“เมื่อก่อนผมเป็นอิกนอร์ กินเหล้ากินเบียร์ไม่ได้สนใจอะไรเลย มาตาสว่างเมื่อรู้ว่าระบบของประเทศนี้เป็นยังไง” ‘เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม’ ผู้ก่อตั้ง ‘ประชาชนเบียร์’ เล่ารอยต่อสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มจริงจังกับการเรียกร้องเพื่อแก้ไขข้อกฎหมายเหล้าเบียร์
ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แถมต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ขอบเขตเช่นนี้ส่งผลให้วงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผูกขาดอยู่แค่เจ้าใหญ่ที่มีทุนทำได้ และปิดโอกาสสำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีวันทำตามกติกาแบบนั้นได้จริง เกิดเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น การต้มแบบเถื่อน หรือการต้องแอบดื่มที่นำไปสู่ภาพจำที่ทำให้เรื่องเหล้าเบียร์เป็นของมอมเมาผู้อื่นอยู่เสมอ
ด้วยการผูกขาดกฎหมายที่เอื้อแต่นายทุนเช่นนี้ ทำให้วัฒนธรรมการกินดื่มของประเทศถูกปิดกั้นความสุนทรีย์และไม่มีเสรีเปิดกว้างอย่างทั่วถึง นักดื่ม นักต้ม ผู้ประกอบการ และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ จึงรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นและทุกคนได้สิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน
ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวสำคัญนั่นคือ ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ โดยพรรคก้าวไกล ทางคณะได้ยื่นร่างแรกต่อสภาไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 และมีการโหวตลงมติกันอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย. สรุปมติที่ประชุมปัดตกกฎหมายสุราก้าวหน้าไปด้วยเสียงโหวตทั้งหมด 405 คะแนน เห็นด้วย 194 และไม่เห็นด้วย 196 งดออกเสียง 15 คะแนน เท่ากับว่าวงการเบียร์และสุรายังคงต้องเดินหน้าร่วมกันผลักดันการแก้กฎหมายให้ปลดล็อกเรื่องนี้กันต่อไป
“ตั้งแต่ทำเพจประชาชนเบียร์มาสามปี กฎหมายไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ยังเหมือนเดิม และไม่รู้ว่ามันจะไปจบตอนไหน คงไม่ใช่ภายในเวลาสามถึงห้าปีนี้หรอก ผมมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เพราะไม่ได้เชื่อว่าการแก้กฎหมายผ่านสภาจะเป็นจุดสุดท้ายที่แก้ได้ สภาไม่ได้เป็นที่พึ่งสิ่งเดียว ผมมองว่าประชาชนต่างหากที่เป็นกำลังสำคัญในการแก้กฎหมายทุกอย่างในประเทศนี้
“สามปีที่ผ่านมาเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เราคาดหวังกับคนดื่มอีกเยอะมาก” ผู้ก่อตั้งประชาชนเบียร์ที่เป็นหนึ่งในการร่วมผลักดันกฎหมาย ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ บอกเช่นนั้น
จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ประชาชนเบียร์เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้มั้ย
