คุยถึง City Branding กับนักวิจัยจากคณะสถาปัตย์ - Urban Creature

ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจับจ่ายใช้สอยมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นขาช้อปชาวจีนหรือนักท่องเที่ยวชาวยุโรปหนีอากาศหนาวมาพักตากอากาศที่ไทยเป็นเวลานาน

พอโควิด-19 ระบาดอย่างหนักจนทำให้สนามบินปิด ชายแดนปิด คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่เคยครึกครื้นกลับซบเซา ร้านค้าถูกทิ้งร้าง ถนนคนเดินหลายเส้นเงียบเหงาจนน่าใจหาย

ระยะเวลาผ่านไปสักปีกว่าๆ โควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นโรคประจำถิ่น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง สายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เตรียมพร้อมเปิดรับแขกอีกครา

แต่คราวนี้ตลาดการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 แข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อดึงเม็ดเงินมาฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักหรือสถานที่ท่องเที่ยวเก่าแต่ออกแบบเมืองใหม่ เหลาให้แหลมคมด้วยเครื่องมือชื่อ ‘City Branding’

Urban Creature ชวน ‘อาจารย์อั๋น-ผศ. ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย’ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง และ ‘อาจารย์กบ-ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์’ รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คู่หูทำงานวิจัยเกี่ยวกับ City Branding มาพูดคุยกันถึงเครื่องมือนี้อย่างเจาะลึก และการใช้มันออกแบบเมืองให้ดึงดูดคนนอกมาท่องเที่ยว พร้อมกับทำให้คนในรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ไว้ได้

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

อยากให้นิยาม City Branding ในเวอร์ชันของคุณทั้งสองคน

อาจารย์อั๋น : เราคิดว่า City Branding เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในเมืองค้นหาสิ่งที่เป็นคุณค่าและอัตลักษณ์ของเมืองไปพร้อมๆ กับการออกแบบวิธีการนำเสนอคุณค่าและอัตลักษณ์เหล่านั้นไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เราอยากดึงดูดเข้ามาสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเมืองของเราในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม

อาจารย์กบ : ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ City Branding เป็นสะพานเชื่อมคนในชุมชนให้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วเชื่อมไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่อาจารย์อั๋นพูดไปก่อนหน้านี้ มันทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งเข้าด้วยกันเพื่อพากันไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่เมืองตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หนึ่งในตัวอย่างการสร้าง City Branding ที่น่าสนใจของพวกคุณคือเมืองพัทลุง อยากรู้ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

อาจารย์อั๋น : เราทำ City Branding มาด้วยกันหลายเมือง แต่ละเมืองล้วนมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน เวลาเลือกออกแบบเมือง อันดับแรกพวกเราจะมีกระบวนการมองหาเมืองคือ ตามหาเมืองที่มีจุดยืน เพราะเมืองนั้นจะรู้ว่าอยากให้เมืองพัฒนาไปทิศทางไหน แล้วพวกเรามีอะไรอยู่ในมือที่จะช่วยซัพพอร์ตเมืองให้ก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นๆ

เวลาคนนึกถึงการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาคใต้ เมืองที่ติดชายฝั่งทะเล คนไปเที่ยวเยอะ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งภาคใต้มีไม่กี่จังหวัดที่ไม่ติดทะเล หนึ่งในนั้นคือพัทลุง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยรอบ ราวๆ พ.ศ. 2530 – 2550 ไม่ค่อยมีใครไปเที่ยวที่นี่ พอเข้าสู่ พ.ศ. 2560 เริ่มมีคนจากภาคใต้และทั่วประเทศไทยเดินทางไปเยี่ยมชมวัฒนธรรมการยกยอ ซึ่งเป็นการทำประมงน้ำจืดและเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดพัทลุง ไปชมทรัพยากรธรรมชาติ ไปดูทะเลสาบ ไปดูควายน้ำ เป็นต้น

จากจุดนี้ทำให้คนพัทลุงมองว่า เมืองมีโอกาสปรับฐานเศรษฐกิจจากการเกษตรไปสู่การค้าและการบริการได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวมักทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism) ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่พอ เกิดปัญหาขยะและน้ำเสีย รถติด ค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์ พัทลุง

ด้วยความที่ชาวพัทลุงตระหนักว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวนำผลกระทบเชิงลบมาด้วย เป้าหมายแรกที่พวกเขาอยากทำคือ จะทำยังไงให้พัทลุงสามารถพัฒนาฐานเศรษฐกิจของตัวเองจากการเกษตรไปสู่การค้า การบริการ และการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงลดผลกระทบเชิงลบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้

