เกาหลีใต้จะใช้ AI ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในบูชอน - Urban Creature

การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างรอบด้าน เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยมนุษย์ลดความเสี่ยงและควบคุมการระบาดในวงกว้าง

ล่าสุดเมืองบูชอน ประเทศเกาหลีใต้ เตรียมเริ่มโครงการนำร่องใช้ระบบจดจำใบหน้าที่พัฒนามาจาก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-powered Facial Recognition) ผ่านเครือข่ายกล้อง CCTV กว่า 10,820 ตัวทั่วเมือง เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโควิด-19 และผู้มีสัมผัสใกล้ชิด รวมถึงระบุได้ว่าคนเหล่านี้สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่

รัฐบาลกลางเกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณให้แก่โครงการกว่า 1,600 ล้านวอน (ราว 45 ล้านบาท) และทางการบูชอนยังใช้งบประมาณของเมืองเพิ่มอีก 500 ล้านวอน (ราว 14 ล้านบาท) เกาหลีใต้จะเริ่มการใช้เทคโนโลยี AI ในเมืองบูชอน เพราะเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศ หรือมากกว่า 800,000 คน

จาง ด็อกชอน (Jang Deog-cheon) นายกเทศมนตรีเมืองบูชอน อธิบายว่า มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพียงตัวเดียว การใช้เทคโนโลยี AI จดจำใบหน้าจะช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่และช่วยให้การติดตามผู้ป่วยโควิด-19 รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบสามารถติดตามคนได้มากถึง 10 คนพร้อมกันภายใน 5 – 10 นาที

อีกปัญหาที่เจ้าหน้าที่เจอบ่อยๆ ก็คือ ผู้ป่วยบางรายไม่ยอมให้ข้อมูลตามความจริงเกี่ยวกับประวัติการเดินทางของตัวเอง ระบบนี้จะช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการสอบสวนโรคและทำให้การติดตามผู้ติดเชื้อมีประสิทธิภาพและแม่นยำขึ้นด้วย โดยเมืองบูชอนตั้งเป้าเริ่มใช้ระบบนี้ในเดือนมกราคมปี 2022

ทว่า การนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะแม้ว่าระบบจะช่วยให้ผู้คนปลอดภัยจากเชื้อไวรัสมากขึ้น แต่นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ร่างกฎหมายชาวเกาหลีใต้หลายรายวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองภาษีของประชาชน อีกทั้งยังละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของชาวเกาหลีใต้ โดยระบุว่ารัฐบาลอาจรักษาและควบคุมข้อมูลของผู้คนเกินกว่าการใช้งานเพื่อควบคุมโควิด-19 

พัค แดชุล (Park Dae-chul) ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคพลังปวงชน (People Power Party) ได้ย้ำว่า รัฐบาลใช้กล้อง CCTV ควบคุมผู้คนโดยไม่ขอความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เมืองบูชอนได้ออกมาแย้งว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะระบบจะเบลอหน้าของบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และผู้ป่วยโควิด-19 ต้องให้ความยินยอมในการติดตามก่อน แต่ก็ได้ทิ้งท้ายว่า กรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอม ระบบก็ยังคงติดตามพวกเขาจากภาพเงาและเสื้อผ้าได้อยู่ดี 

ระบบจดจำใบหน้าจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวทั้งสังคม แล้วคุณล่ะ ถ้าติดโควิด-19 จะยินยอมให้ AI ติดตามความเคลื่อนไหวหรือเปล่า?

Sources : 
Al Jazeera | t.ly/iJcL
Mashable | t.ly/1Rzt

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.