เราไม่คิดว่าจะมีใครมาสัมภาษณ์ทำข่าว ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ออกทีวีหรือยูทูบ ไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องเกิดอะไรแบบนี้ เพราะเราก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่าง เริ่มต้นรวมตัวกันเพื่อทำงานให้เกิดการเคลื่อนไหว จากที่ไม่รู้เลยว่าการเคลื่อนไหวภาคมวลชนคืออะไร ไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเมือง พอได้ทำมาจนถึงวันนี้มันก็เกินฝันไปมากแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีคนอยากให้ผมทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ พูดถึงเหล้าเบียร์ มีรีวิวของ มีคนส่งมาให้ถึงบ้าน ต้องทำทุกวัน และแน่นอนว่ามันไม่ได้เงิน แต่ก็พยายามช่วยคนที่เขาอยากให้เราช่วยต่อไป
ทุกวันนี้ยินดีที่ทุกคนเริ่มเห็นภาพแล้วว่าการเคลื่อนไหวเรื่องเหล้าเบียร์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ อย่างที่รู้กันว่ากฎหมายประเทศไทยไม่เคยให้สิทธิ์ประชาชนอย่างทันท่วงที ไม่เคยคิดว่าผลกระทบของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน อยู่กันอย่างนี้มาตลอด ก็ยังคาดหวังให้เกิดการรวมตัวที่แข็งแรงพอ เพื่อช่วยให้เกิดการแก้ไขเร็วที่สุด
คิดว่าการมีอยู่ของประชาชนเบียร์มีส่วนช่วยเรื่องนี้ยังไงบ้าง
ถ้ามองประชาชนเบียร์เป็นแบรนด์หรือองค์กร ผมเป็นแค่ผู้ก่อตั้ง เป็นแค่ช่วงหนึ่งในการถ่ายทอดข้อมูลขององค์กรต่างหาก แต่สิ่งที่สำคัญและอยากให้เป็นคือ ประชาชนเบียร์จะเป็นองค์กรที่อยู่ไปอีกนาน ตราบเท่าที่คนยังเชื่อเหมือนกันว่าเหล้าเบียร์สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ พวกเขาจะอยู่กันไปเรื่อยๆ ทำงานภาคมวลชนคู่ขนานกับประเด็นการเมืองอื่นๆ
ประชาชนเบียร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปีกการเมืองที่คอยซัปพอร์ตภาพใหญ่ เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่เหมือนที่ทุกคนอยากเห็น แต่เคลื่อนไหวคนละมุมกัน ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ขยายแนวร่วม สร้างคนไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้
Soft Power ที่ว่าคืออะไร
ตั้งแต่แรกผมไม่ได้ต้องการเปิดเพจมาเพื่อรีวิวเหล้าเบียร์อะไรเลย แค่ต้องการแก้กฎหมาย เพราะเชื่อว่าถ้าประชาชนรวมตัวกัน มันจะสามารถแก้ได้หมดทุกอย่าง การรีวิวคือส่วนหนึ่งในการรวบรวมคนเข้ามาอยู่ในขบวน
การรีวิวเกิดขึ้นจากช่วงเริ่มมีโควิด ร้านเหล้าเริ่มมีปัญหา คนไปร้านไม่ได้ ต้องปิดร้าน ผมคิดว่าจะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง ก็หาวิธีการหลายๆ อย่าง จนสุดท้ายก็เป็นการรีวิวร้าน เพราะยังไม่ค่อยมีสื่อที่แนะนำร้านคราฟต์เบียร์ทั้งประเทศ เราเลยเป็นเจ้าแรกๆ
ที่สำคัญคือมันไม่ใช่แค่การรีวิวแล้วจบ เพราะได้ช่วยคนทั้ง 3 กลุ่ม คือ คนดื่มได้รู้จักร้านมากขึ้น เบียร์ที่อยู่ในร้านก็ขายดีขึ้น พอขายดีขึ้นก็ผลิตได้มากขึ้น หวังว่าราคาเบียร์จะถูกลง อันนี้คือเป้าหมาย
ทั้งที่ประเทศนี้การรีวิวเหล้าเบียร์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำไมคุณทำได้
กฎหมาย ม.32 บอกว่า ห้ามพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีโลโก้ ห้ามมีคำพูดเชิงชักจูง เชิญชวน หรือคำพูดอย่าง หอม อร่อย ดื่มง่าย เป็นต้น รวมถึงห้ามอวดอ้างสรรพคุณ เพราะคำต่างๆ เหล่านี้เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้กว้างมาก
