พื้นที่สาธารณะน้อยลง คนโสดก็ยิ่งเยอะขึ้น - Urban Creature

ถ้าคุณเคยดูหนังรอมคอมผ่านตามาบ้าง คิดว่าฉากไหนโรแมนติกมากกว่ากัน ระหว่างดาราสาวสวยระดับโลกมาพบรักกับคนขายหนังสือเดินทางในร้านสถานะใกล้เจ๊งที่ย่านนอตติงฮิลล์ หรือวิศวกรหนุ่มหล่อที่เข้างานกะดึกบังเอิญมาเจอกับสาวออฟฟิศบนรถไฟฟ้าที่แน่นขนัด แม้จะเป็นเรื่องราวความรักที่สวยงามที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วยกันทั้งคู่ แต่ฉากหลังของภาพยนตร์สองเรื่องนี้ถ้าเปรียบกันแบบน่ารักๆ ก็เรียกว่าพลิกจากหน้ามือกับหลังมือ

เพื่อหาคำตอบว่าทำไมฉากหลังของกรุงเทพฯ  ถึงดูเหมือนจะไม่ค่อยตอบโจทย์คู่รักหรืออบอวลไปด้วยกลิ่นอายโรแมนติกเหมือนในลอนดอนหรือเมืองชั้นนำในหลายประเทศ เราจึงชวน ‘รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา’ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ’ มาหาคำตอบร่วมกันว่าปัจจัยอะไรที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงามให้เกิดขึ้นในเมืองหลวงของเรา และจะมีวันไหนที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยความโรแมนติกกับเขาบ้าง 

จำเลยรัก

คนเราจะรักกันได้อย่างไรถ้าไม่เคยเจอหน้ากัน และจะมีความสัมพันธ์กันแบบไหนหากไม่มีพื้นที่สาธารณะ ก่อนจะท่องไปในโลกของความสัมพันธ์อันแสนล้ำลึกอาจารย์พนิตชวนเราก้าวถอยหลังออกมามองบริบทของกรุงเทพฯ เพื่อให้เห็นภาพต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น 

“เมืองเรามีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือเป็น Gated Community หรือสังคมล้อมรั้ว มีหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ที่ดึงเอาสวนสาธารณะ ลานออกกำลังกาย หรือพื้นที่ที่คนจะมารวมตัวกันเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้เกิดเป็นชุมชนปิดเพราะมีแต่คนประเภทเดียวกันที่มีราคาบ้านเป็นตัวกำหนด

“จะเห็นว่าคนไทยมีคนรักที่อยู่ในสังคมเดียวกันเป็นหลัก เป็นเพื่อนที่เรียนหรือทำงานด้วยกันด้วยกัน เพราะโอกาสที่จะรู้จักกับคนอื่นมีน้อยมาก หากจะเริ่มความสัมพันธ์กับใครคุณจะไปเจอเขาที่ไหน ยิ่งมีพื้นที่ส่วนตัวมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้มีคนโสดมากขึ้น”

นอกจากสังคมแบบปิดจะทำให้คนรักไม่มีวันได้พบกันแล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย อาจารย์พนิตบอกว่า สังคมปิดจะทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นชัดเจน และความหลากหลายทางเศรษฐกิจก็จะลดลง เพราะเราเคยชินกับการมีพื้นที่ของตัวเองจนลดการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นลงไป สินค้าทุกอย่างก็จะกลายเป็นแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น Economy of Scale หรือสินค้าที่ผลิตปริมาณมากเพื่อขายราคาถูกก็จะน้อยลง เศรษฐกิจจะกระจุกตัวอยู่กับคนแต่ละชนชั้นเท่านั้น 

เศรษฐกิจสีชมพู

ค่าครองชีพที่สูงชะลูดเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของใครหลายคนต้องเป็นหมัน จะเอาเวลาที่ไหนไปมองหาความสัมพันธ์ดีๆ เมื่อคุณต้องดิ้นรนแทบตายเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละวัน ไอติมบอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพอย่างชัดเจน แม้เงินตราจะไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการมองหาความสัมพันธ์ที่ดี แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ทำให้โอกาสในการพัฒนาหรือมองหาความสัมพันธ์ยากขึ้นไปอีก 

“พอไม่มีรายได้เพียงพอก็ทำให้หลายคนต้องดิ้นรนหางานนอกเวลาเสริม หรือผู้ที่ประกอบอาชีพแบบฟรีแลนซ์ก็เลือกที่จะรับงานจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ย่อมไปลดทอนเวลาสำหรับการมองหาหรือริเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ๆ 

“ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่าความโรแมนติกขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่าย แต่การที่จะเป็นคนโรแมนติกได้อาจจะมีราคาที่สูงเพราะค่านิยมก็มีส่วนที่ทำให้เราอาจจะรู้สึกกดดันเวลาเห็นเพื่อนพาแฟนไปทานข้าวในร้านอาหารแพงๆ หรือพอใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ก็ยิ่งต้องหาของขวัญ ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าความโรแมนติกนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีเวลาในการพัฒนาหรือริเริ่มความสัมพันธ์เยอะเท่ากับคนที่มีรายได้มั่นคงอยู่แล้ว”