พวกเราจะนำเสนอพัทลุงในมิติไหน จะจัดเตรียมพื้นที่อย่างไร จะจัดแจงกิจกรรมอย่างไรให้สามารถดึงดูดคนมารักพัทลุง มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาขนบวัฒนธรรม นี่คือคีย์การทำงานที่พัทลุง เราก็เริ่มไปตามหาตัวคุณค่าของเขา แล้วพยายามหาช่องทางนำเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

เรามองว่าฐานคุณค่าเมืองพัทลุงประกอบไปด้วยภูมิประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างภูเขา ป่าดงดิบ นาข้าว และทะเลสาบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในภาคใต้ และถูกรักษาเอาไว้ด้วยกลไกทางผังเมืองที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ วิถีชีวิตเกษตรกรรมทำให้คนปลูกบ้านเรือนติดเขา ป่า นา เล แล้วยังมีความเชื่อทางศาสนาด้านจิตวิญญาณอย่างมโนราห์ บวกกับนิสัยคนพัทลุงที่เป็นคนดุแต่จริงใจ ทั้งหมดกลายเป็นหลัก 4 เรื่องที่เป็นฐานให้ตัวพัทลุงรักษาคุณค่าทั้งเชิงกายภาพ สังคม และกิจกรรมการท่องเที่ยว

อาจารย์กบ : สิ่งที่อาจารย์อั๋นพูดมาทำให้เห็นกระบวนการศึกษาอัตลักษณ์ของเมือง เราดูตั้งแต่วิถีชีวิตของผู้คน สภาพแวดล้อมของเมือง ทรัพยากรทางธรรมชาติ นอกจากนั้นยังดูเป้าหมายของเมืองอีกด้วยว่า เมืองมีการตั้งเป้าหมายยังไง มีโครงการอะไรที่ตั้งใจจะทำอยู่แล้วบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็น Supply ที่เราต้องทำความเข้าใจ แล้วนำเสนอสิ่งที่เมืองภาคภูมิใจและมีความพร้อมไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เมืองเองก็สนใจ มันทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงว่า จุดสมดุลระหว่างคนที่เมืองสนใจจะดึงดูดเข้ามากับของที่เรามี เราจะทำอย่างไร แล้วเราจะนำเสนอภาพลักษณ์ของเมืองออกไปแบบไหน จึงจะสามารถสร้างความสมดุลตรงนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

การสร้าง City Branding ให้ประสบความสำเร็จต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

อาจารย์อั๋น : องค์ประกอบของ City Branding แบ่งเป็น 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือ การจัดเตรียมพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสถานที่ที่ทำให้ผู้มาเยือนรับรู้และเข้าใจคุณค่าของเมือง สองคือ กิจกรรม ไปเที่ยวแล้วจะไปทำอะไร ทำยังไงให้ผู้มาเยือนรู้สึกสนุกสนาน ประทับใจ พร้อมๆ กับสร้างผลกระทบเชิงบวกให้พี่น้องเกษตรกรชาวพัทลุงมีรายได้เพิ่มมากขึ้นภายใต้สโคปของ City Branding สามคือ การพัฒนาการสื่อสารประชาสัมพันธ์

ขอพูดถึงเรื่องของตัวพื้นที่ก่อน เราต้องจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้ผู้มาเยือนรับรู้ถึงการมาเยือน เช่น ไปฝรั่งเศสนึกถึงหอไอเฟล ไปญี่ปุ่นนึกถึงภูเขาไฟฟูจิ สิ่งเหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่เราต้องจัดเตรียมเพื่อนำเสนอถึงคุณค่าและเป้าหมายในการพัฒนาของเรา

อย่างพัทลุงมีพื้นที่ที่เป็นจุดสำคัญคือ ทะเลสาบสงขลาที่อยู่บริเวณจังหวัดพัทลุง คุณค่าพื้นที่ที่อยากนำเสนอคือ คุณค่าของความแท้จริงของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่ เราจะต้องจัดเตรียมพื้นที่ในส่วนนั้นอย่างไร อาจเป็นในรูปแบบการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและเดินทางไปในพื้นที่นั้น โดยที่ทั้งสองอย่างไม่ไปทำลายพื้นที่หรือวิถีชีวิตดั้งเดิม ตรงนี้เป็นการออกแบบให้คนสามารถเข้ามารับรู้ถึงคุณค่า และร่วมทำกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกกับเมืองได้สะดวก

