อวโลกิตะ (Avalokita) พื้นที่ภาวนาใจกลางสีลม - Urban Creature

ในวันที่เหนื่อยล้า งานไม่เป็นดั่งใจ และอีกสารพันปัญหาของคนสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ชีวิตสู้กลับอย่างไม่ไยดี เย็นวันนั้นคุณเลือกที่จะพาตัวเองไปที่ไหนต่อ?

บางครั้งเราแค่ต้องการที่นั่งเงียบๆ เพื่อให้ตัวเองได้หยุดคิดและไตร่ตรองสักพัก แต่ในเมืองที่พื้นที่สาธารณะน้อยอย่างกรุงเทพฯ จะมีที่ไหนที่เปิดให้เราเข้าไปนั่งพักและใช้เวลาอยู่กับตัวเองในช่วงเวลาหลังเลิกงานได้ฟรีๆ บ้าง

ท่ามกลางบรรยากาศอันเร่งรีบ แข่งขัน และตึกสูงรายล้อมในสีลมย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง บนชั้น 9 ของอาคารตั้งฮั่วปัก ซอยสาทร 10 มีสเปซเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘อวโลกิตะ (Avalokita)’ ตั้งอยู่ ที่นี่คือ Meditation Space หรือพื้นที่ภาวนาที่เปิดให้คนเข้ามานั่งพัก อยู่กับตัวเอง เพื่อบ่มเพาะความรัก ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านศาสนา ไม่มีกฎเกณฑ์ในการใช้งาน และเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ฟรีๆ เหมาะสำหรับคนที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายหลังเลิกงานในเมืองกรุง มานั่งพักใจและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง 

อวโลกิตะ Avalokita
อวโลกิตะ Avalokita

ภาพคนนั่งสมาธิในห้องเล็กๆ ท่ามกลางตึกสูงในสีลม ตัดกับท้องฟ้ายามค่ำคืนของกรุงเทพมหานคร คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้รู้จักกับ ‘อวโลกิตะ’ และแค่ได้ยินว่าที่นี่เปิดให้เข้า ‘ฟรี’ ก็ยิ่งชวนแปลกใจ เพราะในเมืองที่ค่าครองชีพสูงแบบนี้ การจะเปิดพื้นที่ให้คนเข้าใช้ได้ฟรีๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราจึงนัดพบกับ แพร์-วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ กรรมการมูลนิธิวัชรปัญญา เพื่อพูดคุยถึงแนวคิดในการทำอวโลกิตะเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยและที่พักใจของคนเมือง

อวโลกิตะ Avalokita

จุดเริ่มต้นของ ‘อวโลกิตะ’

AVALOKITA : Meditation Space for Cultivating Inner Peace & Compassion แปลเป็นไทยว่า ‘อวโลกิตะ พื้นที่ภาวนาเพื่อบ่มสันติภาพและความกรุณาในใจ’ นี่คือคำบรรยายในทุกช่องทางออนไลน์ของอวโลกิตะที่คนห่างไกลศาสนา การภาวนา และพิธีกรรมอย่างเราไม่เข้าใจว่าสถานที่นี้ใช้สำหรับทำอะไรกันแน่ 

อวโลกิตะ Avalokita

แพร์เล่าให้เราฟังว่า ‘อวโลกิตะ’ เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิวัชรปัญญา แต่เดิมมูลนิธิมีโครงการ ‘วัชรสิทธา’ ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งด้านธรรมะ สังคม และศิลปะ ที่ดำเนินการมาถึง 5 ปี มูลนิธิวัชรปัญญาก่อตั้งโดยวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา เนื่องจากวิจักขณ์ จบการศึกษาปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศาสนาจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็น Meditation Instructor และเป็นอาจารย์พิเศษด้านปรัชญาศาสนา จึงมีความตั้งใจในการทำพื้นที่เรียนรู้ด้านธรรมะและภาวนาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะในต่างประเทศ การทำพื้นที่ภาวนาและเปิดให้ใช้ฟรีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในประเทศไทย อวโลกิตะเป็นที่แรกที่ทั้งฟรีและเปิดรับผู้คนจากทุกศาสนา 

