ทำไมต่างจังหวัดจัดงานหนังสือไม่บ่อยเท่ากรุงเทพฯ - Urban Creature

สำหรับชาวนักอ่านตัวยง คงจำได้ว่าเมื่อก่อนนี้เราแทบต้องนับวันรองานหนังสือแห่งชาติที่ในหนึ่งปีจะวนกลับมาให้เราออกกำลังกายขาและแขนในการเดินเลือกซื้อหนังสือและแบกกลับบ้านกัน 2 ครั้งต่อปี นั่นคืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (จัดเดือนมีนาคม-เมษายน) และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (จัดเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน)

แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันชาวกรุงเทพฯ ไม่ต้องรอนานเหมือนเดิมแล้ว เพราะช่วงหลังนี้มีงานหนังสือให้เราไปเดินกันบ่อยขึ้นกว่าเดิมทั้งงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่ว่าจะเป็นงานจากสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ หรือทีมผู้จัดงานหนังสือที่รวมตัวกันโดยเฉพาะเลยก็ตาม อย่างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็มีงานหนังสือเกิดขึ้นถึง 5 งาน รวมถึงอีเวนต์อย่างงานหนังสือในสวน ที่แม้ไม่ได้ขายหนังสือเป็นหลัก แต่ก็เป็นอีเวนต์ที่เชิญชวนเหล่าคนรักการอ่านมาพบปะและทำกิจกรรมด้วยกัน กระทั่งเดือนสิงหาคมนี้ก็ยังมีงานหนังสือที่จัดอย่างต่อเนื่อง เช่น Bangkok Erotica Book Fest 2022 และงานหนังสือในสวน ครั้งที่ 2 เป็นต้น

เมื่อมีงานหนังสือในกรุงเทพฯ เกิดบ่อยขึ้น ชาวต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยเลยเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นว่าอยากให้จังหวัดอื่นๆ มีงานหนังสือบ่อยๆ เหมือนที่เมืองหลวงบ้าง เราจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมงานหนังสือถึงไม่แวะเวียนไปจัดที่จังหวัดอื่นๆ ให้บ่อยขึ้น หรือมันเป็นไปได้ไหมที่คนในพื้นที่จะลุกขึ้นมาจัดงานหนังสือในจังหวัดตัวเอง

คิดหาคำตอบเองคงไม่ได้อะไร เราขอต่อสายถามความคิดเห็นเรื่องนี้จากเหล่าเจ้าของร้านหนังสือที่กระจายตัวเปิดร้านอยู่ตามต่างจังหวัดดีกว่า

สาเหตุที่ต่างจังหวัด (แทบ) ไม่มีงานหนังสือ

การจัดงานหนังสือแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายหลายส่วนที่สำนักพิมพ์หรือร้านที่เข้าร่วมงานต้องลงทุนเป็นจำนวนไม่น้อย ไหนจะค่าเช่าบูท ค่าเดินทาง ค่าแรงพนักงาน และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีก ทว่าทั้งหมดนี้จะยิ่งทวีราคามากขึ้น หากเป็นงานหนังสือที่จัดในต่างจังหวัด นี่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นงานหนังสือในจังหวัดอื่นๆ สักเท่าไหร่

กำลังซื้อส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

‘ภาณุ มณีวัฒนกุล’ เจ้าของร้าน ‘Rhythm and Books’ ในอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มองงานหนังสือในระยะหลังนี้ว่า เป็นงานลดราคาหนังสือเป็นหลัก กิจกรรมบนเวทีสนทนาไปจนถึงการพบปะกับเหล่านักเขียนแทบไม่ใช่ประเด็นที่ใช้ในการโปรโมตงานอีกต่อไป นักอ่านต่างรอซื้อหนังสือตามงานเพราะหวังได้ในราคาที่ต่ำกว่าปก ยังไม่นับเรื่องราคาหนังสือที่แพงขึ้นแต่ค่าแรงยังเท่าเดิมอีก และหากให้พูดกันตามตรงก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังซื้อส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นการจัดงานหนังสือในขณะที่การอ่านยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าไรนัก จึงอาจเป็นไปได้ยากในการจัดงาน (ลดราคา) หนังสือที่ต่างจังหวัดได้บ่อยครั้งเหมือนกับในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่

‘บุรินทร์ฑร ตันตระกูล’ เจ้าของร้าน ‘Wild Dog Bookshop’ ในจังหวัดขอนแก่นเองก็บอกกับเราว่า ความจริงแล้ว ตามหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาคจัดงานหนังสือประจำปีอยู่แล้ว อย่างในภาคอีสานเองก็มีในหลายพื้นที่ เช่น สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี เทศกาลหนังสือโคราช เทศกาลหนังสืออุดรธานี และเทศกาลหนังสือขอนแก่น ตอนนี้เขาเองมองว่าเริ่มมีงานหนังสือขนาดเล็กเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่จัดขึ้นเพียง 1 – 2 ครั้งต่อปี และงานส่วนใหญ่มักอยู่ตามหัวเมืองใหญ่อย่างที่พูดไปข้างต้น ทำให้คนในพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าถึงงานหนังสือได้อย่างทั่วถึงอยู่ดี