อาจารย์กบ : การออกแบบ Touchpoint หรือจุดสัมผัสที่ตอบสนองต่อแนวทางในการพัฒนาองค์ประกอบ City Branding ทั้ง 3 ที่อาจารย์อั๋นกล่าวมาตอนต้น มีความสัมพันธ์กับการดีไซน์ Journey หรือ Experience ให้กับกลุ่มคนที่เราต้องการจะดึงดูด ทำยังไงให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ แล้วเมืองได้นำเสนอตัวตนหรือคุณค่าที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไป ถ้าใช้หลัก Service Design หรือ Experience Design เรามองว่าก่อน (Before) ที่เขาจะได้รับสื่ออะไร เขาควรรับรู้อะไรระหว่าง (During) ที่เดินทางมาถึงพื้นที่ เขาควรเจอกิจกรรมอะไร พื้นที่ควรจะเป็นยังไง การจะเข้าถึงพื้นที่หรือกิจกรรมต่างๆ ควรเป็นแบบไหน

สมมติเมืองต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยววัยเกษียณที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามา ก็ควรไปดูว่าพื้นที่ที่รองรับกับผู้สูงอายุควรจะเป็นยังไง สถานที่ควรจะมีรถเข็น ทางลาดอำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุหรือเปล่า มีกิจกรรม สินค้า และบริการที่เหมาะสมและดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่

และหลังจาก (After) ที่เขากลับไปแล้ว เมืองยังดึงดูดหรือทำให้เขาระลึกถึงแล้วบอกต่อให้คนอื่นมาเที่ยวได้ยังไง ส่วนนี้เป็นกระบวนการออกแบบว่าภาพลักษณ์ควรจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อเห็น Journey ทั้งหมดแล้ว เราเห็นว่าอะไรที่ควรทำก่อน อะไรที่ควรทำหลัง แล้วหลังบ้าน (Backstage) อย่างจังหวัดหรือพื้นที่ควรเตรียมพร้อมอะไร แล้วหน้าบ้าน (Frontstage) หรือภาพลักษณ์ที่ผู้มาเยือนควรได้พบคืออะไร ตรงนี้ก็จะกลับไปสู่การจัดการเรื่องต่างๆ ว่าที่เราจะทำให้เกิด City Branding หรือการรับรู้ถึงภาพลักษณ์ ถึงเป้าหมาย ถึงคุณค่าของพื้นที่ที่เรากำลังทำอยู่มันควรจะเป็นยังไง

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์
City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

บางเมืองในไทยมีภาพจำด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากทำ City Branding เมืองจะมีหน้าตาเป็นยังไง 

อาจารย์อั๋น : เราอยากเล่ากระบวนการทำงานและนำมาใช้จริงของ City Branding ก่อนว่ามีอะไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 กระบวนการ กระบวนการแรกคือ การกำหนดภาพเป้าหมายร่วมกันก่อนว่าเรากำลังไปทิศทางไหน แล้วจะเล่าอะไรให้คนอื่นฟัง เพื่อนำมาสู่กระบวนการต่อไปคือ เราจะนำเรื่องนี้มาดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมหรือรับรู้ถึงคุณค่า ร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเรา ส่วนกระบวนการสุดท้ายคือ ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น

เราจะเห็นว่ากระบวนการที่ 1 กับ 2 เป็นกระบวนการ Short-term เรามีอะไรอยู่ก็นำเสนอออกไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ส่วนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่อง Long Run ในระยะยาวที่เราจะเพิ่มคุณค่าของเรา เพิ่มกิจกรรมที่ดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมาช่วยกันสร้างผลกระทบเชิงบวก บางทีมันใช้เวลาในการดำเนินการ

สมมติพูดถึงภูเก็ต มิติของการดึงดูดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่รักธรรมชาติ พร้อมจับจ่ายใช้สอยบริการในมูลค่าสูง แต่เราต้องกลับมาถามคนท้องถิ่นก่อนว่าโอเคไหมที่ภูเก็ตรถติดหรือไม่มีขนส่งมวลชนเลย ถ้าจะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ เราน่าจะต้องจัดการระบบขนส่งมวลชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และค่ารถราคาเหมาะสม ตอนนี้อาจยังไม่มีระบบขนส่งมวลชน แต่เราต้องมีมิติอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนั้นก่อน ถ้าอยากทำให้เต็มที่ใน Long Run เมืองอาจจะต้องปรับบางอย่าง เช่น ระบบขนส่งมวลชน ควบคุมทัศนียภาพต่างๆ ให้สมดุลกับชุมชนและสภาพแวดล้อม แล้วในระยะยาวเราจะสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเรา

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

อาจารย์กบ : กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากใช้ City Branding มันทำให้เราได้คุยกัน ทำให้เรารู้จักกัน รู้ว่าใครทำหน้าที่อะไรตรงไหน ในการดีไซน์กระบวนการนี้ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับเราเป็นคนที่มีความสามารถเรื่องนั้นอยู่แล้ว เมื่อเรามาเซตเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่ต้น ทุกคนจะรู้แล้วว่าคนไหนมีหน้าที่อะไร เรามีเป้าหมายร่วมกันแบบไหน เราเห็นภาพสิ่งที่จะทำให้เกิดระยะ Short-term หรือ Long-term ต่อไปชัดขึ้น City Branding ไม่ได้เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บ แต่อะไรที่เราทำได้ก่อน เราทำเลย

City Branding ก็เหมือนเรื่อง Branding ทั่วไปที่เปลี่ยนแปลงได้ตามแต่บริบทหรือระยะเวลาที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านไปอีกสิบปี เมืองมีเป้าหมายที่เปลี่ยนไปแล้วต้องการจะ Rebranding เพราะมีเป้าหมายในเรื่องอื่นและเห็นว่าเมืองมีศักยภาพด้านอื่นๆ ที่มีความพร้อม เมืองก็มีสิทธิ์เอาเครื่องมือตัวนี้มาปรับหรือ Rebranding ให้กับเมืองได้เช่นกัน

นอกจากสร้างจุดขายให้เมือง City Branding ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ด้วยใช่ไหม

อาจารย์กบ : มันเป็นการ Connect the Dots ไม่ได้สร้างของเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่สร้างของให้คนในพื้นที่ด้วย คนในพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง สิ่งนี้ผ่านการคิดมาตั้งแต่เรื่องพื้นที่ กิจกรรม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่สอดแทรกเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในนั้นแล้ว

ผลประโยชน์ของการมีพื้นที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพแวดล้อมของเมืองที่ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่คนที่เดินทางเข้ามา แต่คนในเมืองก็ได้ด้วย กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ช่วยดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมาย หรือสินค้าและบริการที่เรารู้เป้าหมายแล้วว่าคุณค่าของเราคืออะไร จะนำเสนอสิ่งนั้นออกไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผ่านการสื่อสารที่ตรงประเด็น มันจะทำให้คนนอกและคนในรู้ว่าเมืองกำลังทำอะไรอยู่ เซตเป้าหมายได้ แล้วทำให้ Supply กับ Demand ตรงกัน ช่วยตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจและผลประโยชน์

และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากการ Connect the Dots ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเดียว ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงอาจจะนำผลประโยชน์ไปสู่ชุมชน ไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยได้ เราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ (MICE) หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเขามาแล้ว เขายังได้ไปทำกิจกรรมในชุมชน ไปซื้อของท้องถิ่น ไปชิมอาหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ใน ​Supply Chain และ Value Chain ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

อาจารย์อั๋น : กระบวนการคิด City Branding ที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับเมืองได้ดีจะต้องมี 2 เรื่องบาลานซ์กัน เรื่องแรกคือ ความต้องการในการพัฒนาท้องถิ่นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อีกเรื่องคือ ความต้องการในแง่การบริโภคของกลุ่มเป้าหมาย City Branding ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี

เมืองหนึ่งที่ทำเรื่องนี้ได้สุดยอดมากๆ คือ หมู่เกาะเซะโตอุจิ จังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น หมู่เกาะนี้เป็นหมู่เกาะประมงมาก่อน แต่พอญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมืองสูญเสียแรงงาน ทำให้หมู่เกาะขาดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ คนย้ายออก บ้านถูกทิ้งร้าง องค์กรส่วนท้องถิ่นเลยคิดวิธีการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเปลี่ยนจากการประมงเป็นการค้า การบริการ การท่องเที่ยวโดยเอาศิลปะเข้ามาเป็นคีย์สำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างการเปิด Living Museum เอาบ้านทิ้งร้างมาทำเป็นแหล่งโชว์ศิลปะแล้วเชิญคนมาเที่ยวกัน ตอนนี้เหมือนหมู่เกาะทำเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่อีกมิติยังเตรียมพร้อมทำการท่องเที่ยวไปด้วย สิ่งที่เขาทำก็คือ ทำระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนในเมืองไปจับจ่ายใช้สอย ไปโรงเรียน ไปโรงพยาบาล ทำท่าเรือเฟอร์รีรับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่ทำให้คนในเกาะเดินทางไปยังเมืองใหญ่เพื่อไปทำงาน ไปโรงพยาบาล ไปติดต่อธุรกรรมต่างๆ ได้