คำว่า ‘อวโลกิตะ’ มาจากนามของ ‘พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์’ แปลว่าผู้เพ่งเสียงโลก พระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ที่นับถือแพร่หลายที่สุดในพุทธศาสนา ท่านเป็นตัวแทนแห่งความกรุณาของพระพุทธะทุกองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

อวโลกิตะ Avalokita

“อวโลกิตะเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะที่พวกเรามาดูพื้นที่แห่งใหม่สำหรับวัชรสิทธา ที่สามารถใช้เป็นพื้นที่เวิร์กช็อป เสวนา และจัดกิจกรรมพบปะกันได้ แม้ว่าห้องนี้เล็กเกินไปสำหรับการจัดกิจกรรมของวัชรสิทธา แต่ด้วยความรู้สึกประทับใจในสเปซและพลังงานดีๆ ที่สัมผัสได้จากที่นี่ ทำให้ผุดโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมา เพราะวิจักขณ์รู้สึกว่าในประเทศไทยยังขาดพื้นที่ภาวนาที่เปิดให้คนเข้าถึงได้ง่ายๆ ใจกลางเมืองแบบนี้”

แต่เดิมห้องชั้น 9 ห้องนี้น่าจะเคยเป็นห้องประชุมหรือห้องผู้บริหารมาก่อน จึงเป็นห้องที่วิวดีมากที่สุดของตึกเพราะอยู่ชั้นบนสุด และด้านนอกมีดาดฟ้าขนาดกะทัดรัดที่เมื่อออกไปยืนข้างนอกตัวเราจะถูกล้อมรอบด้วยตึกสูงย่านสีลม เป็นภาพที่ทึ่งในความใหญ่โตของตึกเหล่านี้และยังทำให้เรารู้สึกตัวเล็กยิ่งกว่าเดิม

อวโลกิตะ Avalokita

พื้นที่ภาวนา ไม่จำกัดศาสนา และดูแลโดยอาสาสมัคร

แพร์เล่าให้ฟังว่า แม้ว่ามูลนิธิวัชรปัญญาจะมีโครงการวัชรสิทธาอยู่แล้ว แต่กิจกรรมที่นี่จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่อวโลกิตะจะเน้นการนั่งอย่างเดียว ไม่มีการสอน ไม่มีคอร์ส ไม่มีเวิร์กช็อป ไม่มีเสวนา แต่จะมีปาฐกถา (Speech) เดือนละ 2 ครั้ง หัวข้อที่พูดจะเกี่ยวข้องกับการบ่มเพาะความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ และสันติภายใน นอกจากการมานั่งเพื่ออยู่กับตัวเองแล้ว ยังมีสปีชดีๆ ให้ทุกเดือน

สิ่งที่น่าสนใจคือที่นี่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้ฟรีๆ ทำให้เราสงสัยว่ารายได้ของที่นี่มาจากไหน และทำอย่างไรให้พื้นที่นี้อยู่ได้แบบยั่งยืน 

แพร์อธิบายให้เราฟังว่า โดยปกติแล้ววัชรสิทธาจะมีรายได้จากการเปิดคอร์สเรียน และเงินบริจาคของมูลนิธิวัชรปัญญา จึงได้กันทุนไว้ส่วนหนึ่งมาเช่าพื้นที่ทำอวโลกิตะ เป็นโปรเจกต์พิเศษที่ทำสัญญาเช่าไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี แม้ว่าจะเปิดให้เข้าฟรี แต่หากใครชอบและอยากสนับสนุนให้อวโลกิตะอยู่ต่อไปก็สามารถบริจาคเพื่อสมทบทุนได้ตามสะดวก 

