Chitofoam พลาสติกชีวภาพจากหนอนนก - Urban Creature


ปัจจุบันทั่วโลกเพาะเลี้ยง ‘หนอนนก’ กันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง เกษตรกรจึงนิยมนำมาใช้เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำและสัตว์ปีกเช่นนกและไก่ ส่วนในประเทศไทยก็นิยมเอาหนอนชนิดนี้ทำเมนูทานเล่นที่เห็นได้ทั่วไปอย่าง ‘รถด่วนทอด’ นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว โครงกระดูกภายนอกของเจ้าหนอนนกยังเปลี่ยนเป็น ‘แพ็กเกจจิ้งทางเลือก’ ที่มีน้ำหนักเบา ทนน้ำ และย่อยสลายตามธรรมชาติได้ด้วย

‘Chitofoam’ คือบรรจุภัณฑ์ผลิตจากระบบหมุนเวียนที่เปลี่ยนโครงกระดูกภายนอก (Exoskeletons) ของหนอนนก (Mealworms) ให้เป็นวัสดุสำหรับทดแทน ‘พอลิสไตรีน’ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘โฟม’ พลาสติกที่ทั่วโลกนิยมใช้ทำแพ็กเกจจิ้งอาหารอย่างแพร่หลาย เช่น ถ้วย จาน และแก้ว ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และต้องใช้เวลานับร้อยๆ ปีจนกว่าจะเสื่อมสภาพตามชีววิทยา ก่อนจะกลายเป็นขยะธรรมดา

ผู้พัฒนาวงจรหมุนเวียนรักษ์โลกนี้ก็คือ Charlotte Böhning นักออกแบบเชิงอุตสาหกรรมชาวอเมริกัน ร่วมกับ Mary Lempres ศิลปินจากสตูดิโอออกแบบ Doppelgänger ในอเมริกา พวกเขาเลือกใช้โครงกระดูกภายนอกของหนอนนก (หนอนของแมลงปีกแข็ง) ทำแพ็กเกจจิ้งทดแทน เพราะพวกมันกินพลาสติกเป็นอาหารอยู่แล้ว โดยในหนึ่งวัน หนอนนก 100 ตัว สามารถกินพลาสติกได้ถึง 40 มิลลิกรัม หรือปริมาณเทียบเท่ากับยาหนึ่งเม็ด

โดยขั้นตอนของการผลิต Chitofoam เบื้องต้นมีดังต่อไปนี้

1) ใช้ขยะพลาสติกเป็นอาหารให้หนอนนกที่เพาะเลี้ยงไว้

2) เมื่อหนอนนกกินพลาสติก พวกมันใช้เอนไซม์พิเศษในลำไส้ย่อยสลายขยะพลาสติกให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงลอกคราบเป็นโครงกระดูกภายนอกหรือเปลือกหุ้มลำตัว

3) สกัดเจล ‘ไคโตซาน’ จากเปลือกของหนอนนก (ไคโตซานคือสารธรรมชาติของผนังเซลล์ของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่ย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม)

4) นำไคโตซานไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ Chitofoam และนำไปใส่พิมพ์รูปทรงต่างๆ เช่น แก้วน้ำและซองบรรจุอาหาร

5) เมื่อใช้งานเสร็จ บรรจุภัณฑ์ Chitofoam จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

คุณสมบัติของ Chitofoam คือย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ มีน้ำหนักเบา ทนน้ำ กันกระแทก เหมาะกับใช้เป็นแพ็กเกจจิ้งสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ที่สำคัญ การเพาะเลี้ยงหนอนนกยังมีค่าใช้จ่ายไม่แพง ใช้ทรัพยากรน้อย ประหยัดพื้นที่ และไม่ปล่อยมลพิษใดๆ ทำให้ Chitofoam เป็นอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจ เพราะเป็นวงจรการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.