หลังจากปลดล็อก กัญชา กัญชง ให้ประชาชนคนไทยบริโภคและปลูกใช้เองได้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา หลายคนอาจมีโอกาสได้ทดลองใช้กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่กล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้ว่าฤทธิ์ของกัญชาเป็นแบบไหน ควรกินในปริมาณเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งถ้าเกิดอาการเมากัญชาจะต้องทำอย่างไร
วันนี้ Urban Creature จึงรวบรวมข้อสงสัยและข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้กัญชา เพื่อช่วยให้คุณปลดล็อกข้อสงสัยไปพร้อมๆ กับการปลดล็อกกัญชาจากทางรัฐบาล
กัญชา (Cannabis) เป็นพืชในวงศ์ Cannabaceae ที่มีสายพันธุ์ย่อย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ซาติวา (Cannabis Sativa) อินดิกา (Cannabis Indica) และรูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) ลำต้นมีความสูง 6 เมตรโดยประมาณ จำนวนแฉกใบ 5 – 8 แฉก
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะปลดล็อกกัญชาให้บริโภคได้แล้ว แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น นั่นคือส่วน ‘ใบ’ แต่ ‘ช่อดอก’ และ ‘เมล็ด’ ยังถือเป็นสิ่งเสพติด ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะในการแพทย์
กัญชามีสาร THC และ CBD ในปริมาณที่ทำให้มึนเมา และเพียงพอในการใช้รักษาโรคบางชนิด ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคลมชักที่รักษาได้ยาก ภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ภาวะเบื่ออาหารของผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักน้อย รวมไปถึงการเพิ่มคุณภาพผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
ผู้ที่มีประวัติดังนี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ผู้มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
- ผู้รักษาอาการจิตเภท
- ผู้มีประวัติแพ้สารสกัดจากกัญชา
- ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือด ตับ และไต ที่มีอาการรุนแรง
แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปหรือคนที่อยากลองใช้ ปริมาณแค่ไหนที่ยังอยู่ในความเหมาะสม และไม่มากเกินไป ลองมาดูกัน
หากอิงตามประกาศจากกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ปริมาณที่เพียงพอต่อวันเพื่อไม่ให้เกิดอาการมึนเมา มีดังนี้
- อาหารประเภททอด ใช้ใบกัญชาสด 1 – 2 ใบ
- อาหารประเภทผัด ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ
- อาหารประเภทแกง ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ
- อาหารประเภทต้ม ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ
- ผสมในเครื่องดื่ม ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบ
เมื่อบริโภคเข้าไปสักพักแล้วยังไม่รู้สึกมึนเมาก็อย่าชะล่าใจ และกินในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่กรมอนามัยได้แนะนำไว้ เนื่องจากเมื่อใบกัญชาโดนความร้อนจะทำให้สาร THC มีปริมาณเพิ่มขึ้น และออกฤทธิ์ช้า ทำให้เกิดอาการมึนเมามาก และอาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
คำแนะนำคือ ควรเลือกกินเมนูใส่กัญชาที่ไม่ได้ผ่านความร้อนนานๆ ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกกินเป็นใบสดหรือเมนูที่นำไปคั้นหรือปั่นเป็นเครื่องดื่ม เพราะอาการเมากัญชาส่วนมากจะอยู่ที่ 30 นาที – 2 ชั่วโมง โดยประมาณ
และถ้าเกิดอาการเมากัญชาก็แก้ได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อทำให้ร่ายกายกลับมาอยู่ในสภาวะปกติอีกครั้ง
- ดื่มน้ำตามในปริมาณมาก
- ดมหรือเคี้ยวพริกไทยดำในปริมาณเล็กน้อย
- หาพื้นที่โล่งเพื่อสูดหายใจเข้าออกลึกๆ
- อาบน้ำให้ร่างกายสดชื่น
แต่หากมีอาการเหล่านี้ในระหว่างการบริโภคควรพบแพทย์ทันที เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิต
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
- หายใจไม่สะดวก
- เดินเซ พูดไม่ชัด
- หูแว่ว เห็นภาพหลอน อารมณ์แปรปรวน
- สับสน วิตกกังวล หวาดระแวง
- เป็นลมหมดสติ
ดังนั้น หากใครที่สนใจจะลองกินกัญชาดูบ้าง ก็อย่ากินในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป ควรเช็กข้อควรระวัง รวมไปถึงสังเกตอาการตัวเองหลังจากบริโภคด้วย จะได้ทำให้การบริโภคครั้งไหนๆ ก็ปลอดภัยไร้กังวล
Sources :
BBC | https://www.bbc.com/thai/thailand-61703618
Kapook | https://health.kapook.com/view241034.html
Promotions | https://t.ly/Dq94
กัญชาทางการแพทย์ | https://www.medcannabis.go.th/
ประกาศกรมอนามัย | https://laws.anamai.moph.go.th/th/practices/download/?did=208766&id=90623&reload=