กาลเวลาและความเป็นไปของตึกรามบ้านช่อง - Urban Creature

พูดถึงกรุงเทพมหานคร คุณคิดถึงอะไรครับ

อาหารรถเข็น ห้างสรรพสินค้า ศิลปวัฒนธรรม ความแออัด ความเจริญ และอีกหลายๆ คำตอบที่คุณอาจคิดถึงและคิดไม่ถึง แต่มีอยู่คำตอบหนึ่งที่หลายๆ คนน่าจะนึกถึงเหมือนกัน นั่นคือตึก’ ถึงแม้ว่าย่านที่มีตึกหรือป่าคอนกรีตกระจุกตัวอยู่จะมีไม่กี่ส่วนเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครทั้งเมือง แต่ภาพลักษณ์ก็เป็นเช่นนั้นอยู่ไม่น้อย

ทำไมคิดถึงตึก’ ผมก็สงสัยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ความหมายของผู้ที่ตอบคำถามนั้นจะหมายรวมไปถึงหลายสิ่งอย่างที่เราเรียกรวมๆ ว่าอาคาร’ คำว่าอาคารนี้นั้นก็มีความหมายตามกฎหมายอยู่ ซึ่งรวมไปถึงสิ่งก่อสร้างประเภทต่างๆ โดยหลายประเภทหลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่ามันคืออาคารเช่นกัน แล้วคำว่าตึก’ มาจากไหนกันล่ะ อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ สันนิษฐาน (คิดเอาเองดื้อๆ เลย) ว่าตึก’ อาจจะเริ่มใช้จากอาคารประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะและปรากฏในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือ Shophouse หรือบ้านเราเรียกห้องแถวนั่นเอง ห้องแถวนั้นมีมานานและได้ผสมรูปแบบผสานเข้ากับบริบทของเมือง สังคม ผู้คน รวมไปถึงเทคโนโลยี การก่อสร้าง เมื่อถึงจุดหนึ่ง จากอาคารไม้มาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน และมาเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างนั้นเป็นไปได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนจากการใช้คำว่าห้องแถวมาเป็นตึกแถว

คำว่าห้องแถว’ นั้นเป็นคำที่เข้าใจง่าย ก็คือห้องที่อยู่เป็นแถวต่อเนื่องกัน ที่เก๋คือ จะเรียกว่าเป็นแถวได้ต้องมีจำนวนมากกว่าสองนะ ไม่งั้นจะกลายเป็นแฝด’ ไปเสีย เมื่อมีการนำคำว่าตึก’ มาใช้เรียกอาคารที่เป็นห้องแถว ทำให้เราพอจะจับความคิดของอาคารได้บางอย่าง นั่นก็คือการก่อสร้างด้วยวัสดุที่หนัก แน่น แข็ง เช่น อิฐ ปูน คอนกรีตเสริมเหล็ก แม้จริงๆ แล้วในมุมมองของวัฒนธรรมการก่อสร้าง รากเหง้าของวัฒนธรรมแถวถิ่นที่เราอยู่นั้น เติบโตมากับวัตถุ + วัสดุ ที่ย่อยสลายได้ อายุขัยสั้น มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ ปรับเปลี่ยนได้ เป็นวัฒนธรรมของการใช้พื้นที่ขนาดเล็กแต่ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับกระบวนความคิดของวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่มีแนวคิดในการใช้พื้นที่ถาวร หนักแน่น ทนทาน ปรับเปลี่ยนได้น้อย เคลื่อนย้ายได้ยาก ทำให้ตึก + แถว’ เป็นอาคารพื้นถิ่นบ้านเราประเภทหนึ่งที่มีความก้ำกึ่งอยู่บนความแตกต่างสองขั้วในหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น

ความก้ำกึ่งในมิติเชิงวัฒนธรรมการก่อสร้างและการรับรู้มิติที่ว่าง ดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือแม้แต่ความก้ำกึ่งในมิติของการใช้สอยระหว่างพื้นที่สำหรับค้าขายและพื้นที่สำหรับพักอาศัย ซึ่งความพิเศษของตึกแถวนั้นก็ซ้อนทับอยู่ในความก้ำกึ่งนี้ ยกตัวอย่างเช่น ระดับความเข้มข้นของความเป็นส่วนตัว (Privateness) ที่มีทั้งแบบแบ่งแยกชัดเจนและแบบคลุมเครือ เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบทั่วไปของอาคารประเภทตึกแถวที่พบเห็นได้นั้นจะมีลักษณะที่ชัดเจนบางอย่าง เช่น

  • เป็นอาคารสองถึงสามชั้นและมีกรณีที่สูงสี่ชั้นเช่นกัน (กฎหมายไม่กำหนดจำนวนชั้น)
  • พื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม
  • พื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย
  • รูปทรงพื้นที่ใช้สอยมีหน้าที่แคบยาว
  • ระหว่างคูหากั้นแบ่งด้วยผนัง
  • มีประตูคนเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (กฎหมายกำหนดไว้)
  • คูหาที่ต่อเนื่องกันจะสลับซ้ายขวา (Mirror) กัน ส่วนใหญ่ทำเพื่อประหยัดโครงสร้าง

*รูปแบบของตึกแถวมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ตามความนิยม ตามข้อกำหนดและกฎหมาย

อาคารประเภทตึกแถวนี้ส่งผลกับวิถีชีวิตของคนเมืองหรือไม่ ผมว่าไม่มากก็น้อยนะ ตึกแถวมีอยู่แทบทุกซอกของเมือง ผ่านตาเราทั้งที่รู้ตัวและก็ไม่รู้ตัว บางหลังได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมจนดูไม่ออกกันเลยทีเดียว แต่ที่แน่ๆ คือลักษณะทางกายภาพของตึกแถวนั้นตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ว่างๆ คุณลองไปเดินสยามสแควร์บริเวณที่เป็นอาคารรูปแบบเดิมดูสิครับ สังเกตดูจะพบว่าน้อยครั้งมากที่คุณจะเงยหน้ามองชั้นบนของอาคาร ส่วนที่คุณให้ความสำคัญกับมันมากที่สุดคือสิ่งที่อยู่ในระดับสายตา เพราะฉะนั้นการที่ตึกแถวมีส่วนที่ต้องการการมองเห็นจากคนข้างนอกอยู่ที่ชั้นล่างและนำส่วนที่ไม่ต้องการให้คนมองเห็นไปไว้ข้างบนนั้นตรงไปตรงมาที่สุด ทีนี้เมื่อเกิดย่านเกิดการเปลี่ยนแปลง (ตามวัฏฏะของตั๊กแตน) ตึกแถวผันตัวเองมาเป็นธุรกิจเต็มตัว แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ การใช้งานที่ไม่ตรงกับลักษณะอาคารย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค เห็นได้จากธุรกิจบางประเภทที่ปรับตัวเข้ามาจับตึกแถวได้อย่างถูกต้องเหมาะเจาะและประสบผลสำเร็จ ในขณะที่หลายธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป

ผ่านมา 30 – 40 ปี ตึกแถวบางหลังได้ผ่านมาหลายยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน ความต้องการพื้นที่กลางเมืองนั้นยังไม่ลดลง เรายังมีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตึกแถวในรูปแบบใหม่ๆ ได้อีกแน่นอน ต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างนะครับ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.