อวโลกิตะ Avalokita

ที่นี่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ได้สูงมาก นอกจากค่าเช่าจะมีค่าไฟ ค่าดอกไม้ และค่าดูแลรักษาไม่มากนัก และไม่มีค่าพนักงาน เนื่องจากระบบการดูแลที่นี่จะรับสมัคร ‘อาสาสมัคร’ ที่สนใจฝึกภาวนาหรือคนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับวัชรสิทธามาเป็นคนดูแลพื้นที่ 

เราเห็นเบาะรองนั่งวางเรียงราย และนึกสงสัยว่าคนที่ห่างไกลศาสนา และไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ถ้าอยากลองมาเข้าร่วมสักครั้งต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

แพร์แนะนำง่ายๆ ว่า “การเตรียมตัวคือไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เอาตัวเองมานั่งที่นี่ก็พอ” 

ที่นี่จะเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น. ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยทุกวันจะมีอาสาสมัครที่ดูแลพื้นที่มาเปิดห้องเพื่อทำความสะอาด จัดดอกไม้ และเตรียมสถานที่ทุกวันช่วง 16.00 น. กระบวนการภาวนาจะเริ่มนั่งตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป และคนดูแลพื้นที่ก็จะนั่งไปพร้อมๆ กับเราด้วยเช่นกัน สำหรับใครที่ยังไม่เลิกงาน มาไม่ทันก็ไม่เป็นไร เพราะที่นี่สามารถเดินเข้าออกได้ตลอด จะตามมาทีหลัง หรือมาเร็วแล้วกลับก่อนก็ได้เช่นกัน ไม่สะดวกอยู่จนจบ 4 ชั่วโมงก็ไม่เป็นไร 

อวโลกิตะ Avalokita

สำหรับคนที่ไม่เคยนั่งมาก่อน ไม่ต้องกังวลหรือกลัวทำผิด แพร์บอกว่าการนั่งภาวนาที่นี่เป็นอิสระมาก ในขณะนั่งจะไม่มีครูหรือผู้นำกิจกรรม มีเพียงผู้ดูแลที่คอยให้สัญญาณ ไม่มีการบังคับว่าต้องนั่งหลับตาหรือลืมตา ใครสะดวกนั่งแบบไหนก็ทำได้เลย และไม่ต้องกลัวปวดขาเพราะเบาะที่เตรียมไว้ช่วยให้นั่งสบายและนั่งได้นาน 

คนที่ดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่จะนั่งลืมตาเพื่อมองคนเข้าออก เซสชันหนึ่งจะนั่งกันอยู่ที่ 45 นาที และพักเพื่อเดิน ปรับอิริยาบถ 15 นาที แต่สิ่งสำคัญคือระหว่างการนั่งจะไม่มีการพูดคุยกันเลย ผู้ดูแลจะมีหน้าที่เคาะระฆังให้สัญญาณเพื่อให้ลุกเดินเท่านั้น แต่หากทำไม่ถูก ไม่แน่ใจ หรือทำผิดก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการภาวนาที่นี่ไม่มีถูกผิดและไม่มีใครตัดสินคุณแน่นอน การนั่งจะเสร็จสิ้นราว 20.30 น. หลังจากนั่งกันยาวๆ ช่วง 30 นาทีสุดท้าย จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมภาวนาได้ออกไปเดินที่ดาดฟ้า จะมีการพูดคุย ถามไถ่ประสบการณ์ หากใครไม่สะดวกจะดูวิวแล้วกลับเลยก็ได้เช่นกัน

อวโลกิตะ Avalokita

“เราอยากให้คนที่มาที่นี่ได้ฝึกใช้เซนส์และฝึกสังเกตคนรอบๆ ตัว การมาตรงนี้ไม่ได้ถึงกับต้องมีผู้นำผู้ตามชัดเจน คนดูแลพื้นที่เขาจะทำให้เห็นว่ากระบวนการนั่งต้องทำอะไรบ้าง และถึงแม้ว่าคนที่มาใหม่จะทำผิดถูกบ้างก็ไม่เป็นอะไรเลย คนไทยอาจจะไม่ค่อยชิน อาจจะคุ้นเคยกับกิจกรรมที่มีคนนำตลอด แต่เราอยากให้ทุกคนได้ลองเอาตัวเองมาอยู่กับประสบการณ์ของตัวเอง ให้ประสบการณ์มันเป็นการนำเราไป เราไม่ได้บอกว่าสำนักไหนผิดถูก แต่ที่นี่เราเปิดกว้างมากๆ อยากนั่งแบบไหนก็ได้ และที่สำคัญคือเราเปิดกว้างกับทุกศาสนา คุณจะมานั่งภาวนาตามวิธีการของศาสนาที่นับถืออยู่ก็ได้เช่นกัน”