การรีวิวร้านแบบของเราจะไม่ได้ชี้ไปที่แบรนด์สุราหรือเบียร์ต่างๆ ต่อให้ถ่ายภาพเห็นผลิตภัณฑ์หมดแต่ไม่ได้พูดถึงเลย เพราะผมพูดถึงร้าน ใครมาแจ้งจับผมก็ไม่โดนกฎหมาย แต่ถ้าต้องสู้ในทางกฎหมายผมก็คิดว่าสู้ได้ ไม่น่ามีปัญหา ผมเลยทำสิ่งนี้ได้เต็มที่
ตั้งแต่เริ่มทำรีวิวมา มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
รีวิวร้านคราฟต์เบียร์มาปีกว่าๆ พบว่ามันเกิดอิมแพกต์ได้จริงๆ เพราะเมื่อก่อนคนรู้จักร้านคราฟต์เบียร์น้อยมาก อย่างมากก็หาซื้อในห้างฯ หรือสั่งออนไลน์ ซึ่งขายบ้างไม่ขายบ้าง แต่ร้านเบียร์ที่มีตามซอกซอยหลืบต่างๆ พอตามไปเจอหรือหาข้อมูล ก็รู้สึกว่าอยากให้คนรู้จักร้านคราฟต์เบียร์มากขึ้น มีหลายร้านที่ไม่มีใครรู้จัก เปิดร้านมาก็ขายกระเสาะกระแสะไปเรื่อยๆ ไม่มีกำไร ไม่รู้จะปิดเมื่อไหร่ สภาพคือหมดแรงแล้ว โทรมาหาผมให้ไปช่วยรีวิว
พอไปรีวิวแล้วทีนี้ต้องใช้คำว่าร้านแตก คือโต๊ะเต็ม ไม่มีที่นั่ง คนต่อคิวยืนรอเพื่อเข้าร้าน บ้างต้องขอให้ลูกค้ากลับบ้านแล้วมาวันหลัง ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จี้เข้าไปตรงจุด ตรงปัญหา เพราะร้านก็ไม่กล้าพูด กลัวโดนมาตรการตามกฎหมาย เขาเลยโปรโมตได้ไม่เต็มที่ แถมมีกฎหมายห้ามขายออนไลน์อีก ใครจะไปอยู่ได้
ประชาชนเบียร์ช่วยทุกคนเท่าที่จะทำไหว เพราะผมทำคนเดียวและทำงานประจำด้วย ว่างแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ไปได้สัปดาห์ละวัน แต่ตอนนี้มีแพลนต้องไปรีวิวร้านต่างๆ ถึงเดือนกุมภาฯ ปีหน้าแล้ว
คุณคิดว่าการรีวิวมีอำนาจหรือส่งผลต่อการเรียกร้องอย่างไร
เป็นการช่วยให้กระบวนการที่กำลังเรียกร้องใหญ่และกว้างขึ้น เราสามารถหาเงินเข้าไปหมุนเวียนให้ผู้ค้าเบียร์รายย่อยได้ เพื่อให้พวกเขามีอำนาจในการต่อรองเยอะขึ้น อำนาจนั้นคืออำนาจการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น กระจายไปสู่ร้านต่างๆ และมีคนดื่มเยอะขึ้น ผมต้องการคนดื่มที่ยังไม่เข้าใจว่ากฎหมายเป็นยังไง คนดื่มที่ไม่สนใจการเมืองหรืออะไรเลย แค่อยากดื่มไปวันๆ เหมือนผมที่เมื่อก่อนไม่สนใจ ไม่เคยรู้ด้วยว่าเสื้อแดงถูกยิงตายเพราะอะไร โดนยิงตายแล้วยังไง วันนั้นผมก็นั่งกินเหล้าในช่วงวัย 20 กว่าๆ จนตอนนี้มาสำนึกได้ว่าเพราะวันนั้นที่มึงไม่สนใจอะไรเลยไง ประเทศถึงเป็นแบบนี้ เลยมาถึงจุดที่คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง และทำแม่งให้เต็มที่เท่าที่ทำไหว
ถ้าวัฒนธรรมการดื่มของประเทศนี้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ภาพที่คุณเห็นจะเป็นแบบไหน
ตัวผมคงสนุกกับการกินอะไรหลายๆ รสชาติไปเรื่อยๆ เวลากินเบียร์ร้านหนึ่ง จะไม่ได้กินตัวเดียว ต่อให้อร่อยก็จะกินแบบไม่ซ้ำกัน ผมอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต เพราะเบื่อกับการกินแบรนด์เดิมๆ มาทั้งชีวิตแล้ว กินทั้งทีต้องกินเป็นลัง ต้องเมา ต้องคุ้ม ยิ่งเยอะยิ่งดี
ทีนี้พอได้ดื่มมากขึ้นคนก็น่าจะอยากเรียนรู้ว่าเบียร์มีกี่สไตล์ แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันยังไงบ้าง อาจต่อยอดไปถึงการต้มกินเอง พอมีคนที่ทำแล้วอร่อย ประสบความสำเร็จในยอดขาย วงการก็ยิ่งมีความหลากหลายมากเข้าไปอีก
