ถนน กทม. ดีพอให้เป็นทางรอดเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือยัง - Urban Creature

‘ถนน’ มีไว้ทำอะไร แน่นอนว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คือมีไว้ให้รถวิ่งผ่านไปผ่านมา แต่จริงๆ แล้วหน้าที่หลักของถนนคือ การเคลื่อนย้ายสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งให้ถึงจุดหมายที่ไม่ใช่แค่รถวิ่งเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางอพยพคนไปยังจุดปลอดภัยอีกด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์อันตรายในเมือง อย่างเหตุการณ์ก่อการร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ เหตุปะทะในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งวันหนึ่งหากเกิดซอมบี้บุกเมือง ถนนก็คือทางรอดสุดท้ายที่จะพาคนหนีรอดได้

| พลังของถนน เมื่อทุกเส้นสามัคคีกัน

ถนนจะช่วยเคลื่อนย้ายคนไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อออกแบบให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพราะปกติถนนแบ่งหน้าที่เป็น 3 ลำดับคือ

  • ถนนหลัก พี่ใหญ่ที่วิ่งเชื่อมเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง
  • ถนนรอง พี่คนกลางที่เป็นตัวประสานเส้นหลักและเส้นย่อยมาเจอกัน
  • ถนนย่อย น้องคนเล็กที่วิ่งเชื่อมในย่านให้มาเจอกับถนนรอง

อย่างถนนสุขุมวิทในบ้านเรา ที่เป็นเส้นหลักผ่านย่านต่างๆ อย่างถนนทองหล่อและถนนเอกมัยที่เป็นเส้นรอง และภายในย่านนั้นๆ ประกอบไปด้วยซอยย่อยๆ เช่น ซอยเอกมัย 4 และซอยทองหล่อ 10

หาก 3 เส้นนี้เชื่อมเป็นโครงข่ายเดียวกัน จะช่วยทำให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่เมืองได้สะดวก สามารถต่อยอดการค้าขาย การพบปะเจอกันในสังคม รวมทั้งเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ถนนก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังเส้นทางอื่นๆ ได้รวดเร็ว เพราะถ้าถนนไม่ได้สร้างให้เชื่อมต่อกัน หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ต้องรีบออกจากพื้นที่ คนก็จะวิ่งไปกระจุกตัวที่เส้นใดเส้นหนึ่งเป็นจำนวนมาก ทำให้เคลื่อนย้ายคนลำบาก หรือเลวร้ายสุดคือไม่สามารถหนีออกจากเส้นเดิมที่เกิดปัญหาได้เพราะไม่มีถนนเชื่อมไปยังจุดหมายอื่นได้ทันท่วงที

‘ถนน’ มีไว้ทำอะไร ? เเน่นอนว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คือมีไว้ให้รถวิ่งผ่านไปผ่านมา แต่จริงๆ แล้วหน้าที่หลักของถนน คือ การเคลื่อนย้ายสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งให้ถึงจุดหมายที่ไม่ใช่เเค่รถวิ่งเท่านั้น เเต่ยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางอพยพคนไปยังจุดปลอดภัยอีกด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์อันตรายในเมือง อย่างเหตุการณ์ก่อการร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ เหตุปะทะในการชุมนุม หรือเเม้กระทั่งวันหนึ่งหากเกิดซอมบี้บุกเมือง ถนนก็คือทางรอดสุดท้ายที่จะพาคนหนีรอดได้

| จุดรวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่เราตาย

เมื่อถนนวิ่งมาตัดกัน บางเส้นก็จะรวมตัวเป็นแยกจัตุรัสต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ไว้นัดเจอกันเพราะเป็นจุดพบเห็นได้ง่ายในระยะไกล อย่างลานหน้าหอศิลปฯ BACC ตรงสี่แยกถนนพญาไท หากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างไฟไหม้ พื้นที่แยกจัตุรัสเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนหน้าที่เป็นจุดรวมพลที่ทุกคนสามารถวิ่งไปตามถนนรองและย่อยจากเส้นใกล้ตัวมารวมตัวกัน ซึ่งจะทำให้จัดการความช่วยเหลือได้ง่ายกว่าการปล่อยคนวิ่งกระจายตัวออกไปอย่างไร้ทิศทาง 

หรือถ้าเป็นในพื้นที่ชุมชน จุดรวมพลอาจจะอยู่ในสถานที่สาธารณะอย่างสถานีขนส่ง โรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัด พื้นที่ที่ง่ายในการอพยพคนจำนวนมาก เพราะมีแหล่งอาหาร น้ำ และการรักษาพยาบาลพื้นฐานรองรับไว้ โดยถนนก็ควรจะเป็นตัวกลางในการเคลื่อนย้ายคนไปยังสถานที่ให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งรถวิ่งและทางเท้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง รวมถึงไฟส่องสว่างที่เป็นตัวนำทางให้คนอพยพได้เร็วขึ้น

| ถ้าถนนดี ชีวิตจะไม่สะดุดล้มพื้นตายตั้งแต่เริ่ม

หากมองถนนในกรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะมีซอยเล็กซอยน้อยมากมายที่สามารถเป็นเส้นทางลัดเชื่อมไปเส้นทางอื่นได้ แต่ก็มีปริมาณน้อยในการใช้งาน เพราะภาพรวมถนนในกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่ประมาณ 1,600 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่กลับมีค่าสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งค่าสัดส่วนถนนขั้นต่ำที่เหมาะสมคือ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้น ถนนในกรุงเทพฯ ยังเป็นลักษณะซอยตันมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก UDDC ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ค.ศ. 2019) รวมไปถึงอุปสรรคทางเท้าที่หลายคนปวดใจอย่างฟุตพาทไม่เรียบเนี้ยบ และสิ่งกีดขวางบนทางเท้า เช่น หลุม เสาไฟ หรือถังขยะ เชื่อว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เราอาจจะตกม้าตายตั้งแต่วิ่งหนีก็เป็นได้

เมื่อเห็นข้อมูลถนนกรุงเทพฯ แล้ว ทำให้เห็นปัญหาเมืองในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถรองรับสถานการณ์อันตรายได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ด้วยระบบถนนที่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน รวมถึงปัญหาทางเท้าที่จะกลายเป็นอุปสรรคลูกใหญ่หากต้องอพยพคนอย่างเร่งรีบ รวมไปถึงทางระบายน้ำ ไฟฟ้า การขนส่งรถสาธารณะ หรือโรงพยาบาล ที่ยังติดขัดไม่พร้อมใช้งานได้ทันท่วงที ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตแทบทั้งหมดในการเอาตัวรอดหากวันหนึ่งเจอเหตุการณ์อันตรายในเมือง

ดังนั้นรัฐบาลควรดูแล พร้อมออกแบบเมืองและถนนให้มีศักยภาพ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงการใช้งานได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าบ้านเรายังไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากเท่าประเทศอื่น แต่คงเป็นเรื่องดีกว่าถ้าบ้านเราให้ความสำคัญในการสร้างโครงสร้างเมืองที่แข็งแรง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างไม่มีวันกลับมา


Sources :
Baania | 1th.me/21FGl
Good Walk Thailand | 1th.me/wUFfX
รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา | 1th.me/hbPAt

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.