เพราะรัก…ออกแบบไม่ได้ 

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเห็นสเตตัสในเฟซบุ๊กของเพื่อนคนหนึ่งตัดพ้อถึงความรักในทำนองว่า เราจะรักใครสักคนโดยไม่ต้องดูว่าเขามีรถขับหรือมีการงานที่ดี แต่รักเพราะเขาชอบฟังเพลงวงเดียวกับเราได้หรือเปล่า เพื่อตอบคำถามข้อนี้อาจารย์พนิต บอกให้เรากลับไปมองบริบทในการอยู่อาศัยของสังคมไทย 

“เราไม่ได้รู้จักคนแถวบ้าน ถึงจะเป็นวัยเดียวกันก็แค่เคยเห็นหน้า แต่กลับรู้จักคนที่บ้านอยู่ไกลมากแต่เรียนที่เดียวกัน ขณะที่เมืองชั้นนำคบกับคนที่มีความสนใจเดียวกัน เพราะมีพื้นที่หลากหลายให้เจอกันได้ เมื่อเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะเยอะเขากลับบ้านไปรู้จักกับคนในชุมชนของตัวเอง ในขณะที่สังคมปิดแบบเรา ก่อนกลับบ้านก็ต้องไปที่ศูนย์การค้าใจกลางเมือง เพื่อให้เพื่อนเราที่อยู่กันคนละที่มาหากันได้”

เช่นเดียวกับมุมของไอติม เขาเปรียบเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ไว้เหมือนกับการทำตามความฝัน คือเราจะกล้าลงไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีความมั่นคงเพียงพอ หรือมีคนคอยสนับสนุนเวลาที่เราอกหักจนล้มคว่ำไม่เป็นท่า 

“ทั้งหมดอาจจะวนกลับมาที่คำว่า ‘สวัสดิการขั้นพื้นฐาน’ รัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่าถึงจะเจอวิกฤตอย่างน้อยก็มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเบื้องต้น หรือการมี Universal Basic Income หรือการเงินเดือนขั้นพื้นฐานที่รัฐจ่ายให้ประชาชน เพื่อที่ทุกคนจะทำตามฝันได้มากขึ้น”  

ไม่ใช่เพียงแต่สวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไอติมบอกว่าถ้า ‘เมืองดี’ จะทำให้เราไม่ต้องมีต้นทุนจำนวนมากในการสร้างความสัมพันธ์โดยแบ่งปัจจัยที่จะทำให้เมืองเป็นสีชมพูออกเป็น 4 ข้อคือ 1. มีพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก 2. การเดินทางที่สะดวก 3. ความปลอดภัย 4.ปราศจากมลภาวะ 

“ผมนึกถึงสมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษพิพิธภัณฑ์และอาร์ตแกลเลอรีคือสถานที่นักศึกษามักจะไปออกเดตเพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย ย้อนกลับมาที่ไทยผมพบว่ามันแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับเดินเล่นสักเท่าไหร่ เราไปห้างสรรพสินค้าเพราะว่าไม่มีที่ไปไม่ใช่เพราะว่าอยากไป ปัจจัยอื่นอย่างการเดินทาง ความปลอดภัย และปัญหาเรื่องมลพิษก็ควรจะถูกจัดการให้ดีเพื่อสนับสนุนให้คนออกมาข้างนอก 

“ท้ายที่สุดผมว่าเราต้องมี Sense of Community หรือความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เมืองที่ดีจะสร้างบรรยากาศในการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น ที่จะช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน มีโอกาสได้เจอความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยถ้าทุกคนอยู่แต่ในบ้านของตัวเอง” 

รักบานฉ่ำ…ที่มหานคร

0 เต็ม 10 คือคะแนนที่อาจารย์พนิตมอบให้กับความโรแมนติกของกรุงเทพฯ

“ไม่โรแมนติกเลยได้ไหม ทุกคนเก็บเงินเพื่อซื้อรถยนต์ส่วนตัว ไม่มีใครอยากใช้ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะก็ไม่มีถึงจะมีก็แย่จนทำให้คุณอยากเก็บเงิน แล้วก็ไปอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่จ่ายค่าส่วนกลางแล้วมีพื้นที่ดีๆ ให้ใช้ แทนที่เราจะทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับทุกคนโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แล้วรัฐก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ทางรอดของคนทั่วไปคือเก็บเงินแล้วไปซื้อพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน  มันจะโรแมนติกได้ยังไง ผมก็เลยให้คะแนนความโรแมนติกของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์”

ด้วยประการฉะนี้เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวชาวกรุงคงเป็นดังคำพังเพยที่ว่าตบเมืองข้างเดียวไม่ดังฉันใด เมื่อเราไม่มีโอกาสและไม่มีเวลาไปพบเจอใคร ความสัมพันธ์แสนหวานก็คงไม่เกิดขึ้นฉันนั้น

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.