วงการสุราของประเทศไทย ค่อยๆ ขยับจากการดื่มแบบไม่มีทางเลือกมาเรียนรู้เบียร์ใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่าตลาดเหล้าเบียร์จากที่ขยับ 0.1 – 0.2 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด ถ้ากฎหมายเปิดเสรีมันอาจขยับขึ้นเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ได้เลย ผู้ผลิตรายย่อยเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เราก็จะได้ดื่มเบียร์รสชาติดี หาได้ง่าย และราคาถูก ตลาดคราฟต์เบียร์เติบโตขึ้น
ขยับเพียง 1 เปอร์เซ็นต์คุณก็พอใจแล้วเหรอ
ดีแล้ว เพราะไม่คิดว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ สำหรับคนที่ไม่มีทุน ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากใครเลย อย่างมากก็ได้เงินจากการขายของที่ระลึก กระเป๋า เสื้อ แต่มันไม่ได้เยอะจนทำให้ออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ การทำประชาชนเบียร์เหมือนเป็นงานอดิเรก แต่มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ผมว่ามันก็สำเร็จในระดับหนึ่ง ต่อให้วันนี้ยังมีกฎหมายบางตัวที่ยังไม่สอดรับกับเรื่องที่กำลังทำอยู่ แต่ก็มีการดันเพดานอยู่ตลอดเวลา มีคนทำเบียร์เถื่อนออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่ากฎหมายจะแก้ได้มั้ย หรือต่อให้ไม่แก้แล้วยังไง พวกเราก็จะทำ เพราะการทำเหล้าเบียร์มันไม่ได้เถื่อน กฎหมายต่างหากที่เถื่อน
อย่างการจัดงาน BEER DAYS ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จเกินเป้าไปเยอะมากจนตกใจ เพราะไม่คิดว่างานจะใหญ่ได้ขนาดนี้ เราดีใจที่ทุกคนเริ่มสนใจว่าเบียร์ไม่ได้เป็นแค่เบียร์ แต่ไปถึงเรื่องอื่นๆ มีคนอยากกินเบียร์เยอะขึ้น มีคนอยากเข้าใจคราฟต์เบียร์ ใครที่ไม่เคยรู้ว่าวงการเบียร์มีสิ่งนี้มาก่อน พอเข้างานมาก็ได้รู้ มากินคราฟต์เบียร์ในราคาที่เข้าถึงได้และยังทำลายกำแพงที่รัฐสร้างไว้
พูดกันตรงๆ ในงานขายเบียร์เถื่อนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งงานเลยก็ว่าได้ รัฐห้ามขายบ่ายสองถึงห้าโมง เราก็ขายกันตั้งแต่สิบเอ็ดโมงถึงเที่ยงคืนไปเลย อยากจับก็จับไปดิ กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วในประเทศนี้ งาน BEER DAYS คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเราไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ที่คุณเคยพูดไว้ว่า คาดหวังให้คนดื่มออกมาแสดงพลังสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ในความรู้สึกของผมคิดว่าคนร่วมขบวนยังน้อยอยู่ ผมต้องการมูฟเมนต์ที่ใหญ่กว่านี้ คาดหวังไว้เป็นสิบเท่าจากวันนี้ เพราะจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีคนดื่มเหล้าเบียร์ในประเทศไทยอยู่ 16 ล้านคน คิดเป็นคนดื่มเบียร์ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่คนที่รู้จักคราฟต์เบียร์ว่าคืออะไรจริงๆ มีประมาณหมื่นกว่าคน ส่วนคนที่สนใจทำการเคลื่อนไหวพร้อมจะไปม็อบหรือชุมนุมเรียกร้องมีประมาณหลักร้อยเอง ผมอยากได้คนที่สนใจเรื่องนี้และพร้อมขับเคลื่อนร่วมกัน