ค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มกับการลงทุน

นอกจากเหตุผลเรื่องกำลังซื้อที่กระจุกอยู่ที่เดียว ‘เอ๋-อริยา ไพฑูรย์’ เจ้าของ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ในจังหวัดสงขลา (ที่อีกไม่นานนี้จะย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่) มองว่า การจัดงานหนังสือในต่างจังหวัดนั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก เธอยกตัวอย่างงานมหกรรมหนังสือภาคใต้ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีให้เราฟังว่า งานในช่วงหลังๆ กลายเป็นเน้นขายเครื่องเขียน สติกเกอร์ หรือสมุดน่ารักๆ แทนหนังสือแล้ว เพราะหลายสำนักพิมพ์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเดินทางมาขายหนังสือด้วยตัวเองได้ บางเจ้าที่มีเครือข่ายร้านหนังสืออยู่ในจังหวัดก็อาจมาร่วมงานบ้าง แต่อีกหลายเจ้าก็เลือกส่งหนังสือมาร่วมงานลดราคาแทน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีแค่ค่าบูทงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของค่าเดินทาง ค่าที่พัก และปัจจัยอื่นๆ ที่เมื่อคำนวณจากรายได้ที่เหล่าสำนักพิมพ์จะได้คืนจากงานหนังสือแต่ละครั้งแล้วอาจไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป 

ตรงกับมุมมองของบุรินทร์ฑรที่คิดว่าถึงแม้งานหนังสือจะสร้างความคึกคักให้ประชาชนในจังหวัดก็จริง แต่ภาพเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ยากในจังหวัดเล็กๆ เนื่องจากผู้ออกร้านต่างต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าขนย้ายสิ่งของ ค่าบูท ค่าจ้างพนักงานขาย รวมไปถึงโปรโมชันต่างๆ ที่ต้องออกมากระตุ้นยอดขายที่สุดท้ายแล้วอาจได้ไม่คุ้มทุน

ภาพจาก ร้านหนังสือเล็กๆ

ผลกระทบของการ (แทบ) ไม่มีงานหนังสือ

อย่างที่ทราบกันว่างานหนังสือระดับชาติที่จัดในกรุงเทพฯ แต่ละครั้ง มียอดผู้ร่วมกิจกรรมเป็นหลักล้าน ซึ่งนั่นหมายถึงยอดเงินจำนวนมหาศาลที่หมุนเวียน ไปจนถึงการที่เหล่านักเขียนและสำนักพิมพ์ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านอย่างใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกันร้านหนังสืออิสระในเมืองเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย ในต่างจังหวัดเองก็อาจมีสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน

ราคาของค่าเสียโอกาส

แน่นอนว่าการที่งานหนังสือจัดกระจุกกันแต่ในกรุงเทพฯ ย่อมนับเป็นหนึ่งข้อเสียเปรียบในด้านการเข้าถึงหนังสือและการอ่านของคนต่างจังหวัด ซึ่งมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำก็ยังได้

‘จ๋า-กรองทอง สุดประเสริฐ’ เจ้าของ ‘ร้านเล่า’ ร้านหนังสือบนถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงงานหนังสือว่า เมื่อมีการจัดงานหนังสือขึ้น แม้จะเน้นลดราคาหนังสือเป็นหลักก็ตาม แต่ตนก็ยังอยากไปเพื่อเลือกดูหนังสือที่อาจไม่เห็นตามร้านทั่วๆ ไปอยู่ดี 

ในขณะเดียวกัน อริยา จากร้านหนังสือเล็กๆ ยังมองว่างานหนังสือไม่ได้เป็นเพียงแค่งานสำหรับลดราคาหนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ในการพบปะกันของนักอ่าน สำนักพิมพ์ และตัวนักเขียนด้วย เพราะมีหลายคนไม่น้อยที่อ่านหนังสือแล้วก็อยากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเหล่านักเขียนที่ชื่นชอบ ยังไม่นับรวมโอกาสการเพิ่มนักอ่านหน้าใหม่ที่เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของการจัดงานลักษณะนี้ด้วย เรียกได้ว่างานหนังสือเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรักหนังสือได้มาเจอกันทุกภาคส่วน และเป็นการปลูกฝังกับต่อยอดวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งมากกว่าแค่การซื้อขายหนังสือ 

ถึงกระนั้น เมื่อเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว ด้วยเงื่อนไขของระยะทางและค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวจนเหล่าสำนักพิมพ์ยอมทิ้งการทำการตลาดส่วนนี้ ก็อาจทำให้วงการหนังสือเสียโอกาสในการสร้างพื้นที่ตรงนี้ไปด้วย