อวโลกิตะ Avalokita

ที่พักใจของวัยทำงาน

สีลม-สาทร คือย่านที่คลาคล่ำไปด้วยพนักงานออฟฟิศ เต็มไปด้วยมนุษย์เงินเดือนที่สีหน้าเคร่งเครียดเดินคิ้วขมวดสวนกันในเวลาหลังเลิกงาน แต่กลายเป็นย่านที่แพร์บอกว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้มากที่สุด เพราะบางครั้งชีวิตที่เหนื่อยล้าของใครหลายๆ คนก็อาจจะต้องการที่สงบๆ นั่งอยู่กับตัวเองบ้างก็เท่านั้นเอง

“วันหนึ่งหากคุณเซ็งอะไรบางอย่างจากการทำงาน อาจจะทุกข์มาก เสียใจ สับสน และอยากมีช่วงเวลาพักสักพักหนึ่งก่อนกลับบ้าน ก็สามารถแวะเข้ามาอยู่ตรงนี้ได้เลย เราอยากให้คนที่มานั่งคิดน้อยๆ แล้วก็นั่งไปเรื่อยๆ แค่เราได้ลองนั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเองบ้างก็เหมือนได้ระบายความอึดอัดใจออกมาโดยที่ไม่ต้องพูดแล้ว เวลาเรามาฝึกนั่งแบบนี้ เราอยากให้คุณพยายามคิดให้น้อย อยู่กับร่างกาย อยู่กับลมหายใจ แต่การนั่งแบบนี้ยังไงคุณก็คิดโดยอัตโนมัติแน่นอน บางคนอาจจะเจอเรื่องทุกข์มา อาจจะร้องไห้ออกมาก็ได้เช่นกัน ที่นี่เปิดกว้างและไม่ตัดสินอยู่แล้ว

อวโลกิตะ Avalokita

“สำหรับเรา การภาวนามันคือการอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง เราไม่รู้หรอกว่าเราจะคลายไหม บางครั้งเรามาด้วยความกังวล หงุดหงิด แต่เผลอๆ นั่งไปแล้วหงุดหงิดกว่าเดิม นั่งๆ ไปแล้วอาจจะมีความคิดเข้ามาเยอะมาก ซึ่งไม่ผิดนะ เกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติ ยิ่งเราคิดเราก็จะยิ่งเห็นว่าอารมณ์เราเพิ่มมากขึ้น ถ้าเรานั่งแล้วโฟกัสที่ลมหายใจ เราก็จะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น นี่คือการฝึกอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน บางครั้งอารมณ์มันเกิดเพราะเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นไร แต่ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะรู้ว่าเราจะต้องทำอะไร เตรียมตัวยังไง”

นอกจากการนั่งอยู่กับตัวเอง เพื่อเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองแล้ว แพร์บอกว่า ‘พลังงาน’ ที่ได้รับจากคนที่มาร่วมนั่งด้วยกันก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น

“เวลาที่คนพูดกันว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้เป็น Toxic People เราสัมผัสได้ว่าเขาเป็นแบบนั้น เพราะมันคือพลังงานที่คนอื่นสัมผัสได้จากเขา บางทีเขาอาจจะไม่ได้โมโหเรา เขาอาจจะด่าลูกค้าอยู่ แต่เราสัมผัสถึงพลังงานนั้นด้วย การมาพื้นที่ตรงนี้ก็เช่นกัน เราเชื่อว่าคุณจะได้สัมผัสกับพลังงานหลากหลาย มีทั้งพลังงานดีๆ ที่มีคนบ่มเพาะอะไรบางอย่างภายในจิตใจอยู่ บางคนก็อาจจะมาด้วยความขุ่นมัว มีเรื่องทุกข์มา แล้วมาเจอกับคนที่มีพลังงานดีๆ ที่นี่ เราคิดว่านี่คือสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันผ่านการนั่งภาวนา แม้ว่าจะไม่ได้พูดกันแต่เราอาจจะสัมผัสพลังงานของคนอื่นได้”