สมมติถ้าต้องการสักแสนรายชื่อ อยากได้แบบคืนเดียวได้เลย เพราะเรื่องนี้ยังต้องการการแก้กฎหมายอีกเยอะ ไม่ใช่แค่กฎหมายเรื่องเหล้าเบียร์ ผมเชื่อว่าคนขี้เมาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ต่อให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะสลิ่ม สามกีบ แดง เหลือง ส้ม ทุกคนสามารถหาจุดร่วมเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้
นอกจากกรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ผลิตคราฟต์เบียร์และสุราในต่างจังหวัดตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
เยอะขึ้นมาก เมื่อก่อนเรามองว่านนทบุรีเป็นเมืองหลวงของคราฟต์เบียร์ไทย แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ที่เดียว ยังมีเมืองย่อยๆ ทางภาคเหนืออีก เชียงใหม่ก็มีร้านดีๆ มากขึ้น ปทุมธานีมีร้านเบียร์ลับๆ เพิ่มขึ้น ทางใต้เริ่มมีงานเบียร์ใหญ่ๆ สเกลคนเข้าร่วมงานเป็นพันๆ คน มีคนขาย 50 กว่าเจ้า คนต้มอีก 30 กว่าเจ้ามารวมกัน มันเกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นงานที่เสรีมากๆ เพดานกฎหมายที่รัฐเขียนมาโดยไม่สนใจพวกเราเหล่าคนเบียร์ก็ไม่ได้สนใจเหมือนกัน ต่อให้เขามาจับ มันก็เป็นการชี้ให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความไม่แฟร์
ส่วนสุราเป็นเรื่องที่ผมห่วงที่สุด พูดตรงๆ ว่าวัยรุ่นเข้าไม่ถึงสุราไทย เพราะเหล้าขาวบ้านเรากินแล้วไม่เท่ ดูเชย ขวดขาวๆ เหลี่ยมๆ ออกแบบโลโก้แบนๆ ไม่มีสตอรี่ แต่จริงๆ แล้วทุกเจ้าในต่างจังหวัดมีเรื่องเล่าเยอะมาก แค่ไม่เคยถูกพูดถึง และรสชาติก็ไม่ขี้เหร่ แต่เพราะกฎหมายมาตรา 32 ที่ห้ามพูดถึงเรื่องรสชาตินั่นแหละ ทำให้แบรนด์ใหม่ๆ พูดถึงรสชาติของตัวเองไม่ได้ แล้วผู้บริโภคจะซื้อยังไงในเมื่อไม่รู้รสชาติ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องแก้
ถ้าปลดล็อกสุราเสรีแล้ว คุณคิดว่าภูมิปัญญาการผลิตสุราในประเทศนี้ จะพัฒนาหรือต่อยอดไปในทิศทางไหน
การใช้ข้าว ข้าวเหนียว และอ้อย สามารถต่อยอดไปสู่การทำสุราประเภทอื่นได้ สมมติเราหมักสาโทจะมีกลิ่นข้าว เป็นน้ำขาวๆ ใสๆ ดื่มแล้วให้รสชาติหวาน แต่พอเอาไปกลั่นให้สีใส มีแอลกอฮอล์สัก 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถเอาสิ่งนี้ไปหมักในถังต่างๆ ให้ได้คาแรกเตอร์แปลกๆ เข้ามา หรือยาดองที่ใส่สมุนไพร วิสกี้หรือบรั่นดี คนไทยทำได้หมดนั่นแหละ ไม่ได้มีอะไรยากเลย แค่เอาไปหมักในถังให้เปลี่ยนสี แต่กฎหมายก็เขียนว่า ห้ามสุราชุมชนดัดแปลง พูดง่ายๆ คือห้ามทำเหล้าสี งงมั้ยล่ะ พอทำไม่ได้ก็กลายเป็นช่องว่างให้เจ้าใหญ่ได้ทำเหล้าสีอยู่ไม่กี่เจ้า
เมื่อก่อนผมคิดว่าเหล้าขาวรสชาติเหมือนกันหมด มีกลิ่นฉุน บางคนกินแล้วระบายกลิ่นออกมาทางเหงื่อ แต่จริงๆ แล้วสุราชุมชนมีกลิ่นหอมข้าว หอมผลไม้ด้วย แต่พวกเขาแค่พูดไม่ได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ของภาคเกษตร ยกตัวอย่างคนต้มเหล้าที่ชัยภูมิ เคยมีคนติดตามเพจของร้านอยู่ 400 – 500 คน ผ่านไปคืนเดียวมีคนติดตามมากกว่าหกพันคน อินบ็อกซ์ โทรศัพท์เข้าไปหาเพียบ จองคิวซื้อเหล้ากันเป็นเดือนๆ กลายเป็นว่าต้องมีการขยายพื้นที่ ซื้อที่ดินข้างๆ เพื่อปลูกอ้อยให้เยอะขึ้น รวมไปถึงซื้ออ้อยจากคนในหมู่บ้านมาทำเหล้าของตัวเอง ยังไม่พอนะ เขาคิดต่อยอดไปอีกว่าอยากเอาผลไม้ของเพื่อนต่างหมู่บ้าน เช่น สับปะรด เสาวรส มาทำเหล้า คิดดูว่าเราจะได้ชิมเหล้ากลิ่นผลไม้จากชุมชนเยอะขนาดไหน
พอมาทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ คุณค่าของเหล้าเบียร์ที่มีต่อคุณมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
มันกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่เราจะเอาสิ่งที่เคยอยู่ในกรงขังที่เป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มออกมาสร้างประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุด มันเป็นเหมือนเครื่องหมายของเสรีภาพในการผลักดันให้ประเทศนี้ดีขึ้น
เป็นไปได้ ประชาชนเบียร์อยากบอกอะไรกับสังคม
เราไม่ได้สนับสนุนให้คนมาดื่มทั้งประเทศ แค่ต้องการให้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น มีเสรีภาพในการดื่มมากขึ้น มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น และสุดท้ายมันไม่ใช่การแก้แค่เรื่องเบียร์เท่านั้น
ผมบอกคนในทีมตลอดว่าเราไม่ได้ทำเพจประชาชนเบียร์มาเพื่อแก้เรื่องเหล้าเบียร์อย่างเดียวนะเว้ย เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ มาทำไปด้วยกัน อย่าไปยอม อย่าท้อใจ ต่อให้ทุกอย่างมีปัญหา มีผิดพลาด แต่มันคือการที่เราได้เรียนรู้ ต่อให้เจอเหตุการณ์หนักๆ มีคดีหรือต้องติดคุก มันก็เป็นเรื่องที่ต้องก้าวต่อไปข้างหน้า
สุดท้ายนี้ ประชาชนเบียร์อยากทำอะไรต่อไป
อยากจัดงานที่มีอิสระ อยากต้มเบียร์ อยากทำอะไรก็ทำ นี่คือสิ่งที่วางไว้สำหรับปีหน้าทิศทางแรกคือขยายแนวร่วม ให้คนได้เข้ามาร่วมกับเราด้วยความสนุกสนานเฮฮา เช่น จัดอีเวนต์ จัดทัวร์ เป็นต้น
ทางที่สองคือ เริ่มให้ความรู้ มีคอร์สสอนการทำเบียร์ สอนกฎหมาย สอนเกี่ยวกับการชิม การดื่ม และจะแปลหนังสือต่างประเทศเกี่ยวกับการทำเบียร์ที่เราไปซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อแบ่งความรู้ เพราะเราต้องการยกมาตรฐานการทำเบียร์ของประเทศนี้ให้ก้าวไปอีกขั้น
ทางที่สามคือการจัดกิจกรรมกับหลายๆ ภาคส่วน ตั้งแต่ตัวพื้นที่ ห้างฯ พรรคการเมือง และชุมชน เพื่อสร้างมูฟเมนต์ที่จับต้องได้ โดยเฉพาะการทำงานกับพรรคการเมืองที่เห็นว่าการเข้าถึงของเหล้าเบียร์มันสำคัญ เราพยายามเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน ให้เขาเห็นนโยบายของพรรคว่าช่วยซัปพอร์ตเรื่องอะไรบ้าง เราไม่ได้อิงกับพรรคไหนเป็นพิเศษ เพราะนโยบายต่างหากที่ทำให้เราทำงานด้วยพอเราทำงานด้วยกันแล้ว ทุกอย่างมันไปได้พร้อมๆ กัน
ผมย้ำเสมอว่ากฎหมายบ้านเรายังมีปัญหาและต้องแก้ไขอีกมาก เลยอยากให้มูฟเมนต์ของประชาชนเบียร์เป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่าขนาดเรื่องเหล้าเบียร์ยังมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่ผมก็เป็นคนธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้น คนอื่นๆ ก็ต้องทำได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าจับมือกันสร้างเครือข่ายหรือองค์กรให้แข็งแรง เราต่อรองกับคนที่มีอำนาจได้แน่นอน