หลายครั้งการขับรถผิดทางทำให้เราต้องเกิดอาการหัวร้อนหงุดหงิด โดยเฉพาะเวลาเลี้ยวเข้าผิดซอย แต่ก็ไม่สามารถไปต่อหรือกลับรถตรงนั้นได้ เพราะซอยที่ว่านั้นทั้งแคบและยังเป็น ‘ซอยตัน’ ที่บังคับให้คนขับรถต้องเข้าเกียร์ R ถอยหลังออกไปตั้งหลักใหม่อย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งคนที่ขับรถในกรุงเทพฯ จะรู้ว่าเมืองหลวงของเรามีซอยตันเยอะมากเสียด้วย ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมในมหานครแห่งนี้ถึงได้มีซอยตันกระจายตัวแทบจะทุกพื้นที่เลย
นอกจากจะเป็นอุปสรรคในการขับรถแล้ว ซอยตันยังส่งผลอะไรต่อการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ อีกบ้าง คอลัมน์ Curiocity จะพาไปเปิดทางตันและหาคำตอบของเส้นทางเล็กๆ เหล่านี้กัน
เมืองขยายตัว เกิดซอยจำนวนมาก
ในยุคหนึ่งที่เป็นช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ซึ่งกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้คนหลากหลายกลุ่มจากหลากหลายจังหวัดเดินทางเข้ามาทำงาน เกิดความหนาแน่นของประชากร ตามมาด้วยการขยายงานและที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เพราะเหตุนี้ เมืองจึงขยายตัวออกไปในแถบชานเมืองและรอบนอกที่ยังมีพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม โดยที่ดินแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับทำเกษตรกรรม ซึ่งเจ้าของพื้นที่มักจะตัดแบ่งที่ดินเพื่อขายหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างให้ได้จำนวนมากขึ้น จึงเกิด ‘ซอย’ หรือ ‘ถนนเส้นเล็กๆ’ เชื่อมต่อถนนหลักขึ้นตามการแบ่งพื้นที่ขายในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ นั่นเอง
กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของความยาวถนนในกรุงเทพฯ เป็นซอยตัน
เมื่อการแบ่งที่ดินและการสร้างถนนเล็กๆ เพื่อขายเกิดขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผังเมืองกรุงเทพฯ หรือไม่ได้วางแผนเพื่อเชื่อมต่อซอยต่างๆ กับถนนหลัก จึงทำให้ซอยเหล่านี้กระจายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ทั้งมีขนาดเล็ก มีความซับซ้อน รวมถึงยังเป็นซอยที่มีทางเข้า-ออกเพียงแค่ทางเดียว โดยปลายทางของถนนเล็กๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถทะลุออกไปไหนได้ หรือที่เรียกกันว่า ‘ซอยตัน’ นั่นเอง
ปี 2563 ทาง UddC Urban Insight ได้ทำการศึกษาเรื่องซอยตันในกรุงเทพฯ พบว่า จากความยาวถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ กว่า 18,355 กิโลเมตรนั้นเป็นซอยตันไปแล้วถึง 45 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งจะกระจายตัวอยู่ในบริเวณชานเมืองหรือกรุงเทพฯ ชั้นนอกเป็นส่วนใหญ่ ตามการขยายตัวของเมืองที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้
ในขณะเดียวกัน เมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ กลับมีสัดส่วนซอยตันต่อความยาวของถนนทั้งหมดน้อยกว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอนที่มีอยู่ 18.67 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์และโตเกียว 7 เปอร์เซ็นต์ มาดริด 4.6 เปอร์เซ็นต์ และนิวยอร์กมีเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การวางผังเมืองอย่างมีระบบทำให้เมืองต่างๆ ที่พูดถึงนี้สามารถจัดการเส้นทางการสัญจรในเมืองได้อย่างราบรื่น ถนนเกือบทุกเส้นสามารถเชื่อมต่อและทะลุถึงกันได้ ไม่ว่าจะเดินหรือขับรถหลงไปในซอยใดซอยหนึ่งก็ยังสามารถหาทางออกไปยังถนนเส้นใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่จุดเดิม
‘ซอยตัน’ ส่วนหนึ่งของปัญหาการจราจรที่ติดขัด
พื้นที่ซอยตันส่วนใหญ่มักจะเป็นที่อยู่อาศัยที่ขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง ซึ่งจำนวนของคนที่อาศัยอยู่ในซอยลักษณะนี้ก็มีไม่น้อย ทำให้มีรถยนต์จำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยข้อจำกัดของซอยตันที่ทำให้เข้า-ออกได้เพียงแค่ทางเดียว
นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาของกลุ่มคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ที่ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์หรือรถสองแถวเพื่อออกไปรอใช้บริการขนส่งมวลชนที่ถนนเส้นหลัก ทำให้ในแต่ละวันต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
การวางผังเมืองที่ไม่เป็นระเบียบของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เริ่มต้น จึงอาจทำให้การปรับเปลี่ยนซอยตันให้กลายเป็นซอยที่ทะลุออกไปยังเส้นทางอื่นเพื่อแก้ไขปัญหารถติดเป็นไปได้ยาก แม้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเคยเปิดแผนนโยบายการเปิดทะลุซอยตันให้เชื่อมถนนหลักในปี 2561 ไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างจึงยังทำให้ภาครัฐไม่สามารถลงมือทำได้ในทันที ไม่แน่ว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหาทางเปิดซอยตันในเส้นทางสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ ได้ ในอนาคตปัญหารถติดในเมืองก็อาจจะลดน้อยลงก็เป็นได้
Sources :
Facebook : Sauvanithi Yupho | tinyurl.com/y929syya
Salika | tinyurl.com/mrsn5n4s
Thairath | tinyurl.com/4ycu7ekv
The Urbanis | tinyurl.com/3dkrsde4
YouTube : พูด | tinyurl.com/4pefuj7b