หากการนั่งเท่ากับการฝึกภาวนา เราสงสัยว่านั่งที่บ้านได้ไหม ทำไมต้องมานั่งด้วยกันที่อวโลกิตะ?

“จริงๆ จะนั่งที่บ้านก็ได้ แต่หลายคนที่มาที่นี่เขามีเวลาแต่ไม่มีพื้นที่ เราว่ามันก็เหมือนเวลาที่เราออกกำลังกาย เวลาเราอยู่รวมกลุ่มกันมันมีคนส่งพลังให้เรา ถ้าไม่มีโควิด-19 เราชอบกิจกรรมที่ได้มาเจอกันจริงๆ มากกว่า เราไม่ปฏิเสธข้อดีของการเจอกันออนไลน์ แต่การเจอกันในสถานที่จริงมันดีกว่า ทำให้เราได้เผชิญกับสิ่งต่างๆ ได้เจอผู้คน และได้เรียนรู้จากคนอื่น บางคนเขาฝึกภาวนาอยู่ก็จริง แต่เขาไม่รู้ว่าตัวเองฝึกเพราะหนีอะไรอยู่ การก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคยมันก็เป็นอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฝึกเช่นกัน”

อวโลกิตะ Avalokita

หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าทุกข์ก็ให้ไปปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ แล้วการนั่งภาวนาสามารถคลายทุกข์ได้จริงไหม หากภาวนาแล้วทุกข์ไม่หายไปเราทำผิดตรงไหนหรือเปล่า?

“ใครๆ ก็มักจะบอกว่าเป็นทุกข์ก็ไปปฏิบัติธรรมสิ ทั้งที่จริงๆ ไปมาแล้วก็อาจจะยังไม่หายก็ได้นะ ชีวิตเรามันอาจจะมีความทุกข์บางอย่างที่มันคลายยังไม่ได้ในตอนนี้ก็ได้ แต่สำหรับเรา คนเราไม่จำเป็นต้องอารมณ์ดีตลอดเวลา มาภาวนาแล้วเราไม่จำเป็นที่จะต้องกลับออกไปอย่างผ่องใส เราอาจจะคิดได้ว่าเรื่องนี้สมควรที่จะทุกข์จริงๆ ก็ได้ แต่การมาที่นี่จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เราอาจจะได้เจอคนข้างๆ ที่ทุกข์เหมือนกัน ร้องไห้เหมือนกัน บางครั้งเวลาเราเศร้า เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง เรามักจะรู้สึกว่าไม่มีคนช่วยเราได้ ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะมีคนช่วยเราได้ แต่อย่างน้อยที่นี่จะทำให้เรารู้ว่าในขณะที่เราทุกข์เรายังมีคนอื่นอยู่ด้วยนะ”

อวโลกิตะ Avalokita
อวโลกิตะ Avalokita

อวโลกิตะ (Avalokita)
เวลาทำการ : จันทร์-อาทิตย์ (รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 17.00 – 21.00 น. 
ที่ตั้ง : อาคารตั้งฮั่วปัก ชั้น 9 ซ.สาทร 10 (ขึ้นลิฟต์มาชั้น 7 แล้วเดินขึ้นบันไดต่ออีก 2 ชั้น)
วิธีเดินทาง : BTS เซนต์หลุยส์ เดิน 50 เมตรจากสถานี
แผนที่ : https://goo.gl/maps/X22X9nC6H8zupbxW7
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.vajrasiddha.com/avalokita-meditation-space/

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.