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์

นอกจากเปิดพิพิธภัณฑ์ในชุมชนร้าง ยังมีการปรับอาคารร้างอื่นๆ ให้เป็นร้านค้า ร้านบริการ และโรงแรม ส่งผลให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหลานที่ออกจากเกาะนี้ไปกลับมาเปิดโฮสเทล ทำธุรกิจ เพื่อเลี้ยงดูลูกตัวเองไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ที่อยู่ในหมู่เกาะได้ด้วย

สุดท้ายนี้ อะไรคืออุปสรรคของการสร้าง City Branding ในบ้านเรา ทั้งๆ ที่ไทยก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยว

อาจารย์อั๋น : เราขอพูดเป็น 3 เรื่องแล้วกัน เรื่องแรกคือ ท้องถิ่นยังไม่ได้เซตเป้าหมายหรือทิศทางร่วมกันกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้แต่ละฝ่ายมองมิติการพัฒนาไม่เหมือนกัน ทั้งที่ประเทศไทยเรามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราขาดกลไกในการรักษาเรื่องนี้เอาไว้ ของที่เป็นคุณค่าและเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นจึงค่อยๆ เลือนหายไป

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เมื่อเกิด City Branding ขึ้นแล้วต้องมีการนำไปใช้ประโยชน์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และประเมินผลอยู่ตลอด เวลาทำ City Branding เมืองไหนก็ตาม คำถามสำคัญที่เราจะตั้งเสมอคือ แบรนด์นี้ใครเป็นคนดูแล แบรนด์นี้ใครเป็นคนขับเคลื่อน แบรนด์นี้ใครเป็นคนปรับปรุงต่อไปในระยะยาว แต่เราพบว่าองค์กรบริหารระดับท้องถิ่นยังไม่ได้พูดเรื่องการสร้างคุณค่า รักษาคุณค่า การนำเสนอสินค้าอย่างเป็นรูปธรรม พอไปทำแล้วไม่รู้ว่าจะเอา City Branding ไปไว้ที่องค์กรไหนดี เอาไปไว้ที่องค์กรส่วนท้องถิ่น สตาฟฟ์ก็มีองค์ความรู้เรื่องนี้ไม่พอ เอาไปไว้กับจังหวัด เวลาเปลี่ยนผู้ว่าฯ ทุกอย่างก็เปลี่ยน เอาไปไว้กับทางสภาหอการค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน เขาก็มีพันธกิจที่ต้องทำมาหากิน

City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์ อาจารย์อั๋น-ผศ. ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย
City Branding การออกแบบเมือง คณะสถาปัตย์ อาจารย์กบ-ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์

หากเป็นที่ต่างประเทศ เขาจะมีระบบ DMO (Destination Management Organization) ที่แต่ละเมืองจะสร้างความร่วมมือกันกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สร้างเป็นองค์กรกลางที่ผลิต ออกแบบ ประชาสัมพันธ์ ขับเคลื่อน ปรับปรุงตัวแบรนด์ของเมือง แต่บ้านเราไม่มีแบบนั้น

เรื่องสุดท้ายคือ การทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือกันระหว่างเมืองที่เป็นคลัสเตอร์ เวลาพูดถึงการออกแบบแบรนด์เมือง ต่างฝ่ายต่างจะประกาศคุณค่า ต่างฝ่ายต่างจะทำ City Branding ของเมืองตัวเอง แต่เราเรียนรู้ว่าการจะทำ Branding ให้ดีคือการสร้างแพ็กเกจการท่องเที่ยว อย่างทริปเมืองพัทลุง สงขลา ตรัง เพื่อทำให้คนไปเที่ยวสามารถใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน 2 คืนที่เมืองรองได้ เพราะหากเราไม่สามารถมีกิจกรรม มีแหล่งท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสำหรับ 3 วัน 2 คืนได้ในเมืองรองเมืองเดียว การจับมือร่วมกันเป็นกลุ่มลักษณะแบบนี้เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญมาก แต่เราจะจับมือระหว่างเมืองรองแต่ละเมืองได้ยังไง อะไรคือแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ กระบวนการนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมในเมืองไทยสักเท่าไร


Sources : 
ธนาคารแห่งประเทศไทย | tinyurl.com/ynerqr39
ประชาไท | prachatai.com/journal/2022/03/97618

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.