เรียนรู้เหตุการณ์แผ่นดินไหวกรุงเทพฯ รับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกะทันหันอย่างไรบ้าง
อาคารสั่นคลอน อาการวิงเวียน ที่พักอาศัยเสียหาย ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้จุดเกิดเหตุจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงในประเทศไทย แต่ด้วยแรงสั่นสะเทือนที่สูงถึง 7.7 แมกนิจูด ส่งผลให้คนเมืองผู้แทบไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนรับรู้ถึงความสั่นไหว และกลายเป็นผู้ประสบภัยในเวลาเพียงไม่กี่นาที นอกเหนือจากความตื่นตระหนกตกใจแล้ว แรงสั่นสะเทือนยังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่อาจไม่ได้คำนึงถึงการเผชิญหน้ากับแผ่นดินไหวรุนแรงแบบนี้มาก่อน และด้วยความที่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่คนกรุงเทพฯ ต้องเจอกับแผ่นดินไหว ก่อให้เกิดความสับสนในการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า วิธีการป้องกันตัวเอง ความปลอดภัยของการใช้ชีวิตในอาคาร หรือกระทั่งการใช้เส้นทางจราจรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่เคยมีใครให้ข้อมูลมาก่อนว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหากเจอเหตุการณ์แบบนี้ คอลัมน์ Report จะพาไปสำรวจว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน กรุงเทพฯ ต้องเจอกับปัญหาในการรับมือสถานการณ์แบบไหนบ้าง มีการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร และประเทศไทยสามารถนำวิธีการเตรียมพร้อมป้องกันภัยจากประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งมาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหาเมืองที่เกิดขึ้นในวันภัยพิบัติ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์กลางที่เมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากปัญหาเรื่องตึกสูง ที่อยู่อาศัย และความปลอดภัยในเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นได้จากโครงสร้างอาคารที่เกิดรอยแตก รอยร้าว หรือแย่ไปกว่านั้นคือ เศษโครงสร้างอาคารหลุดล่อนออกมา จนทำให้หลายคนหวาดผวาไปกับการใช้ชีวิตบนตึกสูงแล้ว สถานการณ์ในวันนั้นยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาระบบขนส่งในเมือง รวมถึงพื้นที่อพยพที่ไม่สามารถรองรับชาวกรุงได้ เสียงบ่นอื้ออึงของคนกรุงหลังสถานการณ์แผ่นดินไหวคือ เรื่องถนนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยรถยนต์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์ที่แน่นิ่ง ไม่ขยับ รถเคลื่อนตัวได้เพียง 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแออัดยาวนานขนาดที่แผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมง การจราจรก็ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ รวมถึงเหล่าขนส่งสาธารณะระบบรางอย่าง […]