กรุงเทพฯ อันดับ (ท้าย) 5 เมือง Work-life Balance - Urban Creature

คุณเคยอยู่ในสถานการณ์เจองานด่วน ต้องแก้เดี๋ยวนี้! หรือโดนทักไลน์มาตอนสามทุ่ม ช่วยทำงานให้พี่นิดหนึ่งได้ไหม แน่นอนละว่าจังหวะนี้คงปฏิเสธไม่ได้ พร้อมเปิดคอมฯ ทำงานงกๆ จนเงยหน้ามาอีกที อ้าว! เที่ยงคืนแล้ว ทำไมเรายังไม่นอน ไม่กินข้าว และยังไม่ได้พักผ่อนเลย รู้ตัวอีกทีก็หมดวันซะแล้ว

บางคนอาจจะมองว่า การทำงานหนัก ทำงานเกินเวลานิดหน่อยคงไม่เป็นไร ไม่ว่าจะที่ไหนก็เป็นกันทั้งนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วกรุงเทพฯ ติดอันดับรั้งท้าย 5 เมืองสุดท้ายที่มี ‘Work-life Balance’ หรือเมืองที่มีความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต อ้างอิงข้อมูลจาก Kisi บริษัทให้คำปรึกษาด้านการทำงานในปี 2022 โดยเก็บข้อมูลทั้งหมด 100 ประเทศทั่วโลก และกรุงเทพฯ ได้อันดับที่ 96 

สำหรับอันดับที่ 1 คือ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ 100 คะแนนเต็ม อันดับที่ 2 เมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ 99.46 คะแนน และอันดับที่ 3 คือ เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้ 99.24 คะแนน กรุงเทพฯ อันดับที่ 96 ได้ 70.73 คะแนน และท้ายสุดอันดับ 100 คือ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ได้ 50 คะแนน

เกณฑ์ในการให้คะแนนมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1) ปริมาณงาน เช่น สัดส่วนคนทำงานล่วงเวลา หรือสัดส่วนคนทำงานมากกว่า 1 งาน
2) สังคมในการทำงาน เช่น การช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด หรือระบบสาธารณสุข
3) สภาพแวดล้อมของเมือง เช่น ค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ หรือความปลอดภัยของเมือง

จากตัวเลขเกือบรั้งท้ายของการจัดอันดับทั่วโลก สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตและการทำงานของบ้านเราว่าไม่สมดุลกันหนักมากทีเดียว ทั้งปริมาณงาน สวัสดิการ หรือสภาพแวดล้อมในเมือง เป็นองค์ประกอบในการชี้วัดความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต

ไทยทำงานหนักเท่าญี่ปุ่น แต่สวัสดิการไม่เท่ากัน

กรุงเทพฯ ติด 5 เมืองสุดท้าย Work-life Balance

ในรายละเอียดข้อมูลแต่ละด้านของกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนคนที่ทำงานล่วงเวลามีถึง 15.1 เปอร์เซ็นต์ (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 11 – 13 เปอร์เซ็นต์) ตัวเลขใกล้กับเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนัก มีสัดส่วน 15.4 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก 

เพราะถ้าเทียบกับสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายมาตรฐานแรงงานญี่ปุ่นที่ได้รับ เช่น วันหยุดพักผ่อน (เริ่มต้น 10 – 25 วันขึ้นอยู่กับจำนวนปีในการทำงาน) วันลาคลอดบุตร 770 วัน ค่าจ้างเพิ่มเติมหากทำงานล่วงเวลาอยู่ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หรือสภาพแวดล้อมของเมืองที่ปลอดภัย อ้างอิงจากสถิติเหตุการณ์บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงเป็นสถานที่อันตราย เช่น แหล่งมั่วสุมในทางที่ไม่ดี อยู่ในเกณฑ์สูงมากถึง 92.5 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน)

สำหรับบ้านเรา ตามกฎหมายแรงงานไทย มีวันหยุดพักผ่อนไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี วันลาคลอดบุตร 90 วัน หากทำงานล่วงเวลาเกิน 9 ชั่วโมงขึ้นไปต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้าง/ชั่วโมงหรือวัน และทำงานในวันหยุดต้องให้ค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้าง/ชั่วโมงหรือวัน ยิ่งไปกว่านั้น คะแนนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตเมืองยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียง 27.8 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน)

คนไทยไม่เลือกงาน ไม่ยากจน ต้องมีมากกว่า 1 อาชีพ

กรุงเทพฯ ติด 5 เมืองสุดท้าย Work-life Balance

ปัจจุบันคนไทยทำงานหนักมากกว่าเดิม เพราะกังวลเรื่องความมั่นคงในการใช้ชีวิตในอนาคต เนื่องจากสวัสดิการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมมากนัก เช่น ประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพที่บางบริษัทไม่ได้ทำให้ หรือหากคนตกงานในขณะที่ยังไม่สามารถหางานอื่น ก็จะได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐประมาณ 5,000 บาท/เดือนในเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะไม่มีหลักประกันอื่นรองรับ

ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอน เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด หลายโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวลง บริษัทลดจำนวนคน และอัตราคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ทำให้รูปแบบการจ้างงานของบริษัทภาคเอกชนและรัฐบาลเริ่มปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากกว่าแต่ก่อน นั่นคือการจ้างงานสัญญาระยะสั้น หรือการจ้างคนภายนอกทำงานให้ (Outsource)

แม้ว่าข้อดีของคนทำงานสามารถหารายได้จากงานอื่นได้หลายช่องทาง แต่ก็เป็นการทำงานที่ต้องการสร้างความมั่นคงในการเลี้ยงชีพตัวเองให้อยู่รอด ต่อสู้กับสภาพแวดล้อมทางสังคม ค่าครองชีพ หรือระบบเศรษฐกิจที่ผกผันอยู่เสมอ เนื่องจากสวัสดิการที่ส่งเสริมแรงงานไม่ได้ช่วยเหลือครอบคลุมทั้งหมด จึงทำให้คนทำงานสมัยนี้ต้องรับจ็อบมากกว่า 1 อาชีพ เพื่อเพิ่มรายรับหลายช่องทาง ไม่ใช่เพราะรักงานยิ่งชีพ แต่กลัวอดตายในระยะยาวมากกว่า

‘ลาคลอดและดูแลผู้สูงอายุ’ สำคัญในไทย ทุกภาคส่วนต้องคุยกัน

กรุงเทพฯ ติด 5 เมืองสุดท้าย Work-life Balance

แนวทางแก้ไขที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตของไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแก้ไข Work-life Balance เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องคุยกัน เพราะการทำงานของคนในองค์กร มีความสัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจในไทยแบบทุนนิยม มุ่งเน้นผลลัพธ์และกำไร แต่ขาดมิติทางสังคมที่ต้องปรับให้สมดุล

ข้อเสนอของ สสส. ที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงสำหรับคนทำงานคือ การเพิ่มวันลาคลอดจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือนและยังได้รับค่าตอบแทนอยู่ ซึ่งรัฐบาลอาจจะสร้างมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ช่วยผู้หญิงไม่ให้สูญเสียโอกาสก้าวหน้าในการงานหลังจากมีลูก รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มประชากรในอนาคต

อีกประเด็นคือ การลาเพื่อดูแลสุขภาพบุพการี เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และบางคนอาจจะไม่มีงบจ้างคนดูแล เมื่อคนต้องออกไปทำงานข้างนอก ก็ต้องจำใจปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเพียงลำพัง แทนที่จะได้ดูแลครอบครัว โดยการลาดูแลบุพการี ทางบริษัทสามารถเช็กได้จากใบรับรองแพทย์หรือมีพยานบุคคลรับรอง ซึ่งสามารถทำได้เลยและไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประเด็น Work ไร้ Balance เป็นปัญหาสุดเรื้อรังในสังคมไทย ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในบ้านเรา ในขณะเดียวกัน มิติทางสังคมก็ถูกปล่อยเบลอจนกลายเป็นเรื่องตลกร้ายคุ้นชินกันไป เช่น อายุน้อยร้อยโรค เพราะทำงานหนักไม่ได้พักผ่อน หรือรักงานยิ่งชีพจนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง

แม้ว่าคนทำงานบ้านเราพยายามปรับตัวหารายรับหลายช่องทาง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นวิธีแก้ไขที่ยั่งยืน สวัสดิการและสภาพแวดล้อมของเมืองเป็นตัวช่วยสำคัญให้คนทำงานสามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตและมีประสิทธิภาพในการทำงานไปพร้อมกัน เพราะถึงเราสู้งานฝ่ายเดียว แต่เวลางานสู้กลับมา ก็อาจจะหนักถึงขั้นป่วยหนัก กายภาพคอบ่าไหล่วนไป หรือเป็นโรคซึมเศร้าทางจิตใจที่ไม่คุ้มค่ากับการรักษา ไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เราต่างก็ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก

Sources :
Brand Inside | shorturl.asia/H2zLX
KISI | shorturl.asia/gDkjN
WorkpointTODAY | shorturl.asia/fndrp
กระทรวงแรงงาน | shorturl.asia/3JFT4
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ | คู่มือเงื่อนไขการทำงานสำหรับชาว
ต่างชาติในประเทศญี่ปุ่น
ประชาชาติธุรกิจ | shorturl.asia/4ts5r

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.