริเวณ Creative Hub ของเมืองย่านสิงหไคล และตอนนี้รถรางกำลังมุ่งหน้าสู่พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ของเมืองแล้ว
วิทยากรเล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตรงนี้ในอดีตเป็นที่ตั้งของคุกหรือที่คนเชียงรายเรียกว่าคอกเก่า ตอนหลังมีนโยบายผลักดันให้พื้นที่ทัณฑสถานไปอยู่นอกเมือง จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมือง ทุกๆ ปีในช่วงฤดูหนาวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีเทศกาลดอกไม้งามให้ผู้คนมาชมความงามของเมือง
พื้นที่บริเวณนี้มีการขยายทางเท้า และทำระบบทางม้าลายที่เชื่อมเข้าไปในสวนของเมือง ช่วงเกือบห้าโมงเย็น เราจะได้เห็นพื้นที่นี้ถูกจับจองด้วยบรรดานักเรียนที่นัดกันมานั่งเล่นกินขนมหลังเลิกเรียน
ถัดไปจากพื้นที่สาธารณะของเมือง จะเจอถนนธนาลัยซึ่งเป็นเส้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของเมือง ถึงขนาดมีโรงหนังถึงสองแห่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังแวดล้อมไปด้วยสถานที่ราชการ เป็นที่ตั้งของกาดหลวงและร้านรวงต่างๆ
“ซีเปียวพาณิชย์เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าแห่งแรกๆ ของเชียงรายที่นำสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย บ้านนี้มีความสัมพันธ์กับบ้านสิงหไคล คือในรุ่นของบรรพบุรุษนั้นบ้านซีเปียวจะส่งขายแป้งสาลีให้มิชชันนารี เลยจดจำสูตรขนมปังของมิชชันนารีในบ้านสิงหไคลมาทำขนม American Donut ทุกวันนี้ถ้ามาเชียงรายแล้วได้ไปร้านซีเปียวพาณิชย์ อย่าลืมหาอเมริกันโดนัทกินให้ได้” วิทยากรเล่าเรื่องชวนหิว
06
จุด ‘R10 ตลาดดอกไม้’ ขอบอกเลยว่าจะอีกกี่งานอีเวนต์ก็ไม่หวั่น เพราะตลาดแห่งนี้มีสารพัดดอกไม้และผลไม้จำหน่าย ทั้งยังใกล้กับอาคารศูนย์กีฬาในร่ม จุดที่เป็นเซ็นเตอร์ไลฟ์สไตล์ของคนเชียงรายอีกแห่งด้วย
ออกเดินทางเป็นเวลาชั่วโมงเศษ รถรางไฟฟ้าก็พาเราวนกลับมาที่เดิมอีกครั้งตรงบริเวณสถานีขนส่งไนท์บาร์ซ่า
“เส้นทางสำหรับ Test Day ในวันนี้เป็นการเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ ในเมืองเชียงราย ความคาดหวังของเราคือการทดสอบเพื่อดูฟีดแบ็กว่าคนเชียงรายที่มาลองใช้บริการโดยสารรถรางจะมีความคิดเห็นอย่างไร ในอนาคตจะได้เก็บเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานของเมืองได้จริงๆ เพราะเส้นทางเหล่านี้หน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นผู้คิด แต่เป็นการคิดร่วมกันของผู้ใช้งานจริงๆ ภายในย่าน เปรียบเสมือนการพัฒนาที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม” วิทยากรกล่าวปิดท้าย ก่อนพาทุกคนลงจากรถรางไปสำรวจมองดูความเป็นของ ‘ไนท์บาร์ซ่า’
ไนท์บาร์ซ่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในเมืองเชียงรายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุค 90 ปัจจุบันความนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างทุกวันนี้บริเวณที่เรายืนใช้พื้นที่แค่ในเวลา 20.00 – 00.00 น. เท่านั้น ทางทีมงานพิจารณาดูแล้วพบว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากพื้นที่ได้รับการพัฒนา และส่งเสริมกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ เช่น การรวมตัวของนักออกแบบหรือเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมต่างๆ
นอกจากทดลองระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ทางทีมยังทดลองจัดอีเวนต์ Co-create Chiang Rai 2022 เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าเชียงราย ด้วยแนวคิดว่าถ้าจะทำให้เมืองเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่อง ควรทำอะไรบ้าง
ภายในงานจึงมีการรวบรวมเครือข่ายนักสร้างสรรค์ในเชียงรายมาร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ อาทิ นิทรรศการภาพถ่ายเชียงรายผ่านเลนส์ กิจกรรม Creative Workshop ดนตรีและการแสดง และบูตขายสินค้า รวมถึงทดลองใช้พื้นที่ว่างในไนท์บาร์ซ่าปรับเป็น ‘Chiang Rai Night Bazaar Creative Space’ พื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ของเมืองเชียงราย เพื่อก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายคนในพื้นที่ เช่น กลุ่ม Creative Commons กลุ่มสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาให้เชียงรายกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่พร้อมส่องแสงอย่างที่หวังไว้ได้
เชียงรายในวันนี้ทำให้เราเห็นว่าเมืองล้านนานั้นมีงานศิลปะที่ไม่ใช่เพียงศิลปินชื่อดังเท่านั้น แต่ยังมีศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลายที่ผสมผสานอยู่ในอาคารบ้านเรือน สถานที่ทางศาสนา โรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงสถานที่อื่นๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้ทำให้เราประจักษ์ว่าความคิดสร้างสรรค์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเชียงรายให้เป็นเมืองรองที่อุดมไปด้วยอัตลักษณ์ของจังหวัดที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ยังคงเก็บรักษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตได้เป็นอย่างดี