ต่างจากบุรินทร์ฑร ร้าน Wild Dog Bookshop ที่เห็นว่างานหนังสือในรูปแบบของมหกรรมลดราคาหนังสือนั้นไม่ได้ทำให้คนต่างจังหวัดและวงการหนังสือเสียโอกาสในการอ่านเท่าไรนัก การไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่างหากที่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้วงการหนังสือเสียโอกาสมากกว่าการไม่จัดงานหนังสือบ่อยๆ 

เขาอยากให้ร้านหนังสือ ห้องสมุด หรือกลุ่มคนทำกิจกรรมในพื้นที่ ช่วยกันออกแบบกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านให้สอดคล้องกับประเด็นในสังคม วัฒนธรรม เรื่องที่อยู่ในกระแส โดยมีนักเขียนหรือสำนักพิมพ์มาร่วมพูดคุยกับนักอ่าน เพราะสิ่งเหล่านี้คือการปลูกฝังให้คนรักการอ่านแบบยั่งยืน

ภาพจาก ร้าน Wild Dog Bookshop

ฝันร้ายของร้านหนังสืออิสระ

ปฏิเสธไม่ได้ว่างานหนังสือดูเป็นความต้องการของนักอ่านต่างจังหวัดที่อยากสัมผัสประสบการณ์เดินขาลากเลือกซื้อหนังสือ ต่อแถวขอลายเซ็นนักเขียนคนโปรด และร่วมวงเสวนากับคนทำงานหนังสือ ทว่าก็อย่าลืมว่าสิ่งที่ตามมาของงานหนังสือคือการที่นักอ่านเลือกรองานแบบนี้เพื่อซื้อหนังสือในราคาที่ต่ำกว่าปก ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อร้านหนังสืออิสระอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยกรองทองได้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้กับเรา เธอเล่าว่าที่เชียงใหม่เองก็มีการจัดงานหนังสือเพื่อลดราคาหนังสือปีละ 2 – 3 ครั้ง ทำให้คนเลือกรอไปซื้อหนังสือในงานมากกว่าซื้อที่ร้านหนังสืออิสระทั่วไป

เพราะการลดราคาหนังสือย่อมส่งผลต่อการซื้อหนังสืออยู่แล้ว ไม่มีใครที่อยากได้สินค้าที่ราคาแพงกว่าทั้งๆ ที่สามารถรอซื้อราคาที่ถูกกว่าได้ คนส่วนใหญ่จึงรอไปงานหนังสือเพื่อซื้อหนังสือที่ลดราคามาเก็บไว้อ่านในภายหลัง 

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของร้าน Wild Dog Bookshop มองว่าร้านหนังสือคงลำบากมากขึ้นแน่หากต้องลดราคาหนังสือขายตามกระแส หลายร้านหนังสือ รวมถึงเขาเองจึงต้องหาทางปรับตัวเพื่อที่จะยังอยู่ในวงการหนังสือต่อไปได้ เช่นเดียวกับภาณุ แห่งร้าน Rhythm and Books ที่มองว่าหากใครมีความสามารถในการทำอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่ม ก็อาจต้องทำมาวางขายในร้านควบคู่กับการขายหนังสือ เพื่อเพิ่มจุดเด่นและขยายช่องทางหารายได้

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่างานหนังสือจะมีแต่ข้อเสียสำหรับร้านหนังสือ เพราะอริยาบอกกับเราว่ามีนักอ่านหลายคนไม่น้อยในจังหวัดข้างเคียงที่รอคอยมางานมหกรรมหนังสือภาคใต้ที่จัดในจังหวัดสงขลา ซึ่งส่งผลให้มีคนแวะเวียนมาที่ร้านหนังสือของเธอเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้ไม่สามารถบอกได้ว่างานหนังสือช่วยให้คนสนใจการอ่านได้มากขึ้นมาก-น้อยแค่ไหน แต่บุรินทร์ฑรได้เสริมในตอนท้ายว่า ความสนใจในการอ่านคงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะงานลดราคาหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนไปถึงจุดนั้นคือการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน รวมไปถึงการทำให้การอ่านเป็นวัฒนธรรม ให้หนังสือได้เบียดแทรกเข้าไปสู่กิจวัตรหนึ่งของแต่ละวันในชีวิต

เมื่อถึงวันนั้น งานหนังสืออาจไม่จำเป็นต้องเป็นงานลดราคาหนังสืออีกต่อไป และคนต่างจังหวัดอาจมีพื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งของตัวเองก็เป็นได้


ร้านเล่า (เชียงใหม่) facebook.com/ranlaobookshop 

ร้าน Wild Dog Bookshop (ขอนแก่น) facebook.com/wilddogbookshop 

ร้านหนังสือเล็กๆ (สงขลา) facebook.com/littlebookshopsk 

ร้าน Rhythm and Books Chapter III (ประจวบคีรีขันธ์) facebook.com/bhanu.maneevathanakul 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.